เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ภาระหรือสวัสดิการ
ยังเป็นคำถามใหญ่ของสังคม และเป็นโจทย์สำคัญที่รัฐบาลใหม่ต้องวางแผนให้ดีในประเด็น "เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ" ว่าจะมีการจ่ายเงินอย่างไรให้รัดกุม ทั่วถึง ไม่มีใครตกสำรวจ ไปถึงหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมในการเบิกจ่ายเพื่อไม่ให้ทั้งประชาชนและรัฐเสียผลประโยชน์
สัญญาณที่กระทรวงกระทรวงมหาดไทย แก้ไขระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2566 ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่ใช้วันที่ 12 ส.ค.2566 เปลี่ยนคุณสมบัติผู้รับเงินเบี้ยยังชีพ จากไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เปลี่ยนเป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) กำหนดเป็นการตีกรอบว่า “คุณสมบัติคนที่ควรได้รับเบี้ยผู้สูงอายุ” ในอนาคตที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ มีประชากรอายุมากกว่า 60 ปี กว่า 12.9 ล้านคน หรือ 20 % จากประชากรทั้งหมดอีกไม่เกิน 15 ปีข้างหน้าจะกลายเป็น “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” (super aged society) มีประชากรอายุมากกว่า 60 ปีสูงถึง 28 % ของประชากรทั้งหมด
จากปัจจุบันที่มีอัตราการจ่ายเบี้ยยังชีพสำหรับผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปคนละ 600-1,000 บาทต่อเดือน โดยในปีงบประมาณ 2563 ใช้งบประมาณ 56,462 ล้านบาท จ่ายให้ผู้สูงอายุ 9.96 ล้านคน ,ปีงบประมาณ 2564 ใช้งบประมาณ 79,300 ล้านบาท จ่ายให้ผู้สูงอายุ 10.4 ล้านคน ส่วนปีงบประมาณ 2565 ใช้งบประมาณ 82,341 ล้านบาท จ่ายให้ผู้สูงอายุ 10.9 ล้านคน ขณะที่ปีงบประมาณ 2566 เบิกจ่ายถึงเดือน ก.ค.2566 รวม 71,057 ล้านบาท จ่ายให้ผู้สูงอายุ 11.2 ล้านคน โดยมีการประเมินว่าในปีงบประมาณ 2566 จะมีการใช้งบประมาณรวม 86,000 ล้านบาท ซึ่งอีกไม่เกิน 15 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะกลายเป็น “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” (super aged society) มีประชากรอายุมากกว่า 60 ปีสูงถึง 28 % ของประชากรทั้งหมด จึงจำเป็นต้องหารูปแบบที่เหมาะสมในการจ่ายสวัสดิการให้ผู้สูงอายุ
มีการคำนวณว่าผู้สูงอายุที่แสดงสิทธิ 11 ล้านคน รัฐบาลต้องจ่าย “เบี้ยผู้สูงอายุ” อยู่ 89,000 ล้านบาท นั้นมีคนที่จนจริงเพียง 4 ล้านคน ดังนั้นนโยบายที่เป็นสวัสดิการถ้วนหน้านั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่จะต้องมีวิธีการและรูปแบบที่เหมาะสม ทำอย่างไรให้คนที่จนจริงๆได้รับการดูแลอย่างสมควรที่จะต้องได้รับและไม่ตกหล่นไปจากระบบ ไม่ซ้ำซ้อนจากนโยบายที่รัฐบาลประกาศไว้และไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญได้ ที่สำคัญต้องไม่สร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม ไม่ซ้ำซ้อนกับสิทธิสวัสดิการอื่นๆ
เป็นการบ้านข้อที่ยากของรัฐบาลใหม่จะต้องมาพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสมว่าจะดำเนินการอย่างไร ระหว่างการทำตามนโยบายที่ประกาศไว้ ด้วยการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้าคนละ 3,000 บาท หรือจ่ายถ้วนหน้า 1,000 บาทตามที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เสนอไว้ พร้อมกับทำตามรูปแบบ Targeting คัดเลือกกลุ่มเป้าหมายให้ถูกต้องเหมาะสม หรือจะใช้แบบผสม และอีกรูปแบบหนึ่งคือจ่ายแบบถ้วนหน้า 1,000 บาท และเพิ่มให้ส่วนผู้ยากจนตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติกำหนดไว้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือกลุ่มคนที่ทั้งสูงวัยและยากจน แต่ที่สำคัญต้องเป็นธรรม เหมาะสมและไม่เป็นภาระงบประมาณ