เด็กคันก้น..จำเป็นต้องกินยาถ่ายพยาธิหรือไม่? อาการแบบไหนที่บ่งบอก
เด็กคนไหนที่กินเก่ง แต่ไม่อ้วน น้ำหนักน้อย ตัวผอม เหล่าพ่อแม่หลายคนมักมีความเชื่อว่าเกิดจากพยาธิในเด็ก และต้องให้เด็กกินยาถ่ายพยาธิ ซึ่งจริงๆ แล้ว ไม่มีตำราหมอเด็กเล่มไหนที่เขียนไว้ว่า เมื่อเจอเด็กน้ำหนักน้อย ให้จ่ายยาพยาธิ
Keypoint:
- เมื่อเด็กคันบริเวณทวารหนัก และน้ำหนักไม่เพิ่มขึ้น ผอม พ่อแม่หลายคนมักเชื่อว่าลูกมีพยาธิอยู่ในตัว และจะไปซื้อยาถ่ายพยาธิมาให้ลูกกิน ซึ่งการผอม น้ำหนักน้อย เกิดได้หลายปัจจัย
- โรคพยาธิในเด็ก จะสังเกตได้ง่ายๆ เมื่อมีอาการคันก้น โดยจะคันในทวารหนัก และเป็นมากเวลากลางคืน แต่สาเหตุเกิดได้จาก ทั้งการกินอาหารรสจัด ผื่นผิวหนังบริเวณก้น เช็ดกระดาษชำระแรงๆ บ่อยๆ และริดสีดวงทวารหนัก
- หากสงสัยว่าลูกเป็นโรคพยาธิ อย่าซื้อยาถ่ายพยาธิให้ลูกทาน ควรพาไปพบแพทย์ ซึ่งการป้องกันพยาธิในเด็กที่ดีที่สุด คือ การดูแลสุขอนามัย ทานอาหารสุกสะอาด ดื่มน้ำสะอาด เสื่อมรองเมื่อเดินบนพื้นดิน สอนใช้ห้องน้ำ ล้างมือทั้งก่อนและหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง
ปัจจัยที่ทำให้เด็กน้ำหนักน้อย มีหลายสาเหตุอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น มาจากร่างกาย และพฤติกรรมการกิน ไม่จำเป็นต้องเกิดจากการติดเชื้อพยาธิเสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากลูกตัวเล็ก ดูผอม น้ำหนักไม่ได้น้อยถึงขั้นต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานตามวัย แข็งแรงดี มีการเจริญเติบโตที่ปกติ อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ หรือการใช้พลังงาน การเคลื่อนไหวเยอะ จึงกินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน
ในส่วนของเด็กที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน มักมีสาเหตุจาก
- การเลี้ยงดู เด็กรับประทานน้อย ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายหรือรับประทานไม่ถูกต้องทั้งปริมาณและคุณค่า
- ภาวะเจ็บป่วยของร่างกาย อาจมีโรคเรื้อรังหรือปัญหาของความพิการแต่กำเนิด ทำให้การเจริญเติบโตช้า เช่น โรคหัวใจ
- การนอนหลับไม่เพียงพอหรือนอนดึก ในระยะแรกน้ำหนักจะต่ำกว่าเกณฑ์ ยังไม่มีผลต่อความสูง แต่ถ้าต่ำอยู่ระยะหนึ่งแล้วจะมีผลต่อความสูง เด็กจะไม่ค่อยสูงเท่าเด็กปกติ
- ความเข้าใจผิดว่าเด็กอ้วนเป็นเด็กแข็งแรง พ่อแม่จำนวนมากมีค่านิยมที่ผิด มองว่าเด็กอ้วนเป็นเด็กแข็งแรงและน่ารัก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เช็กน้ำหนักการเจริญเติบโตของเด็ก
