วิจัยเผย ‘วาซาบิ’ อาจช่วย ‘ผู้สูงอายุ’ ให้ความจำดีขึ้นได้
“วาซาบิ” ไม่ได้เป็นแค่เครื่องปรุงรสชาติจัดจ้านอีกต่อไป เพราะล่าสุดมีผลการวิจัยออกมาว่า มันสามารถช่วยป้องกัน “ภาวะสมองเสื่อม” ในผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปได้อีกด้วย
Key Points:
- “วาซาบิ” เครื่องปรุงรสยอดนิยมจากญี่ปุ่น ที่ไม่ได้โดดเด่นแค่รสชาติจัดจ้าน แต่ยังมีสรรพคุณทางยาอีกด้วย เช่น ต่อต้านสารก่อมะเร็ง ป้องกันเส้นเลือดอุดตัน และป้องกันฟันผุ
- นอกจากนี้ งานวิจัยล่าสุดยังพบว่า “6-MSITC” ในวาซาบิ ส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการรับรู้ด้านความทรงจำของผู้สูงอายุได้
- แม้ผลวิจัยจะพบว่า “6-MSITC” ใน “วาซาบิ” ส่งผลดีต่อความทรงจำของผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีทั่วไป แต่ยังไม่ได้ทดลองกับผู้สูงอายุที่มี “ภาวะสมองเสื่อม”
ปัญหาใหญ่ทางสุขภาพที่ผู้สูงอายุหลายคนต้องเผชิญก็คือ “สมองเสื่อม” โดยเฉพาะในกลุ่มที่อายุมากกว่า 60 ปี เพราะเมื่อเริ่มเข้าสู้วัย “ผู้สูงอายุ” เซลล์สมองจะค่อยๆ เสื่อมลง แล้วก็ทยอยตายไปในที่สุด และไม่มีเซลล์สมองเกิดใหม่มาทดแทน ทำให้สมองส่วนหน้าที่ดูแลเรื่อง “ความทรงจำ” เริ่มเสียหาย จนเกิดปัญหาด้านความจำและนำไปสู่โรคที่เกี่ยวข้องกับภาวะสมองเสื่อม ไปจนถึงสูญเสียความสามารถในการประกอบอาชีพ การเข้าสังคม การปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และความสามารถในการช่วยเหลือตนเอง ในกรณีรุนแรงบางคนอาจจะจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าตัวเองเป็นใคร
“ภาวะสมองเสื่อม” เกิดได้จากหลายปัจจัย โดยข้อบ่งชี้หลักๆ ในเบื้องต้นที่ทำให้พบภาวะดังกล่าวใน “ผู้สูงอายุ” ก็คือ โรคอัลไซเมอร์ และ โรคหลอดเลือดสมองมีความผิดปกติ ซึ่งข้อมูลจากโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ระบุว่า ปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แท้จริงในการเกิดภาวะสมองเสื่อม ดังนั้นควรเริ่มต้นด้วยการป้องกันไว้ก่อน
ที่ผ่านมาการป้องกันภาวะสมองเสื่อมมีหลายวิธีด้วยกัน โดยหนึ่งในวิธีที่อาจจะได้ผลดีก็คือ การกินวาซาบิเป็นประจำ เนื่องจากล่าสุดมีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients พบว่า “วาซาบิ” สามารถช่วยให้ผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป มี “ความจำ” ที่ดีขึ้นได้
- “วาซาบิ” เครื่องปรุงที่ไม่ได้มีดีแค่รสชาติสุดจี๊ด
“วาซาบิ” เป็นเครื่องปรุงรสเผ็ดซ่าสัญชาติญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะการนำไปรับประทานร่วมกับ “ซูชิ” หรือ “ซาชิมิ” ด้วยรสชาติเผ็ดแบบ “ขึ้นจมูก” อันเป็นเอกลักษณ์ที่เมื่อทานเพียงเล็กน้อยจะช่วยเสริมรสชาติอาหารได้ดี แต่หากรับประทานมากเกินไปก็ถึงขั้นน้ำตาร่วงกันเลยทีเดียว
