'คลินิกสุขภาพเพศ' ครบวงจรดูแลเพศหลากหลาย บนพื้นฐานอย่างเท่าเทียม
คำว่า 'เพศ' ไม่ได้จำกัดเฉพาะเพศหญิง และเพศชาย เท่านั้น สังคมมีความรู้ ความเข้าใจ และยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศได้มากขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้ สภาผู้แทนราษฎร มีมติรับหลักการร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม LGBTQIA+ สามารถแต่งงาน รับสิทธิความเท่าเทียม
Keypoint:
- สังคมไทยให้การยอมรับเรื่องเพศ ความหลากหลายทางเพศมากขึ้น การติดต่อหรือเข้ารับการปรึกษาปัญหาเรื่องเพศ จึงเป็นเรื่องเปิดเผยมากขึ้นกว่าในอดีต
- ผู้มีปัญหาเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์หรือปัญหาฮอร์โมนเพศ ดูจะเป็นเรื่องพื้นฐานที่ใกล้ตัวและหลายคนกำลังประสบมาโดยตลอด
- 'คลินิกสุขภาพเพศ’ คลินิกที่เปิดให้บริการสารพัดปัญหาสุขภาพเพศแบบครบวงจร ดูแลคนทุกเพศ โดยเฉพาะคนข้ามเพศ LGBTQIA+ ให้สามารถได้รับบริการทางการแพทย์
โลกสมัยใหม่เปิดเสรีและรับรองสิทธิของคนข้ามเพศมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ปมด้านสุขภาพของคนกลุ่มนี้ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ กลับไม่เป็นที่พูดถึงหรือเป็นเรื่องที่พูดคุยกันในวงจำกัด
ความรู้สึกเป็น ‘คนอื่น’ ในร่างกายตัวเองกลายเป็นเรื่องเฉพาะคนบางกลุ่มที่สนใจศึกษา หลายหัวข้อสนทนา อาทิ อัตลักษณ์ทางเพศโดยกำเนิดที่ไม่สอดคล้องกับเพศสภาพปัจจุบัน กายเป็นชายแต่ใจปรารถนาจะเป็นหญิง หรือสลับกัน
ในอดีตกลุ่มคนข้ามเพศ (Transgender People) หรือผู้ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศแตกต่างจากเพศกำเนิดมักพบเจอกับข้อจำกัดในการเข้ารับบริการทางการแพทย์ ไม่ได้รับการแนะนำการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมรวมถึงการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะกลุ่มคนข้ามเพศมีความจำเป็นต้องเข้ารับบริการทางการแพทย์เพิ่มมากยิ่งขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ทำความรู้จัก 'คลินิกสุขภาพเพศ'
ด้วยทำนองดังกล่าว ก็ล้วนถูกปัดให้เป็นปัญหาด้านอัตลักษณ์ส่วนบุคคล ไม่ใช่ประเด็นสาธารณะที่คนทั้งสังคมพึงใส่ใจ ศูนย์บริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพเฉพาะทางที่ได้รับการออกแบบและสร้างขึ้นเพื่อคนข้ามเพศโดยเฉพาะจึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนในสังคมปัจจุบัน
สำหรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQIA เป็นกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศ หรือรสนิยมทางเพศที่แตกต่างไปจากคนส่วนใหญ่ในสังคม โดยย่อมาจากดังนี้
L - Lesbian กลุ่มผู้หญิงรักผู้หญิง
G - Gay กลุ่มผู้ชายรักผู้ชาย
B - Bisexual กลุ่มที่รักได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง
T - Transgender คือกลุ่มคนข้ามเพศ จากเพศชายเป็นเพศหญิง หรือเพศหญิงเป็นเพศชาย
Q - Queer คือ กลุ่มคนที่พึงพอใจต่อเพศใดเพศหนึ่ง โดยไม่ได้จำกัดในเรื่องเพศ และความรัก
I : Intersex คือ คนที่มีเพศกำกวม หรือคนที่มีโครงสร้างระบบสืบพันธุ์ โครโมโซม อวัยวะเพศที่ไม่สามารถแบ่งเป็นหญิงหรือชายได้
A : Asexual คือ คนที่ไม่ฝักใฝ่ทางเพศหรือไม่ต้องการมีความสัมพันธ์ทางเพศ
จากโจทย์ข้างต้นทำให้ หลายๆ โรงพยาบาล รวมถึงโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จัดตั้ง ‘คลินิกสุขภาพเพศ’ โดยร่วมมือกับคณาจารย์จากสาขาเวชศาสตร์ทางเพศและวัยหมดระดู ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้บริการสารพัดปัญหาสุขภาพแบบครบวงจรเพื่อย้ำความสำคัญของคนข้ามเพศในสังคมไทยปัจจุบัน
นอกจากนั้น คลินิกสุขภาพเพศแห่งนี้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้เฉพาะทางให้แก่แพทย์ นักเรียนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่สนใจ อีกทั้งยังเป็นศูนย์วิจัยระดับนานาชาติด้านสุขภาพของคนข้ามเพศร่วมกับ Center of Excellence in Transgender Health (CETH) แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย
บริการดูแลสุขภาพทุกเพศอย่างเท่าเทียม
รศ.นพ.กระเษียร ปัญญาคำเลิศ หัวหน้าสาขาเวชศาสตร์ทางเพศและวัยหมดระดู ฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการก่อตั้งคลินิกสุขภาพเพศ (Gender Health Clinic) เมื่อวันจันทร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2561 มีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นการบริการแบบองค์รวมแก่บุคคลข้ามเพศ ผู้ที่มีปัญหาทางเพศทุกรูปแบบทุกเพศ ทุกวัย และสตรีวัยหมดระดูที่ประสบปัญหาอันเนื่องมาจากฮอร์โมนเพศที่ลดลง
รวมถึงยังมุ่งเน้นงานทางวิชาการ สร้างสรรค์และถ่ายทอดความรู้ทางด้านเวชศาสตร์ทางเพศและสตรีวัยหมดระดู เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำทางด้านการเรียนการสอนทั้งระดับปริญญาบัณฑิต การฝึกอบรมของแพทย์ประจำบ้านและแพทย์ประจำบ้านต่อยอด รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ในทุกสาขาและการวิจัยค้นคว้าเพื่อสรรสร้างนวัตกรรมและแนวคิดใหม่ๆ ของศาสตร์ทางด้านนี้
- หน่วยศัลยกรรมตกแต่งและเสริมสร้าง ฝ่ายศัลยศาสตร์
ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านดูแลด้านผ่าตัดเพื่อการข้ามเพศด้วยนวัตกรรมที่ล้ำสมัย อาทิ การตัดหน้าอกในชายข้ามเพศผ่านกล้อง การสร้างช่องคลอดใหม่ในหญิงข้ามเพศด้วยการใช้เยื่อบุช่องท้องแบบติดขั้วเส้นเลือด ซึ่งเป็นเทคนิคใหม่ในโลก เป็นต้น
- ฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
ให้คำปรึกษาและสั่งจ่ายฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศ บริการผ่าตัดมดลูกและรังไข่ในชายข้ามเพศทั้งแบบเปิดหน้าท้องและผ่านกล้อง รวมทั้งบริการทางนรีเวชวิทยาสำหรับชายและหญิงข้ามเพศ
- ฝ่ายจิตเวชศาสตร์
ให้คำปรึกษาและประเมินความพร้อมก่อนการใช้ฮอร์โมนหรือการผ่าตัดเพื่อการข้ามเพศ รวมทั้งปัญหาสุขภาพจิต เช่น ความวิตกกังวลหรือซึมเศร้าที่พบมากกว่ากลุ่มคนทั่วไป นับเป็นแห่งแรกๆของประเทศไทย ที่มีจิตแพทย์มาให้บริการร่วมด้วย
- หน่วยต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม ฝ่ายอายุรศาสตร์
ให้คำปรึกษาและสั่งจ่ายฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศ
- ฝ่ายกุมารเวชศาสตร์
ให้คำปรึกษาและสั่งจ่ายฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศในเด็กและวัยรุ่น รวมทั้งให้บริการเกี่ยวกับการป้องกันและรักษาการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการเข้าสู่วัยแรกรุ่นในเด็กและวัยรุ่นข้ามเพศ
ต้องการมีบุตรที่เป็นพันธุกรรมของตนเองต้องทำอย่างไร
นอกจากปัญหาเกี่ยวกับการดูแลปฏิบัติตนและการใช้ฮอร์โมนที่ไม่ถูกต้องแล้วนั้น กลุ่มคนข้ามเพศบางรายอาจยังมีความกังวลอีกหลายประการ
นพ.อัมรินทร์ สุวรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ทางเพศและวัยหมดระดู กล่าวว่ากลุ่มบุคคลข้ามเพศสามารถเก็บรักษาภาวะเจริญพันธุ์ไว้ก่อน ด้วยการเก็บเซลล์สืบพันธุ์ตั้งแต่ก่อนการรับบริการเพื่อการข้ามเพศ ทั้งการเก็บอสุจิของหญิงข้ามเพศและเซลล์ไข่ของชายข้ามเพศ ผ่านวิทยาการที่ทันสมัยของหน่วยชีววิทยาการเจริญพันธุ์
แล้วใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ในการปฏิสนธิ (เด็กหลอดแก้ว) ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าการทำเด็กหลอดแก้วของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ถือเป็นแห่งแรกในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม กฎหมายของประเทศไทยยังกำหนดให้เฉพาะคู่สมรสตามกฎหมายเท่านั้นที่จะสามารถทำเด็กหลอดแก้วได้
ทั้งนี้ การรับข้อมูลผิดๆ จากสื่อออนไลน์และนำไปปฏิบัติตามอาจส่งผลถึงแก่ชีวิตได้เพราะในอดีตผู้รับบริการกลุ่มนี้รับข้อมูลจากสื่อออนไลน์หรือจากผู้ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญ หลายครั้งทำให้มีความรู้ที่ไม่ถูกต้อง นำไปสู่การปฏิบัติตามอย่างผิดวิธีและมีความเสี่ยง เช่น ใช้ฮอร์โมนเองเกินขนาดหรือหาซื้อยาที่ไม่มีมาตรฐานมารับประทานหรือฉีดเอง อาจเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดหรือเกิดการติดเชื้อจนถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้นจึงควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินและรับคำแนะนำการใช้ฮอร์โมนให้เหมาะสมต่อไป
การเข้ารับบริการในคลินิกสุขภาพเพศของกลุ่มคนข้ามเพศ
- กรณีของผู้รับบริการที่มีประวัติการรับบริการเดิมจากสถานบริการอื่นอยู่แล้ว
สามารถนำประวัติการรับบริการจากที่เดิมทั้งหมดมาติดต่อที่คลินิกสุขภาพเพศได้ โดยทางคลินิกจะพิจารณารับบริการต่อตามแผนการบริการที่เหมาะสมต่อไป
- กรณีผู้รับบริการที่ไม่เคยเข้ารับบริการมาก่อน
สามารถติดต่อทำนัดที่คลินิกสุขภาพเพศ แพทย์จะประเมินว่าผู้รับบริการสามารถรับยาปรับฮอร์โมนได้หรือไม่ รวมถึงประเมินการส่งปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศัลยกรรมหรืออายุรกรรมร่วมด้วย
ดูแล LGBTQIA+ ปรึกษาลดความกังวลรสนิยมทางเพศ
พญ.ชาลิสา นิตุธร อายุรแพทย์ แพทย์เวชศาสตร์ทางเพศ โรงพยาบาลเปาโล เกษตร เล่าว่า โรงพยาบาลเปาโล เกษตร ได้มีการเปิด 'คลินิกสุขภาพเพศ' เช่นเดียวกัน เพื่อที่จะให้บริการ ดูแล ให้คำปรึกษา ความกังวลเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศ การให้ฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศในกลุ่ม LGBTQIA+ หรือช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนภาวะวัยทอง ปรับสมรรถภาพคืนความเป็นชายให้กลับมาอีกครั้ง
Intimacy Care Paolo Kaset คลินิกสุขภาพทางเพศ พร้อมดูแลด้วยความเข้าใจ อุ่นใจ คลายความกังวลเมื่อต้องการคำปรึกษา
- บริการให้คำปรึกษาสุขภาพเพศที่ปลอดภัย โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ด้วยความเข้าใจ
- ตรวจวัดระดับฮอร์โมนเพศ พร้อมดูแล รักษา ให้คำปรึกษาด้านฮอร์โมน ภาวะวัยทอง ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ปัญหาด้านอารมณ์ทางเพศ ภาวะไม่ถึงจุดสุดยอด ภาวะเจ็บในช่องคลอดระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ปัญหาการแข็งตัว ปัญหาเรื่องการหลั่ง ความต้องการเรื่องเพศสัมพันธ์ที่ไม่เท่ากันในคู่รัก เป็นต้น
- อิสระในการใช้ชีวิต เปิดกว้างด้วยความเข้าใจ LGBTQ+ ดูแล ปรึกษา ความกังวลเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศ การใช้ฮอร์โมนสำหรับการข้ามเพศ เป็นต้น
มุ่งเน้นการดูแลและรักษาสุขภาพเพศแบบองค์รวม และเข้าถึงสาเหตุของปัญหาสุขภาพเพศ ครอบคลุมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ปรับแผนการรักษาตามไลฟ์สไตล์และการใช้ชีวิตที่แตกต่างเฉพาะบุคคล ให้การดูแลโดยแพทย์เวชศาสตร์ทางเพศที่ชำนาญการเฉพาะทาง เพื่อช่วยดูแลปัญหาสุขภาพทางเพศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม แนวทางการรักษาของคลินิกสุขภาพเพศ จะเป็นไปตามแนวทางการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม หรือประเมินและดูแลทั้งปัจจัยด้านร่างกาย จิตใจ ความสัมพันธ์ของคู่รัก และสังคมในการใช้ชีวิต
เช็กคลินิกสุขภาพเพศ มีที่ไหนเปิดบ้าง
การเปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศทำให้ปัจจุบันมี 'คลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย' มากยิ่งขึ้น ทั้ง รพ.รัฐบาลและ รพ.เอกชน ต่างเปิดคลินิกครบวงจรสำหรับกลุ่ม LGBTQIA+ ขึ้น โดยคลินิกสุขภาพเพศหลากหลายส่วนใหญ่ให้บริการ
- ตรวจสุขภาพทั่วไป
จะเป็นตัวมัมแค่ไหนก็ต้องใส่ใจสุขภาพ ยิ่งอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 18 - 60 ปี โดยเฉพาะในกลุ่มที่ครอบครัวเคยมีประวัติป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง เบาหวาน ควรตรวจร่างกายปีละ 1 ครั้งเพื่อช่วยในการคัดกรองภาวะเสี่ยงของโรค
- ตรวจเฉพาะทาง
ให้บริการเกี่ยวกับการป้องกันและรักษาการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การเข้าสู่วัยแรกรุ่นในเด็กและวัยรุ่นข้ามเพศ รวมถึงจ่ายยาการใช้ฮอร์โมนเพศหรือยาฮอร์โมน เพื่อปรับลักษณะทางกายภาพ
- บริการทางด้านจิตใจ
ดูแลสุขภาพกายแล้วก็ต้องดูแลสุขภาพใจด้วย หลายคลินิกจึงมีบริการให้คำปรึกษาด้านต่างๆ ทั้งปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ให้คำแนะนำด้านสุขภาพเพศที่ปลอดภัย รวมถึงช่วยประเมินความพร้อมก่อนการใช้ยาฮอร์โมนหรือการผ่าตัดเพื่อยืนยันเพศสภาพ
- ศัลยกรรมตกแต่งให้เป๊ะปัง!
ใคร ๆ ก็อยากดูดีที่สุดในแบบฉบับของตัวเอง หลายคลินิกจึงเปิดให้บริการศัลยกรรมยืนยันเพศสภาพ (Gender-affirming surgery) เช่น การตัดองคชาติ การตัดอัณฑะ การตัดรังไข่ การสร้างช่องคลอด หรือการสร้างอวัยวะเพศชาย รวมไปถึงการศัลยกรรมปรับลักษณะทางกายภาพ เช่น ศัลยกรรมใบหน้าและปรับรูปหน้า การตัดหรือเสริมหน้าอก การผ่าตัดกล่องเสียง และการฝึกพูดเพื่อเปลี่ยนเสียง
การตรวจสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญของทุกเพศทุกวัย เพราะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงและภาวะผิดปกติของร่างกายที่อาจเกิดจากโรคร้ายแรงได้ ซึ่งปัจจุบันสังคมไทยให้การยอมรับเรื่องเพศโดยเฉพาะเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น
การติดต่อหรือเข้ารับการปรึกษาปัญหาเรื่องเพศ หรือรักษาเฉพาะทางจึงเป็นเรื่องเปิดเผยมากขึ้นกว่าในอดีต ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยได้มีบริการคลินิกสุขภาพเพื่อความหลากหลายทางเพศอยู่หลายแห่ง อาทิ
- ศูนย์ Pride Clinic โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
- SI-PRIDE คลินิกเพศหลากหลาย โรงพยาบาลศิริราช
- BKK Pride Clinic โรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ กทม.
- คลินิกสุขภาพเพศ (Gender Health Clinic โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
- คลินิกสุขภาพเพศธรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- คลินิกเพศหลากหลาย (Gen V Clinic) โรงพยาบาลรามาธิบดี
- คลินิกเลิฟแคร์ Love care center โรงพยาบาลตากสิน
- คลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย LGBTQI+CLINIC โรงพยาบาลกลาง
- Intimacy Care Paolo Kaset คลินิกสุขภาพทางเพศ โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
- ศูนย์สุขภาพเพศ โรงพยาบาลพญาไท
อ้างอิง: คลินิกสุขภาพเพศ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย , โรงพยาบาลเปาโล