'เตียงดูด VS ขี้เกียจ' นอนนิ่งๆบนเตียง อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ

'เตียงดูด VS ขี้เกียจ' นอนนิ่งๆบนเตียง อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ

แม้จะมีงานวิจัยหลายชิ้นออกมาชี้ชัดว่า การทำงานนานถึง 48 ชม.ต่อสัปดาห์ หรือ 6 วันต่อสัปดาห์จะก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ แต่ด้วยภาระงานที่มากมาย ทำให้หลายๆ คนก็ต้องทำงานจันทร์ -เสาร์ 

Keypoint:

  • แม้จะทำงานหนักในช่วงวันจันทร์-ศุกร์ หรือบางคนต้องทำงานวันเสาร์ร่วมด้วยนั้น เมื่อได้พักผ่อนวันอาทิตย์ หรือวันหยุดสุดสัปดาห์ หลายคนอาจจะหมดไปกับการนอนนิ่งๆ 
  • แต่รู้หรือไม่? ว่าการนอนนิ่งๆ บนเตียงนั้น อาจเข้าข่าย 'ภาวะเตียงดูด หรือติดเตียงวันอาทิตย์' ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ชีวิตและครอบครัวได้ 
  • อาการเตียงดูด VS ขี้เกียจ นั้นมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แล้วอาการแบบไหน? ถึงเข้าข่ายเสี่ยงอาการเตียงดูด นอนนิ่งๆ แต่โรคถามหา

ข้อมูลจาก Linkedin เว็บไซต์หางานระดับโลก ได้อธิบายถึงประเด็นนี้ไว้ว่า ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา มีงานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าการทำงานนานถึง 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (วันละ 8 ชั่วโมง, 6 วัน/สัปดาห์) อาจส่งผลเสียร้ายแรงต่อสุขภาพ ชีวิตครอบครัว และประสิทธิภาพการทำงาน 

อีกทั้งหน่วยงานด้านสุขภาพทั่วโลก ต่างก็สนับสนุนให้ผู้คนทำงานเพียงสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง เนื่องจากพวกเขาพบว่า การทำงานล่วงเวลาเป็นเวลานานๆ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า, โรคหัวใจ, และภาวะหัวใจวายได้ 

แต่ถึงอย่างนั้น การทำงานในประเทศไทย ต้องยอมรับว่าบางคนไม่ได้ทำเพียงจันทร์ถึงศุกร์ แต่ต้องลากไปถึงวันเสาร์ร่วมด้วย พอวันอาทิตย์ หลายคนมักจะเลือกนอนอยู่บนเตียงนิ่งๆ อย่างที่ชอบพูดกันว่า อยากนอนโง่ๆ ไม่ทำอะไรเลย เพื่อชาร์ตพลังของตัวเอง รับมือกับการทำงานในสัปดาห์ต่อไป ทว่า ในการแก้ปัญหาดังกล่าว อาจจะไม่ถูกต้อง และไม่ถูกหลักสุขภาพ

\'เตียงดูด VS ขี้เกียจ\' นอนนิ่งๆบนเตียง อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ค้นหาทางออก 'นอนไม่หลับ' รู้จัก Sleep Lap ม.มหิดล มาตรฐานโลก

นอนหลับยาก หลับไม่สนิท อาการแบบไหนเข้าข่าย? 'โรคนอนไม่หลับ'

