'Youngfolks' เชื่อมคุณค่า 2 เจนฯ เพราะทุกคน คือ 'ครอบครัว'

'Youngfolks' เชื่อมคุณค่า 2 เจนฯ  เพราะทุกคน คือ 'ครอบครัว'

แนวคิดการบริหาร 'บุณยนุช วิทยสัมฤทธิ์' ทายาทรุ่นที่ 3 ที่เข้ามาสานต่อโรงงานทำรองเท้าหนังของครอบครัว พลิกธุรกิจ OEM สู่การปั้นแบรนด์ 'Youngfolks' แบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่ไม่ได้ขายแค่รองเท้า แต่ขายความสัมพันธ์ และการดูแลทุกชีวิตในโรงงานเสมือนคนใน 'ครอบครัว'

Key Point :

  • 'Youngfolks' แบรนด์รองเท้า ที่เกิดจาก 3 พี่น้อง ทายาทรุ่นที่ 3 โรงงานรองเท้าหนัง ที่เข้ามาพลิกธุรกิจ OEM ของครอบครัว สู่แบรนด์ไลฟ์สไตล์
  • ตลอด 6 ปี ที่ 'Youngfolks' ประสบความสำเร็จจากการที่ลูกค้าสามารถออกแบบสีที่ชอบ ขนาดที่ใช่ ให้พอดีกับเท้า เพื่อให้ใส่ได้นานๆ ลดปัญหา Fast Fasion
  • การก้าวเข้ามาดูแลทุกคนในโรงงาน ที่เสมือน 'ครอบครัว' แม้ในช่วงแรกจะต้องเรียนรู้ในหลายๆ เรื่อง แต่การได้แลกเปลี่ยนความรู้กับอาจารย์ช่าง ถือเป็นการผสานช่องว่างระหว่างเจนฯ ให้เดินหน้าไปด้วยกันได้ 

 

 

จากความเชื่อที่ว่า ตนเองมีกล่องของขวัญที่มีค่าส่งต่อตั้งแต่สมัยอากงแต่ไม่เคยคิดที่จะแกะมันออกมา ทำให้ 'บุณยนุช วิทยสัมฤทธิ์' เจ้าของแบรนด์รองเท้า 'Youngfolks' ตัดสินใจกลับมาสานต่อกิจการโรงงานรองเท้าหนัง เป็นรุ่นที่ 3 เมื่อ 11 ปีก่อน ร่วมกันบริหารกับพี่ชายทั้งสองคน พลิกธุรกิจจาก OEM สู่แบรนด์ไลฟ์สไตล์ ที่ใครๆ ก็ยอมรอ

 

โรงงานผลิตรองเท้าหนัง ก่อตั้งในรุ่นของอากง ซึ่งเป็นชาวจีนเข้ามาอยู่ในเมืองไทยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มผลิตรองเท้าบูททหารจากการอาศัยครูพักลักจำและทำด้วยมือล้วนๆ หลังจากนั้น เริ่มส่งเข้าห้างดังๆ ในเมืองไทย ถัดมาในรุ่นที่ 2 คือรุ่นของคุณพ่อ ขยายธุรกิจใหญ่ขึ้นจากที่ขายในประเทศ เริ่มทำส่งออกไปตะวันออกกลาง ยุโรป สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

 

จุดที่ทำให้ตัดสินใจกลับมาสานต่อธุรกิจครอบครัว เริ่มจากการที่คุณพ่อล้มป่วย 'บุณยนุช' เล่าว่า ตอนนั้นบอกป๊าว่าไม่ต้องทำงานหนัก ไม่ต้องเหนื่อยแล้ว เพราะลูกสามคนทำงานเลี้ยงดูตัวเองได้ ป๊าบอกว่าเขาทำเพื่อทุกคนในครอบครัว คำว่าครอบครัวของป๊า คือ ทุกชีวิตในโรงงาน

 

