ผู้สูงอายุในประเทศไทย | ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ผมอายุใกล้ 67 ปีแล้ว จึงนับได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้สูงอายุที่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากในอีก 20 ปีข้างหน้า ตัวเลขจำนวนผู้สูงอายุที่อ้างอิงโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) นั้น พอสรุปได้ดังนี้
- ปี 2000 มีผู้สูงอายุ (60 ปีหรือมากกว่า) ในประเทศไทย 5.9 ล้านคน
- ปี 2020 มีผู้สูงอายุในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 14.6 ล้านคน
- จำนวนประชากรของไทยที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดในช่วง 2000-2020 นั้น เท่ากับ 8.4 ล้านคน เทียบกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุที่ 8.7 ล้านคน
ตัวเลขข้างต้นผิดเพี้ยนจากข้อมูลล่าสุด ที่เป็นทางการของไทยเล็กน้อยที่ประเมินว่ามีผู้สูงอายุทั้งหมด 12.6 ล้านคนและปัจจุบันได้รับเบี้ยยังชีพ 11 ล้านคน โดยใช้งบประมาณ 50,000 ล้านบาท แต่รัฐบาลประเมินว่างบประมาณในส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 90,000 ล้านบาทในปี 2567
ทั้งนี้ ได้มีการประเมินว่าจำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 20.5 ล้านคนในปี 2040 หรืออีกประมาณ 17 ปีข้างหน้า ผมจึงจะไม่แปลกใจ หากงบประมาณที่จะต้องใช้การจ่ายเบี้ยเลี้ยงผู้สูงอายุในปี 2040 จะสูงขึ้นใกล้ 190,000 ล้านบาทต่อปี
ปัจจุบันอัตราการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุมีดังนี้
60-69 ปี 600 บาทต่อเดือน
70-79 ปี 700 บาทต่อเดือน
80-89 ปี 800 บาทต่อเดือน
90+ ปี 1,000 บาทต่อเดือน
แต่เนื่องจากกลุ่มผู้สูงอายุ 70-80 ปีหรือมากกว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 20 ปีข้างหน้า ดังนั้น หากคำนวณอายุคาดเฉลี่ยของคนไทยที่ปัจจุบันอายุ 60 ปี (life expectancy at 60 years) ก็จะพบว่า จะมีอายุยืนต่อไปอีก 23.5 ปี (ข้อมูลของ WHO)
กล่าวคือ ปัจจุบันเบี้ยคนชรานั้นเฉลี่ยประมาณ 650 บาทต่อเดือน แต่เมื่ออายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายต่อหัวก็จะเพิ่มขึ้นไปด้วย
เช่น หากอายุเฉลี่ยของผู้สูงอายุในประเทศไทยเกือบ 80 ปี และทำให้เบี้ยเลี้ยงเพิ่มขึ้นเป็น 750 บาทต่อเดือน งบประมาณที่ต้องใช้ก็จะเพิ่มไปเป็น 184,500 บาทต่อปี สำหรับจำนวนผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 20.5 ล้านคน เป็นต้น
แต่ค่าใช้จ่ายที่น่ากลัวมากกว่าคือ ค่ารักษาพยาบาลของผู้สูงอายุ ที่จะต้องเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ
ผมไม่มีตัวเลขสำหรับประเทศไทย แต่มีตัวเลขของสหรัฐอเมริกา (Center for Medicare and Medicaid Services) ในปี 2020 ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
1.ค่าใช้จ่ายต่อหัวที่คนสหรัฐต้องจ่ายเอง เฉลี่ยประมาณ 10,000 เหรียญต่อปี
2.สำหรับค่าใช้จ่ายต่อหัวของคนสหรัฐที่อายุ 65 ปีหรือมากกว่า เพิ่มขึ้นมาเป็น 22,300 เหรียญต่อปี
3.ค่าใช้จ่ายต่อหัวของคนสหรัฐที่อายุเกิน 85 ปี เท่ากับ 36,000 เหรียญต่อปี
สมมติว่า ค่าใช้จ่ายสำหรับคนไทยนั้นถูกกว่าสหรัฐมาก คือประมาณ 20% ของสหรัฐ ก็จะเท่ากับ 156,000 บาทต่อปี สำหรับคนที่มีอายุ 65 ปีหรือมากกว่า ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยน่าจะมีคนที่อายุ 65 ปีหรือมากกว่า จำนวน 8 ล้านคน
แปลว่าหากรัฐบาลไทยจะยังมีระบบการประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก็จะพบว่างบประมาณที่ต้องใช้เฉพาะสำหรับผู้สูงอายุกลุ่มเดียวจะสูงถึง 1.25 ล้านล้านบาท กล่าวคือค่าใช้จ่ายในส่วนของการรักษาสุขภาพนั้นจะสูงกว่าค่าใช้จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ หลายเท่าตัว
ทำไมตัวเลขจึงอาจสูงได้มากถึงขนาดนั้น? ข้อมูลของ WHO ประเมินสำหรับประเทศไทยในปี 2015 ว่า คนไทยมีอายุคาดเฉลี่ย 77.4 ปี แต่อายุคาดเฉลี่ยที่สุขภาพดีเท่ากับ 68 ปี แปลว่าจะมีช่วงเวลาประมาณ 9.4 ปีที่มีชีวิตอยู่ แต่มีสุขภาพที่ไม่ดี
ทั้งนี้ มีความแตกต่างกันเล็กน้อย ระหว่างผู้ชายและผู้หญิง ดังรายละเอียดปรากฏในตาราง (HALE = Healthy Life Expectancy)
เมื่อพฤศจิกายน 2021 ได้มีการนำเสนอเอกสาร “เหตุผลสนับสนุนการลงทุนในมาตรการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อในประเทศไทย” จัดทำร่วมกันโดยองค์กรสหประชาชาติ กระทรวงสาธณสุขของไทย และ UN Inter-Agency Task Force on NCDs
ซึ่งประเมินค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ของภาครัฐจากการดูแลรักษาการเป็นโรคไม่ติอต่อ (เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็งและโรคไตวาย เป็นต้น) ว่ามีมูลค่า ปีละประมาณ 140,000 ล้านบาท จากงบประมาณหลักประกันสุขภาพแต่งชาติทั้งหมดประมาณ 200,000 ล้านบาท
แต่ผลเสียที่เป็นต้นทุนสูงสุดสำหรับเศรษฐกิจไทยคือ การประเมินว่าเมื่อสุขภาพไม่ดี จะทำให้ มีแรงงานที่ต้องหยุดการทำงานก่อนวัยอันควร (premature withdrawal from work) คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 1.407 ล้านล้านบาทต่อปี
(หากคำนวณว่าปกติ รัฐบาลเก็บภาษีได้ประมาณ 16% ของจีดีพี ก็แปลว่ารายได้ภาษีหายไปปีละ 225,120 ล้านบาทต่อปี) และความเสียหายจากการสูญเสียผลผลิตเพราะ ต้องลางานและทำงานได้ไม่เต็มที่ อีกประมาณ 90,000 ล้านบาทต่อปี
หากดูจากข้อมูลและตัวเลขดังกล่าวข้างต้น ก็จะเห็นว่าเรื่องที่ “ใหญ่” กว่าเรื่องของเบี้ยผู้สูงอายุคือ การดูแลให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดี แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยเรื้อรัง ซึ่งผมจะขอกล่างถึงในสัปดาห์หน้าครับ
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร