วิธีฮีลใจ รับมือวัน bad day เมื่อต้องเจอชีวิตย่ำแย่ อกหัก หมดไฟ
ด้วยปัญหาในแต่ละวันที่ทุกคนต้องพบเจอ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากการทำงาน การเรียน ครอบครัว ความรัก ล้วนส่งผลให้เกิดสภาวะจิตใจห่อเหี่ยว ท้อแท้ ซึมเศร้า หรือภาวะหมดไฟ (Burnout Syndrome) ในคนวัยทำงาน
Keypoint:
- คนเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาได้ และคงไม่มีใครที่ไม่เจอกับอุปสรรคหรือปัญหาในชีวิต แต่สิ่งที่เราทำได้ คือการเตรียมพร้อมสุขภาพกายและจิตใจของเราให้ผ่านพ้นสิ่งที่ทำให้ชีวิตของเราย่ำแย่
- อกหัก หมดไฟ เครียด ซึมเศร้า กลายเป็นปัญหาที่คนหนึ่งคนต้องประสบพบเจอ ซึ่งการฮีลใจที่สามารถทำได้ง่ายๆ เริ่มจากชี้เป้าของปัญหา มองหาสิ่งดี ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น และระบายความรู้สึก ออกเป็นคำพูด หรือการจดบันทึก หรือหากิจกรรมให้ตัวเองได้ผ่อนคลาย
- หากพบว่าตนเองมีอาการเบื่อหน่าย ชีวิตย่ำแย่ ไม่อยากทำอะไร ไร้เรี่ยวแรง ขาดสมาธิ กินไม่ได้นอนไม่หลับ หรือนอนมาก และมีความคิดอยากตาย รู้สึกตัวไร้คุณค่าเป็นภาระ โดยมีอาการติดต่อกันมากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป ควรปรึกษาแเพทย์
เมื่อใดก็ตามที่รู้สึกเหนื่อยล้าทางใจ ต่อต้านการทำงาน หรือหมด Passion กับสิ่งที่กำลังทำอยู่ ขอให้เพื่อน ๆ รู้ว่า ‘ภาวะจิตตก หมดไฟ’ ไม่ใช่เรื่องที่เราต้องอดทนเพื่อกดความรู้สึก เพราะสุขภาพกายและใจคือเรื่องเดียวกัน ยิ่งใครที่ป่วยร้ายแรงหรือเป็นโรคเรื้อรังก็จะใจบางเป็นพิเศษ รู้มั้ยว่ามากกว่า 1 ใน 3 ของผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องเจออาการวิตกกังวล หรือถึงขั้นซึมหลังตรวจพบโรคได้
ตัวก็ป่วย ใจก็พัง แล้วยังไม่รู้จะไปปรึกษาใคร หาทางออกไม่เจอ ต้องมานั่งเครียดอยู่คนเดียวว่าจะหายมั้ย? จิตตกแบบนี้ไม่ดีแน่ แถมอาจจะเผลอส่งต่อความเครียดไปถึงเหล่าญาติๆ โดยไม่รู้ตัว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
6 โรคหัวใจที่ควรรู้ เช็กอาการเสี่ยง ก่อนอันตรายถึงชีวิต
มัดรวม 4 ไอเทมฮีลใจ ‘มนุษย์ออฟฟิศ’ ใช้แล้วแฮปปี้ รู้งี้มีตั้งนานแล้ว
ทำไม "อกหัก" แล้วทรมานเหมือนติดยา ? เปิดคำอธิบายเชิงวิทยาศาสตร์และจิตวิทยา
เทคนิคฮีลใจเมื่ออกหัก หมดไฟ มีปัญหาชีวิต
วันนี้ 'กรุงเทพธุรกิจ' รวบรวมวิธีฮีลใจ เพิ่มพลังบวกในวันที่ชีวิตย่ำแย่ อกหัก ซึมเศร้า หรือภาวะหมดไฟให้ตัวเอง โดยเริ่มจาก สังเกต หมั่นสำรวจอารมณ์ของตนเอง เพื่อเป็นการสังเกตว่าสิ่งใดช่วยทำให้อารมณ์เศร้าหมอง หรือ สดชื่น แจ่มใส และพยายามรักษาจิตใจให้สดชื่นแจ่มใสอยู่เสมอ
สำหรับวิธีการฮีลใจที่สามารถทำได้ง่ายๆ มีดังนี้
1.ชี้เป้าปัญหา