เคล็ดวิธี'นอนหลับ'อย่างมีคุณภาพ ต้องจัดนาฬิกาชีวภาพใหม่และรู้วิธีกิน


ทำงานหนัก ยิ่งเครียด ยิ่งเข้าสู่ภาวะติดเตียงวันอาทิตย์

ปัญหาอย่างแรกเลยของคนวัยทำงานคือ การมีพฤติกรรมที่เร่งรีบจนไม่ได้ดูแลตัวเองอย่างที่ควรจะเป็น เช่น เรื่องการกินอาหาร ที่มักจะเอาความสะดวกไว้ก่อน ร้านสะดวกซื้อต่างๆ จึงมักจะตอบโจทย์คนวัยทำงานได้ดี อาหารแช่แข็ง อาหารที่เวฟแล้วกินได้เลยแต่ผลเสียของอาหารเหล่านี้คือ มีไขมันอิ่มตัวอยู่มากทำให้เกิดปัญหาโรคอ้วน ไขมันสะสมในร่างกายมากและโรคเบาหวาน กลายเป็นความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ ตามมาได้

นอกจากนั้น ยังปวดหัวกับงานยังไม่พอต้องมาปวดหัวกับคนในออฟฟิศอีกทำให้ยิ่งเครียดกันเข้าไปใหญ่ ซึ่งนั่นอาจกลายเป็นความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดในสมองและหัวใจ ความดันโลหิตสูง ยิ่งพอถึงวันเสาร์อาทิตย์อยากจะพักผ่อนอยู่เฉยๆ ไม่ออกกำลังกาย กินและนอน ตื่นแล้วนั่งเฉยๆ นอนดูทีวีเรื่อยเปื่อย พฤติกรรมวันว่างนี้แหละที่นำไปสู่ความเสี่ยงโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน เส้นเลือดสมองและหัวใจได้มากเลยทีเดียว

\'เตียงดูด VS ขี้เกียจ\' นอนนิ่งๆบนเตียง อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ

รู้จักภาวะเตียงดูด โรคฮิตของคนวัยทำงาน

โรคเตียงดูด (Dysania) คือ สภาวะที่ลุกออกจากบนเตียงตอนตื่นนอนได้อย่างยากลำบาก ทั้งที่บางครั้งไม่ได้ง่วงนอนหรือเกิดจากความขี้เกียจเลยด้วยซ้ำ ผู้ป่วยจะมีความทุกข์เป็นอย่างมาก ไม่มีความคิดที่จะทำกิจกรรมอย่างอื่น เมื่อสามารถลุกขึ้นมาได้แล้ว ก็กลับไปยังบนเตียงอีกครั้ง จึงทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา 

ผศ.นพ.คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความรู้ว่า 'อาการเตียงดูด' หรือ 'Clinomania' มีการแชร์กันมากในช่วงนี้ ซึ่งใช้เรียกผู้ที่ติดเตียงนอน ไม่อยากลุกจากเตียงเพื่อทำสิ่งต่างๆ ตื่นนอนตอนเช้าได้ยากลำบาก ขอต่อเวลาการนอนเรื่อยๆ ไม่ออกไปทำกิจกรรมต่างๆ ดูเหมือนคนขี้เกียจ นอนได้ทั้งวัน

 

ภาวะเตียงดูด อาการโรคทางกาย จิตใจ หรือปัญหาการนอน

แม้คำนี้จะไม่ได้มีนิยามทางการแพทย์อย่างชัดเจน แต่อาจเป็นอาการของโรคทางกาย จิตใจ หรือปัญหาการนอนต่างๆ ได้

ผศ.นพ.คมสันต์ กล่าวต่อว่าลักษณะที่ได้กล่าวมานั้นอาจแยกได้ยากกับการไม่มีเรี่ยวแรง เหนื่อย อ่อนเพลีย ซึ่งผู้ที่เพลียไม่มีแรงหรือขาดแรงจูงใจอาจพบได้ในผู้ที่เป็นโรคทางกาย เช่น โรคซีด (anemia) โรคธาลัสซีเมีย ภูมิแพ้ โรคปอดและหัวใจ ขาดสารอาหาร ผู้ที่มีภาวะดังกล่าวอาจมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่มีเรี่ยวแรง ซึ่งมักเป็นทั้งวัน ร่วมกับมีอาการและความผิดปกติอื่นๆ ที่เข้าได้กับสาเหตุ

