ไขความลับ 'โรคอ้วน' กินอาหารอย่างไร ให้ลดน้ำหนักระยะยาว
โรคอ้วน เพิ่มความเสี่ยงโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง บางคนพยายามลดความอ้วนแต่กลับมาอ้วนมากกว่าเดิม แล้วเราจะเลือกทานอาหาร ปรับพฤติกรรมอย่างไรให้ทำได้ในระยะยาว และไม่กลับมาอ้วนซ้ำ
Key Point :
- โรคอ้วน คือ การที่ร่างกายของเรา มีไขมันเยอะเกินไป ภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน ส่งผลให้มีอัตราการตายสูงกว่าคนที่มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ
- การอ้วนลงพุงเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง
- บางคนพยายามลดความอ้วน แต่ก็ยังกลับมาอ้วนอีก ดังนั้น การปรับพฤติกรรมจำเป็นต้องทำให้ได้ระยะยาว สร้างสมดุลและเข้าใจไลฟ์สไตล์ของตัวเอง
ภาวะน้ำหนักเกิน และ อ้วน เรียกได้ว่าเป็นปัญหาสุขภาพของคนทั่วโลก ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค เผยว่า การที่มาภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน มีอัตราการตายสูงกว่าคนที่มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ขณะที่ ทั่วโลกประชากรจำนวนมากกว่า 4 ล้านคน เสียชีวิตจากการที่มีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน
ทำไมคนอ้วน บางครั้งน้ำหนักลดลง และก็สามารถกลับมาอ้วนได้อีก ?
สิ่งสำคัญ คือ การปรับพฤติกรรม ไม่ใช่แค่ชั่วคราว แต่ตลอดชีวิต ทั้งนี้ การอ้วนลงพุงเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ บางครั้งน้ำหนักไม่เยอะมาก ก็สามารถเจอโรคแทรกซ้อนเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง ขณะเดียวกัน การลดน้ำหนักอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของอาหาร โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่ให้น้ำตาลสูง และการปรับเลี่ยนพฤติกรรมต้องปรับระยะยาว อย่าแค่นับแคลลอรี่ แต่ต้องดูว่าเราทานอาหารเพียงพอหรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เช็กก่อนเสี่ยง อ้วนแค่ไหน ถึงเข้าเกณฑ์ ‘โรคอ้วน’ น้ำหนักเกิน
- ส่องความเสี่ยง “โรคอ้วน” ปัญหาสุขภาพที่น่าห่วง
- คนกรุงฯ มีภาวะอ้วนมากสุด แนะ "โรคอ้วน" ป้องกันได้ อย่ารอโรคแทรก
รศ.พญ.ประพิมพ์พร ฉัตรานุกูลชัย สาขาวิชาโภชนวิทยาและชีวเคมีทางการแพทย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความรู้เกี่ยวกับ 'โรคอ้วน เลือกกินอย่างไร ให้ไม่อ้วน' ในรายการ พบหมอรามาฯ โดยระบุว่า ปัจจุบัน ความอ้วน ถือเป็นโรค เพราะเป็นต้นตอของโรคแทรกซ้อนจากการที่ร่างกายมีไขมันมากเกินไป
ความอ้วนนอกจากกรรมพันธุ์แล้ว ยังเกี่ยวกับอาหารที่กินและการใช้ชีวิต บางคนที่ผอมแต่ลงพุงก็ไม่ดี ดัชนีมวลกายปริ่มๆ แต่ลุงพุง โดยรอบเอว ผู้หญิงเกิน 80 เซนติเมตร ผู้ชายเกิน 90 เซนติเมตร เรียกว่าอ้วนลุงพุง มีความเสี่ยงเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ทั้งนี้ ผู้ชายมักจะอ้วนลงพุง และ ผู้หญิงมักจะอ้วนลงขาและสะโพก
