ค้นหาทางออก 'นอนไม่หลับ' รู้จัก Sleep Lap ม.มหิดล มาตรฐานโลก
อยู่ดีๆ ก็มีเรื่องราวให้นอนไม่หลับ...ผ่านไปครึ่งชั่วโมงก็แล้ว หนึ่งชั่วโมงก็แล้ว ตาก็ยังสว่าง ทำอย่างไรก็นอนไม่หลับ ลองพยายามทำให้ตัวเองหลับแต่ไม่เป็นผล หากเป็นแบบนี้ในทุกๆ คืน ลองเช็กตัวเองสักนิดว่า กำลังเข้าสู่ ภาวะโรคนอนไม่หลับ หรือไม่?
Keypoint:
- ภาวะนอนไม่หลับ ไม่ใช่ตัวโรค เป็นเพียงอาการที่อาจจะเกิดจากปัญหาสารพัดที่ต้องเผชิญมาตลอดทั้งวัน แล้วยังทำให้ต้องวิตกกังวลในตอนกลางคืน จนนอนไม่หลับ
- หากมีอาการนอนไม่หลับ 3 วันต่อสัปดาห์ และเป็นนานกว่า 1 เดือน ควรรีบพบแพทย์เพื่อเช็กสาเหตุและรักษา เพราะนั่นอาจเข้าสู่ภาวะนอนไม่หลับเรื้อรัง
- Sleep Lap ม.มหิดล ศึกษากลไกนาฬิกาชีวภาพของมนุษย์ ปัจจัยนอนไม่หลับ และการตรวจวิจัยด้านการนอนไม่หลับตามมาตรฐานโลก
‘การนอน’ คือหน้าที่ หากคืนนี้นอนไม่หลับ พรุ่งนี้ร่างกายก็จะชดเชยการนอนโดยเราจะรู้สึกว่าง่วงเร็วขึ้น อยากนอนเร็วขึ้น เพราะการนอนเป็นการชาร์ตกระบวนการต่างๆ ของร่างกายให้เกิดขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญของการดำรงชีวิต เพราะการนอนนั้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสมอง หากเรานอนหลับพักผ่อนได้ดี ร่างกายย่อมมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง สดชื่นแจ่มใส ไม่หงุดหงิดง่าย
แนวโน้มภาวะนอนไม่หลับของผู้คนในปัจจุบันจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการนอนไม่หลับเป็นหนึ่งในปัญหาที่บั่นทอนสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนไทยประมาณ 19 ล้านคน และกว่า 2,000 ล้านคนทั่วโลก ทั้งที่การนอนหลับลึกมีความสำคัญต่อกระบวนการเรียนรู้ ทั้งด้านความจำ ภาษา การแสดงออกของพฤติกรรม และอารมณ์
โดยการนอนหลับลึกช่วยจัดเรียงความทรงจำในสมองให้ดีขึ้น เชื่อมโยงความทรงจำเก่าและใหม่เข้าด้วยกัน หากอดนอน ความสามารถในการเรียนรู้จะลดลงมากถึง 40% รูปแบบของการนอนจะมีความเปลี่ยนแปลงไปตามอายุ เมื่ออายุมากกว่า 60 ปี จะสูญเสียการหลับลึกไปมากกว่า 70% เมื่อเทียบกับคนอายุ 18-25 ปี นี่คือสาเหตุว่า ทำไมผู้สูงอายุจึงมีปัญหาในเรื่องความจำ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ข้อควรรู้!! ก่อนใช้‘เมลาโทนิน’ ตัวช่วยการนอนหลับ ไม่ใช่ยานอนหลับ
เช็กตัวเอง! 'โรคเครียดนอนไม่หลับ' เครียดสะสม เครียดไม่รู้ตัวของคนวัยทำงาน
การนอนคือหน้าที่ของร่างกาย