นอกจากนี้ ผู้ที่ขาดแรงจูงใจในการทำกิจกรรมต่างๆ ก็อาจแสดงลักษณะคล้ายผู้ที่ติดเตียงเช่นกัน โดยอาจพบในผู้มี 'ปัญหาทางจิตใจ' เช่น มีภาวะเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล  หรือผู้มีภาวะดังกล่าวอาจรู้สึกอ่อนเพลียร่วมด้วย ไม่อยากทำอะไร แม้กระทั่งกิจกรรมที่ชอบมากๆ ก็ไม่สนใจอยากทำเหมือนเดิม นอนหลับยาก หลับๆ ตื่นๆ รวมถึงสังเกตอารมณ์ซึมเศร้าต่างๆ 

\'เตียงดูด VS ขี้เกียจ\' นอนนิ่งๆบนเตียง อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ

ในผู้ที่เป็น 'โรคซึมเศร้า' หากรุนแรงมากอาจถึงขั้นมีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษา เพราะอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ แต่หากเป็นไม่มากแพทย์อาจจะเริ่มรักษาด้วยการปรับความคิด และพฤติกรรมก่อน แต่ถ้ามีความเครียดมากจนถึงขั้นมีความคิดอยากทำร้ายตัวเองคงต้องรักษาด้วยการรับประทานยา

“อาการเตียงดูด นอกจากสาเหตุจากโรคทางกายและโรคทางจิตเวชแล้ว ยังมีสาเหตุจากปัญหาการนอนได้ เช่น โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกลั้น (obstructive sleep apnea) โรคขากระตุกขณะหลับ (periodic limb movement disorder) การนอนมากจากสาเหตุทางระบบประสาท ทำให้ตื่นนอนตอนเช้ารู้สึกไม่สดชื่น หรือผู้ที่นอนไม่หลับเนื่องจากการเปลี่ยนกะทำงาน การเดินทาง ซึมเศร้าหรือวิตกกังวล ทำให้อ่อนเพลียได้เพราะพักผ่อนไม่เพียงพอ"

ภาวะเตียงดูด VS ขี้เกียจ แตกต่างกันอย่างไร?

 'การพักผ่อนไม่เพียงพอ” ส่งผลให้มี 'อาการเตียงดูด' มากขึ้น ฉะนั้น จึงมีคำแนะนำว่าหากเรารู้ว่าตัวเองพักผ่อนไม่เพียงพอ ควรปรับเวลาให้พักผ่อนได้มากขึ้น 

บางครั้งคนส่วนใหญ่คิดว่าตัวเอง 'ขี้เกียจ' จึงทำให้มี 'อาการเตียงดูด' แต่ความจริงแล้วถามว่า...เราเป็นโรคขี้เกียจไหม?? บางครั้งอาจเป็นเรื่องของ 'การฝึกวินัย' มากกว่า เพราะส่วนมากเรามักจะคิดว่าสาเหตุที่รู้สึกไม่อยากลุกจากเตียง เพราะขี้เกียจจึงเลื่อนเวลาการตื่นนอนไปเรื่อยๆ และคิดว่าไปทำงานหรือไปโรงเรียนสายนิดหน่อยคงไม่เป็นอะไร หรือคิดว่าต่อเวลาอีกหน่อยก็ทัน ทำให้อยากนอนต่ออีกนิดในตอนเช้า

โดยเฉพาะในผู้ที่ต้องการเวลานอนมากเนื่องจากคนเราอาจต้องการเวลานอนไม่เท่ากัน อาจลองเข้านอนเร็วขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ต้องนอนอย่างมีคุณภาพด้วย เช่น งดดูทีวีและเล่นโทรศัพท์มือถือก่อนเข้านอน 1 ชม. เข้านอน-ตื่นให้เป็นเวลา ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน

อย่างไรก็ตาม หากปรับอะไรทุกอย่างหมดแล้ว แต่ 'อาการเตียงดูด' ยังไม่หาย และมีผลกระทบต่อการเรียน การทำงานในชีวิตประจำวัน หรือกระทบต่อความสัมพันธ์กับผู้อื่น เช่น ตื่นยาก อ่อนเพลีย ทำให้ทะเลากับคนรอบข้างบ่อย ๆ แบบนี้คงไม่ดี ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการอย่างละเอียดและรับการรักษาที่ถูกต้อง

\'เตียงดูด VS ขี้เกียจ\' นอนนิ่งๆบนเตียง อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ

นอนแค่ไหนเรียกว่ามากเกินไป?

ระยะเวลาการนอนที่เพียงพอของแต่ละคนแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับอายุและสุขภาพ แต่โดยทั่วไปผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีมีควรนอนเฉลี่ย 7-9 ชั่วโมงต่อวัน แต่เมื่อใดที่รู้สึกว่าต้องการนอนมากกว่า 8-9 ชั่วโมงต่อวัน นั่นอาจเป็นสัญญาณบอกถึงปัญหาสุขภาพ

ระยะเวลาการนอนที่เพียงพอของแต่ละช่วงวัย

  • เด็กทารก ควรนอน 12 -16 ชั่วโมง/วัน
  • เด็ก 1-2 ปี ควรนอน 11 -14 ชั่วโมง/วัน
  • เด็ก 3-5 ปี ควรนอน 10 -13 ชั่วโมง/วัน
  • เด็ก 6-12 ปี ควรนอน 9 -12 ชั่วโมง/ วน
  • วัยรุ่น 13-18 ปี ควรนอน 8 -10 ชั่วโมง/วัน
  • วัยทำงาน ควรนอน 7 -9 ชั่วโมง/วัน

เช็กสาเหตุภาวะเตียงดูด

  • โรคซึมเศร้า

ความผิดปกติของสารเคมีในสมองที่ส่งผลกระทบทางอารมณ์ ทำให้พฤติกรรมไม่สดใส ร่าเริง

  • อ่อนเพลียเรื้อรัง

ความเจ็บป่วยในระบบต่าง ๆ ของร่างกายเป็นระยะเวลานาน เช่น ปัญหาด้านการนอนหลับ ปวดศีรษะและข้อกระดูก

  • ภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่น (Sleep Inertia)

ตื่นมาแล้วไม่สดชื่น กระทบต่อประสิทธิภาพความคิด การเรียนรู้

  •  ง่วงนอนมากผิดปกติ (Hypersomnia)

หลับนานเท่าไหร่ก็รู้สึกว่ายังพักผ่อนไม่เพียงพอ

  •  โรคไฟโบมัยอัลเจีย (Fibromyalgia)

ปวดกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ตามร่างกาย จึงมีอาการอ่อนเพลียหลังตื่นนอน

  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยา

เช่น ยาต้านเศร้า ทำให้ง่วงนอน

ตรวจสอบอาการ เข้าข่ายอาการโรคเตียงดูด 

  • หลังกลับมาจากทำงานหรือเรียนก็ล้มตัวลงนอนบนเตียงทันที
  • คิดว่าการนอนบนเตียงเป็นความสุขที่สุดในชีวิต
  • คิดถึงเวลานอนตลอดเวลา
  • ทำกิจกรรม เช่น รับประทานอาหาร เสพโซเชียล ทำงาน บนที่นอน
  • ถูกบุคคลใกล้ชิดกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมเกียจคร้าน
  • หงุดหงิดหากมีใครมายุ่งกับที่นอน
  • กดเลื่อนนาฬิกาปลุก เพื่อขยายเวลานอน

\'เตียงดูด VS ขี้เกียจ\' นอนนิ่งๆบนเตียง อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ

 ผลกระทบของ Dysania อาการเตียงดูด

  • เมื่อใช้ชีวิตอยู่บนเตียงเฉย ๆ ร่างกายก็ไม่ได้ขยับเคลื่อนไหว จะส่งผลกระทบต่อการเผาผลาญพลังงานส่วนเกิน ระบบภูมิคุ้มกัน
  • ส่งผลกระทบต่อความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูกลดลง หรือประสบกับภาวะต่อมหมวกไตล้า เพราะเครียด จากการออกกำลังกายหรือทำงานหนักจนเกินไป ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลก็จะลดลง จนร่างกายอ่อนเพลียเรื้อรังได้ ซึ่งก่อปัญหาสุขภาพตามมา เช่น น้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน โรคหัวใจ และเลือดสมอง
  • ผู้ป่วยบางรายจะมีอารมณ์แปรปรวน เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างรวดเร็ว กลายเป็นโรคทางจิตเวชได้ เช่น ไบโพลาร์ ซึมเศร้า

การรักษา Dysania โรคเตียงดูด

  • ใช้ยาที่มีฤทธิ์ต่อเซโรโทนิน เป็นปรับฮอร์โมนที่ส่งผลต่อการนอนหลับและอารมณ์ความรู้สึกของผู้ป่วย
  • ปรับพฤติกรรม  เช่น ตื่นนอนให้เป็นเวลา
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม
  • งดการเล่นโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ก่อนนอน
  • ผ่อนคลายโดยการอาบน้ำอุ่น อ่านหนังสือ นั่งสมาธิ รับประทานอาหารรสหวานอย่างพอดี
  • ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา เช่น โยคะ
  • ไม่ทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่น รับประทานอาหารบนเตียง

\'เตียงดูด VS ขี้เกียจ\' นอนนิ่งๆบนเตียง อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ

Work Life Balance สร้างสมดุลให้กับร่างกาย

เรียนรู้ที่จะบริหารจัดการเวลาในชีวิตให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเราสามารถ จัดสรรเวลาแบบ 8-8-8 หรือก็คือการจัดการเวลาอย่างมีคุณภาพ

  • 8 แรกคือเลขชั่วโมงของการทำงาน เราต้องใช้เวลานี้ให้มีคุณภาพมากที่สุดทำอย่างเต็มที่
  • 8 ที่สองคือเลขชั่วโมงของการพักผ่อนร่างกาย คนเราต้องนอนอย่างน้อย 6 – 8 ชั่วโมงเพื่อการฟื้นฟูซ่อมแซมร่างกายและเพื่อปรับสมดุลฮอร์โมนในร่างกาย เพื่อทำให้ร่ากายแข็งแรงและสดชื่นมากที่สุด
  • 8 สุดท้ายคือตัวเลขของการดูแลตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว กิจกรรมเพื่อความบันเทิงรวมถึงการดูแลสุขภาพตัวเอง เช่น การออกกำลังกาย เป็นต้น เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและยังช่วยลดปัจจัยเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้อีกด้วย

ถ้าทุกคนสามารถบาลานซ์ชีวิตได้อย่างเต็มที่  เสาร์ อาทิตย์ วันหยุดสุดสัปดาห์จะเป็นแหล่งชาร์จพลังงานที่ดี ควรเริ่มหากิจกรรมทำ ออกไปเดินชอปปิ้ง ทำอาหารทานเองที่บ้าน เดินเล่นในสวนสาธารณะกับครอบครัว เพื่อให้ร่างกายได้ขยับ ได้ใช้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ เพื่อทำการเผาผลาญพลังงานที่เรากินเข้าไป รวมถึงเพื่อไม่ให้ตัวเองอยู่เฉยๆ นอนนิ่งๆ อยู่บนเตียง หรือเพียงเดินเข้าครัวหาของอร่อยกินเพียงอย่างเดียว 

อ้างอิง:โรงพยาบาลเพชรเวช, ทรูปลูกปัญญา  , โรงพยาบาลเปาโล