สำหรับวิธีการดูว่า น้ำหนักเกินหรือไม่ พิจารณาจากค่าดัชนีมวลกายหรือ BMI (Body mass index) คิดได้จาก น้ำหนักตัว (หน่วยเป็นกิโลกรัม) หารด้วย ส่วนสูง (หน่วยเป็นเมตร) ยกกำลังสอง หาก BMI 18.5 – 23 ถือว่ากำลังดี หากค่า BMI 23 - 24.90 แสดงถึงน้ำหนักเกิน และ ค่า BMI 25 ขึ้นไปแสดงถึงโรคอ้วน
โรคอ้วน คืออะไร
โรคอ้วน คือ การที่ร่างกายของเรา มีไขมันเยอะเกินไป ร่างกายเกิดการอักเสบ เพราะฉะนั้น เมื่อน้ำหนักเกิน ไขมันเกิน จะเรียกว่าโรคอ้วน เป็นโรคเรื้อรัง คนไข้น้ำหนักลดลงได้และจะกลับมาอ้วนขึ้นได้ วิธีการรักษา ต้องปรับพฤติกรรมตลอดชีวิต
"หลักการเวลาที่จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคอ้วน จะใช้ดัชนีมวลกาย และ เส้นรอบเอว หากดัชนีมวลกายเกิน ถือว่าเป็นโรคอ้วน แต่จะมีกรณียกเว้น ในคนที่ออกกำลังกายเยอะ เล่นกล้าม มีกล้ามเนื้อเยอะมาก ดัชนีมวลกายจะเยอะโดยที่เป็นกล้ามเนื้อแต่ไม่ได้เป็นโรคอ้วน แต่ส่วนใหญ่เมื่อเจอคนที่ดัชนีมวลการเยอะ จะไม่ใช่กลุ่มที่เล่นเวท ดังนั้น โดยส่วนใหญ่ดัชนีมวลกายจะเป็นตัวบอกว่าเป็นโรคอ้วน"
นอกจากนี้ ข้อจำกัดของดัชนีมวลกาย คือ หากเป็นกล้ามเนื้อ ไม่ใช่ไขมันเยอะก็ไม่ใช่โรคอ้วน ถัดมา คือ เป็นโรคทางการแพทย์ บางครั้งคนไข้น้ำหนักเยอะ แต่ไม่ใช่ไขมันแต่เป็นการบวมน้ำ เช่น โรคหัวใจล้มเหลว ไตวาย ตับแข็ง พบบ่อย คือ ภาวะบวมน้ำ ดังนั้น หากน้ำหนักขึ้นมากๆ ต้องมาที่โรงพยาบาลให้แพทย์ซักประวัติ ตรวจร่างกาย
คนผอม เป็นโรคอ้วนได้หรือไม่
หากจากเดิมเป็นคนผอมตัวเล็ก และน้ำหนักเพิ่ม อาจจะมาจากทานเยอะขึ้น การใช้ชีวิต ออกกำลังกายน้อย ก็มีโอกาสเป็นโรคอ้วนได้ แต่อีกกรณี คือ ดูไม่ค่อยอ้วน แต่ความจริงมีไขมันสะสม เป็นไขมันที่ทำให้เกิดอันตราย ก็อาจจะเกิดปัญหา
"บางคนดัชนีมวลกายเกินไม่มากแต่มีไขมันเกาะตับ ไขมันพอกตับ ถือว่ามีโรคอ้วนที่เกิดภาวะแทรกซ้อน ดังนั้น จะพบว่า คนที่อ้วน แต่ตรวจเลือดมาปกติ และคิดว่าไม่เป็นอะไร แต่จริงๆ ระยะยาวอย่าไว้วางใจ เพราะมีโอกาสเป็นโรคได้ หรือบางคนมีอาการแต่ไม่รู้ คือ นอนกรน มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ กรดไหลย้อน นิ่วในถุงน้ำดี ไขมันพอกตับ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่หากไม่ได้ตรวจก็ไม่ทราบ หรือบางคนผอม แต่ตรวจมาเจอไขมันในเลือดผิดปกติ ไขมันพอกตับ ต้องยอมรับว่าคนเอเชีย จะเจอปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ แม้จะไม่ได้อ้วน"
สำหรับ โรคแทรกซ้อนของโรคอ้วน ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจ และหากน้ำหนักเยอะ จะส่งผลต่อกล้ามเนื้อ ข้อต่อ ปวดเข่า ข้อมือ ปวดหลัง ไขมันเกาะตับ นิ่วในถุงน้ำดี กรดไหลย้อน หยุดหายใจขณะหลับ และบางครั้งเจอเรื่องของอารมณ์ เช่น ซึมเศร้า ดังนั้น ไม่ควรไปแซวหรือล้อในเรื่องของความอ้วน เพราะบางครั้งเขาอาจจะเครียดหรือเก็บไปแอบคิด ต้องถนอมน้ำใจ
