ภัยเงียบ 'มะเร็งเต้านม' อยากชนะต้องตรวจคัดกรอง
‘มะเร็งเต้านม (Breast cancer)’ ยังคงเป็นโรคร้ายที่เกิดขึ้นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย และสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงวัยทำงานที่มีอายุน้อย ตั้งแต่ 24 ปีขึ้นไป แถมช่วงแรกของการเป็น ‘มะเร็งเต้านม จะไม่แสดงอาการ
Keypoint:
- 'มะเร็งเต้านม' ในระยะแรกจะไม่แสดงอาการออกมาอย่างชัดเจน ต้องสังเกต สำรวจเต้านมของตัวเอง ซึ่งหากตรวจพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะ 0 หรือ ระยะที่ 1 สามารถรักษาให้หายขาด โดยไม่ต้องผ่าตัด หรือผ่าตัดเต้านม แบบการผ่าตัดสงวนเต้านม
- เกิดได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย 'มะเร็งเต้านม' ภัยเงียบ ที่ไม่ควรมองข้าม ตรวจคัดกรองเต้านม รู้ทันความเสี่ยง เพื่อรักษาได้เร็วขึ้น
- เช็กมะเร็งเต้านมฟรี ในงาน 'Health & Wealth Expo 2023':The Journey of Life จัดโดยเนชั่น ตั้งแต่วันนี้ -12 พฤศจิกายน 2566 เวลา 11.00-20.00 น. ณ Hall 5-6 ชั้น LG ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
'มะเร็งเต้านม' ถือเป็นปัญหาใหญ่สำคัญทางสุขภาพของผู้หญิง และเป็นปัญหาใหญ่ของทุกประเทศทั่วโลกอย่าง จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ทั่วโลกประมาณ 2.3 ล้านคน เสียชีวิตราว 685,000 คนต่อปี
ส่วนในประเทศไทย จากข้อมูลในปี 2563 ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีผู้หญิงไทยป่วยด้วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ราว 18,000 คนต่อปี และมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมราว 4,800 คน ทั้งยังมีแนวโน้มอัตราการเกิดโรคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2566 จะพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ราว 22,000 คนต่อปี
ปัจจัยหลักที่สำคัญอย่างหนึ่งคือเรื่องของอายุ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ส่วนปัจจัยเสี่ยงอย่างปัจจัยทางด้านพันธุกรรม ถ้าเรามีประวัติครอบครัวญาติโดยเฉพาะญาติฝ่ายตรงเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งรังไข่ โดยเฉพาะเป็นตอนอายุน้อย ๆ หรือว่าเป็นหลายคน เราควรต้องมีการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่เร็วขึ้น เพราะอาจมีพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งเต้านม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
'มะเร็งเต้านม'ค้นหาเจอระยะ 0 เพิ่มโอกาสการรักษา
รู้ได้อย่างไร....ว่าเป็น 'มะเร็งเต้านม' รู้ทันความเสี่ยง รักษาเร็ว
ปัจจัยเสี่ยงเกิด 'มะเร็งเต้านม'
งานมหกรรมงานแสดงสินค้าและความรู้ เพื่อการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและมั่งคั่ง หลากหลายความรู้ หลากหลายกูรูมารวมกัน 'Health & Wealth Expo 2023':The Journey of Life จัดโดยเนชั่น ตั้งแต่วันที่ 9-12 พฤศจิกายน 2566 เวลา 11.00-20.00 น. ณ Hall 5-6 ชั้น LG ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
