จริงๆ แล้ว...มันเย็นขึ้น | วรากรณ์ สามโกเศศ

จริงๆ แล้ว...มันเย็นขึ้น | วรากรณ์ สามโกเศศ

จริงๆ ครับ มันเย็นขึ้นและผมมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน แต่สิ่งที่เย็นขึ้นนี้มิใช่อุณหภูมิของโลกอันเกิดจากวิกฤติภูมิอากาศ หากเป็นอุณหภูมิของร่างกายมนุษย์

ความจริงในเรื่องนี้มีนัยสำคัญต่อชีวิต ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของประเทศและค่ารักษาพยาบาลส่วนตัว อุณหภูมิร่างกายเราที่ 98.6 องศาฟาเรนไฮต์ (37 องศาเซลเซียส) ถูกใช้เป็นมาตรฐานในการวินิจฉัยความเจ็บป่วยมายาวนาน

ตัวเลขนี้มาจากแพทย์ชาวเยอรมัน ชื่อ Carl Wunderlich ผู้ทำการศึกษาวัดอุณหภูมิร่างกายคนกว่า 1 ล้านครั้ง จาก 25,000 คน เมื่อกว่า 150 ปีก่อน และพบว่าอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 97.2 ถึง 99.5 (อุณหภูมิเฉลี่ยคือ 98.6) และใช้ตัวเลข 100.4 เป็นตัวชี้ว่า “น่าจะมีไข้

ตลอดเวลาอันยาวนานเราใช้ตัวเลขนี้เป็นข้อมูลตัดสินความเจ็บป่วยดังที่เราประสบกันในช่วงโควิด-19 ระบาด อย่างไรก็ดี ในเดือน ก.ย. 2566 มีงานศึกษาอีกชิ้นนำโดย Julie Parsonnet ศาสตราจารย์ทางการแพทย์ระบาดวิทยาและสุขภาพประชากร ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด วัดอุณหภูมิของร่างกาย 126,000 คน ในช่วงปี 2551-2560

พบว่า ตัวเลขเฉลี่ยของอุณหภูมิร่างกายมนุษย์อยู่ประมาณ 97.9 ซึ่งต่ำกว่า 98.6 ตัวเลขมาตรฐานเดิม แสดงว่าอุณหภูมิร่างกายของเราเย็นขึ้น งานศึกษาชิ้นนี้สนับสนุนอีกหลายงานศึกษาสมัยใหม่ที่ได้ข้อสรุปตัวเลขใกล้เคียงกัน

อะไรกัน เพียงแค่ 150 ปี อุณหภูมิร่างกายมนุษย์เปลี่ยนแปลงได้ขนาดนี้เชียวหรือ? ผู้เชี่ยวชาญพยายามให้คำตอบโดยสรุปได้ดังนี้

(1) อุณหภูมิอาจมิได้เปลี่ยนแปลง แต่วิธีการวัดและเครื่องมือแตกต่างกัน จึงให้ตัวเลขที่แตกต่างกัน เช่น มีรายงานว่า Dr.Wunderlich ใช้เทอร์โมมิเตอร์ชนิดยาวหนึ่งฟุตวัดใต้รักแร้ แต่ปัจจุบันใช้หลายวิธีวัด เช่น วัดใต้ลิ้น วัดอุณหภูมิจากช่องหู ฯลฯ

(2) หลายปัจจัยมีผลต่ออุณหภูมิร่างกาย เรื่องสำคัญคือวัดที่ส่วนใดของร่างกาย เช่น เป็นที่รู้กันว่าการวัดจากทวารหนักจะได้อุณหภูมิที่สูงกว่าวัดจากช่องปาก และจะสูงกว่าการวัดจากผิวสัมผัส (รักแร้) เป็นต้น 

นอกจากนี้ อุณหภูมิร่างกายยังถูกกระทบโดยปัจจัยอื่นๆ อีก เช่น เวลาของการวัด อากาศโดยรอบร้อนหรือหนาว ผู้ถูกวัดบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มมาก่อนหรือไม่ และอุปกรณ์เครื่องมือของการวัดก็มีผลต่ออุณหภูมิที่วัดได้เช่นกัน

(3) การเปรียบเทียบอุณหภูมิที่ได้จากการวัดในอดีตจนสามารถสร้างตัวเลขมาตรฐานขึ้นได้กับการวัดในสมัยปัจจุบัน จึงเป็นเรื่องปวดหัวที่หาข้อสรุปได้ไม่ง่ายเลย

(4) อุณหภูมิของร่างกายมนุษย์อาจเย็นขึ้นจริง อาจเป็นเพราะเรามีสุขภาพดีกว่าเมื่อ 150 ปีก่อน กล่าวคือเมื่อก่อนร่างกายมีการอักเสบโดยเฉลี่ยมากกว่า จนทำให้อุณหภูมิสูงกว่าตอนปัจจุบันที่ผู้คนได้รับการรักษาพยาบาลเรื่องการอักเสบในร่างกาย ดูแลสุขภาพช่องปากดีขึ้นและการใช้ยาลดการอักเสบอย่างมีประสิทธิภาพ

