‘ร้อนขึ้น’ ทำร้ายเศรษฐกิจ | วรากรณ์ สามโกเศศ
ท่านผู้อ่านรู้สึกเหมือนผมไหมครับว่า ฤดูร้อนที่ผ่านไปนี้ร้อนมากอย่างผิดไปจากปีที่ผ่านมา เท่าที่ได้ยินคนในยุโรป อเมริกา และทวีปอื่นๆ ก็รู้สึกเช่นเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าไม่ได้ร้อนขึ้นโดยบังเอิญปีเดียว แต่จะร้อนเช่นนี้ต่อไปและอาจร้อนขึ้นอีกด้วย
ใช่ครับ “ร้อนขึ้น” เช่นนี้เป็นผลพวงจากภาวะเรือนกระจก (Green House Effects) ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือวิกฤติภาวะอากาศ (Climate Change ปัจจุบันเรียกกันว่า Climate Crisis เพราะมันเป็นวิกฤติไปแล้ว)
โลกเรามีอุณหภูมิที่อยู่อาศัยได้ก็เพราะความร้อนจากดวงอาทิตย์ ที่ส่งลงมาบนพื้นผิวโลกและกลไกของก๊าซเรือนกระจก หรือ Green House Gases อันได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ ละอองน้ำ ฯลฯ ซึ่งทำงานโดยลอยตัวขึ้นไปทำหน้าที่กักเก็บความร้อนไว้บนผิวโลกและดูดซับความร้อนส่งกลับออกไป
กลไกนี้เป็นมาเป็นล้านๆ ปีแล้ว ทำให้ผิวโลกมีอุณหภูมิที่สิ่งมีชีวิตอยู่อาศัยได้ แต่เมื่อชาวโลกเผาไหม้สิ่งต่างๆ โดยเฉพาะถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซกันมากขึ้น
อีกทั้งอยู่อาศัยกันมากขึ้นก็ตัดป่าตัดต้นไม้ จึงมีก๊าซเรือนกระจกลอยขึ้นไปในชั้นบรรยากาศเข้มข้นมากขึ้นในรอบ 200 กว่าปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีปฏิวัติอุตสาหกรรม
ก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้จึงเก็บความร้อนไม่ให้ออกไปจากผิวโลกมากขึ้นทุกที ผลก็คืออุณหภูมิบนผิวโลกสูงขึ้น ซึ่งก็คือภาวะเรือนกระจกจนทำให้เกิดวิกฤติภาวะอากาศ
เรือนกระจก หมายถึง เรือนปลูกต้นไม้ที่ปิดสนิทด้วยกระจกหรือแผ่นพลาสติก เพื่อควบคุมอุณหภูมิในเรือนที่ตั้งอยู่ในประเทศที่มีอากาศหนาวเย็น ความร้อนที่เกิดขึ้นภายในเรือนกระจกทำให้ต้นไม้อยู่รอดและเติบโตได้
ก๊าซต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการปลูกต้นไม้ไหลเวียนอยู่ในเรือนทำให้เกิดความร้อน สภาวการณ์ “ร้อนขึ้น” ในโลกจึงคล้ายกับสภาวะของเรือนกระจกนี้
เมื่อมนุษย์บริโภคกันอย่างเป็นจริงเป็นจัง โดยประชากรโลกเพิ่มขึ้นจาก 1,650 ล้านคนใน ค.ศ.1900 เป็น 8,000 ล้านคนในปัจจุบัน การผลิตสินค้าและบริการต่างๆ ที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกจากการเผาไหม้
อันได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์เป็นหลักจึงเกิดขึ้นอย่างมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการผลิตพลังงานไฟฟ้า ดังนั้น Climate Crisis จึงมีรากจากความต้องการบริโภคอันบันดาลให้เกิดการผลิตเพื่อตอบสนอง
ต้นไม้นั้นถึงแม้จะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเมื่อยาม “หายใจ” แต่ในยามที่เกิด photo synthesis หรือกระบวนการสังเคราะห์อาหารด้วยแสง ทำงานเมื่อใบกระทบแสงแดดและดูดคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้ ต้นไม้ก็จะปล่อยออกซิเจนออกมา ส่วนต่างๆ ของต้นไม้ ไม่ว่าลำต้น กิ่ง หรือราก ก็จะเก็บกักคาร์บอนไดออกไซด์สะสมไว้
เมื่อหักลบคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมากับที่ใช้ไปและกักเก็บไว้ ผลสุทธิก็คือคาร์บอนไดออกไซด์จะหายไปมากกว่าที่ปล่อยออกมา