หากเกิดปัญหาในการนอนเช่น นอนไม่หลับ, นอนกรน หรือนอนหลับไม่สนิท ก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอื่นๆตามมา ซึ่งผลกระทบในระยะสั้นนี้อาจก่อให้เกิดอาการอ่อนเพลีย ขาดสมาธิในการทำงาน ทำให้ไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ และหากเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหนึ่ง ก็จะส่งผลต่อสุขภาพทำให้เจ็บป่วยเป็นโรคต่างๆได้ง่าย
รศ. ดร. นพ.วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์ ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าว่าการนอนไม่หลับถือเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญมาก เพราะคนส่วนใหญ่ต่างก็เคยประสบกับปัญหานอนไม่หลับ ซึ่งภาวะนอนไม่หลับ ไม่ใช่เป็นโรค แต่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่อาจทำให้เกิดสารพัดโรคได้ โดยโรคนอนไม่หลับ จะมีตั้งแต่การนอนกรนแล้วหยุดหายใจ การนอนละเมอ หรือการนอนที่ไม่มีคุณภาพ แล้วจะมาง่วงตอนกลางวัน
“การนอนไม่หลับ จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพ เช่น การเผาผลาญพลังงาน การกระตุ้นการเจริญเติบโตของเด็ก เรื่องของการสร้างความจำระยะยาว การสร้างภูมิคุ้มกัน การกำจัดเซลล์แปลกปลอมของร่างกาย ซึ่งถ้าเกิดนอนหลับไม่ได้เป็นระยะเวลานาน จะทำให้ระบบของร่างกาย จิตใจ และสมองเกิดปัญหาสุขภาพได้ " รศ.ดร.นพ.วรสิทธิ์ กล่าว
ยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น" (OSA - Obstructive Sleep Apnea) ร่วมด้วย เพราะในขณะนอนหลับโดยธรรมชาติจะมีความดันโลหิตลดลง แต่จะได้รับการกระตุ้นเป็นระยะ ๆ เมื่อเกิดอาการหยุดหายใจขณะหลับ จะทำให้ความดันโลหิตไม่ลดลงตอนกลางคืน ส่งผลเกิดความเสี่ยงต่อการเป็น 'ความดันโลหิตสูง' และเสี่ยงต่อภาวะ 'หัวใจเต้นผิดจังหวะ' ทำให้เกิดแนวโน้มของ "โรคหลอดเลือดสมอง" ต่อไปได้ในผู้ป่วยโรค OSA
เช็กภาวะการนอนไม่หลับ 3 ช่วงหลักๆ
ใน 1 รอบของการนอนหลับของมนุษย์ใน 1 คืน โดยทั่วไปอยู่ที่ประมาณรอบละ 90 นาที มีตั้งแต่การ “หลับตื้น” สลับกับ “หลับลึก” ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สมองหลั่งฮอร์โมนที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต การสร้างความจำระยะยาว การสร้างภูมิคุ้มกันที่จำเป็นต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงการกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกายและสมอง
รศ.ดร.นพ.วรสิทธิ์ กล่าวต่อว่าเด็กวัยเรียน คนวัยทำงาน และวัยผู้ใหญ่ มีแนวโน้มที่มีปัญหาเรื่องการนอนมากขึ้น โดยปัจจัยหลักๆ มาจากสภาพสังคม ความเครียดจากการทำงาน การเรียน และความตื่นตัวในการดูแลสุขภาพมากขึ้น ส่วนสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เกิดภาวะนอนไม่หลับได้หลากหลาย ทั้งความวิตกกังวล ปัญหาจากการทำงาน อกหัก การสอบ
