‘Anaphylaxis’ ภาวะแพ้รุนแรง อาจตายได้ภายในครึ่งชั่วโมง
“ภาวะแพ้รุนแรง (Anaphylaxis)” คือ สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังเป็นอย่างมากในผู้ป่วย “โรคภูมิแพ้” เพราะนอกจากจะมีอาการรุนแรงกว่าการแพ้ปกติแล้ว ยังเสี่ยงที่จะเสียชีวิตภายใน 30 นาที ถ้าไม่ได้รับการรักษา ถึงแม้ไม่ได้สัมผัสสารก่อภูมิแพ้โดยตรงก็สามารถมีอาการรุนแรงไม่ต่างกัน
Key Points:
- “ภาวะแพ้รุนแรง” หรือ Anaphylaxis เป็นอาการที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันในผู้ป่วย “โรคภูมิแพ้” บางคน แม้ว่าจะไม่ได้สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้โดยตรงก็ตาม เพราะระบบภูมิต้านทานไวต่อสารเหล่านั้นมากกว่าปกติ
- สิ่งที่ทำให้ภาวะแพ้รุนแรงอันตรายกว่าอาการแพ้ทั่วไปก็คือ ระบบของร่างกายมีปัญหาพร้อมกันมากกว่า 1 ระบบ ในเวลาเดียวกันหรือไล่เลี่ยกัน นำไปสู่การเสียชีวิตในเวลาเพียงไม่กี่นาทีถ้าไม่ได้รับการรักษา
- นอกจากการหลีกเลี่ยง “สารก่อภูมิแพ้” ในแต่ละวันแล้ว ผู้ป่วยจำเป็นต้องบอกให้คนรอบข้างรู้ด้วยว่าตนเองแพ้อะไร มีอาการแบบไหน และควรพกยาฉุกเฉินติดตัวไว้เสมอ
“ภาวะแพ้รุนแรง” หรือ Anaphylaxis (อนาฟัยแลกซิส : อ้างอิงจากศิริราช) คือ ปฏิกิริยาของร่างกายที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและเฉียบพลันในกลุ่มผู้ป่วย “โรคภูมิแพ้” โดยเกิดขึ้นเมื่อร่างกายถูกสารก่อภูมิแพ้กระตุ้น ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม เพราะ “ระบบภูมิต้านทาน” ไวต่อสารเหล่านั้นมากกว่าคนปกติ ส่งผลให้ระบบอวัยวะต่างๆ ของร่างกายมีปัญหาและอาจทำให้เสียชีวิตในเวลาเพียงไม่นาน
ก่อนหน้านี้ในปี 2012 หลายคนคงเคยเห็นข่าวหญิงสาววัย 20 ปี ที่เสียชีวิตหลังจูบกับแฟนหนุ่มที่รับประทานแซนด์วิชที่มีส่วนผสมของ “เนยถั่ว” มาก่อนที่จะมาพบเธอ ถึงแม้จะเรียกรถพยาบาลมาแต่ก็ไม่ทันเวลา เพราะเธอเสียชีวิตระหว่างเดินทางไปโรงพยาบาล และเมื่อย้อนกลับไปในปี 2006 ก็เคยมีกรณีคล้ายกันเกิดขึ้นมาแล้วกับเด็กสาวอายุเพียง 15 ปี ที่มีอาการแพ้เนยถั่วรุนแรงเช่นเดียวกัน
- “ภาวะแพ้รุนแรง” ต่างจากอาการแพ้ธรรมดาอย่างไร
อาการแพ้แบบทั่วๆ ไป มักเกิดกับระบบใดระบบหนึ่งของร่างกาย เมื่อถูกกระตุ้นโดยสารก่อภูมิแพ้ และมีอาการไม่รุนแรงมากนัก สามารถรักษาตามอาการได้เหมือนอาการป่วยปกติ เช่น กินยา หรือทายา แต่ภาวะแพ้รุนแรงส่งผลให้ระบบของร่างกายมีปัญหาพร้อมกันมากกว่า 1 ระบบ ในเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ภายใน 30 นาที หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที โดยอาการแพ้จะเกิดขึ้นภายในเวลาไม่กี่นาทีไปจนถึง 2 ชั่วโมง หลังถูกกระตุ้น
สำหรับอาการของภาวะแพ้รุนแรงอันเนื่องมาจากการทำงานที่ผิดปกติของระบบในร่างกายหลายระบบด้วยกัน และอาจแสดงออกมาพร้อมๆ กัน มีดังนี้
1. ระบบผิวหนังและเยื่อบุ เช่น อาการคัน ตัวแดง ผื่นลมพิษ ปากบวม หน้าบวม
2. ระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงวี้ด หลอดลมตีบ คัดจมูก หายใจติดขัด รู้สึกเหมือนมีสิ่งอุดตันในลำคอ
3. ระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว
4. ระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด ความดันต่ำ
เมื่อระบบในร่างกายทำงานผิดปกติพร้อมๆ กัน ส่งผลให้บางคนเกิดอาการแน่นหน้าอก ชัก สับสน หมดสติ และเสียชีวิตจากภาวะช็อกหรือขาดอากาศหายใจเพราะกล่องเสียงและหลอดลมบวมตีบ
แม้ว่าจะได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้ว ผู้ป่วยและคนใกล้ชิดยังจำเป็นต้องเฝ้าระวังอาการอย่างต่อเนื่อง เพราะอาจเกิดภาวะแพ้รุนแรงซ้ำได้อีกครั้งภายใน 8-24 ชั่วโมง โดยมีโอกาสเกิดซ้ำถึงร้อยละ 21-43 และอย่างน้อย 1 ใน 3 เกิดซ้ำจากการแพ้สารตัวเดิม