ยิ่งคุณรับรู้และยอมรับความคิดและอารมณ์แย่ ๆ ของคุณได้เร็วเท่าไหร่ คุณก็สามารถจัดการกับปัญหาที่อยู่ตรงหน้าได้เร็วขึ้นเท่านั้น ลองหยุดพักความคิดสักนิด แล้วสำรวจความคิดของคุณเอง ดูว่าตอนนี้คุณกำลังรู้สึกอย่างไรอยู่ ถ้ากำลังรู้สึกแย่ ลองหาสาเหตุว่าเป็นเพราะอะไร เช่น รู้สึกหงุดหงิดที่เจ้านายตามงาน เพราะวันนี้คุณปวดหัว ไม่ค่อยสบาย รู้สึกแย่กับตัวเองเพราะทำงานไม่เสร็จตามเป้าที่วางไว้ เป็นต้น
จากนั้นเขียนออกมาสั้น ๆ ว่าคุณกำลังรู้สึกอะไร และอะไรที่ทำให้คุณรู้สึกแบบนี้ การเขียนจะทำให้คุณมองเห็นปัญหาได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น คุณจะได้รู้ว่าต้องจัดการอย่างไรต่อไป
2.มองหาสิ่งดี ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น
ในวันที่มืดมิด สิ่งที่จะทำให้คุณหาทางออกได้ ก็คิดมองหาแสงที่ปลายอุโมงค์ ลองเขียนสิ่งดี ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น 3 อย่างแม้ว่าตอนนี้คุณกำลังจะรู้สึกแย่อยู่ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องยิ่งใหญ่อะไร อาจเป็นเรื่องง่าย ๆ เช่น วันนี้คุณได้ทานกาแฟอร่อย ๆ ก่อนทำงาน ได้พักเล่นกับแมวที่บ้านก่อนเข้า Concall หรือวันนี้ไม่ต้องรอลิฟต์นานกว่าจะได้เข้าออฟฟิศ หรืองานที่ทำอยู่เป็นงานที่คุณรัก คนในทีมของคุณเข้ามาถามว่าคุณโอเคมั้ย วิธีนี้จะช่วยให้คุณรู้ว่าทุกอย่างไม่ได้แย่ไปเสียหมด ยังมีเรื่องดี ๆ เกิดขึ้นบ้างเหมือนกัน
เตรียมพร้อมรับมือกับวัน Bad day
3.ทำอะไรสักอย่าง
ลองหาอะไรสักอย่างที่คุณจะทำเสร็จได้ง่าย ๆ อาจเป็นงานง่าย ๆ ที่คุณตั้งใจจะทำแต่ยังไม่ได้ทำสักที เช่น การส่งอีเมลตามงานที่คุณควรจะได้รับเมื่อ 2 วันที่แล้ว โทรหาลูกค้าเพื่ออัปเดตงาน ถ้าเรื่องงานเครียดเกินไป ลองทำเรื่องง่ายในชีวิต เช่น กดสั่งชานมไข่มุกร้านโปรด สควอm 10 ครั้งตอนไปเข้าห้องน้ำ หรือแวะเดินเล่นในสวน 1 รอบตอนเบรก สมองของคุณจะบันทึกความสำเร็จ แม้เรื่องนั้นจะเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่คุณทำเสร็จ และจะยิ่งส่งผลทวีคูณถ้าสิ่งนั้นส่งผลดีต่อคนอื่น คุณอาจลองส่งอีเมลขอบคุณหรือชื่นชมเพื่อนร่วมงานของคุณ สิ่งนี้จะสะท้อนกลับมาทำให้คุณรู้สึกดีขึ้น พร้อมมีกำลังใจไปสู้วันแย่ ๆ ต่อไป
4.เปลี่ยนรูทีน
ถ้าคุณรู้สึกหมดหวัง ลองเปลี่ยนอะไรที่คุณทำเป็นกิจวัตรดู เช่น เปลี่ยนมุมนั่งทำงาน จัดโต๊ะทำงานใหม่ หรือออกไปเดินเล่นนอกออฟฟิศสักครู่ ให้สมองได้หยุดพัก สิ่งสำคัญคือคุณจะต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่ชัดเจน ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ หาอะไรที่คุณสามารถทำได้ง่าย ๆ และทำได้ทันที เพื่อผ่อนคลายตัวคุณเองจากความเครียดที่เกิดจากวันแย่ ๆ ที่คุณได้เจอมา หรือจะลองเปิดเพลงที่ชอบ ฟัง Podcast รายการโปรด กลบวันแย่ ๆ ความรู้สึกแย่ ๆ ด้วยการเปลี่ยนไปทำเรื่องที่ทำให้คุณรู้สึกดี
5.ตั้งความคาดหวังตามความเป็นจริง
'ไม่คาดหวังเท่ากับไม่ผิดหวัง' เป็นประโยคที่เอามาจัดการกับ Bad day ได้ แม้ความคาดหวังจะเป็นเรื่องที่เราปฏิเสธได้ยาก แต่คุณสามารถสร้างความคาดหวังที่ถูกต้องได้ ลองพิจารณาดูว่า วันแย่ ๆ ของคุณส่วนใหญ่เกิดจากความคาดหวังที่เกินจริงมากเกินไปหรือเปล่า คุณกำลังตั้งเป้าให้ตัวเองสามารถทำงานทั้งโปรเจกต์ที่ควรใช้เวลาทำ 2 อาทิตย์เสร็จในเวลา 3 วันหรือไม่
ลองเปลี่ยนความคาดหวังใหม่ โดยให้มองตามหลังความเป็นจริงและความเป็นไปได้ แบ่งย่อยเป้าหมายใหญ่ให้เป็นข้อเล็ก ๆ ที่สามารถทำเสร็จได้ง่ายขึ้น เขียนเป้าหมายคุณออกมา พร้อมทำ checklist ว่าคุณทำอะไรสำเร็จไปแล้วบ้าง วิธีนี้จะช่วยให้คุณเห็นเป้าหมายและความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม และไม่นอยว่าคุณทำงานไม่สำเร็จแบบที่ตั้งใจไว้สักที
6.เรียนรู้จากวันแย่ ๆ
ไหน ๆ คุณก็เจอวันแย่ ๆ แล้ว เมื่อจบวันแทนที่จะปล่อยผ่าน ใช้เวลาก่อนนอนสั้น ๆ ทบทวนดูว่าวันนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง สาเหตุมาจากอะไร คุณทำอะไรพลาดไปตรงไหนหรือเปล่า ถ้ามีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกคุณสามารถทำอะไรได้บ้าง รวมถึงอะไรที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีก Bad day ของคุณอาจมาจากการที่คุณทำงานหนักเกินไปเป็นเวลานาน จนทำให้ไม่สามารถทำงานได้ดีอย่างที่ควรจะเป็นก็ได้ หาบทเรียนที่คุณได้จะเรื่องแย่ ๆ และพยายามปรับแก้ให้คุณสามารถทำงานได้อย่างมีความสุขที่สุด
ไม่ว่าวันนี้คุณจะเจอเรื่องแย่ หรือมี Bad day ที่หนักขนาดไหน ขอให้คุณรู้ไว้ว่าคุณไม่ได้กำลังเจอวันแย่ ๆ อยู่คนเดียว พยายามฝึกเปลี่ยนความคิด เข้าใจและระบุปัญหาให้ได้ พร้อมมองหาเรื่องดี ๆ เพื่อให้ตัวเองมีความคิดที่ Positive อยู่เสมอ กำหนดความคาดหวังตามความเป็นจริงและไม่ลืมที่จะหาบทเรียนจาก Bad day ของคุณเพื่อจะได้เตรียมพร้อมรับมือกับความผิดหวัง เรื่องเครียดที่จะเข้ามาในชีวิตคุณอีก ครั้งต่อไปที่คุณเจอ Bad day คุณจะได้มีรู้สึกแย่เท่าเดิมอีกต่อไป
ระวัง 10 โรคฮิตคนทำงานออฟฟิศ
พญ.ธัญลักษณ์ ศรีบูระเดช ศัลยศาสตร์แพทย์ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ อินเตอร์ 3 กล่าวว่าสภาวะความกดดันและความเครียดที่เกิดจากการทำงาน ด้วยพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ต้องเกาะติดกับจอคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ รวมทั้งเครื่องมือสื่อสาร ที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย ทำให้กลายเป็นโรคบ้างาน หรือออฟฟิศซินโดรม ซึ่งเป็นอาการที่พบบ่อยในกลุ่มคนที่ทำงานออฟฟิศ โดย 10 โรคยอดนิยมสำหรับคนทำงานออฟฟิศมีดังนี้