องค์การอนามัยโลกแนะนำให้การเจริญเติบโตของทารกในการเฝ้าติดตามการเติบโตของทารก เพื่อไม่ให้การประเมินผิดพลาดว่าทารกมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์หรือมีภาวะเลี้ยงไม่โต (failure to thrive) โดยเกณฑ์ในการวัดว่าทารกหรือเด็กมีภาวะการเจริญเติบโตต่ำกว่าเกณฑ์ คือมีน้ำหนักหรือส่วนสูงต่ำกว่า (<) 3 percentile ซึ่งกราฟนี้จะมีในประวัติสมุดสุขภาพของเด็กทารกตั้งแต่แรกเกิดอยู่แล้ว หากพ่อแม่เช็กตามกราฟน้ำหนักและส่วนสูง (ซึ่งจะมีในสมุดบันทึกวัคซีนของลูก) ว่าอยู่ในช่วงปกติหรือไม่ ดังนี้
- เด็กแรกเกิด น้ำหนักประมาณ 3 กิโลกรัม
- เด็ก 4-5 เดือน น้ำหนัก 4-5 กิโลกรัม
- เด็ก 1 ปี น้ำหนัก เพิ่มขึ้น 3 เท่าจากน้ำหนักแรกเกิดหรือประมาณ 9 กิโลกรัม
- เด็ก 2 ปี น้ำหนัก เพิ่มขึ้น 4 เท่าจากน้ำหนักแรกเกิดหรือประมาณ 12 กิโลกรัม
- เด็ก 2-5 ปี น้ำหนัก เพิ่มประมาณ 2.3-2.5 กิโลกรัม/ปี
เด็กคันก้น...เกี่ยวอะไรกับโรคพยาธิในเด็ก
พญ.เปรมจิต ไวยาวัจมัย ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า อาการคันบริเวณทวารหนัก (Anal pruritus) เป็นผลจากการมีการระคายเคืองต่อผิวหนังบริเวณรูเปิดทวารหนัก และบริเวณใกล้เคียง
สาเหตุการคันคันบริเวณทวารหนัก อาจเกิดได้จาก การได้รับสารที่ฤทธิ์ระคายเคือง เช่น
- การรับประทานอาหารรสจัด
- ยาปฏิชีวนะบางชนิด
- การสัมผัสสิ่งกระตุ้นให้ระคายเคือง เช่น การใช้กระดาษชำระที่มีผลต่อการระคายเคืองเนื้อเยื่อรอบทวารหนัก
- การระคายเคืองจากสารบางชนิดในอุจจาระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อท้องเสียหรือถ่ายอุจจาระบ่อยกว่าปกติ
- การมีริดสีดวงทวารหนัก
- ผื่นจากโรคทางผิวหนังและการติดเชื้ออื่น ๆ บริเวณทวารหนักเช่น พยาธิเข็มหมุด เชื้อรา ยีสต์บางชนิด และหูดเป็นต้น
- สำหรับในเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวมีอาการเช่นเดียวกัน
- นอกจากสิ่งกระตุ้นที่ให้เกิดการระคายเคืองแล้ว การติดเชื้อที่สำคัญและพบบ่อยคือ การติดเชื้อจากพยาธิเข็มหมุด (Pinworm) หรือบางครั้งเรียกว่าพยาธิเส้นด้าย (Threadworm)
อาการที่พบเมื่อมีพยาธิในร่างกาย
โรคพยาธิในเด็ก มีอาการดังนี้
1. อาการคันก้น โดยจะคันในทวารหนัก และเป็นมากเวลากลางคืน จนบางครั้งถึงขนาดงอแง นอนไม่หลับ หรือบริเวณที่เกาอาจเกิดการอักเสบจนติดเชื้อแบคทีเรียได้เลยค่ะ อาการนี้เป็นอาการของการติดพยาธิเข็มหมุด เนื่องจากพยาธิมักออกมาไข่ตอนกลางคืน ทำให้คันในรูก้น แต่มีสาเหตุของอาการคันก้นอื่นๆ ได้อีก เช่น
- ทานอาหารรสจัด จึงระคายเคืองที่ก้นหลังถ่าย
- ผื่นผิวหนังที่บริเวณก้น แต่มักพบผื่นที่ชัดเจนค่ะ
