ไม่อยากให้ลูก 'อ้วนเตี้ย'-'ผอมเตี้ย' ผู้ปกครองต้องรู้-ต้องทำ-ต้องเลี่ยง
กรมอนามัยรายงานเด็กไทยเตี้ยเพิ่มขึ้น มี 3 สิ่งสำคัญที่ผู้ปกครองจะต้องส่งเสริมให้เด็ก เพื่อให้มีภาวะโภชนาการที่สมวัย
ไม่อ้วนเตี้ย ผอมเตี้ย หรือ อ้วนเกิน ผอมเกิน
Keypoints:
- เด็กอ้วน ผอม เตี้ย เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงภาวะโภชนาการของเด็ก แต่พบว่าเด็กไทยเตี้ยมากขี้น จาก 9.5 % เป็น 10.4 % มีสาเหตุจากการการกินอาหาร พฤติกรรมเนือยนิ่ง และเกณฑ์ชุดใหม่ที่มีการปรับ
- ผลกระทบต่อเด็กเมื่อเติบโตขึ้น จากการที่อ้วน เตี้ยและผอม เช่น จะมีสติปัญญาด้อย เรียนรู้ช้า ภูมิต้านทานโรคต่ำ ติดเชื้อได้ง่าย เสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ
- คำแนะนำส่งเสริมให้เด็กเจริญเติบโตเต็มศักยภาพ ต้องมีโภชนาการที่เหมาะสมครบถ้วน ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง การนอนที่เพียงพอตามวัย และดื่มนมที่เพียงพอ
เด็กไทยเตี้ยมากขึ้น
สถานการณ์ภาวะโภชนาการปัจจุบันพบว่าเด็กไทยเตี้ยเพิ่มมากขึ้นจาก 9.5 %เป็น 10.4 % ส่วนสูงเฉลี่ยเด็กอายุ 12 ปี เพศชายสูงเพียง 148.4 เซนติเมตร เพศหญิง 149.3 เซนติเมตร ส่วนสูงเฉลี่ยอายุ 19 ปี เพศชาย 166.8 เซนติเมตร เพศหญิง 157.8 เซนติเมตร ยังห่างไกลค่าเป้าหมายปี 2570 ส่วนสูงเฉลี่ยอายุ 19 ปี เพศชาย 170 เซนติเมตร เพศหญิง 165 เซนติเมตร
เป้าหมายการเจริญเติบโตของเด็ก ส่งเสริมให้เด็กเติบโตเต็มศักยภาพ ส่วนสูงเฉลี่ยของคนไทยที่อายุ 19 ปี ผู้ชายสูง 175 เซนติเมตร ผู้หญิง 162 เซนติเมตร ในปี 2569 และให้ถึงเป้าหมายท้าทายในอีก 15 ปี ข้างหน้า ปี 2579 ผู้ชายสูง 180 เซนติเมตร ผู้หญิง 170 เซนติเมตร เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชาติต่อไป
สาเหตุที่เด็กไทยเตี้ยเพิ่ม
การที่เด็กไทยเตี้ยเพิ่มขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ดื่มนมน้อย โดยเด็กไทย 6-19 ปีดื่มนมน้อยเฉลี่ยเพียงครึ่งแก้วต่อวัน เด็ก 3-5 ปี ดื่มนม 1 แก้วต่อวัน รวมถึง เกิดจากพฤติกรรมโภชนาการที่ไม่ถูกต้อง เด็กไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่งมากขึ้น ขาดการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไทยกำลังเผชิญปัญหาเด็กไทยอ้วนเตี้ย คือโภชนาการเกินในส่วนที่ไม่ควรเกิน แต่ส่วนที่ควรมีก็ไม่มี
และอาจเป็นส่วนหนึ่งจากการที่เมื่อปี 2564 คณะกรรมการพัฒนาเกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโตของเด็กแรกเกิดถึง 18 ปี และสำนักโภชนาการ กรมอนามัย ได้พัฒนาเกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโตของเด็กอายุ 6-19 ปี ชุดใหม่ เนื่องจากเกณฑ์ที่ใช้อยู่เดิม ทำให้วิเคราะห์สภาพปัญหาต่ำกว่าความเป็นจริง เด็กสูงตามเกณฑ์มากเกินจริง เด็กเตี้ยน้อยกว่าความเป็นจริง เด็กอ้วนมากเกินจริง และเกณฑ์การเจริญเติบโตของเด็กอายุ 5-19 ปี ขององค์การอนามัยโลก พ.ศ. 2550 เก็บข้อมูลจากเด็กอเมริกัน จึงไม่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย
เมื่อมีการนำเกณฑ์ชุดใหม่มาใช้จึงอาจจะส่งผลให้ข้อมูลเด็กเตี้ยเพิ่มขึ้นจากตอนที่ใช้เกณฑ์ชุดเดิม
ผลกระทบเด็กอ้วนเตี้ย-ผอมเตี้ย
เด็กอ้วนมีโอกาสที่จะเป็นผู้ใหญ่อ้วน เสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในอนาคตได้ รวมทั้งเด็กที่มีภาวะเตี้ย อาจเนื่องมาจากมีการขาดอาหารเรื้อรังหรือมีการเจ็บป่วยบ่อย ส่งผลต่อการเรียนรู้ได้ไม่เต็มศักยภาพ และเด็กซีดหมายถึงร่างกายขาดธาตุเหล็ก ส่งผลให้กระดูกไม่แข็งแรง เปราะง่าย อาจตัวเตี้ยกว่าเด็กวัยเดียวกัน และสมองทำงานได้ช้าลง ส่งผลให้เรียนรู้ช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน
เด็กนักเรียนที่เตี้ยและผอมจะมีสติปัญญาด้อย เรียนรู้ช้า ภูมิต้านทานโรคต่ำ ติดเชื้อได้ง่าย เด็กนักเรียนที่มีภาวะอ้วนเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น
การจะส่งเสริมให้เด็กไทยไม่อ้วน ไม่เตี้ย ไม่ผอม การออกกำลังกายที่เหมาะสม ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ งควบคู่กับการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ และการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ จะทำให้เด็กวัยเรียนวัยรุ่นมีสุขภาพร่างกาย ที่แข็งแรง สูง สมส่วน
อาหาร-โภชนาการเด็ก
การส่งเสริมให้เด็กได้รับอาหารและโภชนาการที่เหมาะสมเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตและพัฒนาสติปัญญาได้เต็มศักยภาพ ควรจัดอาหารหมุนเวียนเป็นรายเดือนหรือรายสัปดาห์ เพื่อให้นักเรียนได้รับอาหารที่หลากหลายในสัดส่วนที่เหมาะสม ปรุงประกอบอาหารเพื่อลดหวาน มัน เค็ม ไม่ใช้ผงชูรสในการประกอบอาหาร
อย่างเช่น ชุดอาหารกลางวันที่เหมาะสมสำหรับเด็กวัยเรียน ประกอบด้วย ข้าว และกับข้าวไม่น้อยกว่า 4 ครั้งต่อสัปดาห์
- อาหารจานเดียว ไม่ควรเกิน 1 ครั้งต่อสัปดาห์
- ผลไม้ทุกวันหรือไม่น้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์
- ขนมหวานไม่ควรเกิน 2 ครั้งต่อสัปดาห์
- ปลาหรือผลิตภัณฑ์จากปลาอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์
- เนื้อสัตว์ เช่น ไก่ หมู เนื้อ หรือผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์อย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์
- ไข่ 2-3 ฟองต่อคนต่อสัปดาห์
- ตับ เลือด ปลาเล็กปลาน้อยที่กินได้ทั้งก้าง อย่างละ 1 ครั้งต่อสัปดาห์
- ถั่วเมล็ดแห้ง เผือกมันอย่างละ 1 ครั้งต่อสัปดาห์
และควรสร้างการมีส่วนร่วมให้เด็กได้เลือก เมนูที่ชื่นชอบ ผักที่ชื่นชอบ คุณครูปรับเมนูให้ได้ถูกต้องตามหลักโภชนาการ
แนวทางลดพฤติกรรมเนือยนิ่งเด็ก
สถานการณ์ปี 2565 พบว่า เด็กวัยเรียนวัยรุ่นมีพฤติกรรมเนือยนิ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ 15.16 % และพบว่ามีกิจกรรมทางกายเพียงพอ 16.1 % แนะพ่อแม่ชวนลูกมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น เพื่อลดพฤติกรรมเนือยนิ่งในช่วงปิดเทอม
