รู้หรือไม่ หญิงไทยกว่า 10 ล้านคน ไม่เคยคัดกรอง 'มะเร็งปากมดลูก'
มะเร็งปากมดลูก เป็นหนึ่งในมะเร็งที่สามารถป้องกัน ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้ รวมถึงการตรวจคัดกรอง และหากพบโรคในระยะเริ่มแรก มีโอกาสรักษาหายขาดจากโรคได้ อย่างไรก็ตาม ยังพบว่ามีหญิงไทยไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน ที่ไม่เคยคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
Key Point :
- มะเร็งปากมดลูก จัดอยู่ 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงไทย มีผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ยวันละ 15 ราย แต่ยังมีหญิงไทยกว่า 10 ล้านคน ที่ยังไม่เคยตรวจคัดกรอง
- สาเหตุหลัก ๆ มาจากการติดเชื้อไวรัส HPV ที่ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ และปัจจัยอื่นๆ เช่น อายุ สูบบุหรี่ ร่างกายมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น
- ปัจจุบัน มีการณรงค์ให้หญิงไทย 30-60 ปี สามารถเข้ารับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV Test ได้ที่โรงพยาบาลตามสิทธิ์การรักษา โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
โรคมะเร็ง เป็นสาเหตุการเจ็บป่วย และการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ทำให้ประชากรสูญเสียการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และยังส่งผลต่อระบบสาธารณสุข รวมถึงระบบเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ ดังนั้น การลดอัตราป่วย และเสียชีวิตจากโรคมะเร็งต้องทำในทุกมิติ ตั้งแต่การป้องกันโรค ตรวจคัดกรอง พัฒนาวิธีการรักษา และการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง
มะเร็งปากมดลูก ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2532 ซึ่งพบอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งปากมดลูกสูงเป็นอันดับหนึ่งในผู้หญิงไทย จากนั้นมีการผลักดันนโยบายการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกระดับประเทศขึ้น ทำให้อุบัติการณ์มะเร็งปากมดลูกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
มะเร็งปากมดลูก จัดอยู่ใน 1 ใน 5 อันดับ ของมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงไทย ปี 2562 พบว่า มีผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ยวันละ 15 ราย หรือ 5,422 คนต่อปี และเสียชีวิตเฉลี่ย วันละ 6 ราย หรือ 2,238 คนต่อปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ตรวจมะเร็งฟรี มะเร็งเต้านม-ปากมดลูก ผู้ประกันตนอายุ 30 ปีขึ้นไป เช็กที่นี่
- คิกออฟฉีด วัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก 1 ล้านโดสใน 100 วัน
- เช็คสัญญาณเตือน "มะเร็งปากมดลูก" ใช้ชีวิตอย่างไร?..ให้ไกลโรค
สาเหตุการเกิดมะเร็งปากมดลูก
มะเร็งปากมดลูก มีสาเหตุหลัก ๆ มาจากการติดเชื้อไวรัส Human Papillomavirus (HPV) ที่ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้น การมีคู่นอนหลายคน การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย จึงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ การมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ก็เป็นอีกปัจจัยร่วมที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคอีกด้วย
ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ
- อายุ ส่วนใหญ่มะเร็งปากมดลูกมักพบในผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป
- มีคู่นอนหลายคน ทำให้มีโอกาสได้รับเชื้อ HPV มากขึ้น
- สูบบุหรี่
- มีบุตรจำนวนมาก
- ร่างกายมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์)