- ระคายเคืองที่ก้น เช่น ท้องเสีย , เช็ดกระดาษชำระแรงๆ บ่อย
- ริดสีดวงทวารหนัก
2. ตัวเล็ก น้ำหนักลด หรือการเจริญเติบโตตกเกณฑ์ปกติ
3. ซีดจากการขาดธาตุเหล็ก
4. มีรอยไชตามผิวหนัง
- พยาธิในทางเดินอาหาร : อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการหิวบ่อย น้ำหนักลด โลหิตจาง ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสีย คันบริเวณทวารหนัก
- พยาธิที่ไชอยู่ใต้ผิวหนัง : ทำให้เกิดรอยทางเดินของพยาธิที่ผิวหนัง หรือมีก้อนบวมแดงที่ย้ายที่ไปเรื่อย ๆ
- พยาธิที่ไขไปที่กล้ามเนื้อ : ทำให้มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- พยาธิที่ไขไปที่สมอง : ทำให้ปวดศีรษะ คลื่นใส้อาเจียน ตาพร่ามัว ชัก
- พยาธิใบไม้ในตับ : ทำให้มีอาการปวดใต้ชายโครงขวาตาเหลือง ตัวเหลือง
- พยาธิใบไม้ในปอด : ทำให้มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก ไอ มีเสมหะเป็นสีสนิมเหล็ก หรือไอออกเลือด
ทำความรู้จักพยาธิเข็มหมุด
พยาธิเข็มหมุด (Enterobius vermicularis) คือ พยาธิตัวกลม ชนิดหนึ่งมีขนาดเล็กประมาณ 2-10 มิลลิเมตรสีซีด รูปร่างคล้ายเข็มหมุดหรือเส้นด้ายเมื่อมองด้วยตาเปล่า จึงทำให้เรียกกันว่าพยาธิเข็มหมุดหรือพยาธิเส้นด้าย อาศัยในทางเดินอาหารโดยเฉพาะทางเดินอาหารส่วนล่าง พยาธิชนิดนี้จะแย่งกินอาหารของคน และทำให้เกิดอาการคันรอบทวารหนัก พบมากในเด็กวัยเรียนอายุประมาณ 5-8 ปีและพบมากในกลุ่มเด็กที่อยู่รวมกันเช่นเด็กในสถานเลี้ยงเด็ก หรือโรงเรียนประจำ
พยาธิเข็มหมุดติดต่อได้อย่างไร
เมื่อพยาธิเข็มหมุดเจริญเติบโตและสืบพันธุ์ในระบบทางเดินอาหารของคนแล้ว พยาธิตัวผู้จะตายไป ส่วนพยาธิตัวเมียจะออกมาวางไข่บริเวณรูเปิดทวารหนักโดยเฉพาะในเวลากลางคืน หลังจากนั้น 4-6 ชั่วโมงไข่จะสามารถเจริญเป็นไข่ระยะติดต่อได้เมื่ออยู่ในสภาวะที่เหมาะสม
การที่มีไข่พยาธิบริเวณทวารหนักจะกระตุ้นให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังบริเวณนั้น ทำให้คัน เมื่อเด็กหรือผู้ติดเชื้อเกาบริเวณทวารหนัก ไข่ของพยาธิจะติดไปตามเล็บ ง่ามนิ้วมือ หรืออาจตกลงไปบนที่นอน ผ้าห่ม เสื้อผ้าได้
การติดต่อของพยาธิเข็มหมุดเกิดได้หลายวิธีทั้งทางตรงและทางอ้อม
1. จากการรับประทาน
หลังจากที่เด็กเกาบริเวณทวารหนัก ไข่ระยะติดต่อจะติดอยู่ตามง่ามนิ้วมือ เล็บและสามารถกลับสู่ทางเดินอาหารได้เมื่อเด็กเอามือเข้าปาก อมนิ้ว หรือการหยิบอาหารเข้าปากเป็นต้น นอกจากนี้ไข่พยาธิที่ติดอยู่ตามเสื้อผ้า ผ้าห่มของใช้ในบ้านก็เป็นตัวกลางให้เด็กจับและนำมาเข้าปากได้เช่นกัน
2. จากการหายใจ