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกแนะนำให้เด็กวัยเรียนวัยรุ่น อายุ 5-17 ปี
- ควรมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางถึงหนัก เฉลี่ยอย่างน้อยวันละ 60 นาทีทุกวัน (สะสมต่อเนื่อง 10 นาทีขึ้นไป)
- ควรจำกัดเวลาที่ใช้ไปกับพฤติกรรมเนือยนิ่ง โดยเฉพาะเวลาที่อยู่กับหน้าจอมือถือ คอมพิวเตอร์ และโทรทัศน์ ซึ่งเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป
- ควรมีพฤติกรรมเนือยนิ่งไม่เกิน 13 ชั่วโมงต่อวัน
พ่อแม่สามารถส่งเสริมให้เด็กมีกิจกรรมทางกายมากขึ้น เพิ่มโอกาสในการมีสุขภาพที่ดี ดังนี้
1.จำกัดการดูโทรทัศน์ การใช้คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือให้น้อยกว่า 2 ชั่วโมง/วัน
2.เพิ่มโอกาสให้เด็กวัยเรียนวัยรุ่นมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางถึงหนัก จนรู้สึกเหนื่อย อย่างน้อยวันละ 60 นาทีทุกวัน (สะสมต่อเนื่อง 10 นาทีขึ้นไป) เช่น เต้นแอโรบิก วิ่ง ปั่นจักรยาน กระโดดเชือก เล่นกีฬา ซิทอัพ ดันพื้น และยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เป็นต้น
การออกกำลังกายช่วยให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดแข็งแรงสามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ส่งผลให้เซลล์สมองแข็งแรงมากขึ้น ทำให้การเรียนรู้และความจำดีขึ้นมีสมาธิ มีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ จิตใจแจ่มใส ช่วยผ่อนคลายความเครียด อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความแข็งแรงของมวลกระดูกซึ่งมีผลต่อความสูง
การนอนหลับที่เหมาะสมตามวัย
ในเด็กอายุ 6-13 ปี ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอวันละ 9-11 ชั่วโมง และเด็กอายุ 14-17 ปี ควรนอนหลับวันละ 8-10 ชั่วโมง
การนอนหลับเป็นช่วงเวลาที่อวัยวะต่างๆ ของร่างกายได้พักผ่อน ระบบหัวใจและไหลเวียนเลือด ไม่ต้องออกแรงมากเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงเป็นช่วงเวลาที่เกิดการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ปรับสมดุลของสารเคมีต่างๆ ตลอดจนเป็นระยะที่สมองทำการเรียบเรียงข้อมูล และจัดเก็บเป็นหมวดหมู่ ทำให้สมองเกิดการจดจำและมีพัฒนาการ
ระยะเวลาการนอนหลับที่เหมาะสม
- วัยแรกเกิด (แรกคลอด – 3 เดือน) ควรนอน 14-17 ชั่วโมง
- วัยทารก (4 เดือน – 1 ปี) ควรนอน 12-15 ชั่วโมง
- วัยเตาะแตะ (1-2 ปี) ควรนอน 11-14 ชั่วโมง
- วัยก่อนเข้าเรียน (3-5 ปี) ควรนอน 10-13 ชั่วโมง
- วัยเข้าโรงเรียน (6-13 ปี) ควรนอน 9-11 ชั่วโมง
- วัยรุ่น (14- 17 ปี) ควรนอน 8-10 ชั่วโมง
- วัยทำงาน (15-59 ปี) ควรนอน 7-9 ชั่วโมง
- วัยผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ควรนอน 7–8 ชั่วโมง
อ้างอิง: กรมอนามัย