ช่วงเวลาของการนอนไม่หลับจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วงหลักๆ คือ
1. การนอนไม่หลับช่วงต้น (initial insomnia) หรือกลุ่มหลับยาก
- การนอนไม่หลับในช่วงแรกหลัง เข้านอน แต่ถ้าหลับได้แล้วจะหลับต่อได้ยาว โดยเกณฑ์การวินิจฉัยคือ การที่ใช้เวลาตั้งแต่เริ่มเข้านอนจนถึงหลับ มากกว่า 20 นาทีในเด็กและผู้ใหญ่ตอนต้น หรือมากกว่า 30 นาทีในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ
- รูปแบบการนอนไม่หลับ ชนิดนี้มักจะสัมพันธ์กับความวิตกกังวล ความเครียด หรือการคิดอะไรซำ้ไปซำ้ เพราะกระบวนการคิดนั้นอาศัย การทำงานของสมองส่วนหน้า หากเจ้าสมองส่วนนี้ทำงานอยู่ จะทำให้ระบบการนอนหลับตามปกติเกิดขึ้นได้ยาก
- ดังนั้น ถ้าจะนอนหลับ ต้องให้สมองส่วนหน้าหยุดคิด ซึ่งบางทีก็ทำได้ง่าย แต่บางทีก็ทำได้ยากมาก หลักการสำคัญ ของการแก้ปัญหานอนไม่หลับในช่วงต้น คือ การปล่อยวางและไม่คิด (เท่าที่จะทำได้) เมื่อไม่คิด สมองที่ควบคุมการนอนหลับก็จะทำงานเด่นขึ้น และทำให้เราหลับได้ในที่สุด
2. การนอนไม่หลับช่วงกลาง (middle insomnia หรือ middle-of-the-night insomnia) หรือ กลุ่มตื่นกลางดึก
- การตื่นขึ้นมาตอนกลางดึกแล้วไม่สามารถนอนหลับต่อได้ทันที โดยจะตื่นอยู่มากกว่า 20 นาที ในเด็กและผู้ใหญ่ตอนต้น หรือมากกว่า 30 นาทีในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ซึ่งโดยเฉลี่ยพบว่าจะต้องใช้เวลาถึงราว 2 ชั่วโมงจึงจะสามารถหลับต่อไปได้ ทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ
- โดยการนอนไม่หลับในลักษณะนี้อาจจะเกิดขึ้นได้ทั้ง แบบชั่วคราวจากปัญหาความวิตกกังวล ความเครียด ความไม่สุขสบายตัวจากความเจ็บป่วยหรือสภาพแวดล้อม เช่น เสียงดังไป อากาศร้อนไป
- ส่วนอีกรูปแบบคือแบบเรื้อรัง ซึ่งต้องหาสาเหตุเพื่อการรักษาที่ถูกต้อง
3. การนอนไม่หลับช่วงปลาย (terminal insomnia) หรือกลุ่มตื่นเช้าเกินกว่าที่ต้องการ
- ภาวะการนอนในช่วงต้นและช่วงกลางจะปกติ แต่ผู้ป่วยมักจะตื่นตั้งแต่เช้ามืด และไม่สามารถนอนหลับต่อไปได้
- รูปแบบ การนอนไม่หลับชนิดนี้มักจะพบได้บ่อยในผู้สูงวัย แต่ก็สามารถพบได้ในคนหนุ่มสาวได้ในหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็น ความไม่สุขสบายตัวจากการเจ็บปวด โรคซึมเศร้า เป็นต้น
สัญญาณเตือนเริ่มเข้าสู่ภาวะนอนไม่หลับ
"เช็กตัวเองง่ายๆ ว่าเรากำลังอดนอนหรือไม่ คือ การเป็นแผลร้อนในง่ายๆ หรือการไม่มีสมาธิ ไม่มีจินตนาการ ไม่มีไอเดียใหม่ๆ ซึ่งปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะวัยทำงาน และวัยผู้ใหญ่มีแนวโน้มภาวะนอนไม่หลับ มากขึ้น เกิดจากสภาพสังคม การทำงาน ไลฟ์สไตล์คนเมือง และความตื่นตัวเรื่องการดูแลสุขภาพของผู้คน ภาวะนอนไม่หลับจะเป็นการวินิจฉัยจากตัวคนไข้เป็นหลัก ดังนั้น แต่ละคนจะมีสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป" รศ.ดร.นพ.วรสิทธิ์ กล่าว
สาเหตุของการนอนไม่หลับ มีดังนี้
1.ความวิตกกังวล
โดยทั่วไปนั้น เมื่อคนเราเกิดความวิตกกังวล หรือความเครียดอันเนื่องมาจากสาเหตุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องงาน สุขภาพ หรือครอบครัว ก็อาจก่อให้เกิดอาการนอนไม่หลับได้ แต่อาการนอนไม่หลับนี้จะเกิดขึ้นเพียงระยะสั้นๆ เมื่อหมดเรื่องกังวลหรือ ปัญหาต่างๆคลี่คลายไปแล้ว อาการนอนไม่หลับก็จะหายไปและกลับมานอนหลับได้ดีตามเดิม
อย่างไรก็ตามอาจมีกลุ่มคนบางส่วนที่ยังคงมีอาการนอนไม่หลับอยู่ แม้ว่าเรื่องกังวลต่างๆจะหมดไปแล้ว นั่นเป็นเพราะความกังวลต่างๆเหล่านั้นถูกเปลี่ยนมาเป็นความกังวลว่าจะนอนไม่หลับแทน
2. การนอนมากเกินไป
ตามปกติแล้วความต้องการในการนอนของแต่ละบุคคลจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างด้วยกันเช่น วัย, เพศ, ปัญหาสุขภาพ หรือคุณภาพในการนอนของแต่ละบุคคล สำหรับผู้ใหญ่ทั่วไปโดยเฉลี่ยแล้วต้องการการนอนวันละ 7-8 ชั่วโมง ดังนั้นหากเราใช้เวลาในการนอนมากกว่าจำนวนชั่วโมงที่ร่างการต้องการ ก็จะทำให้เกิดปัญหานอนหลับยาก นอนหลับๆตื่นๆ หรือตื่นเร็วได้
3.การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนผสม
ดังที่ทราบกันดีว่า การดื่มชาและกาแฟจะส่งผลให้เกิดอาการนอนไม่หลับ เพราะคาเฟอีนในชาและกาแฟจะไปกระตุ้นสมอง ทำให้ไม่รู้สึกง่วง หลายคนจึงคิดว่าหากหลีกเลี่ยงการดื่มชา หรือกาแฟ จะช่วยไม่ให้เกิดอาการนอนไม่หลับได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว คาเฟอีนไม่ได้พบเฉพาะในชา หรือกาแฟ แต่ยังรวมถึงน้ำอัดลมบางประเภท และเครื่องดื่มชูกำลังต่างๆด้วยเช่นกัน ฉะนั้นก่อนดื่มเครื่องดื่มประเภทใดควรศึกษาให้แน่ใจเสียก่อนว่าเครื่องดื่มประเภทนั้นไม่ได้มีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ
สำหรับระยะเวลาในการขจัดคาเฟอีนออกจากร่างกายนั้น จะพบได้ว่า ผู้ที่อายุน้อยร่างกายอาจใช้ระยะเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงในการขจัดคาเฟอีน ขณะที่ผู้สูงอายุจะใช้เวลามากกว่าหลายชั่วโมง ในบางคนอาจใช้เวลามากถึงสิบชั่วโมงเพื่อทำการขจัดคาเฟอีน ดังนั้นการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในช่วงบ่าย หรือในเวลาเย็นก็อาจส่งผลให้นอนหลับยาก หรือไม่สนิทได้เช่นกัน
4.การออกกำลังกายก่อนนอน
แม้ว่าการออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายแข็งแรง เป็นประโยชน์ทั้งต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต แต่หากการออกกำลังกายนั้นไม่เหมาะสม ไม่ถูกเวลาก็อาจเกิดผลเสียตามมาได้ ดังเช่นความเชื่อที่ว่า
