'มะเร็งเล็บ'โรคร้ายที่หลายคนไม่รู้ สัญญาณเตือนดูอย่างไร?

'มะเร็งเล็บ'โรคร้ายที่หลายคนไม่รู้ สัญญาณเตือนดูอย่างไร?

‘เล็บ’ ก็เป็น ’มะเร็งเล็บ’ ได้ หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมอยู่ดีๆ เล็บก็มีเส้นหนาๆ สีดำหรือสีน้ำตาลคล้ายกระหรือรอยฟกช้ำปรากฏขึ้นในแนวตั้งบริเวณหน้าเล็บ ทั้งที่ไม่ได้ไปชน หรือเล็บกระแทกกับอะไร?

Keypoint:

  • เล็บของคนเรานั้นสามารถบ่งบอกถึงโรคได้ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะรูปทรง ผิวของเล็บ สีของเล็บ ยิ่งอยู่ดีๆ มีเส้นหนาๆ สีดำ หรือสีน้ำตาล บริเวณหน้าเล็บ ซึ่งนั่นอาจะเป็นสัญญาณเตือนโรคร้าย
  • มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา เกิดบริเวณเล็บ เป็นมะเร็งผิวหนังชนิดร้ายแรงที่พัฒนาในเซลล์เมลาโนไซต์ที่ทำหน้าที่ในการสร้างเม็ดสีบนผิวหนัง มะเร็งชนิดนี้สามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้
  • ปัจจัยที่ทำให้เกิดมะเร็งเล็บได้ มีตั้งแต่การบาดเจ็บบริเวณโคนเล็บ จากการทำเล็บ การกัด หรือ แกะเล็บ การขัดถู เสียดสี รวมถึงการตั้งครรภ์ หรือยาบางชนิด

 

การที่เล็บมีเส้นหนา ๆ สีดำหรือสีน้ำตาลคล้ายกระหรือรอยฟกช้ำปรากฏขึ้นในแนวตั้งบริเวณหน้าเล็บนั้นเข้าได้กับลักษณะที่เรียกว่า longitudinal melanonychia โดยบางครั้งอาจมาด้วยลักษณะเล็บเป็นเส้นขีด หรือปื้นสีน้ำตาลตามแนวยาวของเล็บจากโคนจนถึงส่วนปลายสุดของเล็บ

สีมีความแตกต่างกันตั้งแต่สีน้ำตาลอ่อนไปจนถึงสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ อาจมีสีสม่ำเสมอ หรือไม่สม่ำเสมอ ขนาดเป็นได้ตั้งแต่ขีดเล็กๆ ไม่ถึง  1 มิลลิเมตร ไปจนถึงปื้นสีดำทั้งเล็บ อาจมีแค่เส้นเดียว หรือหลายเส้นก็ได้ ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว

โดยกรณีมีเส้นเดียวอาจมีสาเหตุมาจากการเป็นไฝบริเวณโคนเล็บ เป็นต้น สำหรับกรณีที่มีเส้นหลายเส้นมักมีสาเหตุมาจากการกระตุ้นการทำงานของเซลล์สร้างเม็ดสีให้ทำงานผิดปกติเช่น

ทั้งนี้  การทำให้เกิดการได้รับบาดเจ็บบริเวณเล็บ ยาบางชนิด เช่น zidovudine ยาเคมีบำบัด หรือโรคบางชนิด เป็นต้น รวมถึงอาจพบได้เป็นปกติในคนที่มีผิวสีคล้ำอีกด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

สัญญาณเตือน มะเร็งเล็บที่ควรรู้ 

ถึงแม้ว่าสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดเล็บเป็นเส้นสีน้ำตาลนั้นมักจะไม่ใช่โรคร้ายแรงที่ก่อให้เกิดอันตราย แต่อย่างไรก็ตามบางครั้งอาการดังกล่าวอาจเป็นอาการแสดงของมะเร็งผิวหนังได้

มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา บริเวณเล็บ (nail melanoma) พบได้ไม่บ่อย แต่มีความรุนแรง ดังนั้นจึงเป็นโรคที่ควรได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรวดเร็ว เพื่อลดโอกาสเสี่ยงของการกระจายของเซลล์มะเร็งไปที่ต่อมน้ำเหลืองและบริเวณอื่นๆของร่างกาย การวินิจฉัยอาศัยการตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา

สำหรับอาการแสดงที่ทำให้สงสัยว่าอาจจะเป็นโรคมะเร็งเช่น เส้นสีน้ำตาล หรือดำบริเวณเล็บที่มีขอบเขตไม่ชัดเจน สีไม่สม่ำเสมอ มีขนาดใหญ่มากกว่าหรือเท่ากับ 3 มิลลิเมตร พบอาการแสดงอื่นๆ นอกจากเส้นสีน้ำตาลที่เล็บร่วมด้วย เช่น มีการเปลี่ยนแปลงของผิวเล็บ มีเม็ดสีกระจายผิดปกติที่ขอบเล็บ (Hutchinson’s sign) มีแผล มีก้อน หรือเลือดออกง่ายเป็นต้น

\'มะเร็งเล็บ\'โรคร้ายที่หลายคนไม่รู้ สัญญาณเตือนดูอย่างไร?

 

โดยเฉพาะในคนที่เริ่มมีอาการครั้งแรกในวัยกลางคน หรือในวัยสูงอายุ ร่วมกับมีประวัติครอบครัวของการเป็นมะเร็งชนิดนี้มาก่อน ให้สงสัยว่าอาจจะเป็นมะเร็งได้ ดังนั้นกรณีที่พบเส้นสีน้ำตาลที่เล็บที่มีลักษณะดังที่กล่าวมาข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง

มะเร็งผิวหนังเมลาโนมาเป็นมะเร็งผิวหนังชนิดร้ายแรงที่พัฒนาในเซลล์เมลาโนไซต์ที่ทำหน้าที่ในการสร้างเม็ดสีบนผิวหนัง มะเร็งชนิดนี้สามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายโดยเฉพาะในบริเวณจมูกและลำคอ สาเหตุมะเร็งผิวหนังเมลาโนมายังไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตามรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ถือเป็นปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังได้

แถบสีน้ำตาลบนเล็บ เกิดจากอะไรได้บ้าง

เซลล์เม็ดสีที่อยู่บริเวณโคนเล็บถูกกระตุ้นจากปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่

  • การบาดเจ็บบริเวณโคนเล็บ จากการทำเล็บ การกัด หรือ แกะเล็บ การขัดถู เสียดสี เช่น จากการสวมรองเท้าหัวแคบ
  • ยา เช่น ยาเคมีบำบัด ยาต้าน HIV บางชนิด
  • การฉายแสง
  • การตั้งครรภ์
  • โรคทางพันธุกรรมบางชนิดที่ทำให้มีเม็ดสีเพิ่มจำนวนขึ้นตามผิวหนัง เยื่อบุ ต่าง ๆ
  • โรคแอดดิสัน (Addison’s disease) จากต่อมหมวกไตทำงานบกพร่อง
  • การติดเชื้อ HIV
  • เกิดตามหลังโรคสะเก็ดเงินของเล็บ การติดเชื้อราของเล็บ

 

อาการโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา

มะเร็งผิวหนังเมลาโนมาสามารถเกิดขึ้นในบริเวณใด ๆ ก็ได้ในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่ต้องเผชิญกับแสงแดดเช่น ใบหน้า แขน หลัง และขา ผู้ที่มีผิวสีเข้มอาจมีมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาซ่อนอยู่ในบริเวณที่ไม่ได้รับแสงแดดเช่น ฝ่ามือ เท้า และเล็บเท้า

ผู้ที่เป็นมะเร็งผิวหนังชนิดนี้ ในช่วงแรกอาจพบการเปลี่ยนแปลงของไฝที่มีอยู่ หรือการพัฒนาของเม็ดสีใหม่ หรือการเติบโตที่ผิดปกติบนผิวหนัง คุณอาจเพิ่มความตระหนักถึงมะเร็งผิวหนังหากไฝของคุณมีอาการดังต่อไปนี้

