'การนอนหลับ' ที่ดี 7-9 ชั่วโมง เชื่อมโยงกับ 'ความพึงพอใจ' ในชีวิต

'การนอนหลับ' ที่ดี 7-9 ชั่วโมง เชื่อมโยงกับ 'ความพึงพอใจ' ในชีวิต

วิจัยเผย คนที่รู้สึกพึงพอใจกับชีวิตตนเองจะ "นอนหลับ" ดีขึ้น ขณะที่การนอนหลับที่ดี (7-9 ชั่วโมง/วัน) ก็ช่วยให้ผู้คนพึงพอใจกับชีวิตตนเองมากขึ้นได้เช่นกัน

Key Points:

  • “สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ” ชี้ว่า วัยผู้ใหญ่ที่ “นอนหลับน้อยกว่า 7 ชั่วโมง/วัน” ไม่ถือว่าเป็นการนอนหลับที่ดี แต่กลับนำไปสู่ "ภาวะอดนอนเรื้อรัง"
  • จริงๆ แล้ว “วัยทำงาน” ต้องการเวลานอนหลับประมาณ 7-9 ชั่วโมง/วัน ซึ่งเป็นการพักผ่อนที่เพียงพอและเหมาะสมที่สุด (สามารถตื่นได้เองโดยไม่ใช้นาฬิกาปลุกและไม่ต้องงีบระหว่างวัน)
  • ที่น่าสนใจไปมากกว่านั้น คือ การนอนหลับที่ดียังเชื่อมโยงกับ “ความพึงพอใจในชีวิต” 

หลายคนคงทราบดีกว่า “การนอนหลับที่ดี” มีความสำคัญต่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตโดยรวม ยืนยันจากข้อมูลของ “สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ” ที่ระบุว่าหากวัยผู้ใหญ่ “นอนหลับน้อยกว่า 7 ชั่วโมง/วัน” นั่นไม่ใช่การนอนหลับที่ดี แต่กลับนำไปสู่ภาวะอดนอนเรื้อรัง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจ โรคความดัน โรคเบาหวาน ฯลฯ อีกทั้งยังทำให้ความสามารถในการคิด ความจำ การเรียนรู้ และสมาธิลดลง

ในความเป็นจริงแล้ว “วัยทำงาน” ต้องการเวลานอนหลับประมาณ 7-9 ชั่วโมง/วัน ซึ่งเป็นการพักผ่อนที่เพียงพอและเหมาะสมที่สุด (สามารถตื่นได้เองโดยไม่ใช้นาฬิกาปลุกและไม่ต้องงีบระหว่างวัน) หากเราสามารถนอนหลับได้เต็มที่ดังกล่าว นอกจากป้องกันโรคร้ายแรงได้แล้ว ยังส่งผลให้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอีกด้วย 

 

  • “การนอนหลับ” ที่ดีเชื่อมโยงกับ “ความพึงพอใจในชีวิต” ในรูปแบบ 2 ทิศทาง 

ที่น่าสนใจไปมากกว่านั้นคือ การนอนหลับที่ดียังเชื่อมโยงกับ “ความพึงพอใจในชีวิต” อีกด้วย เรื่องนี้ ดร.เอลลี กอตลีบ นักวิทยาศาสตร์การนอนหลับประยุกต์ของ SleepScore Labs อธิบายว่า การนอนหลับที่ดีเชื่อมโยงกับความสุขและความพึงพอใจในชีวิต โดยความเชื่อมโยงดังกล่าวเป็นไปแบบ 2 ทิศทาง กล่าวคือ 

1. เมื่อคนเรามีความพึงพอใจในชีวิตและความสุข สามารถสนับสนุนพฤติกรรมการนอนหลับที่ดีต่อสุขภาพได้

2. การนอนหลับที่มีคุณภาพ ก็ช่วยส่งเสริมจิตใจและสุขภาพทางอารมณ์ได้เช่นกัน 

ทั้งนี้ทีมวิจัย SleepScore Labs ได้สำรวจความเห็นของผู้เข้าร่วมทดสอบจำนวน 1,600 คน พบว่า 61% ของผู้เข้าร่วมที่พอใจกับชีวิตนั้น พวกเขารายงานว่ามีคุณภาพการนอนหลับที่น่าพอใจเช่นกัน ขณะที่ 28% ของผู้เข้าร่วมที่มีปัญหาชีวิต รายงานว่าการนอนหลับของพวกเขาไม่เป็นที่น่าพอใจ

\'การนอนหลับ\' ที่ดี 7-9 ชั่วโมง เชื่อมโยงกับ \'ความพึงพอใจ\' ในชีวิต

 