หากออกกำลังกายใกล้เวลานอนจะช่วยให้นอนหลับได้เร็ว และนอนหลับสนิท เนื่องจากร่างกายเหน็ดเหนื่อยและอ่อนล้า แต่ในความเป็นจริงนั้น ขณะที่ออกกำลังกายร่างกายจะหลั่งสารอะดินาลีน ซึ่งสารอะดินาลีนนี้จะกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว ดังนั้นหากเราออกกำลังกายใกล้เวลานอนเกินไป ก็จะทำให้นอนหลับยาก หรือหลับไม่สนิทเพราะสารอะดินาลีนในร่างกายยังคงอยู่ในระดับสูง
5.การใช้เวลาในห้องนอนมากเป็นระยะเวลานาน
ห้องนอนควรเป็นห้องที่มีไว้สำหรับนอนเท่านั้น การทำกิจกรรมอื่นในห้องนอนเป็นระยะเวลานานเช่น นั่งเล่น ดูโทรทัศน์ ทำงาน หรือแม้แต่นอนเล่น พฤติกรรมเหล่านี้จะส่งผลให้สมองเกิดการรียนรู้ว่า ห้องนอนไม่ได้มีไว้สำหรับนอน เมื่อถึงเวลานอนจริงๆ จึงทำให้นอนหลับยาก หรือหลับไม่สนิท
ปัญหาการนอนไม่หลับที่เกิดจากการใช้เวลาในห้องนอนมากเกินไปนี้ จะสังเกตได้จากอาการง่วงนอนตามปกติเมื่อถึงเวลานอน แต่เมื่อล้มตัวลงนอนกลับหายง่วง และนอนไม่หลับ ซึ่งจะส่งผลต่อปัญหาสุขภาพอื่นๆตามมา
6.อาการเจ็บป่วยจากโรคต่างๆ
การนอนไม่หลับอาจเป็นผลมาจากโรคอื่นๆที่ส่งผลกระทบต่อการนอน อาทิเช่น โรคเบาหวานและ โรคต่อมลูกหมากโต ซึ่งทำให้ปัสสาวะบ่อยจึงเป็นสาเหตุให้นอนหลับได้อย่างไม่ต่อเนื่อง หรือผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า ก็อาจมีอาการนอนไม่หลับร่วมด้วยได้เช่นกัน
7.การตรวจการนอน (Sleep Test)
ผู้ที่นอนไม่หลับโดยทั่วไปนั้น มักมีความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับการตรวจการนอนว่า สามารถช่วยวินิจฉัยสาเหตุของอาการนอนไม่หลับได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การตรวจการนอนเป็นการตรวจว่าในสภาวะที่เรากำลังนอนหลับมีอาการผิดปกติอื่นใดเกิดขึ้นหรือไม่
อาการผิดปกติที่ตรวจหาได้แก่ ภาวะการกรน หรือ การหยุดหายใจขณะนอนหลับ ดังนั้นการตรวจการนอนจึงไม่เกิดประโยชน์แก่ผู้ที่นอนไม่หลับเป็นส่วนใหญ่ อาจมีเพียงบางกรณีเท่านั้นที่จำเป็นต้องใช้การตรวจการนอนเข้าร่วมวินิจฉัย
เปลี่ยนพฤติกรรม เทคนิคง่ายๆรักษาภาวะนอนไม่หลับ
การรักษาภาวะนอนไม่หลับ ต้องอาศัยการวินิจฉัยสาเหตุของการนอนไม่หลับโดยแพทย์ ในทางปฏิบัติ หากไม่พบสาเหตุจากตัวโรคที่รุนแรง การให้การรักษาผู้ที่นอนไม่หลับจะประกอบไปด้วย
1. การปรับสภาพแวดล้อมในห้องนอน ให้น่านอนและมีความสะดวกสบาย เช่น ปิดไฟให้สนิท ระวังไม่ให้ มีเสียงดังจากภายนอก ไม่นำโทรศัพท์มือถือไว้ใกล้ที่นอน และปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้เหมาะสม
2. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่กระตุ้นความตื่นตัวในช่วงเย็น เช่น เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน (กาแฟ ชา น้ำอัดลม) ในช่วงเย็นหรือกลางคืน เพราะจะทำให้ร่างกายตื่นตัวและนอนไม่หลับ ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ไม่ควรบริโภค เพราะแม้จะทำให้หลับ แต่คุณภาพการนอนจะไม่ดี รวมถึงไม่ควรกินอาหารในปริมาณมากก่อนนอน เพราะจะทำให้แน่นท้อง ไม่สบายตัว และนอนหลับยากขึ้น
3. หลีกเลี่ยงการงีบหลับในช่วงเย็น เพราะจะทำให้แรงกระตุ้นให้หลับตอนกลางคืนลดลง
4. ไม่ควรออกกำลังกายอย่างหนักหรือดูภาพยนตร์ที่ตื่นเต้น รุนแรง หรือเร้าอารมณ์เกินไปในช่วงหัวค่ำหรือก่อนนอน เพราะจะทำให้ร่างกายตื่นตัวเกินไป และนอนหลับได้ยาก
5. ไม่ใช้ห้องนอนสำหรับทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่น แก้รายงานการวิจัย หรือแก้ไขวิทยานิพนธ์นักศึกษา ใช้ห้องนอนไว้สำหรับการนอนเป็นหลักเท่านั้น
6. ไม่เร่งรัดตนเองให้นอน เพราะความตั้งใจจะนอนจนเกินไป จะทำให้เกิดความกังวล จนกลายเป็นนอนไม่หลับแทน
7. ใช้เทคนิคการผ่อนคลายอย่างง่าย ๆ ช่วยให้นอนหลับ เช่น การทำสมาธิ การสวดมนต์ การใช้น้ำมันหอมระเหยที่มีฤทธิ์ง่วงนอน เช่น น้ำมันหอมระเหยลาเวนเดอร์ หรือการฝึกหายใจช้า ๆ ก็พบว่าสามารถช่วยให้นอน หลับได้ง่ายขึ้น ส่วนการเปิดเพลงบรรเลงก่อนนอน แม้จะช่วยให้หลับง่ายขึ้น แต่เสียงดนตรีที่เปิดในช่วงกลางคืน อาจจะส่งผลต่อคุณภาพการนอนได้ จึงไม่แนะนำ
8. หากเข้านอนเกินกว่า 30 นาทีแล้วนอนไม่หลับ หรือตื่นขึ้นมากลางดึกแล้วนอนต่อไม่ได้เกินกว่า 30 นาที ควรลุกจากที่นอน หากิจกรรมอื่น ๆ ที่ไม่หนักเกินไปทำแทน เช่น อ่านหนังสือ เดินเล่น นั่งสมาธิในแสงไฟ สลัว จนเมื่อรู้สึกง่วง จึงค่อยกลับมานอนใหม่
เทคนิคการปฏิบัติตัวเหล่านี้ ทำได้ไม่ยาก ส่วนใหญ่แล้วหากปฏิบัติตามมักจะช่วยแก้ไขปัญหานอนไม่หลับ ได้ดี อย่างไรก็ตาม ในบางรายอาจจะต้องการการรักษาด้วยยา ซึ่งจะใช้เฉพาะรายที่อาการรุนแรงหรือมีโรคบาง ชนิดร่วมด้วยเท่านั้น
สิ่งสำคัญคือ การรับประทานยานอนหลับจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เสมอ เพราะยา นอนหลับมีหลายชนิด ซึ่งมีกลไกและระยะเวลาการออกฤทธิ์แตกต่างกัน บางชนิดเหมาะแก่คนที่หลับยาก บางชนิด เหมาะแก่คนที่ตื่นกลางดึก นอกจากนี้ หากได้รับยานอนหลับมาอย่างต่อเนื่อง ห้ามหยุดยานอนหลับทันทีทันใด เพราะอาจจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น อาการชัก หรืออาจนอนไม่หลับได้
ส่วนการใช้เมโทลานิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีฤทธิ์ให้ช่วยนอนหลับ แต่ไม่ใช่ยานอนหลับ และบางคนก็ไม่สามารถช่วยได้ เพราะร่างกายของเราจะเซตร่างกายตัวเอง เมื่อมีกระบวนการบางอย่าง และมีฤทธิ์ในการช่วยการนอนหลับได้ไม่มาก