ลดน้ำหนักอย่างไรได้ระยะยาว
รศ.พญ.ประพิมพ์พร อธิบายว่า การลดลน้ำหนักอย่างมีประสิทธิภาพโดยการใช้อาหาร บางคนสามารถลดได้ 50-60 กิโลกรัม ทั้งนี้ ในเคสที่ไม่สามารถลดใช้อาหารในการลดน้ำหนัก ก็อาจจะต้องใช้การผ่าตัด เพื่อให้น้ำหนักลดลงระยะยาวและปรับพฤติกรรม
"คนที่ลดน้ำหนักส่วนใหญ่ที่พบ คือ ลดได้ถึงจุดหนึ่งแล้วน้ำหนักก็จะเด้งกลับขึ้นมา และบ่อยครั้งจะอ้วนกว่าเดิม สุดท้ายก็จะอ้วนมาก ดังนั้น หากตั้งใจจะลดน้ำหนัก จะต้องลดและตั้งใจว่าจะไม่กลับมาอ้วนขึ้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ต้องปรับระยะยาว"
เข้าใจไลฟ์สไตล์ตัวเอง
การจะลดน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันดับแรก ต้องดูว่าไลฟ์สไตล์เราเป็นอย่างไร และค่อยๆ ปรับระยะยาว เช่น หากเราเป็นคนที่สายกินแป้ง ชอบกินแป้ง น้ำหวาน ชานมไข่มุก เบเกอร์รี่ ต้องค่อยๆ ปรับ แนะนำให้เลิกกินน้ำตาลจากเครื่องดื่มก่อน เพราะเครื่องดื่มได้แคลอรี่เยอะ ไม่อิ่ม ยิ่งกินยิ่งหิว ทำให้น้ำตาลขึ้นสูงเร็ว ลดลงเร็ว และหิว นอกจากนี้ เครื่องดื่มยังมักจะมาพร้อมเบเกอร์รี่
ดังนั้น ต้องลดเครื่องดื่มก่อน และค่อยๆ ปรับมาเป็นน้ำเปล่าหากเป็นไปได้ ทั้งนี้ เครื่องดื่มที่หวาน นอกจากชา กาแฟ น้ำหวาน น้ำอัดลม ยังรวมถึงน้ำผลไม้ 100% ก็มีน้ำตาลเช่นกัน แนะนำให้กินผลไม้เป็นลูกดีกว่า จะได้ไฟเบอร์ด้วย
“หลักการในการลดน้ำหนัก คือ ทานอาหารให้เพียงพอ อย่านับแค่แคลอรี่เพียงอย่างเดียว ต้องดูโปรตีนเพียงพอ กล้ามจะได้ไม่หายและไม่โยโย่ ไขมันก็ต้องกินแต่ในปริมาณที่เหมาะสมและเป็นไขมันดี รวมถึงวิตามินแร่ธาตุจากผัก ผลไม้ คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ต้องดูว่าวิถีชีวิตเราจะปรับอย่างไรให้ได้ระยะยาว ต้องค้นหาตัวเอง นอกจากนี้ หากน้ำหนักเพิ่มขึ้น เปลี่ยนแปลงเร็ว และไม่แน่ใจว่ามีปัญหาสุขภาพอื่นๆ ต้องเช็กสุขภาพตัวเอง”
ทั้งนี้ โดยทั่วไปจะแนะนำลด 1-2 กิโลกรัมต่อเดือน ขณะเดียวกัน ตัวเลขในตาชั่งเป็นปัจจัยหนึ่ง แต่ต้องดูว่าทุกวันเราทานอาหารดีหรือไม่ การทานอาหารดี 70-80% ถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่ง หากส่วนใหญ่ของชีวิตกินดี สุขภาพโดยรวมก็จะดี ต้องหาจุดสมดุลของตัวเอง กินดีด้วย มีความสุขด้วย ถึงจะทำได้ในระยะยาว
"การลดความอ้วน สิ่งที่ดีที่สุด คือ การปรับเปลี่ยนอาหาร ไลฟ์สไตล์ เพราะการลดน้ำหนักไม่ว่าจะใช้อาหารอย่างเดียว มียาร่วมด้วย หรือการผ่าตัดลดน้ำหนัก หากยังกลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิม สุดท้ายสิ่งที่เจอ คือ กลับมาอ้วนเหมือนเดิม หรือ โยโย่ เป็นสิ่งที่เจอได้จากการรักษาตลอด"
กินสเต็กแทนข้าว ลดความอ้วนได้หรือไม่ ?