  • ผู้ที่พอใจกับชีวิตจะนอนหลับเร็วขึ้น 13% ตื่นน้อยลง 2.4%

นอกจากนี้ กลุ่มที่รายงานว่ารู้สึกพึงพอใจกับชีวิตมีคะแนนการนอนหลับโดยเฉลี่ย 79.5 คะแนน ซึ่งสูงกว่ากลุ่มที่รายงานว่าไม่มีความพอใจกับชีวิต โดยมีคะแนนการนอนหลับเฉลี่ยอยู่ที่ 77 คะแนน ทั้งนี้ แม้จะเป็นความแตกต่างเล็กน้อยแต่ก็มีนัยสำคัญทางสถิติ

ไม่เพียงเท่านั้น นักวิจัยยังได้พิจารณาถึงเวลานอนหลับทั้งหมด ได้แก่ เวลาที่ตื่นหลังจากหลับไป และเวลาการนอนหลับแฝง (เวลาที่ใช้เพื่อหลับหลังจากปิดไฟ) ผลการศึกษาพบว่า ผู้ที่แสดงความพอใจกับชีวิตของตนจะนอนหลับเร็วขึ้น 13% ตื่นน้อยลง 2.4% นอนหลับนานขึ้นเกือบ 2% และประสิทธิภาพการนอนหลับสูงขึ้นเกือบ 2% ซึ่งตัวเลขทั้งหมดนี้สูงกว่าผู้ที่รายงานว่าพวกเขาไม่พึงพอใจในชีวิต

“ผู้ที่มีประสบการณ์ความพึงพอใจในชีวิตจะใช้เวลานอนหลับเพิ่มขึ้นประมาณ 6 นาทีทุกคืน (เท่ากับนอนได้มากขึ้นเกือบ 45 นาทีต่อสัปดาห์) แม้จะเพียงเล็กน้อย แต่ก็อาจมีผลกระทบสะสมเมื่อเวลาผ่านไป” ดร.เอลลี กอตลีบ อธิบายพร้อมสรุปว่า “ผู้ที่มีความพึงพอใจในชีวิตจะมีการนอนหลับที่ดีขึ้นทั้งในด้านความรู้สึก จิตใจ และด้านกายภาพร่างกาย”

\'การนอนหลับ\' ที่ดี 7-9 ชั่วโมง เชื่อมโยงกับ \'ความพึงพอใจ\' ในชีวิต

 

  • ในทางตรงข้าม "การนอนหลับที่ดี" ก็ทำให้คนเราพึงพอใจในชีวิตได้มากขึ้นเช่นกัน

แต่ในขณะเดียวกัน แม้จะเป็นคนที่มีความพึงพอใจในชีวิตอยู่แล้ว แต่มีปัญหาด้านการนอน เช่น นอนไม่หลับ นอนไม่เพียงพอ ฯลฯ ก็อาจทำให้เกิดความหงุดหงิด ความไม่ปลอดโปร่ง-ไม่สบายใจมากขึ้น นำไปสู่การขาดแรงจูงใจในการทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งอาจทำให้ความพึงพอใจลดลงได้เช่นกัน

ดังนั้น เราจึงควรฝึกวิธีที่จะช่วยให้นอนหลับดีอย่างสม่ำเสมอ ได้แก่ กำจัดสิ่งรบกวนก่อนนอน เช่น หยุดเล่นโซเชียลมีเดีย, ฝึกเข้านอน-ตื่นนอนเป็นเวลาทุกวัน, กำหนดเวลานอนให้เพียงพอ 7 ชั่วโมงขึ้นไป, กำจัดเสียง-แสงรบกวน, การพบนักจิตบำบัด ฯลฯ

โดยสรุปการวิจัยแสดงให้เห็นว่า ความพึงพอใจในชีวิตอาจช่วยให้คุณพักผ่อนได้ง่ายขึ้น หรืออาจเป็นได้ว่าการพักผ่อนง่ายขึ้นช่วยให้คุณรู้สึกพอใจกับชีวิตมากขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งมันสามารถเป็นไปได้ทั้งสองทาง

ดร.เอลลี กอตลีบ บอกอีกว่า การค้นหาวิธีเพิ่มความพึงพอใจในชีวิตโดยรวม แล้วนำมาผสมผสานกับพฤติกรรมการนอนหลับที่ดี อาจส่งผลดีต่อจิตใจและร่างกายอย่างมีนัยสำคัญ และยังรวมถึงความสามารถในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดในระหว่างวันด้วย