แต่ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตามที่ทำให้อุณหภูมิของร่างกายเย็นขึ้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ในปัจจุบันเห็นพ้องกันว่าไม่ควรใช้ตัวเลข 98.6 เป็นมาตรฐานสากลของโลกอีกต่อไป แต่แทนที่จะใช้ตัวเลขอื่นมาแทน ก็ควรใช้ “ช่วงอุณหภูมิ” ดีกว่าการใช้ตัวเลขโดดๆ ตัวเดียวเป็นเกณฑ์กลาง 

ทั้งนี้ เพราะการใช้ช่วงอุณหภูมิ (ภาษาวิชาการเรียกว่าพิสัย หรือ range) เหมาะสมกว่า เพราะรวมการแปรผันของอุณหภูมิอันเนื่องมาจากความแตกต่างกันของเพศและอายุเข้าไปด้วย (ผู้หญิงมีทางโน้มที่จะมีอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าชายเล็กน้อย และเมื่อมีอายุมากขึ้นในทั้งสองเพศมีทางโน้มที่อุณหภูมิจะลดต่ำลง) ยิ่งไปกว่านั้นอุณหภูมิร่างกายของทุกคนแกว่งขึ้นลงตลอดทั้งวัน โดยทั่วไปจะต่ำสุดในเวลาเช้า และสูงสุดในตอนบ่ายแก่ๆ

คำปรารภที่น่าสนใจก็คือ เมื่อวงการสาธารณสุขมีมาตรฐานอ้างอิงความเป็นปกติของร่างกาย โดยใช้ช่วงของอัตราการเต้นของหัวใจ อีกทั้งใช้ช่วงของระดับความดันของโลหิต แล้วทำไมจึงไม่ควรใช้ช่วงของอุณหภูมิของร่างกายแทนการใช้ตัวเลขเดียว

ปัจจุบันตัวเลขอุณหภูมิร่างกายร่วมกับความดันโลหิตถูกใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญทุกครั้งก่อนพบแพทย์ ดังนั้น ตัวเลขเกณฑ์ความเป็นปกติจึงเป็นข้อมูลสำคัญในการวินิจฉัยโรคและรักษา

U.S.Center for Disease Control and Prevention ระบุให้ 100.4 และสูงกว่านี้ให้ถือว่ามีไข้ (ประมาณ 2 องศาสูงกว่า 98.6) หากอุณหภูมิของร่างกายเราลดต่ำลง ก็หมายความว่าตัวเลขนี้ก็จำต้องต่ำลงเช่นเดียวกันหรือไม่

วงการแพทย์ส่วนหนึ่งเห็นว่า การตัดสินว่ามีไข้หรือมีความผิดปกติควรเปรียบเทียบกับข้อมูลอุณหภูมิร่างกายพื้นฐานของบุคคลนั้นเอง (อุณหภูมิ baseline) เพื่อว่าการมีไข้จะไม่หลุดรอดไปได้

เช่น กรณีที่เคยมีผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อมาเป็นเดือนๆ แต่ก็ตรวจไม่พบ เพราะอุณหภูมิ 98.6 ของเธอที่ตรวจได้นั้นถือว่าปกติ แต่สำหรับเธอผู้มีธรรมชาติของอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่า 98.6 แล้ว กรณีนี้จริงๆ แล้วมีไข้อย่างผิดปกติ 

อย่างไรก็ดี วิธีการพิจารณาโดยเปรียบเทียบกับข้อมูลของตนเองนั้นไม่สามารถปฏิบัติได้จริง เมื่อคำนึงภาระงานของบุคลากรแพทย์

ดังนั้น วิธีที่เหมาะสมคือการถือว่าอุณหภูมิร่างกายเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลในการวินิจฉัยโรค โดยไม่ควรกำหนดลงไปตายตัวว่าตัวเลขใดโดดๆ เป็นเกณฑ์

เมื่อความจริงเป็นว่าร่างกายเราเย็นลงคือ ต่ำกว่า 98.6 โดยตัวเลขใหม่คือ 97.9 และควรคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้แปรผันได้ ดังนั้น จึงควรใช้ช่วงองศาเป็นตัวกำหนดความเป็นปกติของร่างกายแทนที่จะใช้ตัวเลขเดียวดังที่เคยเป็นมา

ข้อมูลใหม่นี้ชี้ว่า หากวัดปรอทแล้วได้ตัวเลขอุณหภูมิ 98.6 ก็อย่าได้ไว้ใจว่าเป็นปกติถึงแม้จะเป็นไปตามเกณฑ์เก่าก็ตามที เพราะตัวเลขใหม่คือ 97.9 และก็อย่ากังวลใจว่ามีอุณหภูมิสูงจนถือว่ามีไข้ด้วย สิ่งสำคัญก็คือการเอามือสัมผัสหน้าผาก ซอกคอและใต้รักเเร้ ว่าร้อนและรู้สึกไม่สบายตัวด้วยหรือไม่ เป็นข้อมูลประกอบ