รศ.พญ.ประพิมพ์พร อธิบายว่า หากน้ำหนักจะลด ต้องทานเข้าไปน้อยกว่าที่เบิร์นออกมา การทานสเต็ก ทำให้เราได้โปรตีน และหากทานอาหารอื่นๆ ด้วยอย่างเหมาะสม ก็เป็นสิ่งที่โอเค เพราะการทานโปรตีนจะเพิ่มกล้ามเนื้อ แต่หากทานโปรตีนเพียงอย่างเดียว อาจจะทำให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ต้องมีผัก ธัญพืช ด้วย การทานโปรตีน แป้ง ไขมันทั้งหมดแล้วแคลอรี่น้อยกว่าที่ใช้ ร่างกายก็จะค่อยๆ ผอมลง ทุกอย่างต้องมีความสมดุลในปริมาณที่พอเหมาะ
นศ.สาวชาวจีนกินแต่บะหมี่และผลไม้ ทำไมอ้วน ?
กรณีนี้เกิดขึ้นที่ประเทศจีน ซึ่งแพทย์แนะว่า สิ่งที่ทำให้อ้วน คือ อาหารและกิจวัตรประจำวัน ทั้งพฤติกรรมการกิน และการนอนหลับที่ไม่เพียงพอ การทานแต่บะหมี่ซึ่งเป็นอาหารที่มาคาร์โบไฮเดรตสูง การทานมากเกินไปทำให้อ้วนได้ง่าย
นอกจากนี้ นิสัยการนอนดึก ทำให้มีภาวะพร่องไทรอยด์ โปรตีนต่ำ และธาตุเหล็กไม่เพียงพอในระยะยาว การทานอาหารไม่ถูกต้องและพักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นสาเหตุทำให้น้ำหนักขึ้น ดังนั้น การลดน้ำหนักไม่ใช่การอดอาหาร แต่เป็นการทานอาหารให้เหมาะสม
รศ.พญ.ประพิมพ์พร อธิบายเพิ่มเติมว่า การนอนดึกทำให้ฮอร์โมนกระตุ้นความหิวเพิ่มสูงขึ้น เพราะฉะนั้น คนที่ทำงานเป็นกะ นอนไม่เป็นเวลา นอนไม่พอ จะทำให้น้ำหนักขึ้น ชีวิตสับสนไม่เป็นไปตามธรรมชาติ และการนอนไม่พอกระตุ้นฮอร์โมนเพิ่มความหิว ทำให้น้ำหนักขึ้น เป็นเรื่องที่พบได้บ่อย หรือบางครั้งทำงานยุ่งมากๆ ก็จะหยิบอาหารที่หาง่าย เช่น ขนมปัง น้ำหวาน มาทาน ซึ่งเป็นอาหารที่ไม่ดี
“การนอน จะมีฮอร์โมนที่กระตุ้นการซ่อมแซมตัวเอง ดังนั้น การพักผ่อนสำคัญตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ ชีวิตที่ดีต้องประกอบด้วย อาหาร การออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่มีความเครียด เป็นสิ่งที่ทุกคนรู้ แต่ก็ทำไม่ค่อยได้ ดังนั้น หากทำยังไม่ได้ทุกอย่าง ก็สามารถปรับทีละนิด เช่น การนอนให้เพียงพอ ปรับอาหารเล็กน้อย และออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง การนอนจะส่งผลดีต่อสุขภาพทุกอย่าง นอนให้พอ ควรจะนอนราว 8 ชั่วโมงต่อวัน อย่างไรก็ตาม ชั่วโมงการนอนอาจจะไม่ได้บอกคุณภาพการนอน เช่น คนอ้วน ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้ออกซิเจนตก ระยะยาวมีปัญหาโรคปอด โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูงได้”
ผลไม้ ดีต่อสุขภาพ จริงหรือ ?
