ทุก 3 นาทีมีคนตายจาก สโตรก หรือ โรคหลอดเลือดสมอง
วันที่ 29 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันโรคหลอดเลือดสมองโลก (World Stroke Day) โรคหลอดเลือดสมอง หรือ สโตรก ที่คนไทยรู้จักกันดีในชื่อ“โรคอัมพาต” เป็นโรคที่ไม่ติดต่อแต่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขของทุกประเทศทั่วโลก
29 ตุลาคม วันโรคหลอดเลือดสมองโลก (World Stroke Day)
มีรายงานว่ามีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (สโตรก) หรือ โรคอัมพาต เสียชีวิตทุกๆ 3 นาที 35 วินาที แม้การรักษาในปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปมาก ทั้งการให้ยากิน การใช้ยาละลายลิ่มเลือด และการลากลิ่มเลือดผ่านการใส่สายสวนหลอดเลือดในสมอง ช่วยให้ผู้ป่วยรอดชีวิต ลดความพิการ หรือในบางรายสามารถหายเป็นปกติได้
แต่ถึงกระนั้นการป้องกัน การหมั่นสังเกตอาการเบื้องต้น การเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ย่อมดีกว่าการรักษาเมื่อเป็นโรคแล้ว
ผลการรักษาโรคจะดีมากน้อยแค่ไหน ส่วนหนึ่งที่สำคัญคือระยะเวลาที่ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาที่เหมาะสม ดังนั้น หากประชาชนมีความรู้ และสามารถประเมินได้ว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการของโรคหลอดเลือดสมองจะช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิต และลดความพิการได้มากยิ่งขึ้น
การประเมินอาการเบื้องต้นที่ได้รับการยอมรับในปัจจุบัน ใช้อักษรย่อภาษาอังกฤษว่า “B-E-F-A-S-T” คือ
B – Balance หมายถึง การทรงตัวผิดปกติ หรือวิงเวียนศีรษะ หรือเดินเซ อย่างทันทีทันใด
E – Eye ตามัวหรือมองไม่เห็นอย่างเฉียบพลัน ลานสายตาผิดปกติ อย่างทันทีทันใด
F – Face หมายถึง เกิดภาวะหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว มุมปากตก อย่างทันทีทันใด
A – Arm หมายถึง มีอาการแขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก ไม่มีแรงหรือชา อย่างทันทีทันใด
S – Speech หมายถึง มีอาการลิ้นแข็ง พูดไม่ออก พูดไม่ชัดหรือพูดลำบาก พูดไม่เป็นคำ พูดตะกุกตะกัก อย่างทันทีทันใด
T – Time หมายถึง เวลา เมื่อเกิดอาการข้างต้น ให้รีบไปโรงพยาบาลอย่างเร็วที่สุด เพราะจะช่วยให้มีทางเลือกในการรักษาที่หลากหลายและทันท่วงที
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง หลังการรักษาในโรงพยาบาลมักจะมีอาการผิดปกติที่หลงเหลืออยู่ จำเป็นต้องทำกิจกรรมฟื้นฟูสภาพทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม เพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตให้เหมือนเดิมได้มากที่สุด
ภายหลังการเกิดโรคผู้ป่วยมักจะมีความรู้สึกว่าตนเองหมดแรง หมดพลัง หมดความพยายามในการดำเนินชีวิตต่อไป อาการนี้เหล่านี้เรียกว่า “ความเหนื่อยล้าหลังเกิดโรคหลอดเลือดสมอง” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “ความเหนื่อยล้า”
“ความเหนื่อยล้า” สามารถเกิดขึ้นทันทีหลังเกิดโรคหลอดเลือดสมอง โดยผู้ป่วยที่มีอาการส่วนใหญ่จะมีความรู้สึกดังกล่าวเฉลี่ย 5-6 ชั่วโมงต่อวัน และ 20-30 วันต่อเดือน
ซึ่งขณะที่มีอาการ ผู้ป่วยจะไม่อยากทำกิจวัตรประจำวันและกิจกรรมฟื้นฟูสภาพ บางรายมีพฤติกรรมขาดความใส่ใจการดูแลตนเองอย่างมาก ทำให้มีโอกาสกลับเป็นโรคหลอดเลือดสมองซ้ำหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ปอดอักเสบ ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และแผลกดทับ นำมาซึ่งอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นในช่วง 3 ปีแรก
การจัดการกับความเหนื่อยล้าในผู้ป่วย จะเน้นการสร้างความสมดุลระหว่างการสร้างและสงวนพลังงานในร่างกาย เพราะผู้ป่วยจะรับประทานอาหารได้น้อยลงแต่ร่างกายจำเป็นต้องใช้พลังงานในการซ่อมแซมและฟื้นฟูสภาพสมองเป็นอย่างมาก
ปัจจุบันจึงเริ่มมีการนำเทคโนโลยีในรูปแอปพลิเคชันบนมือถือมาใช้เพื่อการประเมิน ให้ความรู้ กระตุ้น และติดตามการทำกิจกรรมเพื่อจัดการความเหนื่อยล้าและส่งเสริมการฟื้นฟูสภาพได้ดีและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น (ศุภชัย รักแก้ว พยาบาลวิชาชีพ หอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและระบบประสาท รพธ.)
ทีมสุขภาพต้องให้ความสำคัญกับกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพและฟื้นฟูสภาพด้วยการมีแนวทางการดูแลที่ต่อเนื่องชัดเจน รวมทั้งการพัฒนานวัตกรรมอย่างบูรณาการด้วยความร่วมมือของสหสาขาวิชาชีพ ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยจัดการกับอาการเหนื่อยล้าและอาการอื่นๆ
ที่สำคัญคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วย การพัฒนาศักยภาพผู้ดูแลและอาสาสมัครสาธารณสุขในชุมชน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างถูกต้องและต่อเนื่องทันทีที่ออกจากโรงพยาบาล
จากการศึกษาที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ได้มีการพัฒนาระบบช่วยเหลือทางไกล (HealthTech) สำหรับกลุ่มผู้ป่วยเปราะบาง เช่น ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้พิการ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและผู้ป่วยติดเตียงในชุมชน ให้ได้รับการดูแลต่อเนื่องแม้ว่าไม่ได้มารับการรักษาในโรงพยาบาล
ด้วยการติดต่อประสานงานผ่านโทรศัพท์เพื่อให้ความรู้ รวมทั้งช่วยกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างการดูแลที่บ้าน ซึ่งผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนน้อยลง ญาติมีความรู้และทักษะการดูแลผู้ป่วยที่บ้านมากขึ้น ลดความเครียดและความวิตกกังวลให้ญาติได้
ปัจจุบันมีการพัฒนาแพลตฟอร์มที่ประกอบด้วย Mobile Application ร่วมกับ Web-based telecare system และ Chatbot
โดยใช้ข้อมูลปัจจัยส่วนบุคคลและข้อมูลการรักษา เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเฉพาะบุคคล แล้วให้ความรู้เกี่ยวกับพยาธิสภาพของโรค การรักษา ทักษะการดูแลผู้ป่วยและส่งเสริมสุขภาพผู้ป่วย รวมทั้งการป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง
แพลตฟอร์มนี้เริ่มมาจากการค้นหาปัญหา ความต้องการ และความคาดหวังของผู้ป่วย ญาติผู้ดูแล ครอบครัว อาสาสมัครดูแลผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ใน รพ.สต. และวิเคราะห์ความเป็นไปได้ เพื่อให้ญาติผู้ดูแลให้การช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างทันเวลาและเหมาะสม
สโตรกยังคงเป็นโรคที่น่ากลัวในยุคปัจจุบันที่คนอยู่กับเครียด ความเร่งรีบ และการบริโภคแบบใหม่ รวมทั้งการเข้าสู่สังคมสูงวัย
ความร่วมมือทั้งจากผู้มีปัจจัยเสี่ยงเอง ผู้ใกล้ชิด แพทย์ และทีมดูแลหลังการรักษา เป็นความจำเป็นมากสำหรับโรคร้ายนี้ที่คร่าชีวิตคนไปทุกๆ 3 นาทีและทำให้คนจำนวนมากกลายเป็นคนป่วยติดเตียงอย่างยาวนาน