'Give Birth Great World' การ'เกิด'เป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ของโลก
ประเทศไทยติดกลุ่ม 23 ประเทศ ประชากรลด 50 % ภายในปี 2643 คงต้องถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนความคิดที่ว่า 'มีลูกมากจะยากจน' หรือการมีลูกคือการมีภาระออกไปจากสังคมไทย แล้วมาเป็นความคิดที่ว่า 'การเกิดคือการให้ยิ่งใหญ่' เพื่อแก้ปัญหาเด็กไทยเกิดใหม่น้อย
Keypoint:
- วิกฤตเด็กเกิดใหม่น้อย หากรัฐบาลไม่มีนโยบายช่วยให้เด็กเกิดใหม่มากขึ้น จะทำให้ประชากรวัยแรงงานลดระดับต่ำสุดภายใน 60 ปี
- สธ.เร่งรัดทุกหน่วยงานเพิ่มประสิทธิภาพของคลินิกส่งเสริมการมีบุตรคุณภาพเตรียมจัดทำแคมเปญใหญ่ Give Birth Great World เพิ่มอัตราเด็กเกิดใหม่
- เปลี่ยนทัศนคติคนรุ่นใหม่ การเกิดไม่ใช้ภาระ แต่เป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ หลับพบผลสำรวจ เหตุคนไทยไม่อยากมีลูก
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าปัญหาภาวะเด็กเกิดน้อยที่เป็นปัญหาของหลายประเทศทั่วโลก ว่า จากข้อมูลระบุว่าหากไม่มีการแก้ไขหรือดำเนินการใด ๆ ภายในปี 2643 ค่าเฉลี่ยการมีบุตรของผู้หญิงทั่วโลกจะลดลงเหลือเพียง 1.7 คน ส่งผลให้ประชากรโลกจะปรับตัวถึงจุดสูงสุดที่ราว 9,700 ล้านคน ในปี 2607 ก่อนจะปรับตัวลดลงเหลือ 8,800 ล้านคนในปี 2643 และในอนาคตอันใกล้นี้ ไทยจะเป็นหนึ่งใน 23 ประเทศของโลกที่ได้รับผลกระทบจากภาวะดังกล่าวมากที่สุด
โดยอัตราการเจริญพันธุ์ของประเทศจะปรับลดลงถึงต่ำสุดและประชากรของประเทศจะเหลือเพียงแค่ 50% ของที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ญี่ปุ่น ที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก่อนหน้านี้มาแล้วหลายปี รวมทั้งสเปน อิตาลี เกาหลีใต้
ทั้งนี้ จำนวนประชากรที่ลดลงอย่างมากจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศอย่างใหญ่หลวงในอนาคตอันใกล้ได้ แม้แต่จีน ซึ่งเคยมีประชากรมากที่สุดในโลก ในปี 2565 ประชากรยังมีอัตราลดลงครั้งแรกในรอบ 60 ปี โดยล่าสุดอยู่ที่ 1,411 ล้านคนทำให้จำนวนประชากรของจีนน้อยกว่าประเทศอินเดียเป็นครั้งแรก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ทำไมคนยุคใหม่ "ไม่นิยมมีลูก" เด็กเกิดใหม่น้อยลง ถึงจุดวิกฤติ
ผุดแคมเปญ "Give Birth Great World" วาระแห่งชาติ แก้ปัญหาเด็กเกิดน้อย
การเกิดเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ของโลก
กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งรัดให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มประสิทธิภาพของคลินิกส่งเสริมการมีบุตรคุณภาพ เช่น คลินิกส่งเสริมการมีบุตรของกรมอนามัยจำนวนทั้งสิ้น 12 แห่งใน 12 ศูนย์อนามัย ทั่วประเทศ ที่พร้อมให้คำปรึกษา, ศูนย์ส่งเสริมการมีบุตรและรักษาผู้มีบุตรยาก ทั่วประเทศ 107 แห่ง ใน 16 จังหวัด เป็นสถานพยาบาลภาครัฐ 16 แห่ง สถานพยาบาลเอกชน 91 แห่ง ที่มีการเตรียมความพร้อม 100% ในการรับมือกับปัญหาใหญ่ที่ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