ไข่พยาธิที่ตกบนเตียง ที่นอนสามารถฟุ้งกระจายในอากาศ และเมื่อสูดดมก็ทำให้ได้รับไข่พยาธิเข้าไปในทางเดินหายใจ เนื่องจากทางเดินหายใจและทางเดินอาหารมีบางส่วนต่อเนื่องกัน ทำให้เด็กกลืนไข่พยาธิลงไปในทางเดินอาหารได้
3.จากการติดเชื้อย้อนกลับทางทวารหนัก
ในสภาวะที่เหมาะสม ไข่พยาธิสามารถทนอยู่ได้นานถึง 3 สัปดาห์และเจริญต่อเป็นตัวอ่อนซึ่งจะชอนไชกลับเข้าไปทางทวารหนักและทางเดินอาหารต่อไปได้
อาการจากการติดเชื้อพยาธิเข็มหมุด
ส่วนมากมักไม่ทำให้เกิดอาการ ในกรณีที่มีอาการ อาการที่พบบ่อยคือการคันบริเวณทวารหนักโดยเฉพาะในเวลากลางคืน นอกจากทำให้เด็กนอนหลับไม่สนิท กระสับกระส่าย ร้องกวนแล้ว บางครั้งเมื่อเกามากทำให้เกิดแผลถลอกและเป็นสาเหตุให้มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้
นอกจากนี้ถ้ามีพยาธิจำนวนมากชอนไชในเยื่อบุลำไส้อาจทำให้เกิดการระคายเคืองเยื่อบุผนังลำไส้ มีอาการปวดท้อง เบื่ออาหาร ในบางกรณีที่มีการติดเชื้อย้อนกลับโดยกลับเข้าทางช่องคลอดในเพศหญิง พยาธิจะชอนไชไปในช่องคลอด มดลูกทำให้เกิดการอักเสบทางอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิงโดยมีอาการคันและตกขาวร่วมด้วย
วินิจฉัยและการรักษาติดเชื้อพยาธิเข็มหมุด
จากประวัติข้างต้น การตรวจร่างกายที่มีลักษณะการอักเสบบริเวณผิวหนังรอบทวารหนัก และการตรวจทางห้องปฏิบัติเพื่อหาไข่พยาธิ โดยใช้สก๊อตเทปติดบริเวณทวารหนักหลังตื่นนอนตอนเช้าทันที แล้วนำมาตรวจโดยกล้องจุลทรรศน์
การรักษาการติดเชื้อพยาธิเข็มหมุด
ให้ยาถ่ายพยาธิ Albendazole 400 mg หรือ Mebendazole 100 mg หนึ่งครั้ง หลังจากนั้นให้ยาซ้ำอีกภายใน 2 สัปดาห์เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ สำหรับยาถ่ายพยาธิชนิดนี้ควรหลีกเลี่ยงในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร และในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี นอกจากนี้ควรให้ยารักษาทั้งครอบครัว ถึงแม้ว่าบุคคลในครอบครัวจะยังไม่มีอาการก็ตามเพราะโรคนี้ติดต่อกันได้ง่าย
ป้องกันการแพร่กระจายของโรคได้อย่างไร
- ควรหมั่นรักษาความสะอาดร่างกายและของใช้ต่าง ๆ เช่นเสื้อผ้า ผ้าห่ม ที่นอน หมอน ตัดเล็บมือให้สั้น ล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะเวลาก่อนรับประทานอาหารและหลังจากเข้าห้องน้ำ อาบน้ำตอนเช้าเพื่อลดการสัมผัสไข่พยาธิและหลีกเลี่ยงการเกาบริเวณทวารหนัก
- ไม่ควรใช้ยาถ่ายพยาธิโดยไม่จำเป็น เนื่องจากยาถ่ายพยาธิมีฤทธิ์ในการรักษาการติดเชื้อพยาธิซึ่งเป็นปรสิตที่มีหลากหลายชนิด จึงควรรับประทานยาถ่ายพยาธิให้ตรงกับชนิดของพยาธิที่มีอยู่ในร่างกาย
ยาถ่ายพยาธิ จำเป็นต้องทานหรือไม่?
ผศ. พญ.แสงศุลี ธรรมไกรสร ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าสำหรับยาถ่ายพยาธิ ซึ่งเป็นยาที่มีฤทธิ์ในการรักษาการติดเชื้อพยาธิซึ่งถือเป็นปรสิตที่อาศัยอยู่ในร่างกายมนุษย์ โดยทั่วไปควรเลือกชนิดของยาถ่ายพยาธิที่กินให้ตรงกับชนิดของพยาธิที่มีอยู่ในร่างกาย
โดยทั่วไปพยาธิจะแบ่งได้เป็น 3 ชนิด คือ
- พยาธิตัวกลม เช่น พยาธิเข็มหมุด พยาธิปากขอ พยาธิไส้เดือน พยาธิแส้ม้า พยาธิตัวจี๊ด พยาธิสตรองจิลอยด์และพยาธิเส้นด้าย
- พยาธิตัวแบน เช่น พยาธิตัวตืด
- พยาธิใบไม้
ประเภทยาถ่ายพยาธิ
- อัลเบนดาโซล (Albendazole)
มีฤทธิ์ต่อพยาธิตัวกลมและตัวตืดรวมทั้งพยาธิใบไม้ในตับหลายชนิด ผลข้างเคียง ปวดเวียนศีรษะ ปวดมวนท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน หรือแพ้ยา ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร
- มีเบนดาโซล (Mebendazole)
มีฤทธิ์ต่อพยาธิตัวกลม และ พยาธิตัวตืดหลายชนิด ผลข้างเคียง ปวดท้อง ท้องเดิน และ ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร
- ปิเปอร์ราซีน (Piperazine)
มีฤทธิ์ต่อพยาธิไส้เดือนและพยาธิเส้นด้ายโดยทำให้กล้ามเนื้อของพยาธิอ่อนแรง ผลข้างเคียง ถ้ารับประทานเกินขนาด อาจท้าให้ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ถ้ารับประทานเกินขนาดมาก ๆ อาจท้าให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชัก หมดสติได้ ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยาถ่ายพยาธิไพแรน เทล พาโมเอต
- ไพแรนเทล พาโมเอต (Pyrantel pamoate)
มีฤทธิ์ต่อพยาธิเส้นด้าย ไส้เดือนและปากขอ ทำให้พยาธิเคลื่อนไหวไม่ได้ ผลข้างเคียง ยานี้อาจท้าให้คลื่นไส้ อาเจียน มึนงง ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับปิเปอร์ราซีน
- นิโคลซาไมด์(Niclosamide)
มีฤทธิ์ต่อพยาธิตัวตืด ผลข้างเคียง คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องเสีย
- พลาซิควอนเทล (Praziquantel)
มีฤทธิ์ต่อพยาธิใบไม้ และพยาธิตัวตืด ผลข้างเคียง ปวดเวียนศีรษะ ปวดท้อง อาเจียน ผื่นคัน ง่วงนอน
- ไอเวอร์เมคติน (Ivermectin)
ใช้รักษาพยาธิตัวกลม พยาธิตัวจี๊ด และสตรองจิลอยด์ ผลข้างเคียง ปวดมวนท้อง คลื่นไส้ ปวดศีรษะ มึนงง ผื่นคัน ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร
จะเห็นได้ว่ายามีหลายชนิด รวมทั้งขนาดและระยะเวลาในการรับประทานยาแต่ละชนิดจะมีความแตกต่างกันไปสำหรับโรคพยาธิแต่ละชนิด ดังนั้นอย่าหลงเชื่อโฆษณาในสื่อต่างๆที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงว่ากินยาเม็ดเดียวครั้งเดียวสามารถฆ่าพยาธิได้ทุกชนิดควรรับประทานยาถ่ายพยาธิเมื่อแน่ใจว่าเป็นโรคพยาธิเท่านั้นโดยปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนทุกครั้ง
