สุขภาพแข็งแรง + อายุยืน (1) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ
หลายคนที่เกษียณอายุไปเมื่อ ก.ย. ที่ผ่านมา คงกำลังปรับตัวให้เข้ากับการดำเนินชีวิตเมื่อเข้าสู่วัยที่เรียกกันว่า “ผู้สูงอายุ” หรือ สว. และทุกคนก็คงอยากมีบั้นปลายของชีวิตที่สุขภาพแข็งแรงและอายุยืน
ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ผมหาข้อมูลและประสบการณ์ที่ได้รวบรวมมาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากการศึกษาเกี่ยวกับสุขภาพ มาให้ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันนะครับ
ผมเชื่อว่าเราทุกคนต้องการให้ช่วงสุดท้ายของชีวิตเป็นคล้ายกับคุณยาย Dorothy Hoffner ที่เพิ่งเสียชีวิตไป โดยมีอายุครบ 104 ปี ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 1 ต.ค. เพิ่งไปโดดร่มจากเครื่องบินสูง 13,500 ฟุต (ก่อนหน้านั้นก็ได้ฉลองอายุครบ 100 ปี โดยการโดดร่มเช่นกัน) ตามรายงานข่าวนั้น คุณยาย Hoffner เสียชีวิตระหว่างนอนหลับในคืนวันจันทร์ที่ 9 ต.ค.
อีกกรณีหนึ่งคือ การเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 เมื่อวันที่ 8 ก.ย.2565 ระบุในใบมรณบัตรว่าสาเหตุคือ “ชราภาพ” แต่เมื่อวันที่ 6 ก.ย.ก็ยังคงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนที่ 15 คือนาง Liz Truss
ทั้งนี้ สำนักพระราชวังประกาศว่า พระองค์ประชวรวันที่ 8 ก.ย. กล่าวคือ คงจะประชวรเพียง 1-2 วันก็เสด็จสวรรคตอย่างสงบ และมีพระชนมายุยืนนานถึง 96 ปี
กรณีของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 นั้น สามารถนำไปเปรียบเทียบได้กับพระขนิษฐาคือเจ้าหญิงมาร์กาเรต ที่อายุยืนเพียง 71 ปี น้อยกว่าสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธถึง 25 ปี ทั้งๆ ที่ทั้งสองพระองค์น่าจะมีพันธุกรรมคล้ายคลึงกันอย่างมาก (พระขนิษฐาเกิดหลังจากสมเด็จพระราชินี 4 ปี) ดังนั้น การที่อายุยืนต่างกัน 25 ปีนั้นน่าจะสรุปได้ว่ามาจากการใช้ชีวิต (lifestyle)
เจ้าหญิงมาร์กาเรต เริ่มสูบบุหรี่ตั้งแต่เป็นวัยรุ่นและสูบบุหรี่จัดเป็นเวลาหลายสิบปี ดังนั้น ในปี 2528 (เมื่อพระชนมายุ 55 ปี) ถูกผ่าตัดปอดข้างซ้ายออกไป นอกจากนั้นก็ยังดื่มสุราจัด แม้จะเลิกสูบบุหรี่เมื่อปี 2534 สุขภาพจึงไม่ดี เป็นโรคปอดบวมเมื่ออายุ 63 ปี เป็นโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) เมื่ออายุ 68 ปี และ stroke อีกครั้งเมื่ออายุ 71 ปี
ซึ่งครั้งนั้นมีอาการรุนแรง ตามมาด้วยการเป็น stroke อีกครั้งและมีอาการโรคหัวใจ ทำให้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 9 ก.พ.2545 เมื่ออายุ 71 ปี ก่อนพระราชินีเสด็จสวรรคตกว่า 20 ปี
งานวิจัยหลายสิบชิ้นที่ผมอ่านมีข้อสรุปเหมือนกันว่า มนุษย์เราจะอายุยืนได้ถึงประมาณ 80 ปี หากเราดูแลสุขภาพตัวเองให้ “ดี” (ตรงนี้จะขยายความในตอนต่อไป) เกินกว่า 85 ปี พันธุกรรมจะเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ
Thomas Perls ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยบอสตัน ซึ่งเป็นผู้นำทีมวิจัยผู้สูงอายุ ที่เรียกว่า centenarians หรือผู้ที่อายุยืนเกิน 100 ปี ประเมินว่าหากจะอายุยืนถึง 90 ปี พันธุกรรมเป็นตัวแปรที่มีน้ำหนักประมาณ 25% หากอายุยืนไปถึง 100 ปี พันธุกรรมจะเป็นตัวแปรที่มีน้ำหนักประมาณ 50% ไกลไปกว่านั้นหากอายุยืนถึง 106 ปีต้องพึ่งพาพันธุกรรมประมาณ 75%
อย่างไรก็ดี จำนวนคนที่อายุ 100 ปีหรือมากกว่านั้น กำลังเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด สหรัฐในปี 2556 มีประชาชนอายุ 100 ปีหรือมากกว่า จำนวน 65,000 คน แต่ในปี 2566 ประชาชนกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นสูงถึง 109,000 คน
ทั้งนี้ Perls ประเมินว่าประชาชน 20% มีพันธุกรรมที่จะช่วยให้มีอายุยืนเกิน 100 ปีได้ กล่าวคือ ในอนาคตหากมีการใช้ชีวิตและดูแลสุขภาพที่ถูกต้อง จำนวนคนที่อายุ 100 ปีหรือมากกว่าจะเพิ่มขึ้นอีกมาก สหรัฐมีประชากรประมาณ 340 ล้านคน ดังนั้น ในอนาคตการจะมีประชาชนจำนวนนับสิบล้านคน ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นไปไม่ได้
การศึกษาประชากรที่อายุเกิน 100 ปีอย่างเป็นระบบนั้น กำลังเพิ่มขึ้นอย่างมากและเริ่มมีข้อสรุปออกมาแล้วว่า คนกลุ่ม Super Agers อายุยืนเพราะหลีกเลี่ยงการเป็นโรคไม่ติดต่อหลักๆ ประมาณ 4 โรคจนวัยแก่เฒ่ามากๆ คือ โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคสมองเสื่อม และโรคเบาหวาน กล่าวคือหากเป็นโรคดังกล่าวก็จะปรากฏอาการตอนอายุใกล้ 100 ปี เป็นต้น
สำหรับคนอื่นๆ นั้น สถิติพบว่า
1.โดยเฉลี่ยโรคมะเร็งจะตรวจพบครั้งแรกเมื่ออายุ 66 ปี
2.ผู้ชายจะเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันครั้งแรก (Heart attack) ตอนอายุ 65 ปี ผู้หญิงจะพบเมื่ออายุ 72 ปี
3.ทั้งผู้ชายและผู้หญิงจะเริ่มเป็นโรคเบาหวานระหว่างอายุ 45-64 ปี (ตรงนี้ “กว้างมาก” และการเป็นโรคเบาหวานได้ระบาดอย่างหนักมาหลายสิบปีแล้ว องค์การอนามัยโลกรายงานว่ามีประชากรถึง 422 ล้านคนเป็นโรคเบาหวานในปี 2557 เพิ่มขึ้น 4 เท่าตัวจาก 108 ล้านคนในปี 2523)
4.โรคสมองเสื่อม ส่วนใหญ่เริ่มขึ้นตั้งแต่อายุ 65 ปีเป็นต้นไป โดยช่วงอายุ 65-74 ปีจะมีผู้ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม 5% อายุ 75-84 ปี สัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 13.1% และอายุ 85 ปีหรือมากกว่า เพิ่มขึ้นเป็น 33.2%
ข้อมูลดังกล่าวนี้ หลายคนอาจจะไม่อยากรับรู้ แต่การไม่มีความรู้และไม่มีข้อมูลนั้นย่อมเป็นความเสี่ยงอย่างมาก ในฐานะที่ผมเป็นนักวิเคราะห์ด้านการลงทุนนั้น เราจะต้องพยายามแสวงหาข้อมูลให้ครบถ้วนที่สุด เพื่อใช้ในการประเมินว่าการลงทุนอย่างไรจะทำให้เผชิญความเสี่ยงน้อยที่สุดและให้ผลตอบแทนสูงที่สุด
ในครั้งต่อๆ ไป ผมจะเขียนถึงการดูแลสุขภาพตัวเอง เพื่อให้ได้มาซึ่งสุขภาพที่แข็งแรงและอายุที่ยืนยาวให้มากที่สุด ซึ่งในการนี้ ผมจะกล่าวถึงหนังสือเล่มใหม่เกี่ยวกับสุขภาพที่ชื่อว่า Outlive เขียนโดยนายแพทย์ Peter Attia ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก ท่านผู้อ่านที่ไม่อยากรอบทความครั้งต่อไปของผม จะซื้ออ่านไปล่วงหน้าได้เลยครับ