'ไข้หวัดใหญ่' วายร้ายหน้าฝน ปี 66 ป่วยแล้ว 1.8 แสนราย

'ไข้หวัดใหญ่' วายร้ายหน้าฝน ปี 66 ป่วยแล้ว 1.8 แสนราย

ในขณะที่การระบาดของโควิด-19 แนวโน้มลดลง สวนทางกับ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ โดยเฉพาะ 'โรคไข้หวัดใหญ่' ที่เพิ่มสูงขึ้น ข้อมูลปี 2566 มีผู้ป่วยแล้ว 1.8 แสนราย เฉพาะสัปดาห์ที่ 10-16 กันยายน มีผู้ป่วยเพิ่มมากกว่า 1.2 หมื่นราย สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง

Key Point : 

  • ในช่วงฤดูฝน โรคติดเชื้อทางเดินหายใจมีแนวโน้มแพร่ระบาดสูง โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ อัตราป่วยสูงกว่าปีที่แล้วและค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีในช่วงเวลาเดียวกัน
  • หนึ่งในโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่พบในช่วงนี้ คือ โรคไข้หวัดใหญ่ ส่วนใหญ่จะมีไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อ ไอแห้ง น้ำมูกใส เบื่ออาหาร 
  • ดังนั้น แม้สถานการณ์โรคโควิด 19 จะลดลง แต่การสวมหน้ากากอนามัยเมื่อเจ็บป่วยหรืออยู่ในสถานที่แออัด ล้างมือบ่อยๆ ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงได้ 

 

หลังจากประเทศไทยประกาศให้โรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2565 ประชาชนเลือกสวมหน้ากากอนามัยได้ตามความสมัครใจ ข้อมูลจาก กระทรวงสาธารณสุข พบว่า แนวโน้มของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ เพิ่มสูงขึ้นกว่าหลายปีที่ผ่านมา สะท้อนว่า การสวมหน้ากากอนามัยสามารถช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงโรคติดเชื้อทางเดินหายใจได้อย่างดี

 

ทั้งนี้ แม้สถานการณ์โรคโควิด 19 ขณะนี้จะพบผู้ป่วยลดลงต่อเนื่อง แต่สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยข้อมูลตั้งแต่วันที่  1 มกราคม - 16 กันยายน 2566 มีผู้ป่วย 185,216 ราย อัตราป่วย 279.9 ต่อประชากรแสนคน มีรายงานผู้เสียชีวิต 4 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 0.002 เฉพาะสัปดาห์ที่ 10-16 กันยายน มีผู้ป่วยเพิ่มมากกว่า 12,000 ราย ซึ่งสูงกว่าจำนวนผู้ป่วยในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 และค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

ไข้หวัดใหญ่ (Influenza, Flu) เป็นการติดเชื้อไวรัสที่ระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน โดยมีลักษณะทางคลินิกที่สำคัญคือ มีไข้สูงแบบทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่สำคัญที่สุดโรคหนึ่งในกลุ่มโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ เนื่องจากเกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลก (pandemic) มาแล้วหลายครั้ง แต่ละครั้งเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางเกือบทุกทวีป ทำให้มีผู้ป่วยและเสียชีวิตนับล้านคน

 

วิธีการติดต่อ

เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ติดต่อทางการหายใจ โดยจะได้รับเชื้อที่ออกมาปนเปื้อนอยู่ในอากาศเมื่อผู้ป่วยไอ จาม หรือพูด ในพื้นที่ที่มีคนอยู่รวมกันหนาแน่น เช่น โรงเรียน โรงงาน การแพร่เชื้อจะเกิดได้มาก นอกจากนี้การแพร่เชื้ออาจเกิดโดยการสัมผัสฝอยละอองน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย (droplet transmission) จากมือที่สัมผัสกับพื้นผิวที่มีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ แล้วใช้มือสัมผัสที่จมูกและปาก

 

ระยะฟักตัว

ประมาณ 1-3 วัน

 

ระยะติดต่อ

ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่ 1 วันก่อนมีอาการและจะแพร่เชื้อต่อไปอีก 3-5 วันหลังมีอาการในผู้ใหญ่ ส่วนในเด็กอาจแพร่เชื้อได้นานกว่า 7 วัน ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่แต่ไม่มีอาการก็สามารถแพร่เชื้อในช่วงเวลานั้นได้เช่นกัน

 

 

 

 

อาการและอาการแสดง

อาการจะเริ่มหลังได้รับเชื้อ 1-4 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้แบบทันทีทันใด ( 38 ซ ในผู้ใหญ่ ส่วนในเด็กมักจะสูงกว่านี้) ปวดศีรษะ หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียมาก และอาจพบอาการคัดจมูก เจ็บคอ ถ้าป่วยเป็นระยะเวลานานอาจจะมีอาการไอจากหลอดลมอักเสบ (post viral bronchitis) อาการจะรุนแรงและป่วยนานกว่าไข้หวัดธรรมดา (common cold) ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่มีบางรายที่มีอาการรุนแรง เนื่องจากมีภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญคือ ปอดบวม ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ ผู้ที่เสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือเสียชีวิต ได้แก่

  • ผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป
  • เด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี
  • ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคไต เบาหวาน ภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • เด็กที่ได้รับการรักษาด้วยยาแอสไพรินเป็นเวลานาน
  • หญิงตั้งครรภ์ระยะที่ 2 หรือ 3 ในฤดูกาลที่มีไข้หวัดใหญ่สูง

 

3 โรคทางเดินหายใจ ที่มาพร้อมหน้าฝน

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงของฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูกาลระบาดของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ซึ่งโรคหลักๆ ที่ยังต้องเฝ้าระวัง คือ

  • โรคโควิด 19 อาการมักมีไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย อาจมีหายใจลำบาก
  • โรคไข้หวัดใหญ่ ส่วนใหญ่จะมีไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อ ไอแห้ง น้ำมูกใส เบื่ออาหาร
  • โรค RSV จะมีไข้ ไอจาม มักพบในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี

 

ซึ่งการติดต่อของทั้ง 3 โรคเหมือนกัน คือ การไอ จาม สัมผัสละอองฝอยน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ หรือการใช้สิ่งของร่วมกัน ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ เมื่อมีอาการป่วยของโรคทางเดินหายใจ หรือเมื่อต้องเข้าไปอยู่ในสถานที่แออัด ต้องสวมหน้ากากอนามัย ปิดปากและจมูกให้มิดชิดเมื่อไอหรือจาม หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก รวมถึงล้างมือบ่อยๆ เพื่อช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงการติดเชื้อโรคติดต่อทางเดินหายใจเหล่านี้

 

นอกจากนี้ ขอความร่วมมือผู้ปกครองดูแลสังเกตอาการบุตรหลานที่เป็นเด็กนักเรียน หากเด็กป่วยมีอาการทางเดินหายใจแนะนำให้หยุดพักอยู่บ้านเพื่อดูแลรักษา ติดตามอาการ และไม่ไปแพร่เชื้อต่อที่โรงเรียนหรือศูนย์เด็กเล็ก ส่วนโรงเรียน ขอให้จัดระบบการคัดกรองอาการทางเดินหายใจ เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก เพื่อแยกเด็กไม่ปะปนกับเด็กอื่นๆ และพิจารณาปิดห้องเรียนเมื่อพบเด็กป่วยหลายๆ ราย ติดต่อกัน

 

อ้างอิง : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข