ฆาตกรผ่อนส่งชื่อ "ผงขมิ้น" เสี่ยงปนเปื้อน
คนไทยรู้จัก “ขมิ้น” สมุนไพรชั้นยอดมานมนาน ทั้งเป็นอาหาร เป็นส่วนผสมของอาหาร เป็นยา เป็นสีย้อมผ้า ฯลฯ โดยไม่มีปัญหาอย่างใด แต่ล่าสุดมีข่าวใหญ่ออกมาสะเทือนโลกสมุนไพรว่า “ผงขมิ้น” นั้นมีสารตะกั่วเป็นส่วนผสมอยู่ด้วย
ตะกั่วนั้นหากบริโภคเข้าไปสะสมในร่างกายเรื่อยๆ ก็จะเป็นผลร้ายต่อร่างกายอย่างยิ่ง เหตุใดตอนเป็นขมิ้นสดไม่มีปัญหาแต่พอเป็นผงแล้วกลับเป็นฆาตกร
โลกรู้จักขมิ้น หรือ turmeric มากว่า 4-5 พันปี เพราะมีหลักฐานการพบซากขมิ้นในหลุมฝังศพที่ Farmana ทางตอนเหนือของอินเดีย ขมิ้นเป็นตัวยาสำคัญของอินเดียและจีน โดยช่วยระบบการย่อยอาหาร ลดการอักเสบ ลดอาการปวดคลายกล้ามเนื้อ ลดอาการปวดอันเกิดจากเข่าเสื่อม ฯลฯ อีกทั้งใช้ในพิธีต่างๆ ของหลายชุมชนในอินเดียโดยเฉพาะในการเป็นอาหาร
ความนิยมขมิ้นกระจายจากอินเดียมาสู่อุษาคเนย์และอินเดียใต้ ตลอดระยะเวลายาวนาน ขมิ้นเป็นส่วนผสมของผงกะหรี่และน้ำพริกเครื่องแกงหลายอย่างของไทย อีกทั้งเป็นส่วนผสมของอาหารกัมพูชา ฟิลิปปินส์ ลาว พม่า เวียดนาม อินโดนีเซีย ฯลฯ
โดยบริโภคทั้งสดโดยตรงและผสมอาหารด้วยผง ซึ่งทำให้มีสีสันเหลืองอร่ามเป็นทองน่ากินและรสชาติดี โดยเฉพาะทางใต้ของไทยนิยมใช้ขมิ้นสดทุบทอดกับปลา เพื่อขจัดความคาวและใส่ในน้ำพริกเครื่องแกงไตปลา
ขมิ้นเป็นพืชล้มลุกในตระกูลเดียวกับขิง ขยายพันธุ์ได้รวดเร็วมากในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนที่คนบริโภคก็คือเหง้า สารสำคัญจากต้นขมิ้นคือ curcumin (เดาได้ว่าคำว่าขมิ้นมาจากที่ใด) ซึ่งมีสีเหลืองสดและมีบทบาทสำคัญในการสร้างสี กลิ่นและรสชาติ
มนุษย์มักไม่บริโภคขมิ้นสดเท่ากับผงขมิ้นที่มาจากการต้ม หรือเอาขมิ้นสดไปบดจนละเอียด เมื่อตากแดดก็จะกลายเป็นผงและเป็นส่วนประกอบสำคัญของเครื่องเทศ
การบริโภคผงขมิ้นเช่นนี้ไม่เป็นปัญหา แต่ที่เป็นประเด็นขึ้นก็คือการบริโภคผงขมิ้นที่มีการผสมสารเคมีบางอย่าง ซึ่งมีส่วนผสมของสารตะกั่ว เพื่อให้สีเดิมของผงขมิ้นคือเหลืองทองออกไปทางส้ม-แดงอันเป็นที่นิยม
เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่า คนอินเดียและคนในแถบเอเชียใต้คือ บังกลาเทศและปากีสถาน มีอัตราของการเกิดตะกั่วเป็นพิษ (lead poisoning) สูงที่สุดในโลก เฉพาะในปี 2562 เป็นสาเหตุให้คนตายในบริเวณนี้ไม่ต่ำกว่า 1.4 ล้านคน และมีการประเมินว่าสภาวการณ์นี้ทำให้ ผลิตภาพ (productivity) ในการผลิตของคนเอเชียใต้ลดลง จนทำให้จีดีพีลดลง 9%
ตะกั่วเป็นพิษเป็นเรื่องน่ากลัว เพราะการบริโภคตะกั่วเข้าไปสะสมในร่างกาย โดยเฉพาะในเด็กจะทำให้มีผลต่อการเกิดโรคเกี่ยวกับหัวใจและสมองในเวลาต่อไป อีกทั้งมีผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกายและการเรียนรู้อีกด้วย
ตะกั่วเป็น neurotoxin หรือสารที่เปลี่ยนโครงสร้างหรือการทำงานของระบบประสาท เช่น พิษงู ยาฆ่าแมลง เอทิลแอลกอฮอล์ เฮโรอีน โคเคน ฯลฯ ดังนั้น จึงเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อมนุษย์