  • มีรูปร่างผิดปกติ
  • มีเส้นขอบที่ผิดปกติ
  • เปลี่ยนสี
  • เป็นการไฝที่เกิดขึ้นใหม่และมีขนาดใหญ่กว่าหกมิลลิเมตร
  • เกิดการเปลี่ยนแปลง
  • เกิดอาการอื่นๆ เช่น เลือดออก หรือคัน

\'มะเร็งเล็บ\'โรคร้ายที่หลายคนไม่รู้ สัญญาณเตือนดูอย่างไร?

มะเร็งผิวหนังเมลาโนมาที่ซ่อนอยู่

มะเร็งผิวหนังเมลาโนมาสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ในร่างกายไม่ว่าจะโดนแสงแดดหรือไม่ก็ตามเช่น

  • ใต้เล็บ
  • ในปาก
  • ในระบบทางเดินอาหาร
  • ในทางเดินปัสสาวะ
  • ในช่องคลอด
  • ในสายตา

 

เมื่อไหร่ถึงควรไปพบแพทย์? 

มะเร็งผิวหนังเมลาโนมาเป็นผลมาจากความผิดปกติของการผลิตเมลาโนไซต์ที่สร้างเม็ดสีผิว ความเสียหายของดีเอ็นเอทำให้เซลล์ใหม่เติบโตอย่างไม่สามารถควบคุมได้และไม่เป็นระเบียบ จึงทำให้เซลล์มะเร็งมีจำนวนมากขึ้น

อย่างไรก็ตามสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดภาวะนี้ยังไม่ชัดเจน ทั้งนี้นอกเหนือจากปัจจัยทางพันธุกรรมแล้ว สภาพแวดล้อมและการสัมผัสกับรังสีอัลตราไวโอเลตถือเป็นปัจจัยที่เป็นไปได้ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนัง

 

เช็กปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดมะเร็งเล็บได้

ปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังอาจรวมถึง

  • ผิวขาว
  • ประวัติการถูกแดดเผา
  • การสัมผัสกับรังสีอัลตราไวโอเลต (UV)
  • อาศัยอยู่ในบริเวณเส้นศูนย์สูตรหรือที่สูง
  • ไฝหรือไฝที่ผิดปกติ
  • ประวัติครอบครัวที่เป็นมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา
  • ระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ

 

เล็บมีสีผิดปกติ เป็นอะไรได้บ้างนอกจากมะเร็งผิวหนัง

การที่เล็บมีสีผิดปกติไม่จำเป็นต้องเกิดจากมะเร็งผิวหนังเสมอไป สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เล็บเปลี่ยนสีได้ มีดังนี้

1.แถบเล็บดำที่เป็นหลาย ๆ นิ้ว อาจเกิดจาก

  • เม็ดสีปกติในผู้ที่มีสีผิวเข้ม
  • ผิวหนังอักเสบรอบ ๆ เล็บ สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนสีของเล็บได้
  • อาจเป็นผลจากยาบางชนิดเช่น Azidothymidine (AZT) เป็นต้น
  • ภาวะเลือดออกใต้เล็บ: มักเกิดในเล็บที่ได้รับการกระแทกบ่อย เช่น เล็บเท้าในกรณีที่ออกกำลังกายบ่อย เป็นต้น ภาวะนี้ส่วนใหญ่จะทำให้เล็บมีสีแดงเข้ม หรือ น้ำตาลเข้ม

2. ภาวะเล็บเขียว: เกิดจาก

การติดเชื้อ แบคทีเรีย หรือเชื้อรา

มักเกิดในเล็บมือที่มีการใช้บ่อย เช่น ในบุคคลที่ทำงานบ้านเป็นหลัก และ มือมีการเปียกชื้นตลอดเวลา เป็นต้น

 

วินิจฉัยโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา

ในการวินิจฉัยเนื้องอกแพทย์จะทำการตรวจร่างกายและอาจทำการตรวจชิ้นเนื้อโดยการตัดตัวอย่างเนื้อเยื่อบางส่วนเพื่อทำการทดสอบ

  • ในการกำหนดขอบเขตหรือระยะของเนื้องอกแพทย์จะทำการดังต่อไปนี้
  • กำหนดความหนาของเนื้องอก
  • สังเกตการแพร่กระจายของเนื้องอกไปยังต่อมน้ำเหลือง
  • มองหาสัญญาณของมะเร็งในส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย

 

วิธีการตรวจเล็บด้วยตัวเองสามารถยึดหลักง่าย ๆ ดังนี้

1. แถบหรือเส้นสีน้ำตาลวิ่งตามความยาวของเล็บ: ตรวจดูว่าแถบสีน้ำตาลนั้นคมชัดดีหรือไม่ ถ้าคมชัดดีและมีความกว้างไม่เกิน 6 มม. ถือว่าโอกาสที่จะเป็นมะเร็งค่อนข้างต่ำมาก หากแถบสีมีความกว้าง สีไม่สม่ำเสมอ ขอบไม่คมชัด หรือ มีการเปลี่ยนสีและขนาด แนะนำว่าควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเร็วที่สุด

2. เม็ดสีบนจมูกเล็บ: หากสีน้ำตาลหรือดำเลอะขึ้นมาถึงจมูกเล็บ (Hutchinson’s sign) มักเป็นสัญญาณที่ไม่ดี และ ควรไปพบแพทย์

3. ก้อนเนื้อใต้เล็บ: อาจทำให้เล็บแยกออกจากฐานด้านล่าง ถ้าสังเกตเห็นว่าเล็บมีลักษณะนี้แนะนำว่าควรพบแพทย์เช่นกัน

 

การรักษามะเร็งผิวหนังเมลาโนมา

การรักษามะเร็งผิวหนังเมลาโนมาขึ้นอยู่กับขนาดและระยะของมะเร็ง แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดนำส่วนที่เป็นมะเร็งออกสำหรับผู้ที่มีมะเร็งขนาดเล็ก การผ่าตัดอาจเป็นวิธีการรักษาเดียวที่จำเป็นสำหรับผู้ที่มีเนื้องอกในระยะเริ่มต้น

สำหรับผู้ที่มีเนื้องอกที่แพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายการรักษาอาจรวมถึงวิธีการดังต่อไปนี้

  • การผ่าตัดเอาต่อมน้ำเหลืองที่ได้รับผลกระทบออก
  • ภูมิคุ้มกันบำบัด
  • การบำบัดแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์
  • การรักษาด้วยรังสี
  • เคมีบำบัด

 

เตรียมตัวให้พร้อมก่อนพบแพทย์

ก่อนการนัดหมายคุณควรตระหนักถึงข้อจำกัดก่อนการนัดหมาย และเตรียมข้อมูลบางอย่าง เช่น

  • อาการที่เกิดขึ้น
  • ข้อมูลส่วนบุคคลที่สำคัญของคุณ
  • ยาทั้งหมดที่คุณกำลังใช้อยู่
  • คำถามที่คุณต้องการถามแพทย์

โรคมะเร็งที่อยู่ใต้เล็บสามารถพบได้ในชาวเอเชีย หรือคนผิวดำแต่ไม่บ่อยนัก ส่วนใหญ่เล็บที่มีแถบสีดำขึ้นมักจะยังไม่ถึงขั้นที่เข้าข่ายเป็นเนื้อร้าย แต่การตรวจดูเล็บเป็นประจำจะสามารถช่วยให้เราไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้เร็วขึ้น และได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและรวดเร็วก่อนที่จะมีการลามไปที่อวัยวะอื่น หากมีเส้นขีด เป็นปื้นๆสีน้ำตาลหรือสีดำบนเล็บ ให้สังเกตความผิดปกติเพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมาบริเวณเล็บ (nail melanoma) ได้

 

 

อ้างอิง:  ศูนย์มะเร็งตรงเป้า โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต  ,โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต , โรงพยาบาลเมดพาร์ค