ผมร่วงเป็นหย่อม สูญเสียความมั่นใจ ภาวะใกล้ตัวที่รักษาได้
ผมร่วงเป็นหย่อม วงกลม วงรี ไม่มีอาการ เกิดจากอะไร ทำความเข้าใจ โรคผมร่วงเป็นหย่อม การอักเสบของร่างกายแบบหนึ่ง ที่เกิดได้ทุกเพศทุกวัย ทั้งหญิงและชาย สามารถลุกลามจากวงเล็กไปเป็นวงใหญ่ ไปจนถึงค่อยๆ ร่วงหมดศีรษะ และเกิดได้กับบริเวณอื่น เช่น คิ้ว ขนตา หนวด ได้ด้วย
Key Point :
- โรคผมร่วงเป็นหย่อม เกิดจากการอักเสบของหนังศีรษะ ซึ่งทำให้เกิดอาการผมร่วงเป็นวงเฉพาะที่ ขอบเขตชัดเจน ทั้งวงกลมและวงรี
- จุดสังเกตที่ต่างจากเชื้อราบนศีรษะ คือ ไม่มีขุย ไม่มีอาการ บริเวณที่ร่วงจะเรียบเนียน และสามารถลุกลามไปยังขนตา ขนคิ้ว และหนวดได้
- การรักษาโรคผมร่วงเป็นหย่อมมีทั้งการใช้ยาทา ยาฉีด ยารับประทาน และยากดภูมิ ซึ่งหากพบความผิดปกติ ควรรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
โรคผมร่วงเป็นหย่อม มีลักษณะการร่วงของเส้นผมเป็นวงกลมวงเดียวหรือหลายวง พบได้ทั้งเพศหญิงและเพศชาย พบมากในวัย 20-40 ปี สาเหตุเกิดจากความแปรปรวนของภูมิคุ้มกัน ไปทำลายรากผลไม่หยุดการเจริญของเส้นผม โดยไม่มีการอักเสบ
ปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคนี้ คือ พันธุกรรม ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ แต่คนส่วนมาก มักเกิดจากการติดเชื้อหรือการอักเสบของหนังศีรษะ อีกทั้งอาการผมร่วงเป็นหย่อมๆ สามารถลุกลามจากวงเล็กไปเป็นวงใหญ่ และจะค่อยๆ ร่วงจนหมดศีรษะ และอาจมีผลต่อการร่วงของขนคิ้ว ขนตา หนวดเคราได้ด้วยไม่ว่าจะในผู้หญิงหรือผู้ชาย
อ.พญ.สัญชวัล วิทยากรฤกษ์ ภาควิชาเวชศาสตร์ผู้ป่วยนอกเด็กและวัยรุ่นภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในรายการ ลัดคิวหมอรามาฯ โดยอธิบายว่า โรคผมร่วงเป็นหย่อม เป็นการอักเสบของร่างกายแบบหนึ่ง เนื่องจากบริเวณรากผมของเราจะไม่มีเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เอาไว้จัดการกับเชื้อโรค แต่เกิดการแปรปรวนของร่างกายทำให้เม็ดเลือดขาวไปอยู่บริเวณรากผม และคิดว่ารากผมเป็นสิ่งแปลกปลอม ส่งผลให้เกิดผมร่วง จัดเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเองแบบหนึ่ง เกิดได้ทุกเพศทุกวัย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 'ผมร่วง'แบบไหน? ผิดปกติ สัญญาณเตือนส่อเกิดโรค
- 'ผมร่วง' กับ 'วัยทำงาน' ปัญหาหนักใจ แพทย์ญี่ปุ่นชี้ สระผมถูกวิธีลดผมร่วงได้
- "ผมบาง ผมร่วง" รักษาได้ + "13 อาหารบำรุงเส้นผม"
สาเหตุ