1.โรคเครียด ถือว่าเป็นโรคฮิตสำหรับคนวัยทำงาน เกิดขึ้นได้กับทุกๆช่วงอายุการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นคนที่เพิ่งเริ่มทำงานใหม่หรือทำงานมาแล้วเป็นเวลานาน ซึ่งวิธีการหลีกเลี่ยงที่ง่ายที่สุดก็คือ พยายามไม่เครียด รู้จักผ่อนคลาย หากิจกรรมที่เรารู้สึกชอบทำ หรือแค่คุณลองละจากงานไปเดินเล่นสัก 10 นาที ก็ถือว่าได้ผ่อนคลายแล้ว
2.ไมเกรน ปวดศีรษะเรื้อรัง คุณเคยรู้สึกไหมว่าเวลานั่งทำงานนานๆ จะรู้สึกปวดหัวบริเวณขมับด้านหน้าศีรษะ หรือหลังต้นคอ นั่นคือสัญญาณเตือนให้คุณรู้ถึงภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่เกรน การพักผ่อนไม่เพียงพอ แสงแดด ความร้อน และการขาดฮอร์โมนบางชนิด ก็เป็นปัจจัยก่อให้เกิดโรคนี้เช่นกัน
3.กรดไหลย้อน สาเหตุเกิดจาก การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา รีบรับประทานจนเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด เครียดจัดจนอาหารไม่ย่อย และคนที่สูบบุหรี่หรือดื่มเหล้าจัด มักเสี่ยงกับการเป็นโรคกรดไหลย้อน นอกจากนี้ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้เป็นระยะเวลากว่า 10 ปี อาจจะนำไปสู่การเกิดมะเร็งหลอดอาหารส่วนปลายได้อีกด้วย
4.โรคอ้วน ล่าสุดพบว่าคนวัยทำงานเป็นโรคนี้กันมากขึ้นโดยเฉพาะพวกที่ชอบทำงานไปด้วยรับประทานไปด้วย ไม่มีเวลาออกกำลังกาย ซึ่งผู้หญิงอ้วนได้ง่ายกว่าผู้ชาย และโรคอ้วนยังเป็นบ่อเกิดของโรคสำคัญๆ มากมาย เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น สำหรับผู้ที่เป็นโรคอ้วนควรดูแลใส่ใจเรื่องอาหารการกินเป็นพิเศษ ควรปรึกษานักโภชนาการ และหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
5.ปวดหลังเรื้อรัง ในชีวิตประจำวันของการทำงานเรามักจำเป็นต้องใช้ชีวิตอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน และ การใส่รองเท้าส้นสูงบ่อยๆ ก็เป็นสาเหตุสำคัญของอาการปวดคอ บ่าไหล่ หลัง แขน ขา และสะโพก อันเนื่องมาจากโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง ควรพบแพทย์ผู้เชียวชาญเพื่อวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง
6.โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เกิดจากการอั้นปัสสาวะ เป็นเวลานานๆ ไม่ว่าจะการนั่งทำงานเป็นเวลานานหรือการเดินทางที่ใช้เวลานานๆ แล้วไม่สะดวกต่อการขับถ่าย ทำให้ต้องอั้นปัสสาวะเป็นประจำอาจทำให้เป็นโรคกระเพาะปัสสาวะได้ ซึ่งมักเกิดจากเชื้อแบคทีเรียเข้าไปทางท่อปัสสาวะทำให้เกิดการอักเสบ โดยโรคนี้จะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