ดังนั้น การปลูกต้นไม้จึงเป็นการช่วยภาวะโลกร้อนอย่างดี การตัดป่าตัดต้นไม้จึงเป็นการทำลายเครื่องมือทำลายก๊าซเรือนกระจกอย่างสำคัญ
นอกจากจะ “ร้อนขึ้น” แล้ว โลกยังประสบภัยต่างๆ อีกมากมาย จาก Climate Crisis เช่น ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเพราะอากาศที่ร้อนขึ้นไปละลายภูเขาน้ำแข็งที่ขั้วโลก ความร้อนช่วยขยายปริมาณน้ำทะเล (น้ำท่วม เมืองจมน้ำ ผู้คนอพยพ ตลิ่งและฝั่งพังทลาย) อากาศแปรปรวนและรุนแรงมากขึ้น
อีกทั้งพยากรณ์ได้ยากขึ้น วงจรของสิ่งมีชีวิตถูกกระทบจนส่งผลต่อความไม่แน่นอนของผลผลิตจากภาคเกษตรและกระทบต่อปริมาณอาหาร ฯลฯ
เฉพาะการ “ร้อนขึ้น” นั้นทำร้ายเศรษฐกิจในหลายด้านดังต่อไปนี้
(ก) การท่องเที่ยว ความร้อนกระทบการท่องเที่ยว เพราะเกี่ยวพันกับการต้องปรากฏตัวในที่แจ้งของนักท่องเที่ยว นอกจากนี้สถานที่ท่องเที่ยวทั้งสิ่งก่อสร้างและธรรมชาติจะเสื่อมสลายเร็วขึ้นก่อให้เกิดต้นทุนในการดูแลที่สูงขึ้น
(ข) อุตสาหกรรมก่อสร้าง “ร้อนขึ้น” ทำให้ผลิตภาพ (productivity) ของการทำงานลดลง การต้องทำงานกลางแจ้งของแรงงานก่อสร้าง ทำให้เจ็บป่วยและเสียชีวิตได้ง่ายขึ้น
(ค) อุตสาหกรรมโรงงาน สิ่งแวดล้อมและโรงงานร้อนอบอ้าวอย่างเลวร้ายยิ่งขึ้น เช่น โรงงานทอผ้า แปรรูปอาหาร ประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ผลิตภาพของแรงงานจะลดลง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยสูงขึ้น (จ่ายค่าจ้างต่อวันเท่าเดิม แต่ผลงานคือจำนวนชิ้นต่อวันลดลง)
(ง) โครงสร้างพื้นฐาน ถนน สะพาน รางรถไฟ สายไฟ หลังคาอาคารต่าง ๆ เช่น สนามบิน สถานีรถไฟ ฯลฯ เสื่อมสภาพเร็วขึ้น จำเป็นต้องดูแลบำรุงรักษาใกล้ชิดมากขึ้น และทำให้ต้นทุนสูงขึ้น อีกทั้งในช่วงก่อสร้างก็อาจไม่ได้ผลงานที่ดี เนื่องจากผลิตภาพที่ลดลงของแรงงาน อุปกรณ์ก่อสร้างเสื่อมสภาพและมีปริมาณน้ำที่ใช้ในการก่อสร้างน้อยลง
(จ) การเกษตร เป็นภาคที่น่าเป็นห่วงเพราะรับผลกระทบจาก “ร้อนขึ้น” ไปเต็มๆ ผลผลิตเกษตรที่น้อยลงมีผลต่อความมั่นคงด้านอาหาร อาจเกิดการขาดแคลนอาหารจนค่าครองชีพสูงขึ้น จนนำไปสู่ปัญหาความมั่นคงของสังคมได้
มีการศึกษาโดยนักวิชาการจาก Dartmouth College เมื่อปีที่แล้วว่าคลื่นความร้อนที่มาจาก Climate Crisis ทำร้ายเศรษฐกิจโลกทำให้ GDP โลกหายไปประมาณ 16 ล้านล้านดอลลาร์ (GDP โลกในปี 2022 เท่ากับ 103.86 ล้านล้านดอลลาร์) ในช่วงเวลา 21 ปี นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา
อย่ามองว่า “ร้อนขึ้น” เป็นปรากฏการณ์ระดับโลกทางภูมิศาสตร์ที่มนุษย์ทำอะไรกับมันไม่ได้ แต่แท้จริงแล้วมันเกิดขึ้นเพราะมือมนุษย์ (และอวัยวะส่วนอื่นด้วย) ถ้าเราบริโภคกันน้อยลงบ้าง ใช้สิ่งของต่างๆ เท่าที่จำเป็น อะไรที่ reduce reuse recycle ได้ก็ทำ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
อย่าลืมว่าเม็ดทรายแต่ละเม็ดรวมกันเป็นหาดทรายที่สวยงาม น้ำแต่ละหยดรวมกันเป็นมหาสมุทร ซึ่งเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติได้ หากแต่ละคนช่วยกันคนละเล็กคนละน้อยทั้ง 8,000 ล้านคน โลกเราก็จะน่าอยู่ขึ้น และรักษาให้ลูกหลานได้อยู่อาศัยกันต่อไป เหมือนบรรพชนของเราที่ได้ทำกันมา นับพันๆ ชั่วคนแล้ว