การรับตะกั่วเข้าไปในร่างกายนั้น เกิดได้จากการบริโภคน้ำที่มีสารตะกั่ว (บ่อยครั้งมาจากรอยบัดกรี เพราะตะกั่วผสมดีบุกเป็นวัสดุเชื่อมของการบัดกรีที่ดีมาก) สูดหายใจผงแห้งของสีที่มีสารตะกั่ว ร่างกายดูดซับสารตะกั่วจากโรงงานแบตเตอรี่ จากสารเคลือบเครื่องปั้นดินเผา จากเครื่องสำอาง ฯลฯ
มีงานศึกษาว่าอาณาจักรโรมันอันยิ่งใหญ่เมื่อ 2,000 กว่าปีก่อนล่มสลายไป เพราะสาเหตุใหญ่คือถูกรุกราน คอร์รัปชันและการแตกย่อยของอาณาจักร แต่ปัจจัยผสมอันหนึ่งคือคนโรมันนั้นดื่มน้ำจากท่อประปาทำด้วยตะกั่วที่ต่อจากน้ำพุใต้ดิน จนมีสารตะกั่วปนอยู่ในน้ำสูงและสะสมอยู่ในร่างกายจนเกิดปัญหาด้านสุขภาพของพลเมือง
ในเรื่องขมิ้นผง หากบริโภคโดยไม่ปนเปื้อนสารตะกั่วก็ไม่เกิดประเด็นเรื่องสุขภาพ แต่ปรากฏว่าผู้ผลิตอุตสาหกรรมผงขมิ้นในอินเดียและบังกลาเทศ เอา lead chromate ซึ่งเป็นสารเคมีฐานตะกั่วที่มีสีเหลืองสดเข้าไปผสมกับผงขมิ้นจากธรรมชาติ จนสารตะกั่วเข้าไปปนเปในอาหาร และเป็นเช่นนี้มานานจนประชาชนมีสารตะกั่วในเลือดสูงเป็นพิเศษ
เมื่อไม่นานมานี้ วารสาร Lancet Planetary Health ตีพิมพ์เรื่องราวของตะกั่วในผงขมิ้นที่บังกลาเทศ โดยมีทีมงานจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเข้าไปช่วยเหลือให้ละเลิกวิธีการปนเปื้อนดังกล่าวในปี 2562 จนประสบความสำเร็จในเวลาต่ำกว่า 2 ปี พบว่า จำนวนตัวอย่างของตะกั่วในผงขมิ้นลดจาก 47% เป็น 0% เชื่อว่าสามารถช่วยชีวิตคนได้เป็นล้าน
ความสำเร็จมาจากความร่วมมือจากนายกรัฐมนตรี รัฐบาล สื่อและประชาชน โดยระบุว่า การผสมปนเปื้อนตะกั่วดังกล่าวคืออาชญากรรม ขั้นตอนต่อไปคือการแก้ไขปัญหาในอินเดียและปากีสถาน ซึ่งการผสม lead chromate มีมากกว่าในบังกลาเทศ
เมื่อพิจารณาเรื่องนี้ในบริบทของบ้านเรา แล้วก็รู้สึกหนาว เพราะเราไม่รู้ว่าน้ำพริกเครื่องแกงบางอย่างที่ใส่ผงขมิ้นในบ้านเรานั้นนำเข้าผงขมิ้นปนเปื้อนเหล่านี้จากอินเดียและ/หรือประเทศอินเดียใต้อื่นๆ หรือไม่ มากน้อยเพียงใด
นอกจากนี้ยังเห็นยาลูกกลอนจำนวนไม่น้อยที่มีส่วนผสมของขมิ้น โดยเฉพาะลูกกลอนผงขมิ้นผสมน้ำผึ้ง ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในการช่วยระบบการย่อยอาหาร
เราน่าจะต้องระวังกัน เพราะตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา สหรัฐ แคนาดา อังกฤษ ญี่ปุ่น และเกาหลี พบสารตะกั่วปนเปื้อนในขมิ้นผงที่นำเข้าจากอินเดียและบังกลาเทศ จนต้องส่งกลับอยู่บ่อยๆ ประเทศเหล่านี้ใช้ผงขมิ้นเป็นสีผสมอาหารและเป็นที่นิยมเชิงสุขภาพ
ในบ้านเรา มีผู้อ้างว่าผลิตขมิ้นผงบริสุทธิ์อย่างไม่มีสารเจือปน แต่แพงกว่าที่นำเข้า หากต้องบริโภคก็ต้องแน่ใจว่าเป็นเรื่องจริง เพราะมิฉะนั้นจะเป็นว่าเราต้องการบริโภคขมิ้นผงเพื่อสุขภาพ หากแต่ผลเป็นไปในทางตรงกันข้าม คือกลายเป็นเหยื่อของฆาตกรผ่อนส่ง
หน่วยงานรัฐไทยต้องเคลื่อนไหวเรื่องนี้โดยเร็ว หาความจริงและแก้ไข โดยระหว่างนี้ก็ต้องป่าวร้องเตือนให้ระวังการบริโภคผงขมิ้นปนเปื้อนเพราะเป็นสิ่งร้ายแรงต่อสุขภาพอย่างยิ่ง.