ขณะเดียวกัน เรื่องของการทานผลไม้ หลายคนมองว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพ แม้จะดีต่อสุขภาพก็จริง แต่เราจะนับผลไม้อยู่ในหมวดหมู่คาร์โบไฮเดรต เพราะแม้จะมีวิตามิน เกลือแร่ ใยอาหาร แต่ก็มีแป้งและน้ำตาลด้วย
"เพราะฉะนั้น คนที่เป็นเบาหวานหรือลดน้ำหนัก จะต้องเลือกผลไม้ด้วย ทานได้แต่ต้องเลือกที่น้ำตาลไม่เยอะ และในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่ทานมากเกินไป ผลไม้ที่แนะนำ คือ กลุ่มเบอร์รี่ เช่น สตอเบอร์รี่ บลูเบอร์รี่ ราสเบอร์รี่ ลูกหม่อน แคลอรี่ค่อนข้างต่ำ แป้งน้อย"
ไม่ชอบออกกำลังกาย คุมอาหารจะผอมได้หรือไม่
รศ.พญ.ประพิมพ์พร กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะเบื้องต้น คนที่อ้วนเยอะๆ หรือคนที่จะเริ่มต้นลดน้ำหนัก บางทีจะออกกำลังกายไม่ไหว ก็ใช้อาหารหรือโภชนาการช่วยอันดับแรก หากน้ำหนักลง 5 – 10 กิโลกรัม หรือร่างกายพร้อมแล้วก็เริ่มออกกำลังกาย แต่ในช่วงแรก การคุมอาหารอย่างเดียวก็สามารถทำให้น้ำหนักลดลงได้ แต่พอถึง ณ จุดหนึ่งควรออกกำลังกายร่วมด้วย
ผ่าตัดลดน้ำหนักได้หรือไม่
การผ่าตัดลดน้ำหนัก คือ การส่องกล้อง ตัดกระเพาะออกบางส่วน และมีการตัดต่อลำไส้ ให้ดูดซึมสารอาหารลดลง ใช้ในกรณีที่คนไข้เป็นโรคอ้วนขั้นรุนแรง และเกิดโรคแทรกซ้อนจากโรคอ้วน ไม่ประสบความสำเร็จจากการลดน้ำหนักโดยใช้อาหาร หรือแพทย์ให้ยาแล้วยังไม่ประสบผลสำเร็จ ไม่ใช่ว่าทุกคนทำได้ ต้องดูตามความเหมาะสม เป็นการรักษาตามมาตรฐานที่ใช้ในคนไข้ที่อ้วนอย่างรุนแรง และมีโรคแทรกซ้อนหนัก ไม่สามารถลดน้ำหนักได้ด้วยตัวเอง
ดูดไขมัน จะกลับมาอ้วนอีกหรือไม่
ดูดไขมันก็ช่วยได้ แต่ไม่ใช่การแก้ปัญหา เพราะคนที่อ้วน เกิดจากการมีไขมันทั้งตัวเยอะ โดยเฉพาะไขมันที่อันตรายที่สุด คือ ไขมันที่ช่องท้อง ส่วนใหญ่การดูดไขมันจะลดไขมันเฉพาะส่วน แต่ไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ ไม่เหมือนการผ่าตัดกระเพาะที่ช่วยให้ร่างกายปรับเปลี่ยนสมดุลของฮอร์โมน ทำให้คนไข้ไม่หิว เปลี่ยนฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาล ซึ่งแตกต่างจากการดูดไขมัน ที่ไม่ได้ทำให้คนไข้เบาหวานดีขึ้น หรือทำให้คนไข้หิวน้อยลง
“การดูดไขมันสามารถกลับมาอ้วนเหมือนเดิมได้ เพราะไม่ได้ทำให้หายหิว ก็ยังมีโอกาสกลับกินเหมือนเดิม คนเราเวลาอ้วน แต่ละคนจะไม่เหมือนกัน บางคนอ้วนลงพุง อ้วนลงสะโพก แต่การดูดไขมันไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพราะกินเยอะๆ ไขมันก็สามารถกลับมาได้อีก”
เด็กอ้วน = แข็งแรงจริงหรือ
ทั้งนี้ ในกรณีเด็กที่อ้วน หลายคนมองว่าน่ารัก เด็กอ้วนคือเด็กแข็งแรง ?