'มะเร็งเต้านม' ส่วนใหญ่เกิดจากการกลายพันธุ์แบบโซมาติก (Somatic mutation) เป็นการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นในภายหลังและมีโอกาสสูงขึ้นเมื่อบุคคลนั้นๆ มีอายุมากขึ้น เซลล์ที่กลายพันธุ์ไปจะมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นก้อนเนื้องอกและมะเร็งในที่สุด ซึ่งการกลายพันธ์แบบโซมาติกจะไม่พบในทุกเซลล์ของร่างกายและไม่ส่งผ่านจากพ่อแม่สู่ลูก
รศ.นพ.ประกาศิต จิรัปปภา แพทย์ที่ปรึกษาศูนย์โรคเต้านม โรงพยาบาลไทยนครินทร์ กล่าวในช่วง BREAST CANCER CONTINUUM OF CARE :ป้องกัน-ค้นหา-ฟื้นฟู ครบทุกมิติเรื่อง ‘มะเร็งเต้านม’ ว่าปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเป็นมะเร็งเต้านม โดยทั่วไปจะมี 2 แบบ คือ
1.พันธุกรรม ซึ่งปัจจัยเสี่ยงคือมียีน แต่พบได้ประมาณ 10% เท่านั้น
2.ไม่ทราบสาเหตุ คือ ปัจจัยที่ร่างกายสัมพันธ์กับฮอร์โมน Estrogen(เอสโตรเจน) ที่ยาวนาน หรือการเป็นสาวเร็ว มีประจำเดือนมาเร็ว หมดประจำเดือนช้า แต่งงานแล้วไม่มีบุตร หรือมีลูกน้อย จะเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม
"โดยทั่วไป ผู้หญิงทุกคนมีความเสี่ยงเท่าๆ กัน ซึ่งมะเร็งเต้านมถือเป็นภัยเงียบ ที่ทุกคนจะต้องคอยสังเกตอาการของตนเอง ซึ่งผู้หญิงควรตรวจคัดกรองตั้งแต่อายุ 25 ปีโดยการตรวจเต้านมด้วยตัวเองเดือนละครั้ง และตรวจโดยแพทย์โรคเต้านมทุก 3 ปี ส่วนการตรวจด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ เริ่มที่อายุ 35 ปี"
รู้จัก 5 ระยะมะเร็งเต้านม
มะเร็งเต้านม แบ่งออกเป็น 5 ระยะ คือ ระยะที่ 0 ถึง ระยะที่ 4 โดยการวิจัยจากหลายสถาบันพบว่า
- การตรวจพบรอยโรคตั้งแต่ระยะที่ 0
ทำให้การรักษามะเร็งเต้านมทำได้ง่ายกว่าการรักษาในระยะที่ลุกลามแล้ว โดยมะเร็งเต้านมระยะที่ 0 หรือ DCIS ( Ductal Carcinoma In Situ) เป็นเซลล์มะเร็งที่เพิ่งก่อตัวขึ้นจำกัดอยู่ภายในเนื้อเยื่อฐานรากยังไม่แบ่งตัวลุกลามสู่ภายนอกขอบเขต โอกาสอยู่รอดใน 5 ปี ที่ประมาณ 99%
- มะเร็งเต้านมระยะที่ 1
มีการลุกลามออกมานอกเนื้อเยื่อฐานราก แต่ยังไม่มีการแพร่กระจายไปสู่ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ และขนาดก้อนมะเร็งมีขนาดไม่เกิน 2 ซม. มีโอกาสอยู่รอด 5 ปี ประมาณ 98%
- มะเร็งเต้านมระยะที่ 2
ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่มากกว่า 2 ซม. แต่ไม่เกิน 5 ซม. ยังไม่มีการแพร่กระจายไปสู่ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ หรือกรณีที่ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กไม่เกิน 2 ซม. แต่มีการแพร่กระจายไปสู่ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้แล้ว ก็จะจัดอยู่ในระยะที่ 2 เช่นกัน ทั้งนี้ถ้ามะเร็งยังไม่ลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองโอกาสอยู่รอดที่ 5 ปี ประมาณ 98%
- มะเร็งเต้านมระยะที่ 3
ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่กว่า 5 ซม. หรือมะเร็งมีการแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองรักแร้จำนวนหลายต่อมแล้ว โอกาสอยู่รอด 5 ปี ประมาณ 84 %
- มะเร็งเต้านมระยะที่ 4
เป็นระยะสุดท้ายที่มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ปอด กระดูก ตับ สมอง เป็นต้น โอกาสอยู่รอด 5 ปี ประมาณ 24 %
วิธีการสังเกตอาการบ่งชี้มะเร็งเต้านม
- อาการเริ่มแรกของมะเร็งเต้านมมักคลำพบก้อนที่เต้านม หรือบริเวณรักแร้ แต่ไม่รู้สึกเจ็บ