'Sleep Lab' ศึกษากลไก-ปัจจัยนอนไม่หลับ
'ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล' ได้สร้าง 'Sleep and Chronobiology Lab' หรือ 'Sleep Lab' เพื่อดำเนินการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกลไกนาฬิกาชีวภาพของมนุษย์ รวมถึงการตรวจวิจัยด้านการนอนหลับ โดยทีมแพทย์ อาจารย์ นักวิทยาศาสตร์ และนักตรวจการนอนหลับ ตามมาตรฐานโลก
รศ.ดร.นพ.วรสิทธิ์ กล่าวอีกว่าขณะนี้ตามโรงพยาบาลทั่วไปจะมีศูนย์ Sleep Lab อยู่แล้ว เพียงแต่จะทำหน้าที่ให้บริการตรวจการนอนไม่หลับ และจะรอคิวเป็นเวลานานๆ ทางศูนย์ฯ ซึ่งมีการศึกษาค้นหาวิจัยเกี่ยวกับกลไก และแนวทางพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ มาช่วยรักษาผู้ป่วยภาวะนอนไม่หลับ จึงเปิดศูนย์ดังกล่าวขึ้น เพื่อศึกษาวิจัยภาวะการนอนไม่หลับตามมาตรฐานโลกที่จะต้องเป็นการปฎิบัติงานในองค์กรวิชาชีพจริงๆ
“ตอนนี้กำลังศึกษาวิจัยปัจจัยที่ส่งผลต่อการนอนหลับ เพราะการนอนหลับแต่ละช่วงวัยแตกต่างกัน การนอนให้ครบ 8 ชั่วโมงเป็นเพียงค่าเฉลี่ย โดยวัยผู้ใหญ่ วัยทำงานควรนอน 7-9 ชม. แต่จะนอน7,8 หรือ 9 ชั่วโมงจะขึ้นกับตัวบุคคล ส่วนวัยเรียนควรนอนอย่างน้อยเกิน 10 ชั่วโมง ทว่าในปัจจุบันวัยเรียนและวัยทำงานส่วนใหญ่จะนอนน้อยกว่านั้น ขณะที่วัยชราควรนอนเฉลี่ย 7-8 ชั่วโมง และควรจะงีบสั้นๆ ตอนกลางวัน ฉะนั้น เมื่อชั่วโมงการนอนต่างกัน ปัจจัยที่ส่งผลต่อการนอนต่างกัน ย่อมต้องมีการศึกษาวิจัย เพื่อหาสาเหตุและนำไปสู่การรักษาที่เหมาะสม” รศ.ดร.นพ.วรสิทธิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ 6 เดือน “Sleep Lab” จะเป็นแหล่งค้นคว้าและวิจัยกระบวนการเกิดโรคและกลไกการรักษาโรคการนอนหลับชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาวะนอนไม่หลับ โรคหยุดหายใจในขณะหลับจากการอุดกั้น รวมไปถึงผลของการนอนหลับที่ไม่ดีต่อปัญหาสุขภาพ และจะให้บริการตรวจผู้ป่วยที่มีภาวะนอนไม่หลับ เพื่อลดจำนวนการรอคิวในโรงพยาบาลต่างๆ ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา เพื่อให้คนไทยได้มีชีวิตที่ดีขึ้นจากการนอนหลับที่มีคุณภาพ
อย่างไรก็ตาม เรื่องของการนอน เป็นเรื่องของหน้าที่ของร่างกาย แต่อย่าบังคับตัวเอง จะยิ่งนอนไม่หลับยิ่งต้องทำให้ตัวเองสบายใจ ผ่อนคลายแล้วค่อยนอน และถ้าเกิดมีปัญหาเรื่องความไม่กระปรี้กระเปร่าระหว่างวัน หงุดหงิดง่าย อยากให้ย้อนกลับมาดูปัญหาเรื่องการนอน และการนอนดี ไม่ใช่เพียงเรื่องของชั่วโมงในการนอน แต่ต้องดูคุณภาพการนอนร่วมด้วย