ชุดตรวจคัดกรอง 'โรคมะเร็ง' จำเป็นไหม? ราคาแพง แถมบางเคสเจอ 'ผลบวกลวง'
ชุดคัดกรอง "มะเร็ง" ด้วยการตรวจเลือดกำลังฮอตฮิตในสหรัฐ แต่แพทย์บางกลุ่มชี้ว่ามันอาจไม่จำเป็น เหตุราคาแพง แถมบางเคสเจอ "ผลบวกลวง" ซึ่งสร้างความวิตกกังวลให้ผู้ใช้ชุดทดสอบมากขึ้นกว่าเดิม
Key Points:
- “ชุดทดสอบคัดกรองโรคมะเร็ง” ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ จากการตรวจเลือดเพียงครั้งเดียว หรือ MCED กำลังได้รับความนิยมในสหรัฐ
- ชุดทดสอบดังกล่าวสามารถคัดกรองมะเร็งได้มากกว่า 50 ชนิด ซึ่งทำงานโดยมองหาสัญญาณของสารบ่งชี้ถึงเซลล์มะเร็งใน DNA
- ขณะเดียวกันก็มีแพทย์อีกจำนวนไม่น้อย ชี้ถึงข้อควรระวังในการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เพราะไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าชุดตรวจนี้จะเชื่อถือได้จริง ล่าสุด..สถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐ จะเริ่มศึกษาชุดทดสอบดังกล่าวในปี 2024
หลายปีก่อนหน้านี้ มีรายงานเกี่ยวกับงานวิจัยหนึ่งที่สามารถพัฒนา “ชุดตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง” ได้จากการตรวจเลือดเพียงครั้งเดียว (MCED) สามารถเรียกเสียงฮือฮาในวงการแพทย์อย่างมาก เพราะหากตรวจเจอความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งได้แต่เนิ่นๆ ก็จะนำไปสู่การรักษาได้รวดเร็ว ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งได้
หลังจากนั้นก็เริ่มมีบริษัทบางแห่งผลิต “ชุดตรวจคัดกรอง” ดังกล่าวขึ้นมาเพื่อจำหน่ายแล้ว หนึ่งในนั้นก็คือแบรนด์ Galleri ล่าสุด..เมื่อปลายเดือน ต.ค. 2566 มีข้อมูลจาก อเล็กซ์ จานิน ได้รายงานผ่าน The Wall Street Journal ระบุว่า ขณะนี้ชุดตรวจคัดกรองมะเร็งจาก Galleri กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในสหรัฐ แม้จะมีราคาสูงเกือบ 1,000 ดอลลาร์ก็ตาม (ประมาณ 35,000 บาท: คำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยน ณ 18 พ.ย. 66)
ภาพจาก: Galleri
- ชุดทดสอบคัดกรองมะเร็งมีราคาสูง แต่ฮอตฮิตในหมู่คนรวย
นับตั้งแต่ Galleri วางจำหน่ายในเดือนมิถุนายน 2564 จนถึงปี 2566 พบว่ามันถูกจำหน่ายไปแล้วมากกว่า 130,000 ชุด ซึ่งทางแบรนด์เคลมว่า ชุดทดสอบดังกล่าวสามารถคัดกรองมะเร็งได้มากกว่า 50 ชนิด ซึ่งมีหลักการทำงานคือ มองหาสัญญาณของสารบ่งชี้ถึงเซลล์มะเร็งใน DNA ที่จะหลั่งออกมาจากเนื้องอกสู่กระแสเลือด ทั้งนี้ ชุดทดสอบดังกล่าวต้องสั่งซื้อโดยแพทย์เท่านั้น
ด้วยความที่ชุดตรวจคัดกรองมะเร็งดังกล่าวมีราคาสูง มันจึงถูกมองว่าเป็น “ผลิตภัณฑ์เจาะกลุ่มผู้บริโภคที่มีฐานะร่ำรวย” (ที่บ้าคลั่งการดูแลสุขภาพ) โดยมีแพทย์ด้านการดูแลสุขภาพบางกลุ่มในสหรัฐได้นำเสนอ “ชุดตรวจมะเร็ง Galleri” ให้เป็นบริการเสริมแก่ผู้ป่วย ควบคู่ไปกับชุดการตรวจคัดกรองสุขภาพเชิงทดลองอื่นๆ เช่น บริการตรวจ MRI แบบเต็มตัว และบริการทดสอบอายุทางชีววิทยา เป็นต้น
ยกตัวอย่างเคสของ วาเลอรี คาโร นายหน้าอสังหาริมทรัพย์ในรัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา เธอลองปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับชุดตรวจคัดกรองดังกล่าว และได้ลองใช้ตรวจปี 2565 ปรากฏว่าเธอได้รับ “ผลบวก” โดยพบสัญญาณบ่งชี้มะเร็งในถุงน้ำดีหรือตับอ่อนของเธอ หลังจากขั้นตอนติดตามผลหลายอย่าง รวมถึงการตรวจ MRI และการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก เธอก็ได้รู้ว่ามีเนื้องอกมะเร็งระยะที่ 2 ขนาด 4.3 ซม. อยู่ในถุงน้ำดีของเธอ ซึ่งเธอให้เครดิตแก่ชุดตรวจคัดกรองนี้ว่ามันช่วยชีวิตเธอไว้
- แพทย์เตือน ระวัง "ผลบวกลวง" จากชุดตรวจคัดกรองมะเร็ง และมันอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็น