- เต้านมมีรูปร่างที่เปลี่ยนไป ขนาดใหญ่ เล็กไม่เท่ากันอย่างเห็นได้ชัดข้างใดข้างหนึ่ง
- มีการเปลี่ยนแปลงของผิวเต้านม เช่น ผิวหนังแข็งหรือหนาขึ้น มีก้อนเนื้อที่นูนขึ้นหรือขรุขระ มีสีผิวเปลี่ยนแปลงไป เกิดแผลเรื้อรัง (หรือแผลที่รักษาไม่หาย) หรือเป็นรอยรูขุมขนชัดขึ้นเหมือนเปลือกผิวส้ม
- มีอาการเจ็บปวดเต้านมข้างหนึ่ง อาจเป็นเล็กน้อยหรือเป็นมากก็ได้
- มีอาการบวมแดง หัวนมยุบตัวเข้าไปในเต้านม หรือไม่สม่ำเสมอ โดยไม่ได้เป็นมาตั้งแต่กำเนิด หรือไม่ได้เกิดจากการผ่าตัด มีของเหลว เช่น น้ำเหลืองใสๆ ที่ผิดปกติไหลออกจากหัวนม
หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านม
โรงพยาบาลไทยนครินทร์ พร้อมด้วยแพทย์เฉพาะทางโรคเต้านมและทีมสหสาขาวิชาชีพมีคำแนะนำเกี่ยวกับการสังเกตอาการเริ่มต้น รวมไปถึงการตรวจคัดกรองด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยและเหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย
พญ.พุทธิพร เนาวะเศษ ศัลยศาสตร์ทั่วไปและศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยาโรงพยาบาลไทยนครินทร์ กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงที่เกิดให้เกิดมะเร็งเต้านม อาจจมีจากปัจจัยที่เกิดจากพฤติกรรม หรือการใช้ชีวิต ซึ่งหากหลีกเลี่ยงได้จะช่วยทำให้ลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม
- น้ำหนัก หากมีภาวะอ้วน หรือมีน้ำหนักมาก
สามารถเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเต้านมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ซึ่งพบว่าผู้หญิงวัยนี้จะมีไขมันในร่างกายที่ทำหน้าที่หลักในการสร้างเอสโตรเจนแทนรังไข่หลังหมดประจำเดือน และหากมีภาวะอ้วน มีน้ำหนักและไขมันที่มากจะทำให้ระดับเอสโตรเจนในร่างกายสูง ซึ่งก็จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเพิ่มมากขึ้น
- อาหาร นักโภชนาการ
แนะนำว่า การรับประทานอาหารที่มีไขมันน้อย และรักษาน้ำหนักร่างกายให้มีสุขภาพดีเสมอนั้น จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมได้ ทัง้นี้แนะนำให้รับประทานผักผลไม้มากกว่า 5 ถ้วยต่อวัน จำกัดปริมาณอาหารให้มีไขมันอิ่มตัวให้น้อยกว่า 10% ของปริมาณแคลอรี่ทั้งหมดต่อวัน และรับประทานอาหารที่มีไขมันทั้งหมดไม่เกิน 30 กรัมต่อวัน และยังแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีไขมัน Omega 3 นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานส์ (Trans Fat) เนื้อสัตว์แปรรูป หรืออาหารรมควัน
- การออกกำลังกาย
สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมได้ หากออกกำลังกายวันละ 45-60 นาที ตั้งแต่ 5 วันขึ้นไปต่อสัปดาห์ สามารถลดความเสี่ยงจากการเกิดมะเร็งเต้านมได้
- การดื่มแอลกอฮอล์
ทำให้ความสามารถของการทำงานของตับลดลง สูญเสียการควบคุมปริมาณเอสโตรเจนในร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งเพิ่มขึ้นได้
- การได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจน
โดยฮอร์โมนเอสโตรเจนทำหน้าที่ในการกระตุ้นเซลล์เต้านมให้มีการเจริญเติบโต ซึ่งหากการที่ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นระยะเวลานาน ก็ย่อมมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมเพิ่มมากขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ฮอร์โมนทดแทนเป็นระยะเวลานาน