7.ความดันโลหิตสูง ภัยเงียบที่ไม่มีอาการ มักพบเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งเกิดจากปัจจัยบางอย่าง ได้แก่ การมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้โดยไม่ทราบสาเหตุ จะมีโอกาสเป็นโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าคนอื่นๆ ถึง 3 เท่า นอกจากนี้ยังเกิดจากโรคอ้วน ความเครียด การรับประทานอาหารรสเค็ม การสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า หรือผู้ที่ทำงานนั่งโต๊ะในสำนักงานจะมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ที่ทำงานใช้กำลัง ความดันโลหิตสูงไม่ใช่แค่เรื่องความดันแต่อาจนำมาซึ่งภาวะเส้นเลือดแตก อัมพฤกษ์อัมพาต ไตวาย พิการ และหัวใจวายอีกด้วย
8.มือชา เอ็นอักเสบ นิ้วล็อก ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันมากขึ้น อาการของการอักเสบ ของปลอกหุ้มเอ็นข้อมือ เส้นเอ็มนิ้วมือ จากการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน การจับเม้าส์ในท่าเดิมนานๆ ซึ่งก่อให้เกิดกล้ามเนื้อกดทับเส้นประสาทและเส้นเอ็นจนเกิดอาการอักเสบเกิดเป็นพังผืดยึดจับบริเวณนั้นๆเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดอาการปวดปลายประสาท นิ้วล็อก หรือข้อมือล็อกได้
9.ต้อหิน ตาพร่ามัว 1 ใน 10 ของคนอายุ 40 ปีขึ้นไปมีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคต้อหิน หรือบางคนอาจจะกำลังเป็นโรคนี้โดยไม่รู้ตัว สาเหตุนั้นเกิดจากการใช้สายตาจ้องมองคอมพิวเตอร์นานๆ หรือเกิดจากการติดเชื้อของกระจกตาจากการใส่คอนแทคเลนส์ และสิ่งที่อันตรายที่สุดคือ ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจะทำให้ตาบอดได้
10.โรคนิ่วในถุงน้ำดี มีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่น Pizza ไก่ทอด โดนัท ขนมปัง เป็นต้น มักพบในเพศหญิงที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป คนอ้วน มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากกว่าคนผอม แต่ก็ยังคงมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลให้เกิดโรคนี้ด้วยเช่นกัน เช่น กรรมพันธุ์ การอักเสบและการคั่งของน้ำดีในถุงน้ำดี การทานยาคุมกำเนิดเป็นเวลานานๆ โดยเมื่อเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีแล้ว ถ้าไม่รีบรักษาอาจจะก่อให้เกิดอาการเรื้อรังตามมา
จัดสรรเวลา Work Life Balance ในชีวิตใหม่
การใช้ชีวิต หรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอาจก่อให้เกิดโรคมาสู่ตัวคุณเองโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นควรหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพเพื่อให้มีร่างกายและแข็งแรงและพร้อมที่จะทำงานอย่างมีความสุขได้ทุกวัน
การที่เพื่อน ๆ คนทำงานเกิดความรู้สึกหมดไฟ ส่วนหนึ่งก็มาจากการทำงานหนักแบบ Work Hard จนกินเวลาส่วนตัว เวลาความสุขของตัวเองมากเกินไป
ดังนั้นหนึ่งในวิธีฮีลใจที่สำคัญคือการจัดสรรเวลา Work Life Balance ในชีวิตใหม่ เช่น
8 ชั่วโมง Work Smart – เริ่มทำงานตรงเวลา และใช้เวลาภายใน 8 ชั่วโมง ผลิตชิ้นงาน รับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่ นอกจากนี้เวลาพักเที่ยงก็ควรพักผ่อนกินข้าวให้ตรงเวลา
8 ชั่วโมง Relaxing – อย่ากลัวที่จะมีเวลาพักผ่อน เมื่อหมดเวลางานคุณสามารถผ่อนคลายด้วยการดูหนัง ดูซีรีส์ อ่านหนังสือ ทานของที่ชอบ เสพย์คลิปตลกจากโซเชียล เป็นต้น
8 ชั่วโมง Sleep – ให้เวลากับการนอนเป็นสำคัญไม่แพ้ส่วนไหน เมื่อเพื่อน ๆ ให้เวลาครบทั้งการทำงาน และผ่อนคลายเต็มที่แล้ว เพื่อน ๆ ก็สามารถนอนหลับได้อย่างเต็มที่ครบ 8 ชั่วโมง ทำให้ร่างกายสดชื่น สดใส พร้อมทำงานในทุกวัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีความรู้สึกไม่สบายใจจากภาวะหมดไฟ (Burnout Syndrome) วิธีที่ดีที่สุดคือ ‘หาที่ระบาย’ ปลดปล่อยความทุกข์ผ่านการพูดคุยกับคนที่พร้อมรับฟังปัญหา เพราะอย่างน้อย ๆ การได้เล่าเรื่องที่พบเจอจะทำให้เราไม่ต้องเป็นเดอะแบก แบกความรู้สึกไว้ทั้งหมดคนเดียว หรือนอกจากผู้คนใกล้ตัวแล้ว ยังสามารถระบายความรู้สึกให้กับนักจิตวิทยา หรือคนแปลกหน้าผ่านแอปพลิเคชั่น ดูแลสุขภาพใจต่างๆ
หรือจะการเขียนบันทึกหรือเขียนไดอารี่ เพื่อน ๆ สามารถนำวิธีนี้ไปใช้ได้กับทุกสภาวะความเครียด ไม่จำกัดแค่ช่วง ‘หมดไฟ’ (Burnout Syndrome) เพราะถือเป็นวิธีการระบายความเครียดช่องทางหนึ่ง โดยสามารถถ่ายทอดในรูปแบบการเขียน การวาดภาพ ซึ่งหากเขียนบันทึกเป็นประจำวันละ 15 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้งติดต่อกันเป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ อาจช่วยลดภาวะความเครียดของเพื่อน ๆ ได้ แต่ทั้งนี้ก็หากความรู้สึกไม่พร้อม ก็ไม่จำเป็นต้องบังคับให้ตัวเองเขียนแต่อย่างไร รวมถึงการสนุกกับสื่อบันเทิง การฟังเพลง ดูซีรีส์ ดูคลิป Tiktok อ่านเรื่องเพลินๆ ให้มีความสุข ทานอาหารที่ดี ฟินกับอาหารอร่อย ให้รางวัลตัวเองสำหรับการทำงานตลอดสัปดาห์ เติมพลังบวกด้วยการกอด จะกอดหมา กอดตุ๊กตา หรือกอดตัวเองจะช่วยเติมกำลังใจให้ได้
นอกจากนั้น ควรออกกำลังกาย เพราะสุขภาพกายที่ดี จะช่วยฟื้นฟูจิตใจให้สดชื่นขึ้นมาได้ สัมผัสธรรมชาติ มองดูวิวต่างจังหวัด สูดกลิ่นอายของธรรมชาติเพื่อผ่อนคลาย หรือจะเลือกช็อปปิ้งเปย์ตัวเองกับสิ่งของที่อยากได้ ก็จะทำให้เพื่อน ๆ รู้สึกมีความสุขมากขึ้นนั่นเอง
อ้างอิง:jobsdb , โรงพยาบาลจุฬารัตน์ อินเตอร์ 3 , โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ,ananda