โดยได้เตรียมจัดทำแคมเปญใหญ่ Give Birth Great World เป็นโครงการระดับประเทศและอาจเชิญชวนประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้เข้าร่วม ด้วยการเปลี่ยนทัศนคติของการเกิดเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ของโลก เพราะเมื่อจำนวนประชากรสูงอายุมีมากกว่าวัยหนุ่มสาวและเด็กเกิดใหม่ จะทำให้เกิดปัญหาใหญ่เชิงโครงสร้างประชากร เช่น ขาดแคลนวัยแรงงาน ประชากรสูงอายุในกลุ่มที่มีภาระพึ่งพิงจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น กลายเป็นยอดของปิรามิด
ขณะที่ฐานปิรามิดประชากรแคบลงเรื่อยๆ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงด้านประชากรของประเทศ ดังนั้น ปัญหา 'เด็กเกิดน้อย'ไม่ใช่แค่วาระแห่งชาติ แต่เป็นปัญหาของโลก
ปัจจุบันโครงสร้างประชากรไทย ขณะนี้เข้าสู่วัยผู้สูงอายุมากกว่า ร้อยละ 20 ขณะที่อัตราการเกิดใหม่น้อยมาก โดยอัตราเจริญพันธุ์รวมหรือจำนวนบุตรโดยเฉลี่ยของผู้หญิง 1 คน ที่เหมาะสมหรือที่เรียกว่าระดับทดแทนคือ 2.1 คน แต่ปัจจุบันพบว่าจำนวนบุตร
โดยเฉลี่ยของผู้หญิงไทยลดลงเหลือเพียง 1.08 คนเท่านั้น จึงต้องเอาความคิดที่ว่าลูกมากจะยากจนออกไป โดยเฉพาะคนที่พื้นฐานการศึกษาที่ดี หรือกลุ่มคนที่มีฐานเศรษฐกิจรองรับ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
อัตราเด็กเกิดใหม่ไทยต่ำสุดในรอบ 70 ปี
พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย เผยว่า ข้อมูลจากสถิติสาธารณสุข ปี 2565 พบว่าประเทศไทยมีจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงเหลือเพียง 485,085 คน ซึ่งเป็นจำนวนการเกิดที่ต่ำที่สุดและเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี ที่ประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่ต่ำกว่า 500,000 คน สวนทางกับจำนวนผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2565 มีประชากรผู้สูงอายุมากถึงกว่า 12 ล้านคน
ทั้งนี้ ภายในปี 2626 หรือ 60 ปีจากนี้ หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป ประชากรไทยจาก 66 ล้านคนจะลดเหลือเพียง 33 ล้านคน และประชากรสูงอายุ 65 ปีขึ้นไป จะเพิ่มจาก 8 ล้านคนเป็น 18 ล้านคน ส่งผลให้เกิดภาวะพึ่งพิงเพิ่มขึ้น งบประมาณในการรักษาสุขภาพเพิ่มขึ้น
ส่วนวัยทำงาน อายุ 15-64 ปี จะลดลงจาก 46 ล้านคนเหลือเพียง 14 ล้านคน ซึ่งหมายถึงจำนวนแรงงานที่ลดลง ผลผลิตโดยรวมของประเทศลดลง และภาษีที่จัดเก็บได้ลดลง ขณะที่ประชากรวัยเด็กอายุตั้งแต่ 0 - 14 ปีจะลดจาก 10 ล้านคน เหลือเพียง 1 ล้านคน เท่านั้น
การเกิดไม่เป็นภาระครอบครัว
หลังพบว่าปี 2564 ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีอัตราการตายมากกว่าอัตราการเกิด และรัฐบาลเตรียมประกาศให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เคยระบุว่า วันนี้โครงสร้างประชากรของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไป เราก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ ในขณะเดียวกันคนในปัจจุบันกลับไม่ต้องการมีบุตร ส่งผลให้เด็กเกิดน้อย ในอนาคตจะเกิดปัญหาทั้งด้านแรงงาน การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การแบกรับสังคมสูงวัย ฯลฯ
ฉะนั้น การแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ นอกจากจะต้องแสวงหาแนวทางทำให้เด็กเกิดมากขึ้นแล้ว ยังต้องมีระบบรองรับเพื่อให้เด็กที่เกิดขึ้นมาแล้วมีคุณภาพชีวิตที่ดี เจริญเติบโตขึ้นอย่างมีสุขภาวะดี ประเด็นสำคัญในเรื่องนี้คือ ‘การสร้างระบบรองรับ’ เพื่อให้การเกิดไม่เป็นภาระของครอบครัว และช่วยให้พ่อแม่มีความมั่นใจว่าเมื่อลูกเกิดมาแล้วจะมีความปลอดภัย เจริญเติบโตในประเทศนี้ได้อย่างมั่นคง
นางพรรณวดี ลดาวัลย์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้จัดการและหัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาความรู้ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)กล่าวว่า ปัญหาเด็กเกิดน้อยส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวชี้วัดหนึ่งคือดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นภาพสะท้อนเศรษฐกิจในขณะนั้นๆ โดยดัชนีเหล่านี้มาจากผลการดำเนินธุรกิจของธุรกิจในประเทศไทยทั้งหมด
โครงสร้างของประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป จะส่งผลต่อการลดลงของประชากรในวัยแรงงาน และเมื่อสัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ตรงนี้จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและจะสะท้อนออกมาผ่านดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้นการเตรียมการรับมือจึงเป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วน ฉะนั้นพลังจากหลายภาคส่วนจึงเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องนี้
เปลี่ยนทัศนคติของ Generation
น.ส.วรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย อธิบายว่า ความท้าทายในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือ การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของ Generation ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรและโครงสร้างครอบครัว
โดยในอนาคตประชากรรุ่นใหม่จะเพิ่มมากขึ้น มีค่านิยมแต่งงานช้าลง อยู่เป็นโสดมากขึ้น ที่สำคัญคือการมีลูกไม่ใช่เป้าหมายลำดับต้นๆ ของคนรุ่นใหม่ ส่งผลต่ออัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลงในอนาคต และในอนาคตมีแนวโน้มที่ประชากรรุ่นใหม่จะเป็นผู้สูงอายุที่อยู่ลำพัง ไม่มีบุตรหลานพึ่งพิง
อีกทั้งยังมีความท้าทายในเรื่องปัญหาการขาดแคลนคนวัยแรงงาน นำไปสู่ความท้าทายทางการคลังของประเทศ การเกิดน้อยจะส่งผลให้จำนวนวัยแรงงานในอนาคตลดลง ซึ่งในระยะยาวจะทำให้การจัดเก็บภาษีรายได้น้อยลง ตรงนี้ถือเป็นความท้าทายต่อการคลังของประเทศ พร้อมกันนี้ในระยะยาว ส่วนต่างระหว่างรายรับและรายจ่ายทางสังคม มีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องด้วย