- ยาคุมกำเนิด
การใช้ยาคุมกำเนิดที่เป็นระยะเวลานาน มากกว่า 5-10 ปีนั้น เป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม แต่พบว่าการใช้ยาคุมกำเนิดในช่วงเวลาสั้นๆ ก็มีผลเพิ่มความเสี่ยงในเกิดมะเร็งเต้านมเพียงเล็กน้อย และพบว่าหากหยุดยาคุมกำเนิดมากกว่า 10 ปี ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมนั้นไม่แตกต่างจากคนทั่วไป
- ความเครียดและความวิตกกังวล
ยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนที่บ่งบอกว่า ความเครียดและความวิตกกังวลนั้นมีความเกี่ยวข้องชัดเจนกับการเกิดมะเร็งเต้านม แต่พบว่าการลดความเครียดและทำให้จิตใจสงบนั้น สามารถเพิ่มความสามารถของภูมิต้านทานในร่างกายได้
วิธีการรักษามะเร็งเต้านม
- การผ่าตัด (Surgery)
การผ่าตัดรักษาและเสริมสร้างเต้านมขึ้นใหม่ด้วยเทคนิคการผ่าตัดมะเร็งเต้านมแบบออนโคพลาสติก (Oncoplastic Surgery)เป็นเทคนิคการผสมผสานการผ่าตัดมะเร็งเต้านมกับการทำศัลยกรรมตกแต่งเข้าด้วยกัน เพื่อคงประสิทธิภาพการรักษามะเร็งเต้านมด้วยการผ่าตัดได้สูงสุด โดยที่ยังคงความสวยงามของเต้านมได้ใกล้เคียงเดิม คือ ผ่าตัดแบบสงวนเต้านม (Breast conserving surgery) ในกรณีขนาดก้อนเล็กไม่มีการกระจายของก้อนหรือหินปูนที่ผิดปกติทั่วเต้านม และในกรณีก้อนมะเร็ง 2-3 ก้อน หรือก้อนขนาดใหญ่ที่สามารถผ่าตัดแบบสงวนเต้านมได้
ทั้งนี้ ทำโดยย้ายเนื้อไขมันจากบริเวณข้างๆ เข้ามาปิดแทนช่องว่างที่ตัดก้อนมะเร็งออกไป หรือการผ่าตัดยกกระชับหรือ ลดขนาดเต้านมทั้งสองข้างให้สมดุลกันทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย ในบางกรณีมะเร็งบางชนิดอาจพิจารณาให้ยาเคมีบำบัดก่อนผ่าตัด จะทำร่วมกับรังสีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเต้านม ทำการวางคลิป (clip) ที่ตัวก้อนมะเร็งเพื่อติดตามรอยโรคระหว่างให้ยาเคมีบำบัดก่อนผ่าตัดด้วยส่วนผ่าตัดเต้านมทั้งหมด (Mastectomy with reconstruction) ในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดแบบสงวนเต้านมได้ และการเสริมสร้างเต้านมด้วยถุงเต้านมเทียม (Implant-based reconstruction) หรือเนื้อเยื่อของตนเอง (autologous reconstruction) ตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย
สำหรับการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนติเนลที่รักแร้ เป็นการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองต่อมแรก แล้วนำไปตรวจว่ามีมะเร็งกระจายมายังต่อมน้ำเหลืองหรือไม่ เพื่อประโยชน์ในการเลาะต่อมน้ำเหลืองเท่าที่จำเป็น ซึ่งสามารถลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ หลังการผ่าตัด เช่น แขนบวม หรืออาการชาของแขนได้ โดยมีการฉีดสาร Isosulfan blue ร่วมกับ Indocyanine green ช่วยเพิ่มความแม่นยำในมะเร็งระยะแรก และ ในกรณีมะเร็งเต้านมขนาดใหญ่ ที่วางแผนผ่าตัดหลังให้ยาเคมีบำบัดครบ จำเป็นต้องใช้สาร Isosulfan blue และ Indocyanine green ร่วมกัน สามารถตรวจจับต่อมน้ำเหลืองที่ติดสี Indocyanine green ด้วยกล้องฟลูออเรสเซนซ์
- การรักษาเสริมด้วยการให้ยา (Systemic treatment)
การรักษาเสริมด้วยการให้ยามีหลายส่วน ได้แก่ เคมีบำบัด (chemotherapy) ยาต้านฮอร์โมน (Hormonal therapy) ยาพุ่งเป้า (Targeted therapy) โดยอายุรแพทย์มะเร็งวิทยา (Medical oncologist)
- การรักษาด้วยการฉายรังสี (Radiotherapy)
ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม รังสีรักษามีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งของการรักษา ซึ่งผู้ป่วยในปัจจุบันมีการผ่าตัดแบบสงวนเต้านมเพิ่มขึ้น การฉายรังสีจึงมีส่วนช่วยการลดโอกาสกลับเป็นซ้ำบริเวณเต้านมและต่อมน้ำเหลือง แต่กรณีอื่นๆ อย่างเช่นการผ่าตัด การกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ก็เป็นอีกหนึ่งของข้อบ่งชี้ที่จำเป็นต้องมีการฉายรังสีรักษาเป็นส่วนประกอบของการรักษาเพื่อลดโอกาสกลับเป็นซ้ำ
การฉายรังสีจะมีผลข้างเคียงเฉพาะบริเวณที่ฉายเท่านั้น โดยผลข้างเคียงหลักๆ จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือผลข้างเคียงเฉียบพลัน คือผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นในช่วงฉายรังสีซึ่งจะเกิดขึ้นไม่เกิน 3 เดือน และผลข้างเคียงในส่วนนี้ก็สามารถหายได้เมื่อฉายรังสีครบแล้ว ตัวอย่างเช่นผลข้างเคียงบริเวณผิวหนังมีการฉายรังสีไปแล้ว 2 สัปดาห์ ผิวหนังอาจจะมีสีแดงขึ้นหรือสีคล้ำขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับค่าปกติ หลังจากนั้นเมื่อฉายรังสีครบตามกำหนดแล้วก็จะค่อยๆ ดีขึ้น
ส่วนผลข้างเคียงในระยะยาวเนื่องจากการฉายรังสีที่เต้านมมีอวัยวะที่ใกล้เคียงได้แก่ ปอดและหัวใจ ซึ่งติดกับบริเวณเต้านม โดยบริเวณปอดและหัวใจอาจจะได้รับรังสีบางส่วน แต่ด้วยเทคโนโลยีการฉายรังสีในปัจจุบันสามารถลดปริมาณรังสีที่อวัยวะข้างเคียงได้
ตรวจคัดกรองมะเร็งทุกปี
การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ไม่ได้ลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม แต่ข้อดีคือหากมีรอยโรคสามารถตรวจพบได้ในระยะเริ่มต้น หรือระยะที่ 0 ซึ่งการตรวจพบในระยะนี้มีโอกาสรักษาได้มากกว่าตรวจพบในระยะลุกลาม โดยศูนย์โรคเต้านม โรงพยาบาลไทยนครินทร์แนะนำให้ช่วงวัยรุ่นควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ ควรมาตรวจเร็วกว่ากลุ่มทั่วไป
ทั้งนี้แบ่งเป็นกลุ่มทั่วไปและกลุ่มที่มีความเสี่ยง กลุ่มทั่วไปเริ่มตรวจคัดกรองตั้งแต่อายุ 25 ปีโดยการตรวจเต้านมด้วยตัวเองเดือนละครั้ง และตรวจโดยแพทย์โรคเต้านมทุก 3 ปี ส่วนการตรวจด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ เริ่มที่อายุ 35 ปี
สำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น มีประวัติครอบครัว ญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ หรือมีประวัติได้รับการฉายแสงบริเวณหน้าอกมาก่อน จะมีการตรวจคัดกรองในช่วงอายุที่เร็วขึ้นควรตรวจเต้านมด้วยตัวเองที่อายุ 20 ปี และตรวจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเต้านมทุก 3 ปี ส่วนการตรวจด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมและอัลตร้าซาวด์ ต้องตรวจเร็วขึ้น ที่อายุ 30 ปี เพราะมะเร็งเต้านมตรวจพบก่อนสามารถวางแผนการรักษาได้คุณภาพที่ดีกว่าและลดอัตราการสูญเสียเต้านม