- สาเหตุของ “อาการแพ้” มาจากไหน และใครคือกลุ่มเสี่ยง
ภาวะแพ้รุนแรงเกิดจาก มีการกระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวบางชนิดบริเวณผิวหนังเยื่อบุและอวัยวะภายในต่างๆ รวมถึงภายในหลอดเลือดปล่อยสาร “ฮีสตามีน (Histamine)” ออกมา จึงเกิดอาการผิดปกติตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย
สำหรับสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือ แพ้อาหาร เช่น นมวัว ถั่ว อาหารทะเล แป้งสาลี ไข่ขาว ตามมาด้วยแพ้ยา เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาแอสไพริน ยากันชัก เป็นต้น
นอกจากนี้ยังเกิดจากการแพ้พิษของแมลงบางชนิด เช่น ผึ้ง ต่อ แตน มดคันไฟ ในบางคนแพ้ถุงมือยางหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทำจากลาเท็กซ์ แต่ก็ยังมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่มีอาการแพ้แบบหาสาเหตุไม่ได้
ผู้ที่มีความเสี่ยงจะเกิด “ภาวะแพ้รุนแรง” สามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่
1. “เด็กทารก” เพราะไม่สามารถสื่อสารได้ ทำได้แค่เพียงสังเกตอาการอย่างเดียว
2. “ผู้สูงอายุ” ที่มีโรคประจำตัวและจำเป็นต้องใช้ยาหลายชนิดในการรักษา รวมถึงแพ้พิษจากแมลงบางชนิด
3. ผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคหอบหืด และโรคหัวใจ ส่งผลให้เกิดอาการแพ้รุนแรงกว่าคนทั่วไปหากถูกกระตุ้นจากสารก่อภูมิแพ้
4. ผู้ที่ต้องกินยาบางชนิดเป็นประจำ เช่น ยาลดความดันโลหิตเนื่องจากออกฤทธิ์ต้านกับยารักษาอาการแพ้ ทำให้การรักษาเกิดความล่าช้า
- การรักษาและเฝ้าระวังภาวะแพ้รุนแรงในเบื้องต้น
สิ่งที่จำเป็นที่สุดสำหรับผู้ที่เป็น “โรคภูมิแพ้” นอกจากต้องหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ก็คือ ต้องบอกให้คนใกล้ชิดหรือคนใกล้ตัวทราบไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ว่าตนเองมีอาการแพ้อะไรบ้าง เพื่อที่คนอื่นจะได้หลีกเลี่ยงการเพิ่มความเสี่ยงให้กับผู้ป่วย เช่น ระมัดระวังการปรุงอาหาร หรือการให้ยาบางชนิด รวมถึงแจ้งโรงพยาบาลได้ทันหากผู้ป่วยเกิดภาวะแพ้รุนแรง
โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติแพ้รุนแรง นอกจากหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้แล้ว ควรพกชุดยาฉุกเฉิน “เอพิเนฟรีน” (Epinephrine emergency kit) ติดตัวไว้เสมอ เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน รวมถึงพกบัตรแพ้ยาหรือแพ้อาหารติดตัวไว้ พร้อมระบุสาเหตุและอาการแพ้ชนิดรุนแรงไว้เบื้องต้น เพื่อให้ง่ายต่อการรักษา
ในส่วนของการรักษานั้น เมื่อแพทย์ซักประวัติและประเมินอาการแล้วก็จะทำการรักษาตามอาการ เช่น ฉีดยาอิพิเนฟริน (Epinephrine) ที่กล้ามเนื้อต้นขา ให้ยาแก้แพ้ ในบางคนต้องพ่นยาขยายหลอดลมและให้ออกซิเจน
แม้ว่าเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันจะทำให้รักษา “ภาวะแพ้รุนแรง” ได้ดีขึ้น ทั้งการรักษาด้วยตนเองในเบื้องต้น ไปจนถึงการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล แต่สิ่งที่ผู้ป่วย “โรคภูมิแพ้” หลายคนจำเป็นต้องให้ความสนใจมากขึ้นก็คือ การบอกให้คนรอบข้างรับรู้และเข้าใจว่า ภาวะแพ้รุนแรงแตกต่างกับอาการแพ้ทั่วไปเป็นอย่างมาก เพราะแม้ว่าไม่ได้รับสารกระตุ้นทางตรงก็ทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเกสรดอกไม้ที่ติดมาจากเสื้อผ้าคนอื่น หรือคราบอาหารที่อาจจะยังล้างออกไม่หมด ก็ล้วนแต่เป็นอันตรายทั้งสิ้น
ท้ายที่สุดนี้ผู้เป็น “โรคภูมิแพ้” ควรเข้ารับการทดสอบจากแพทย์ว่าตนเองแพ้สารอะไรบ้าง เพราะนอกจากจะทำให้หลีกเลี่ยงอาการป่วยได้แล้ว ยังป้องกันการเสียชีวิตจากภาวะแพ้รุนแรงที่อาจตามมาได้ด้วย
อ้างอิงข้อมูล : NHS, Teen Vogue, โรงพยาบาลสมิติเวช, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย