'มะเร็งเต้านม'ค้นหาเจอระยะ 0 เพิ่มโอกาสการรักษา

'มะเร็งเต้านม'ค้นหาเจอระยะ 0  เพิ่มโอกาสการรักษา

ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ทั่วโลกประมาณ 2.3 ล้านคน เสียชีวิตราว 685,000 คนต่อปี ส่วนในประเทศไทย ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขปี 2565 พบว่าหญิงไทยเป็นมะเร็งเต้านมมากที่สุด จำนวน 38,559 คน

Keypoint:

  • 'มะเร็งเต้านม' มะเร็งอันดับ 1 ที่คร่าชีวิตผู้หญิง แต่หากตรวจพบเจอตั้งแต่ระยะ 0 หรือระยะที่ยังไม่ลุกลาม สามารถรักษาได้ทัน
  • ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม มีความจำเป็นอย่างมาก ซึ่งสามารถตรวจได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เพราะโรคมะเร็งเต้านม ไม่ใช่เกิดเฉพาะผู้หญิง ผู้ชายก็เป็นมะเร็งเต้านมได้
  • ศึกษาป้องกัน-ค้นหา-ฟื้นฟู ครบทุกมิติเรื่อง ‘มะเร็งเต้านม’ ได้ในงาน มหกรรมHealth & Wealth Expo 2023 ตั้งแต่ 9 – 12 พ.ย. นี้

โดยผู้หญิงไทยที่พบมะเร็งเต้านม ส่วนมากอายุ 60 ปีขึ้นไป มากที่สุดจำนวน 19,776 คน รองลงมา คือ อายุ 50-59 ปี จำนวน 12,181 คน และอายุ 40-49 ปี จำนวน 5,177 คน คาดการณ์ว่าในปี 2566 จะพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ราว 22,000 คนต่อปี 

สถิติจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ พบว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ประมาณ 17,000 รายต่อปี เสียชีวิตประมาณ 4,800 รายต่อปี ส่วนมะเร็งปากมดลูก มีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 5,400 รายต่อปี เสียชีวิต 2,200 รายต่อปี ซึ่งสาเหตุที่มะเร็งปากมดลูกมีอัตราตายสูงมาก เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่มาหาหมอเมื่อมีอาการป่วยแล้ว ซึ่งเป็นระยะที่ 3 หรือ 4 ดังนั้น ปัญหาคือมาหาหมอช้า ทำให้อัตราตายสูง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

รู้ได้อย่างไร....ว่าเป็น 'มะเร็งเต้านม' รู้ทันความเสี่ยง รักษาเร็ว

สปสช. แจง ตรวจยีนมะเร็งเต้านม ในผู้ป่วยเสี่ยงสูง ครอบคลุมทุกสิทธิการรักษา

 

พบอาการตั้งแต่เริ่มแรก มีโอกาสรักษาทันเวลา

กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดเรื่องมะเร็งครบวงจร เป็นหนึ่งในนโยบายการดำเนินงานปี 2567 ครอบคลุมทั้งด้านการส่งเสริม การป้องกัน การคัดกรอง การวินิจฉัยและรักษา ตลอดจนการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง รวมทั้ง ยังพัฒนาระบบบริการสุขภาพสาขามะเร็ง ให้ครอบคลุมประชาชนในทุกเขตสุขภาพมีการดูแลรักษาส่งต่ออย่างเป็นระบบ และเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ตามสิทธิ หรือ  มะเร็งรักษาได้ทุกที่ (Cancer Anywhere) เพื่อลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากโรคมะเร็งของประชาชน

โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติเพิ่ม ‘บริการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม BRCA1/BRCA2’เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มอบให้กับคนไทยอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ที่เป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูง และญาติสายตรงที่มีประวัติครอบครัวตรวจพบยีนกลายพันธุ์