สาเหตุของโรคผมร่วงเป็นหย่อม เกิดจากความผิดปกติของร่างกาย ซึ่งปัจจัยเสี่ยง คือ ประวัติครอบครัวที่มีคนเคยเป็นผมร่วง , เด็กที่อายุน้อยหรือมีโรคบางอย่าง เช่น ดาวน์ซินโดรม ก็จะเจอโรคผมร่วงเป็นหย่อมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การสูบบุหรี่ยังไม่พบว่าเป็นปัจจัยทำให้เป็นโรคนี้มากขึ้น
กลุ่มเสี่ยง ได้แก่
- พบได้ทั้งชายและหญิง
- โรคภูมิแพ้
- พบมากในวัย 20-40 ปี
- โรคไทรอยด์บางชนิด
- ผู้ที่มีประวัติผมร่วงในครอบครัว
อาการ
- ผมร่วงเฉพาะที่ ขอบเขตชัดเจน
- ขนร่วงบริเวณอื่นร่วมด้วย
- บริเวณที่ร่วงมีลักษณะกลมหรือรี
“ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ไม่มีขุยที่ผิว ผิวหนังจะเรียบเนียนแต่ความจริงยังมีรูขุมขนอยู่ ต่างจากเชื้อราที่ผมจะหลุดแบบหักเป็นตอๆ ดำๆ เห็นหนังศีรษะแดง มีขุยซึ่งพบมากในเด็ก ทั้งนี้ โรคผมร่วงเป็นหย่อม รักษาแล้วยังมีโอกาสเป็นซ้ำได้”
วิธีการรักษา
- ลดการอักเสบ ตั้งแต่ยาทากลุ่มสเตียรอยด์ ทำให้เม็ดเลือดขาวหายไป
- หากลุกลามจะใช้วิธีการฉีดสเตียรอยด์บริเวณรอยต่อขอบที่มีผม เพื่อให้หยุดการลุกลาม โดยในเด็กจะไม่ค่อยทำ ส่วนใหญ่ทำกับเด็กมากกว่า 8 ขวบ
- หากฉีดยาไม่ได้ผล ใช้ยากดภูมิหรือปรับระบบภูมิคุ้มกันเป็นยาทาน
- ฉายแสงอาทิตย์เทียมหรือการเลเซอร์
สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้
อ.พญ.สัญชวัล อธิบายต่อไปว่า ระยะเวลาของการรักษาอยู่ที่คนไข้ หากเป็นบริเวณกว้าง หรือ เป็นที่หลังคอจะรักษายาก หรือในคนที่ผมร่วง ขนคิ้ว ขนตา รักแร้ก็สามารถร่วงได้ เป็นโรคเดียวกันแต่รุนแรงกว่า อาจจะต้องใช้ยากดภูมิจึงจะได้ผลดี โดยปกติหากทายาหรือฉีดยา ประมาณ 1 เดือนหากได้ผลจะหยุดลาม บริเวณที่ผมร่วงจะเริ่มมีผมอ่อนๆ ขึ้นมา แรกๆ จะเป็นผมสีขาวคล้ายผมหงอกและหลังจากนั้นจะเริ่มมีสี และอาจจะเส้นเล็กว่าปกติ แต่จะเริ่มพัฒนาเป็นผมปกติต่อไป
อย่างไรก็ตาม ยังสามารถกลับมาเป็นใหม่ได้ หรือจุดเดิมรักษากำลังจะดี ก็พบหย่อมใหม่ได้เช่นกัน อีกทั้ง มีปัจจัยอื่นๆ คือ เบาหวานชนิดที่ 1 หรือ เป็นไทรอยด์อักเสบ ที่จะเจอโรคผมร่วงเป็นหย่อมๆ บางคนเป็นครบ คือ ผมร่วง เบาหวาน ไทรอยด์ ด่างขาว เป็นโรคที่เจอร่วมกันได้
ดูแลตัวเองอย่างไร
ท้ายนี้ อ.พญ.สัญชวัล แนะนำว่า หากเริ่มรักษาตั้งแต่ยังร่วงน้อยๆ จะได้ผลการรักษาที่ดีกว่า หากเคยเป็นแล้ว อาจจะต้องคอยสำรวจหนังศีรษะตัวเอง โดยผู้ชายอาจจะไม่ยากเท่าผู้หญิงเพราะผมสั้นกว่า แต่ผู้หญิงบางทีก็ไม่ได้สังเกตขนาดนั้น ดังนั้น ส่วนใหญ่ผู้หญิงที่มาจะเป็นวงใหญ่ 2-3 เซนติเมตร เนื่องจากไม่มีอาการ ต้องหมั่นสังเกตตัวเอง