ความจริงแล้ววาซาบิเป็นที่นิยมของชาวญี่ปุ่นมานานกว่าพันปีและถือเป็น “สมุนไพร” ท้องถิ่นชนิดหนึ่ง เมื่อนำส่วนลำต้นสดๆ มาขูดละเอียด ก็จะได้เนื้อวาซาบิออกมาใช้เป็นเครื่องปรุงที่ดับกลิ่นคาวได้ดี ช่วยเสริมให้อาหารมีรสชาติกลมกล่อมมากขึ้น รวมถึงให้ความสดชื่นอีกด้วย
ไม่ใช่แค่เพิ่มความอร่อยให้อาหาร แต่วาซาบิยังมีสรรพคุณทางยาที่เป็นประโยชน์อีกด้วย เช่น ต่อต้านสารก่อมะเร็ง ป้องกันเส้นเลือดอุดตัน และป้องกันฟันผุ เป็นต้น
อีกหนึ่งประโยชน์ของ “วาซาบิ” ที่น่าสนใจและถูกค้นพบไม่นานมานี้ก็คือ ช่วยปรับปรุงกระบวนการรับรู้บางอย่างสำหรับผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการส่งเสริมความจำของ “ผู้สูงอายุ” ให้ดีขึ้น
- สาร 6-MSITC ในวาซาบิ ช่วยป้องกันการเสื่อมของเซลล์ได้
ข้อมูลจาก Sciencealert อธิบายว่า ในวาซาบิมีสารเคมีสำคัญที่ชื่อว่า 6-MSITC, 6 methylsulfinyl hexyl isothiocyanate (6 เมทิลซัลฟินิล เฮกซิล ไอโซไทโอไซยาเนต) ซึ่งเป็นสารประกอบที่ออกฤทธิ์ทางชีวภาพ เชื่อมโยงกับสารต้านอนุมูลอิสระกับฤทธิ์ต้านการอักเสบ ทำให้สามารถชะลอความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับเซลล์ต่างๆ ของร่างกายได้
ทีมวิจัยทำการทดลองกับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป รวมทั้งหมด 72 คนเป็นเวลา 12 สัปดาห์ ซึ่งกลุ่มตัวอย่างจะถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกจะได้รับประทานวาซาบิแบบเม็ดวันละหนึ่งครั้ง ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งจะได้รับประทานยาหลอก (เช่น ยาเม็ดน้ำตาล เพื่อใช้ในการทดลองทางการแพทย์)
จากผลการศึกษาพบว่ากลุ่มที่รับประทานวาซาบิแบบเม็ด แสดงให้เห็นว่ามีความทรงจำที่ดีขึ้น เช่น การนึกถึงเหตุการณ์ในอดีต และความทรงจำในการทำงาน รวมถึงสามารถประมวลผลข้อมูลได้เร็วขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่รับประทานยาหลอก
ทั้งนี้แม้ว่าผลการวิจัยจะชี้ให้เห็นว่า สารสำคัญ “6-MSITC” ใน “วาซาบิ” จะส่งผลดีต่อการรับรู้ด้านความทรงจำของผู้สูงอายุทั่วไปได้จริง แต่ก็ยังไม่ได้ทดลองกับผู้สูงอายุที่มี “ภาวะสมองเสื่อม” แต่ทีมวิจัยก็เชื่อว่า สารต้านอนุมูลอิสระกับฤทธิ์ต้านการอักเสบในวาซาบินั้น มีบทบาทสำคัญต่อประสิทธิภาพการรับรู้ในผู้สูงอายุ
ในอนาคตอันใกล้นี้ “วาซาบิ” อาจกลายเป็นตัวช่วยสำคัญในการลดปัญหาที่เกิดจากภาวะสมองเสื่อม โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ แต่ถ้าใครอยากป้องกันไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ การรับประทานวาซาบิในปริมาณที่เหมาะสมก็อาจช่วยได้
อ้างอิงข้อมูล : Sciencealert, Nutrients, Taste of Home, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์, โรงพยาบาลนครธน และ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