ข้อควรระวังการใช้ยาถ่ายพยาธิ
ไม่ควรใช้ยาถ่ายพยาธิเป็นประจำทุกปีหรือเพียงเพราะมีรูปร่างผอมเนื่องมาจากความผอมอาจจะเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ กรรมพันธุ์ ลักษณะการใช้ชีวิตประจำวันและการรับประทานอาหาร รวมถึงการมีโรคบางอย่างแอบแฝงในร่างกาย ควรจะหาโอกาสปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อหาสาเหตุให้แน่ชัดจะดีกว่าการซื้อยาถ่ายพยาธิมารับประทานเอง
โดยแพทย์จะพิจารณาส่งตรวจอุจจาระเพื่อดูไข่พยาธิด้วยกล้องจุลทรรศน์ซึ่งจะตรวจพบลักษณะเฉพาะที่จะบอกได้ว่าเป็นพยาธิชนิดใดและจะได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
นอกจากนี้การไม่ซื้อยาถ่ายพยาธิมากินเองอาจช่วยลดความเสี่ยงในการแพ้ยา การเกิดผลข้างเคียงต่างๆและผลต่อตับจากยา และถ้าต้องรับประทานยา ควรอ่านฉลากและเอกสารกำกับยาก่อนรับประทานยาทุกครั้งและปฏิบัติตามอย่างครบถ้วนซึ่งความผิดพลาดในการรับประทานยาถ่ายพยาธิที่พบได้บ่อย คือการไม่ได้กินยาระบายหลังจากกินยาถ่ายพยาธิตัวตืดแล้ว 2 ชม. เพื่อกำจัดพยาธิตัวเต็มวัยและไข่พยาธิไม่ให้ย้อนกลับขึ้นมาในลำไส้อีกและอาจทำให้เกิดอันตรายจากตัวอ่อนของพยาธิที่ออกจากไข่และชอนไชไปสะสมที่อวัยวะต่างๆคล้ายเม็ดสาคู( cysticercosis) โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สมอง
ป้องกันการติดพยาธิมากกว่ากินยาถ่ายพยาธิ
โรคพยาธิเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัยของบุคคลและสามารถป้องกันได้โดยส่งเสริมให้มีสุขลักษณะนิสัยที่ดี เช่น
- ล้างมือก่อนหรือหลังรับประทานอาหารและหลังจากเข้าห้องน้ำ
- เลือกซื้ออาหารที่สดใหม่สะอาด
- งดการรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีตัวอ่อนพยาธิซึ่งมีลักษณะเป็นเม็ดสาคูปนเปื้อน
- ไม่กินของที่ตกบนพื้นแล้ว
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารดิบ หรือหรือสุกๆดิบๆ
- การล้างผักผลไม้ให้สะอาดก่อนบริโภค
- ควรสวมรองเท้าเวลาออกนอกบ้านทุกครั้ง
- ทำความสะอาดที่นอน นำผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม ปอกหมอน ไปซักด้วยน้ำร้อน เพื่อทำลายไข่พยาธิ
- เก็บกวาดห้องให้สะอาด
โรคพยาธิในเด็ก สามารถพบได้เรื่อยๆ ขึ้นกับสุขอนามัยของแต่ละพื้นที่ โรคพยาธิในเด็กมักมาด้วยหลายอาการด้วยกัน เช่น คันก้น เลี้ยงไม่โต หรือบังเอิญตรวจเจอ หากสงสัยอาการของลูกมีพยาธิ ไม่ควรซื้อยาทานเอง ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัช
อ้างอิง: มหาวิทยาลัยมหิดล ,โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์