แม้จะมีเคสตัวอย่างที่ใช้ชุดทดสอบนี้แล้วได้ผลดี แต่ขณะเดียวกันก็มีแพทย์อีกจำนวนไม่น้อย ออกมาแสดงความเห็นถึงข้อควรระวังในการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว พวกเขากล่าวว่า ไม่มีงานวิจัยที่มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่า ชุดตรวจคัดกรองมะเร็งในปัจจุบันจะป้องกันการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งได้ และเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงในการได้รับ “ผลบวกลวง” หรือ “ผลลบลวง”
โดยมีการศึกษาชิ้นหนึ่งที่ถูกตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ The Lancet เมื่อเร็วๆ นี้รายงานว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่ชุดตรวจคัดกรองมะเร็งและได้รับผลบวก (มีสัญญาณเสี่ยงพบมะเร็ง) แต่เมื่อไปตรวจคัดกรองซ้ำในโรงพยาบาลกลับพบว่าพวกเขาไม่ได้เป็นมะเร็ง
ดังนั้น การได้รับ “ผลบวกลวง” อาจทำให้ผู้ใช้งานเกิดความกังวล และนำไปสู่ขั้นตอนการติดตามผลที่ไม่จำเป็นและมีค่าใช้จ่ายสูง ขณะที่หากพบ “ผลลบลวง” ซึ่งมีแนวโน้มเกิดขึ้นได้มากกว่า อาจทำให้ผู้ป่วยมองข้ามการเข้ารับการตรวจคัดกรองสุขภาพประจำปีที่แพทย์ทั่วไปแนะนำได้
ดร.ลอรี มินาเซียน รองผู้อำนวยการกองป้องกันมะเร็ง สถาบันมะเร็งแห่งชาติของสหรัฐ กล่าวว่า การใช้ชุดตรวจคัดกรองมะเร็งที่เรียกว่า Multi-cancer early detection : MCED นั้น ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพียงพอที่จะระบุว่ามันเชื่อถือได้ อีกทั้งหากเป็นคนที่มีสุขภาพดี มีความเสี่ยงน้อยที่จะเป็นมะเร็ง ทำไมจะต้องเสียเงินแพงๆ ซื้อชุดตรวจนี้ มันจำเป็นจริงหรือ?
ด้านตัวแทนของ Galleri ก็ออกมาชี้แจงว่า ชุดตรวจคัดกรองมะเร็งแบบ MCED นั้น มีประโยชน์มากกว่าข้อกังวล บริษัทเชื่อว่าชุดการทดสอบเหล่านี้จะช่วยให้ตรวจพบความเสี่ยงมะเร็งได้เร็วขึ้น และปรับปรุงสุขภาพของประชาชน
ทั้งนี้ หากผู้ทดสอบได้รับผลการตรวจเป็น “ผลบวก” บริษัทแจ้งเสมอว่านั่น “ไม่ใช่ผลการวินิจฉัย” เพียงแต่พบสัญญาณบ่งชี้ถึงมะเร็งเท่านั้น ซึ่งผู้ทดสอบควรเข้าตรวจสุขภาพกับแพทย์อีกครั้ง เนื่องจากจุดมุ่งหมายของชุดตรวจคือเป็นทางเลือกเสริม ไม่ใช่จะนำมาใช้ทดแทนการตรวจคัดกรองมะเร็งในมาตรฐานของโรงพยาบาล
- ชุดตรวจคัดกรองมะเร็งรูปแบบ MCED ยังไม่ถูกรับรองจาก FDA สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม Galleri เป็นหนึ่งในชุดทดสอบแบบ MCED ที่ยังไม่ได้รับการรับรองจาก FDA (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) และไม่ได้รับรองจากหน่วยงานเฉพาะกิจด้านบริการป้องกันแห่งสหรัฐอเมริกา
อีกทั้งเจ้าหน้าที่จาก American Academy of Family Physicians กล่าวว่า ไม่แนะนำให้มีการตรวจคัดกรองมะเร็งผ่านชุดทดสอบเหล่านี้ เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานอ้างอิงเชิงประจักษ์ อีกทั้งหากใครอยากใช้ชุดตรวจคัดกรองนี้ ต้องจ่ายค่าบริการเอง เพราะมันไม่ครอบคลุมอยู่ในแผนประกันส่วนใหญ่ของโรงพยาบาลรัฐ
ดร.ลาตาชา เซลิบี เพอร์กินส์ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวที่โรงพยาบาลแห่งมหาวิทยาลัย MedStar Georgetown ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าวว่า เธอไม่เสนอชุดตรวจคัดกรองมะเร็งดังกล่าวให้กับผู้ป่วยของเธอ เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับการขาดการอนุมัติจาก FDA และเนื่องจากมีราคาแพงเกินไปสำหรับผู้ป่วยทั่วไป ทั้งยังไม่แน่ใจถึงประสิทธิภาพของชุดทดสอบเหล่านั้นด้วย
ล่าสุด สถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐ (NCI) วางแผนที่จะศึกษาชุดทดสอบคัดกรองมะเร็งดังกล่าวในปี 2024 เพื่อประเมินความเป็นไปได้ และเพื่อประเมินว่าการทดสอบ MCED ให้กับผู้ป่วยที่มีสุขภาพแข็งแรง สามารถลดการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งได้จริงหรือไม่ สายสุขภาพคงต้องคอยติดตามเรื่องนี้กันต่อไป