\'Youngfolks\' เชื่อมคุณค่า 2 เจนฯ  เพราะทุกคน คือ \'ครอบครัว\'

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

“คำนี้เปลี่ยน Mindset ลูกคนเล็กของบ้าน เพราะเราโตมาในยุคที่พ่อแม่สบาย มีแต่คนเอาใจ อยากเรียนอะไรก็เรียน แต่พอวันหนึ่งที่เกิดเหตุการณ์นี้และป๊าพูดประโยคนี้ ทำให้ Mindset ของเราเปลี่ยน ทั้งชีวิตที่เราเติบโต มีความสุขขึ้นมาได้ ป๊าลำบากมาทั้งชีวิต คนทั้งโรงงานลำบากมาทั้งชีวิต เพื่อส่งเราเรียน เพื่อให้เรามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และถึงเวลาแล้วที่ต้องกลับมาบ้าน มาทำให้ทุกคนในครอบครัวดีขึ้นเหมือนที่เขาเลี้ยงดูเรา”

 

พลิกธุรกิจ OEM สู่แบรนด์ไลฟ์สไตล์

เมื่อตัดสินใจกลับมารับช่วงต่อ แบรนด์แรกที่ทำ คือ '31 THANWA' แบรนด์กระเป๋าหนังไฮเอนด์ ที่นำความรู้ด้านสถาปัตย์ มาผนวกกับฝีมืออาจารย์ช่างในโรงงาน ช่าง 1 คน ทำกระเป๋า 1 ใบ เรียกว่าได้รับผลตอบรับที่ดี เวลา 5-6 ปีที่ 31 THANWA ประสบความสำเร็จ นำมาสู่การต่อยอด พัฒนาแบรนด์รองเท้า 'Youngfolks' พลิกธุรกิจจาก OEM สู่แบรนด์ไลฟ์สไตล์ ด้วยความตั้งใจและความเชื่อว่า Youngfolks ไม่ได้ขายแค่รองเท้า แต่ขายความสัมพันธ์ เพราะความสัมพันธ์มีค่า เหมือนสามพี่น้องที่กลับมาบ้านเพื่อสานต่อในสิ่งที่พ่อรัก

 

“เราทำสิ่งที่ถนัด สิ่งที่ป๊ารัก สิ่งที่เป็นรากเหง้าของเราทั้งชีวิต พี่ชายสองคนจึงกลับมาช่วยกันทำ โดยพี่ชายคนโตดูแลเรื่องการบริหารจัดการ การตลาด ส่วนพี่ชายคนที่สองดูแลในเรื่องครีเอทีฟ และส่วนตัวดูเรื่องดีไซน์ โปรดักส์ชัน กลายเป็นแบรนด์ Youngfolks เป็นแบรนด์รองเท้าที่ตั้งใจอยากทำให้ป๊าเห็นในวันที่เขายังมีชีวิตอยู่ ว่าสิ่งที่เขารักมันงอกเงยในรุ่นของเรา”

 

 

\'Youngfolks\' เชื่อมคุณค่า 2 เจนฯ  เพราะทุกคน คือ \'ครอบครัว\'

 

 

เชื่อมคุณค่าระหว่างเจนฯ

Youngfolks เรียกว่าเข้ามาเปลี่ยนวงการแฟชั่น ในยุคที่ Fast Fashion กำลังทำลายโลกจากกองขยะมหาศาล ด้วยการ ให้ลูกค้า Personalize ได้ เลือกสี เลือกไซต์ได้ตามใจชอบให้พอดีกับขนาดเท้าทั้งสองข้าง เพื่อให้มีรองเท้าดีๆ ใส่และเดินได้นานๆ มีเอกลักษณ์และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รองเท้าทุกคู่ผลิตโดยช่างฝีมือที่อยู่คู่โรงงานตั้งแต่ยุคบุกเบิก ปัจจุบันมีอยู่ราว 30-40 คน

 

เรียกว่าการเปลี่ยนจากธุรกิจ OEM ที่ผลิตจำนวนมาก มาผลิตน้อยลง แต่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคที่โลกเปลี่ยนไป ผู้คนมีจริตในการใช้ชีวิตมากขึ้น การทำแบรนด์เป็นเครื่องมือที่ดีที่จะเล่าคุณค่าของแบรนด์เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึง และเดินไปด้วยกัน อีกทั้ง การผลิตน้อยลง ช่วยให้อาจารย์ช่างไม่เหนื่อยจนเกินกำลัง รองเท้าแต่ละคู่จึงมีคุณค่าทั้งกับผู้ตัดเย็บและลูกค้าที่รอรับ

 

\'Youngfolks\' เชื่อมคุณค่า 2 เจนฯ  เพราะทุกคน คือ \'ครอบครัว\'

 

“รองเท้าทุกคู่อาจารย์ช่างทุกคนทำออกมาด้วยความตั้งใจและประณีต เพราะรู้ว่ามีคนนี้รอรับอยู่ปลายทาง มีคนรอรับ 2-3 สัปดาห์ เพื่อได้รองเท้าสวยๆ สีสันที่แตกต่างกันของรองเท้าแต่ละคู่ สร้างสีสันให้กับใจคนทำ สร้างสีสันให้โรงงานกลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง และเมื่อส่งถึงมือลูกค้าเขาก็จะขอบคุณอาจารย์ช่างฝีมือ กลายเป็นว่าคนรับก็เข้าใจถึงคุณค่าของงานฝีมือ คุณค่าของคนทำ รองเท้ากลายเป็นสะพานเชื่อมใจคนสองคนได้”

 

อย่างไรก็ตาม ก้าวเข้ามาบริหารในช่วงแรกถือเป็นค่อนข้างยาก “บุณยนุช” ยอมรับว่าช่วงแรกรู้น้อยกว่าทุกคนในโรงงาน เป็นเรื่องยากที่จะไปสั่งคนอื่น แต่เรามองว่าทุกคนก็ต้องเริ่มจากทำไม่เป็นมาก่อน เราใช้ชีวิตอยู่ กิน นอน ที่โรงงาน อาจารย์ช่างฝีมืออยู่ตรงไหน เราจะอยู่ตรงนั้น อยู่ทุกวันเพราะไม่ได้ไปเรียนทำรองเท้า แต่อยู่โรงงานและลุยกับชีวิตจริง เวลาทำแพตเทิร์นต้องคุยกับอาจารย์ช่างว่าทำได้หรือไม่ เราเป็นครูเขาในเรื่องของดีไซน์ที่เขาก็ไม่เคยรู้มาก่อน ส่วนเราก็รู้ว่าที่ดีไซน์ไปบางอย่างทำได้ บางอย่างทำไม่ได้ เกิดเป็นความสนุกที่ต่างคนต่างให้กันและกัน ทำให้บรรยากาศดีขึ้น ไม่ใช่เป็นผู้รับอย่างเดียว แต่นั่งเรียนรู้กับเขา

 

สิ่งเหล่านี้เป็นการหลอมช่องว่างระหว่างวัยที่ดูเหมือนค่อนข้างกว้าง สุดท้ายแล้วก็ต้องมาเจอกันตรงกลาง เราใช้ความรู้ด้านสถาปัตย์พลิกแพลงทดลองวิธีการเย็บ อาจารย์เขาก็ตื่นเต้นว่าเขาเย็บมาทั้งชีวิต ไม่รู้ว่ามันสามารถประยุกต์มาเป็นแบบนี้ได้ เหมือนกับต่างคนต่างแลกเปลี่ยนข้อมูลกันและกัน กลายเป็นการผสมผสานเจนเนอเรชั่น เรามีความรู้ในเรื่องแฟชั่น ดีไซน์ ความคิดใหม่ๆ และเขาก็มีดีเรื่อง Knowledge Knowhow มากกว่า เหมือนต่างคนต่างเติมน้ำในแก้วซึ่งกันและกัน พึ่งพาซึ่งกันและกัน เพราะเราต่างคนต่างขาดในสิ่งที่อีกคนมี ทำให้เกิดความเข้าใจ เดินหน้าไปด้วยกันระหว่างสองเจเนอเรชั่น

 

“เราต้องดูแลทุกคนในครอบครัว ไม่ใช่แค่ใน Family แต่คือทุกชีวิตในโรงงาน เราจะทำอย่างไรให้อาจารย์ช่างฝีมือยังภาคภูมิใจว่าเขาเป็นอาจารย์ช่าง ยังทำทุกอย่างด้วยมือ สวยงาม และประณีต”

 

\'Youngfolks\' เชื่อมคุณค่า 2 เจนฯ  เพราะทุกคน คือ \'ครอบครัว\'

 

เติบโต บนความยั่งยืน

เป็นเวลากว่า 6 ปี ที่ Youngfolks เดินทางจนเป็นที่รู้จักในปัจจุบัน จากการที่ต้องทำงานทุกวัน ตอนนี้เรียกได้ว่าค่อนข้างบริหารจัดการชีวิตให้มีความสุขและสมดุล ดังนั้น เมื่อถามถึงภาพของ Youngfolks ที่อยากจะเห็นในอนาคต

 

'บุณยนุช' กล่าวว่า อยากให้เป็นแบรนด์รองเท้าที่คนนึกถึงในเรื่องของความสัมพันธ์ ความรัก สิ่งแวดล้อม ทำให้เรารู้สึกว่าแบรนด์เราเติบโตไปด้วยความสัมพันธ์ที่มากกว่าการขายแค่รองเท้า อยากให้เป็นครอบครัวใหญ่ที่ขยายเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ และ Youngfolks เริ่มมีชีวิตขึ้นเรื่อยๆ จากแต่ก่อนเป็นแค่รองเท้า และเติบโตเป็นรองเท้าที่เป็น Personalize และเริ่มมี Material อื่นๆ รวมถึงมีสินค้าไลฟ์สไตล์มากขึ้น

 

นอกจากนี้ เรื่องของ Sustain ไม่ใช่เทรนด์ แต่กลายเป็น Norm เป็นสิ่งพื้นฐานที่ทุกแบรนด์ต้องทำ เช่น แพกเกจจิ้ง ทุกครั้งที่ลูกค้าสั่งซื้อ จะให้เลือกว่าจะเอากล่องรองเท้าหรือถุงผ้า เพราะอยากให้แพกเกจจิ้งที่ลูกค้าใช้ ไม่อยากให้ไปแล้วทิ้ง บางคนอาจจะชอบเก็บรองเท้าในกล่อง เราจึงดีไซน์ให้เป็นลิ้นชัก ส่วนถุงผ้าก็เป็นหูรูดน่ารักๆ ที่คนสามารถนำไปใช้ต่อได้ Youngfolks อยากให้ทุกชีวิตเดินไปด้วยกันได้นานๆ

 

นอกจากการผลิตรองเท้าตามความต้องการลูกค้า เพื่อให้ใช้ได้นานขึ้น และลดการบริโภคเกินความจำเป็น Youngfolks ยังเกิดไอเดียนำหนัง DeadStock จากโรงฟอกหนัง มาชุบชีวิตใหม่ให้กลายเป็นรองเท้าคู่ใหม่ ต่อยอดสู่การนำผ้ารีไซเคิล 100% มาผสมผสานกับเศษหนังประกอบเป็นรองเท้า อีกทั้ง ยังมีโปรเจกต์รองเท้าปั๊มนูนอักษรเบรลล์ สำหรับผู้พิการทางสายตาอีกด้วย

 

\'Youngfolks\' เชื่อมคุณค่า 2 เจนฯ  เพราะทุกคน คือ \'ครอบครัว\'