“ประเด็นที่ควรให้ความสำคัญหลังจากนี้ ประการแรกคือการสร้างรากฐานที่ดีตั้งแต่ช่วงต้นของชีวิต ทั้งมิติครอบครัว การศึกษา ประการถัดมาคือการพัฒนาประชากรให้มีรายได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ การยกระดับการพัฒนาคนด้านเศรษฐกิจ การส่งเสริมการ Upskill-Reskill การขยายโอกาสการทำงานของผู้สูงอายุ และประการสุดท้ายคือปรับรายได้ยามชราภาพให้เพียงพอ เช่น การส่งเสริมการออมภาคบังคับ การปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษี”
เปิดเหตุคนไทยไม่อยากมีลูก
ผลสำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เรื่อง 'มีลูกกันเถอะน่า' ที่ทำขึ้นระหว่าง 26-28 ก.ย. 2566 จากจำนวนกลุ่มตัวอย่าง 1,310 คน ในผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-40 ปี โดยกระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้
สำหรับประเด็นการอยากมีลูก (เฉพาะผู้ที่ยังไม่มีลูก)พบว่า
- คนอยากมีลูก 53.89%
- ไม่อยากมี 44%
โดยที่ไม่อยากมีลูกเนื่องจาก
- ไม่อยากเพิ่มค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูก 38.32%
- เป็นห่วงว่าลูกเราจะอยู่อย่างไรในสภาพสังคมปัจจุบัน 38.32%
- ไม่อยากมีภาระต้องดูแลลูก 37.72%
- ต้องการชีวิตอิสระ 33.23%
- กลัวเลี้ยงลูกไม่ดี 17.66%
- อยากให้ความสำคัญกับงานมากกว่า 13.77%
- สุขภาพตนเองหรือคู่ครองไม่ค่อยดี 5.39%
- ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ 2.11%
- กลัวพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ไม่ดี ทำให้ลูกเกิดมาไม่ดีไปด้วย 2.1%
- กลัวกรรมตามสนองเนื่องจากเคยทำไม่ดีไว้กับพ่อ แม่ 0.9%
สิ่งที่อยากให้มีมาตรการรัฐสนับสนุนเพื่อให้คนไทยมีลูกนิด้าโพลพบว่า
- สนับสนุนการศึกษาฟรีในประเทศจนถึงขั้นสูงสุดสำหรับคนมีลูก 65.19%
- รัฐอุดหนุนค่าเลี้ยงดูลูกจนถึงอายุ 15 ปี 63.66%
- ลดภาษีเงินได้สำหรับคนมีลูก 30%
- เพิ่มวันลาให้และพ่อในการเลี้ยงดูลูก 29.47%
- มีเงินรางวัลจูงใจที่สูงสำหรับเด็กแรกเกิด 21.91%
- อุดหนุนทางการเงินแม่และพ่อเลี้ยงเดี่ยว 19.92%
- พัฒนาและอุดหนุนการเงินศูนย์เด็กเล็ก 17.18%
- มีบริการฟรีศูนย์ผู้มีบุตรยาก 9.85%
- เพิ่มภาษีเงินได้สำหรับคนไม่มีลูก 7.48%
- รัฐเปิดช่องทางในการอุ้มบุญมากขึ้น 5.5%
- รัฐมีหน่วยงานจัดหาคู่ให้กับคนไทย 4.89%
- รัฐไม่จำเป็นต้องมีมาตรการใดๆ 2.75%
- ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ 0.76%
ความกังวลต่อจำนวนเด็กเกิดใหม่ในอนาคตว่าจะมีน้อยหรือมากผลสำรวจพบว่า
- ไม่กังวลเลย 50.53%
- ไม่ค่อยกังวล 23.13%
- ค่อนข้างกังวล 17.79%
- กังวลมาก 8.55%
ในส่วนสถานะการแต่งงานและการมีลูกนิด้าโพลระบุว่า
- คนไทยแต่งงานจดทะเบียนสมรสและมีลูกแล้ว 28.57%
- เป็นโสดและไม่มีแฟน 22.39%
- เป็นโสดแต่มีแฟนแล้ว 20.92%
- แต่งงานไม่ได้จดทะเบียนสมรสและมีลูกแล้ว 10.99%
- แต่งงานจดทะเบียนสมรสแต่ไม่มีลูก 4.58%
- เป็นแม่หรือพ่อเลี้ยงเดี่ยว 2.52%
- แต่งงานไม่ได้จดทะเลียนสมรสแต่ไม่มีลูก 1.98%
- มีคู่ครอง (อยู่ด้วยกันแต่ไม่ได้แต่งงาน) มีลูกแล้ว 1.98%