รศ.พญ.ประพิมพ์พร อธิบายว่า หากเด็กทานนมแม่ และอ้วนเล็กน้อยไม่เป็นอะไรเพราะแค่ไม่กี่เดือน แต่หากเด็กที่อ้วนเยอะมากๆ จะมีแนวโน้มว่า เด็กที่อ้วน จะโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน และส่งผลเสียต่อสุขภาพระยะยาว ดังนั้น ไม่ควรมีความเชื่อ หรือค่านิยมว่าต้องเลี้ยงเด็กให้อ้วน หรือ จ้ำม้ำ เพราะเมื่อเขามีไขมันเยอะ นิสัยการกินที่ถูกปลูกฝังตั้งแต่เด็กว่า ต้องกินของหวานๆ มันๆ ตั้งแต่เด็ก จะทำให้ติดนิสัย พอโตมาจะแก้ยาก และกลายเป็นผู้ใหญ่ที่เป็นโรคอ้วน
หลายคนมองว่า เด็กอ้วน เดี๋ยวโตมาจะผอมเอง ?
หากเป็นเด็กที่ทานนมแม่ ให้อาหารอย่างถูกต้อง อาจจะอวบๆ ในช่วงขวบปีแรก และเมื่อโตมาจะเริ่มยืดตัว อันนี้จริง แต่หากเลี้ยงเขาด้วยอาหารไม่เหมาะสม นมกระป๋อง ไม่ใช่นมแม่ จะทำให้ติดนิสัย อ้วนแล้วอ้วนเลย และโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน โภชนาการเริ่มตั้งแต่อยู่ในครรภ์ แม่ต้องกินดี เกิดมาก็ให้นมแม่ และปลูกฝังค่านิยม นิสัยการกินที่ถูกต้อง เขาจะโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแรงและมีน้ำหนักที่เหมาะสม ไม่มีอะไรที่เกินไปแล้วจะดี
ทั้งนี้ น้ำหนักที่เหมาะสมของเด็กดูตามอายุ และความสูง ส่วนใหญ่เด็กประมาณ 1 ขวบ ควรจะน้ำหนักราว 10 กิโลกรัม หากน้ำหนักเกินมาก ควรพบกุมารแพทย์ว่ามีโรคอะไรซ้อนอยู่หรือไม่ ขณะเดียวกัน บางคนที่ตอนเด็กผอมมาก และโตมาอ้วน เรียกว่าไม่ปกติ อาจเกิดโรคแทรกซ้อน ต้องดูว่าใช้ชีวิตอย่างไร มีสาเหตุของโรคอ้วนหรือโรคอื่นๆ หรือไม่
อาหารที่เหมาะสมของเด็ก
สำหรับ อาหารส่งผลต่อโภชนาการของเด็กโดยตรง เพราะอาหารจะทำให้ตัวสูง น้ำหนักตามเกณฑ์ เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต ส่งผลต่อสมอง และการเรียนรู้ เด็กกับผู้ใหญ่เหมือนกัน คือ ต้องการสารอาหารทุกหมวดหมู่ ในเด็กบางครั้งจะไม่ได้เน้นโปรตีนเพียงอย่างเดียว เพราะไตของเด็กยังทำงานไม่เต็มที่ โปรตีนต้องปริมาณที่เหมาะสม ทานแป้ง ไขมัน วิตามิน เกลือแร่ ให้เพียงพอ ต้องสมดุลครบทุกหมวดหมู่