\'มะเร็งเต้านม\'ค้นหาเจอระยะ 0  เพิ่มโอกาสการรักษา

รศ.นพ.ประกาศิต จิรัปปภาแพทย์ที่ปรึกษา  ศูนย์โรคเต้านม Breast Care Center โรงพยาบาลไทยนครินทร์  กล่าวว่าหากพบอาการหรือสิ่งผิดปกติตั้งแต่เริ่มแรก หรือ ในระยะที่ยังไม่ลุกลามซึ่งทางการแพทย์เรียกว่า carcinoma in situ จะเรียกมะเร็งเต้านมในระยะนี้ว่าเป็นมะเร็งเต้านมระยะที่ 0 มีโอกาสรักษาทันเวลา และอาจช่วยให้ลดการลุกลามไปสู่ระยะของมะเร็งเต้านมที่ร้ายแรง  ซึ่งสามารถตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยดิจิตอลแมมโมแกรม, อัลตราซาวนด์เต้านม ,คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ,ตรวจวินิจฉัยและตรวจชิ้นเนื้อ กรณีตรวจพบความผิดปกติ จะมีระบบอ่านผลชิ้นเนื้อโดยพยาธิแพทย์ใน 24 ชั่วโมง 

 

ป้องกัน-ค้นหา-ฟื้นฟู ครบทุกมิติเรื่อง ‘มะเร็งเต้านม’

สำหรับการรักษามะเร็งเต้านมด้วยการผ่าตัดเป็นเทคนิคการผสมผสานการผ่าตัดมะเร็งเต้านมกับการทำศัลยกรรมตกแต่งเข้าด้วยกัน โดยคงความสวยงามของเต้านมได้ใกล้เคียงเดิม เช่นการผ่าตัดแบบสงวนเต้านม ผ่าตัดเต้านมทั้งหมด จะมีการสร้างเต้านมด้วยถุงเต้านมเทียม หรือเนื้อเยื่อของตนเอง ตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย

นอกจากนี้ยังมีการรักษาเสริมด้วยการให้ยา เคมีบำบัด ยาภูมิคุ้มกันบำบัด ยาต้านฮอร์โมน ยาพุ่งเป้า และการรักษาด้วยการฉายแสง เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง ระยะของโรค ตัวรับฮอร์โมน อายุและชนิดของการผ่าตัด นอกจากนี้การเลือกการรักษายังต้องพิจารณาข้อดีข้อเสียของแต่ละวิธี ผลข้างเคียงของการรักษา โรคประจำตัวของผู้ป่วย และความต้องการของผู้ป่วยร่วมด้วย

ผู้ที่สนใจ ป้องกัน-ค้นหา-ฟื้นฟู ครบทุกมิติเรื่อง ‘มะเร็งเต้านม’ สามารถเข้าร่วมงานสัมมนา BREAST CANCER CONTINUUM OF CARE กับ รศ.นพ.ประกาศิต จิรัปปภาแพทย์ ที่ปรึกษาศูนย์โรคเต้านม โรงพยาบาลไทยนครินทร์ และ พญ.พุทธิพร เนาวะเศษศัลยศาสตร์ทั่วไปและศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลไทยนครินทร์ วันที่ 11 พย.เวลา 15.30 – 16.00 น. ในงาน มหกรรมHealth & Wealth Expo 2023 ภายใต้แนวคิด The Journey of life จัดโดย เนชั่น กรุ๊ป ระหว่างวันที่ 9 – 12 พ.ย. 2566 เวลา 11.00 – 20.00 น. ที่ Hall 5 – 6 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว จะปาฐกถาพิเศษ Road Map to Thailand Medical Hub ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ และเป็นประธานเปิดงานในวันแรกด้วย

ภายในงานจะมีการให้บริการตรวจ Genetic Testing Laboratory หรือตรวจยีนผ่านพันธุกรรม จากบริษัท เอ็มพี กรุ๊ป ( ประเทศไทย) จำกัดในรูปแบบ Personalized Precision Medicine ที่เรียกว่า สแกนกรรม ตรวจหายีนมะเร็งเต้านม BRCA1 และ BRCA2 เมื่อตรวจเจอสามารถวินิจฉัยได้ว่า 70-80 % สามารถพัฒนาเป็นมะเร็งได้หรือไม่ เพื่อนำไปสู่การรักษาในอนาคตได้เร็วขึ้น