- ไม่เคยตรวจภายใน เพื่อค้นหารอยโรคระยะก่อนเป็นมะเร็ง (Precancercous lesion) ซึ่งในช่วงเวลานี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ แต่สามารถตรวจพบด้วยการตรวจทางเซลล์วิทยาที่เรียกว่า แป๊ปสเมียร์ (Pap smear) และสามารถรักษาได้ หากตรวจพบรอยโรคในระยะนี้ ก็จะสามารถป้องกันการเกิดเป็นมะเร็งปากมดลูกได้
สัญญาณเตือนของมะเร็งปากมดลูก
- มีตกขาว เลือด หรือของเหลวที่ผิดปกติออกทางช่องคลอด
- ประจำเดือนมามากหรือนานกว่าปกติ
- ในระยะลุกลามอาจมีอาการปวดหน่วงบริเวณท้องน้อย
- ปัสสาวะขัดหรือถ่ายอุจจาระลำบาก
- เบื่ออาหาร
- น้ำหนักลด เป็นต้น
วัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก
สำหรับประเทศไทย มีหน่วยงานหลายภาคส่วนได้ร่วมรณรงค์ในโอกาสนี้เช่นกัน ในด้านนโยบายระดับประเทศมีการผลักดันให้การฉีดวัคซีน HPV โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กผู้หญิงในชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งถือเป็นวัยก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกจึงเหมาะสมในการได้รับวัคซีน
อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนยังไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสได้ทั้งหมด ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วยังคงต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกควบคู่ไปด้วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโรคให้ได้มากที่สุด
ปัจจุบัน การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV Test ได้รับการผลักดันให้เป็นนโยบายของประเทศ ผู้หญิงไทยอายุระหว่าง 30-60 ปี สามารถเข้ารับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV Test ได้ที่โรงพยาบาลตามสิทธิ์การรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
หยุดมะเร็งปากมดลูก ในประเทศไทย
ล่าสุด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมมะเร็งนรีเวชไทย Kickoff โครงการ 'รณรงค์หยุดมะเร็งปากมดลูก ในประเทศไทย FINDING HPV STOPCERVICALCANCER' เพื่อสร้างความตระหนักให้สตรีไทย เห็นถึงความสำคัญของโรคมะเร็งปากมดลูก ด้วยการเปิดตัวแคมเปญตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจากการเก็บตัวอย่างด้วยตนเองด้วยวิธี HPV DNA Test แบบแยก 14 สายพันธุ์ความเสี่ยงสูง
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบาย ‘มะเร็งครบวงจร’ เป็น 1 ใน 13 ประเด็นมุ่งเน้น ซึ่งดำเนินการครอบคลุมทั้งด้านการส่งเสริม ป้องกัน คัดกรอง วินิจฉัย รักษา ดูแลฟื้นฟูกายและใจ โดยเฉพาะมะเร็ง ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก
คัดกรอง ที่หน่วยบริการทุกแห่ง
มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบมาก 1 ใน 5 ของมะเร็ง ที่พบบ่อยในหญิงไทย สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน HPV นอกจากการฉีดวัคซีนแล้ว การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการป้องกันมะเร็งปากมดลูก
กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์ให้หญิงไทยที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุก 5 ปี ดังนั้น จึงขอเชิญชวนหญิงไทยอายุ 30 - 60 ปีบริบูรณ์ เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ด้วยการตรวจหา HPV DNA จากการเก็บตัวอย่างด้วยตนเองแบบแยก 14 สายพันธุ์
สามารถติดต่อเข้ารับการตรวจคัดกรองได้ที่หน่วยบริการทุกแห่ง ซึ่งเป็นการส่งเสริมการตรวจคัดกรองที่ช่วยให้ตรวจเจอตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เพิ่มโอกาสในการรักษาหายขาดได้ เพื่อให้สตรีไทยมีสุขภาพดี ปลอดจากมะเร็งปากมดลูก เพิ่มความเข้มแข็งด้านการดูแลสุขภาพประชาชน และส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย
หญิงไทยกว่า 10 ล้านคนไม่เคยตรวจคัดกรอง
ทั้งนี้ ประเทศไทย มีนโยบายการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมาตั้งแต่ปี 2548 อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลภาพรวมของประเทศสตรีไทยที่จะต้องตรวจคัดกรองภายใน 5 ปี (พ.ศ. 2564-2568) จำนวน 15,677,638 คน
นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเสริมว่า ในปีพ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา มีเป้าหมาย 3,135,528 คน แต่ได้รับการตรวจคัดกรองเพียง 613,254 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 19.6 เท่านั้น
และพบว่า ยังมีสตรีไทยที่ไม่เคยไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจภายในและการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเลย จำนวนไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน เนื่องจาก มีความเขินอาย การขาดความรู้ความเข้าใจ ความกลัว ไม่ต้องการตรวจภายใน
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และมุ่งหวังจะแก้ปัญหากรณีสตรีกลุ่มเป้าหมายไม่มารับการตรวจภายในให้มีโอกาสได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
นอกจากนี้ ยังต้องการเพิ่มทางเลือกให้สตรีไทยที่ยังไม่เคยเข้ารับการตรวจสามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ง่ายขึ้น จึงได้จัดรูปแบบการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเชิงรุก โดยใช้ชุดเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง (HPV Self-Sampling) โดยบูรณาการดำเนินงานร่วมกันกับผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง
รวมถึงมีการพัฒนาอบรมให้ความรู้กับ อสม. ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการให้ความรู้ และกระตุ้นให้สตรีกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ด้วยการตรวจหา HPV DNA จากการเก็บตัวอย่างด้วยตนเองแบบแยก 14 สายพันธุ์
เพื่อส่งเสริมการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย รวมถึง เป็นฐานข้อมูลเชิงระบาดวิทยาของประเทศในการนำไปพัฒนาวัคซีน ให้เหมาะสมกับสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศ อีกทั้ง ในกรณีตรวจติดตามการติดเชื้อแบบแฝง (Persistent infection) ด้วยเป้าหมาย 1 ล้านคนทั่วประเทศในปี 2567
มะเร็งปากมดลูก เป็นแล้ว รักษาอย่างไร
สำหรับการรักษามะเร็งปากมดลูก ขึ้นกับระยะของโรค
- หากเป็นระยะก่อนเป็นมะเร็ง หรือมะเร็งปากมดลูกระยะต้น แพทย์อาจใช้การผ่าตัด ซึ่งผลการรักษาดีมากโอกาสหายสูงมาก
- หากเป็นมะเร็งระยะกลาง การรักษาส่วนใหญ่ใช้การฉายรังสีรักษาร่วมกับให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งผลการรักษาดีพอสมควร
- หากเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย การรักษาส่วนใหญ่ทำได้เพียงแค่ประคับประคองอาการ บำบัดอาการเจ็บปวดของผู้ป่วย ผลการรักษาไม่ดี
ผลข้างเคียงจากการรักษา
สำหรับผลข้างเคียงจากการรักษา ขึ้นอยู่กับว่าได้รับการรักษาแบบใด โดยทั่วไปหากรักษาด้วยการผ่าตัด ผู้ป่วยมักจะมีภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียง ในขณะผ่าตัด เช่น เสียเลือดมาก หรือหลังผ่าตัดใหม่ๆ เช่น แผลติดเชื้อ เป็นต้น
แต่หากเป็นการรักษาด้วยวิธีฉายรังสีรักษาส่วนใหญ่มีผลข้างเคียงมักจะเกิดในช่วงหลังรักษา 2-3 ปีขึ้นไป อาการที่อาจเกิดขึ้น เช่น ปัสสาวะหรืออุจจาระเป็นเลือด อย่างไรก็ตามก่อนทำการรักษาแพทย์จะแจ้งผลข้างเคียงของการรักษาให้ทราบก่อน
ส่วนการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด โดยทั่วไปจะเกิดผลข้างเคียงคือ คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย เม็ดเลือดขาวต่ำติดเชื้อโรคง่ายขึ้น อาจมีผมร่วงในการใช้ยาบางชนิด
วิธีดูแลและป้องกัน
การตรวจสุขภาพสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อการตรวจสอบแต่เนิ่นๆ เรื่องสุขภาพของเราไม่ว่าจะเป็นอวัยวะใด ก็สามารถเจ็บป่วยได้ทั้งนั้น การตรวจภายในไม่ใช่เรื่องน่าอายที่เราจะรักสุขภาพ เพราะมะเร็งปากมดลูกหรือโรคทางเพศสัมพันธ์หากพบแต่เนิ่นๆ สามารถรักษาหายได้