วิธีลดไขมันในเลือด ให้ห่างไกลโรคหัวใจและสโตรกด้วยตนเอง
ภาวะไขมันในเลือดสูง อาจเป็นระดับคอเลสเตอรอลสูง หรือระดับไตรกลีเซอไรด์สูงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองชนิดก็ได้ ไขมันที่มีปริมาณสูงนี้จะเกาะที่ผนังด้านในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแข็ง ตีบ อุดตัน เลือดไหลเวียนไม่สะดวก เกิดโรคหัวใจขาดเลือด และเป็นสโตรกได้
Keypoint:
- ปัจจัยส่วนหนึ่งที่จะทำให้เกิด 'ไขมันในเลือดสูง' มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน และการเลือกรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม
- หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพและการเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสม ควบคุมปริมาณและชนิดของไขมันในอาหาร จะสามารถช่วยควบคุมระดับไขมันในเลือดได้
- 5 วิธีลดไขมันในเลือดด้วยตัวเอง เริ่มจากปรับอาหาร หมั่นออกกำลังกาย เลิกบุหรี่ จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ และฝึกจัดการความเครียด
เลือดของเรามีองค์ประกอบหลายอย่าง หนึ่งในนั้น คือ ไขมัน ซึ่งประกอบไปด้วยคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ มีหน้าที่สำคัญในการสร้างฮอร์โมน การผลิตเซลล์ใหม่ การดูดซึมวิตามิน และการสร้างเยื่อหุ้มเซลล์
แต่หากตรวจสุขภาพแล้วพบว่ามีภาวะไขมันในเลือดสูง หรือการมีคอเลสเตอรอลชนิด LDL สูง และไตรกลีเซอไรด์สูงเกินไป จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้าย
นพ. ภูรีพงค์ บัวประดิษฐ์ แพทย์สาขาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลสมิติเวช อธิบายว่าไขมันในเลือดสูง หรือ ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ (Dyslipidemia) คือภาวะที่มี ระดับไขมันไม่ดี (LDL) สูง ระดับไตรกลีเซอไรด์สูง หรือระดับไขมันดี (HDL) ต่ำ ซึ่งภาวะไขมันในเลือดผิดปกติถือเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักในการก่อโรคหลอดเลือดแดงแข็ง เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน เป็นต้น
โดยปกติร่างกายสามารถสร้างไขมันได้จากตับเพื่อนำมาใช้ในกระบวนการที่จำเป็นของร่างกาย เช่น ช่วยในการย่อยอาหาร สร้างฮอร์โมนต่าง ๆ แต่หากมีการรับประทานไขมันจากอาหารมากเกินไป มีโรคทางพันธุกรรม มีการใช้ยาหรือสารต่าง ๆ ที่ทำให้การเผาผลาญไขมันในร่างกายผิดปกติก็จะทำให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูงได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ไขมันในเลือดสูง คือไขมันชนิดไหน
ไขมันในเลือดสูงเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยไขมันจะสะสมในผนังหลอดเลือดจนเกิดพลัค (Plaque) เกาะขวางทางไหลของเลือด เป็นสาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดแข็งและตีบลง ส่งผลให้เลือดไหลเวียนได้ยากขึ้น เมื่อเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
เช่นเดียวกับ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke:สโตรก)ไขมันในเลือดสูงเป็นสาเหตุของไขมันจะสะสมในหลอดเลือดสมองเช่นกัน เมื่อเส้นเลือดในสมองตีบมาก ๆ อาจทำให้เกิดอาการเส้นเลือดสมองแตกหรืออุดตัน ส่งผลให้เป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาต หากรุนแรงมาก ๆ อาจเสียชีวิตได้
ไขมันในเลือดมีหลายชนิด มีทั้งชนิดที่ดีและไม่ดีต่อร่างกาย โดยจะทราบได้จากค่าผลการตรวจไขมันในเลือด ผู้ทำการตรวจต้องงดอาหาร ก่อนทำการตรวจเป็นเวลา 8-12 ชั่วโมง ซึ่งจะทำให้ทราบถึงค่าไขมันต่าง ๆ ดังนี้
- Total cholesterol เป็นค่าคอเลสเตอรอลรวมในร่างกาย โดยรวมทั้งชนิด HDL, LDL และ non-HDL
- Low density lipoprotein (LDL) เป็นคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี หากมีไขมันชนิดนี้สูงจะทำให้มีการสะสมที่ผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบลง การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ หลอดเลือดเปราะ เสี่ยงต่อการแตกและตีบตัน ไขมันอุดตันในเส้นเลือด
- High density lipoprotein (HDL) เป็นคอเลสเตอรอลชนิดดี จะช่วยนำคอเลสเตอรอลไปใช้ ลดการสะสมของไขมันในหลอดเลือด
- Non-HDL เป็นผลของ Total cholesterol หักด้วย HDL จึงประกอบด้วย LDL และไขมันชนิดอื่น ๆ เช่น very-low-density lipoprotein (VLDL) ซึ่งรวมถึง Triglycerides ด้วย เนื่องจาก triglycerides สามารถสะสมในหลอดเลือดและทำให้เกิดหลอดเลือดตีบแคบและผลเสียอื่น ๆ ได้คล้ายกับ LDL จึงจัดเป็นไขมันชนิดที่ไม่ดี
เช็กด่วน!ค่าไขมันในเลือดเท่าไหร่? ผิดปกติ
ค่าไขมันในเลือดที่ปกติมีความแตกต่างไปตามอายุและเพศ โดยทั่วไปแล้วในผู้ที่อายุมากกว่า 20 ปี ควรมีค่า
- Total cholesterol : < 200 mg/dL
- LDL: < 130 mg/dL
- Triglycerides: < 150 mg/dL
- HDL: มากกว่า 40 mg/dL ในเพศชาย และมากกว่า 50 mg/dL ในเพศหญิง
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดไขมันในเลือดสูง
ภาวะไขมันในเลือดสูงสามารถเกิดได้จากการรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของไขมันมากเกินไป โดยเฉพาะไขมันชนิดอิ่มตัวและไขมันทรานส์ การไม่ออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ กรรมพันธุ์ การมีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคตับ ตับอ่อน ภาวะพร่องไทรอยด์ ภาวะถุงน้ำในรังไข่จำนวนมาก โรคไตวาย โรคเบาหวาน หรือการใช้ยาบางชนิด เช่น ฮอร์โมนหรือยาคุมกำเนิด ยาสเตียรอยด์ ยาต้านไวรัส HIV เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดไขมันในเลือดสูง เช่น การมีประวัติไขมันสูงในครอบครัว มีภาวะอ้วน การกินอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ การดื่มสุรา สูบบุหรี่ เป็นต้น
ปล่อยให้ไขมันในเลือดสูงจะเป็นอย่างไร
หากปล่อยให้มีภาวะไขมันในเลือดสูง จะทำให้เกิดการสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือด ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายต่าง ๆ ดังนี้
- ภาวะหัวใจขาดเลือด
- โรคหลอดเลือดสมอง
- ภาวะหัวใจหยุดเต้น
- โรคไต
อาหารสำหรับผู้ที่มี คอเลสเตอรอลสูง
คอเลสเตอรอลสูง ควรกินอะไร
- เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไม่ติดหนัง
- ปลา โดยเฉพาะปลาทะเล อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 มื้อ
- ไข่ขาว เป็นโปรตีนที่มีคุณภาพดี ไม่มีไขมัน และมีแคลอรีต่ำ
- ใช้น้ำมันพืชที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (Polyunsaturated Fatty Acid=PUFA) ในการประกอบอาหาร เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันทานตะวัน น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันข้าวโพด เป็นต้น เพื่อช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ปริมาณที่ควรรับประทานคือ 10% ของพลังงานที่ต้องการต่อวัน หรือประมาณ 2 ช้อนชาถึง 1 ช้อนโต๊ะต่อวัน
- ใช้น้ำมันพืชที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว (Monounsaturated Fatty Acid=MUFA) ในการประกอบอาหาร เพื่อช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล เช่น น้ำมันคาโนลา น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วลิสง ควรได้รับ 10-15% ของพลังงานที่ต้องการต่อวัน หรือประมาณวันละ 1-2 ช้อนโต๊ะ อาจรับประทานไขมันชนิดนี้ในรูปของถั่วลิสง เนยถั่ว ถั่วเปลือกแข็ง (Nut) ก็ได้ รับประทานธัญพืชไม่ขัดสี โดยเฉพาะข้าวโอ๊ตที่ขัดสีและผลิตภัณฑ์ที่มีเบต้ากลูแคน (Beta glucan) ซี่งเป็นใยอาหารชนิดละลายน้ำ (Soluble fiber) และช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล
- ผักและผลไม้ ควรรับประทานให้มากเป็นประจำ หากเป็นเบาหวานร่วมด้วย ควรปรึกษานักโภชนาการ ถึงปริมาณของผลไม้ที่เหมาะสมในการบริโภคต่อวัน
- ถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ เช่น ถั่วแดง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว เป็นต้น และผลิตภัณฑ์ถั่วแทนเนื้อสัตว์ เช่น เต้าหู้ โปรตีนเกษตร เป็นต้น
- ดื่นนมและผลิตภัณฑ์จากนมชนิดพร่องไขมันหรือขาดไขมัน แทนชนิดไขมันครบส่วน
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
คอเลสเตอรอลสูง ห้ามกินอะไร?
- เนื้อสัตว์ติดหนัง ติดมัน เช่น แคปหมู ปีกไก่ หมูสามชั้น เป็นต้น
- เครื่องในสัตว์ เช่น สมอง ตับ กระเพาะ เป็นต้น
- ไข่แดงของสัตว์ต่างๆ เช่น ไข่ปลา มันกุ้ง ถ้าต้องการรับประทานทั้งฟอง ควรรับประทานอาทิตย์ละไม่เกิน 3 ฟอง
- น้ำมันพืชที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง (Saturated Fatty Acid) ได้แก่ น้ำมันเม็ดปาล์ม น้ำมันมะพร้าว กะทิ และไม่รับประทานอาหารที่มีไขมันพวกนี้เป็นส่วนประกอบ เช่น มันแกงบวด
- น้ำมันพืชที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง (Saturated Fatty Acid) ได้แก่ น้ำมันเม็ดปาล์ม น้ำมันมะพร้าว กะทิ และไม่รับประทานอาหารที่มีไขมันพวกนี้เป็นส่วนประกอบ เช่น มันแกงบวด กุนเชียง ช็อกโกแลต ไส้กรอกต่างๆ ไอศกรีม เนยสด เนยครบส่วน
- อาหารที่มีไขมันทรานส์ เช่น ขนมอบ เบเกอรี ต่างๆ เค้ก คุกกี้ มาการีน เนยขาว
9 วิธีเพิ่มไขมันดี HDL ควรเพิ่มเอชดีแอล
- การมีวิถีการดำเนินชีวิตที่มีกิจกรรมการเคลื่อนไหวที่ใช้พลังงาน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ครั้งละ 20-30 นาที สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ซึ่งควรให้เหมาะสมกับสุขภาพ และวัยของแต่ละบุคคล
- การออกกำลังกายแบบมีแรงต้าน (Resistance exercise) มีส่วนช่วยในการปรับระดับไขมันในเลือด
- รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ยังช่วยเพิ่มเอชดีแอลในเลือดได้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เลี่ยงการรับประทานไขมันทรานส์
- กินโภคไขมันดี โอเมก้า 3 สามารถลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ
- กินไขมันดี โอเมก้า 9 แหล่งที่อุดมไปด้วยโอเมก้า 9 เช่น น้ำมันมะกอก คาโนลา ถั่วลิสง น้ำมันดอกทานตะวัน เมล็ดงา ถั่วพิตาชิโอ อัลมอนด์ อะโวคาโด เป็นต้น
- เลิกบุหรี่
- จำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ หรือเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
อาหารสำหรับผู้ที่มีไตรกลีเซอไรด์สูง
ไตรกลีเซอไรด์สูง อาหารที่ควรรับประทาน
- รับประทานอาหาร ข้าว แป้ง เผือก มัน ในปริมาณที่พอเหมาะกับตนเอง
- รับประทานธัญพืชและผลิตภัณฑ์ธัญพืชที่ไม่ขัดสีจนขาว เช่น รับประทานข้าวกล้องแทนข้าวขาว ขนมปังโฮลวีทแทนขนมปังขาว
- รับประทานผลไม้ ไม่หวานจัด และมีกากมาก เป็นประจำ
- รับประทานผักให้มากโดยเฉพาะผักตระกูลใบ
- ถ้าต้องการรับประทานขนม ควรเลือกขนมไม่หวานจัด ใส่น้ำตาลน้อยและมีแป้งน้อย เช่น ถั่วเขียวต้มน้ำตาล เต้าฮวย เป็นต้น และรับประทานนานๆ ครั้ง
- เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เช่น ปลา เนื้อไก่ส่วนอก เนื้อหมูไม่ติดมัน เป็นต้น นอกจากนี้ควรรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
ไตรกลีเซอไรด์สูง ห้ามกินอะไร?
- ขนมหวานจัด เช่น ทองหยิบทองหยอด ฝอยทอง ของเชื่อม เป็นต้น
- ขนมอบต่างๆ เช่น เค้ก คุกกี้ ขนมปังหวาน และขนมปังที่มีไส้หวานต่างๆ
- ผลไม้หวานจัด เช่น ทุเรียน ลำใย ละมุด น้อยหน่า ขนุน เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการใช้น้ำตาลในการปรุงอาหาร ถ้าจำเป็นต้องใช้น้ำตาลควรใช้แต่น้อย
- แอลกอฮอล์ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล
- อาหารที่ทอดในน้ำมันมากๆ เช่น ปาท่องโก๋ ไข่เจียว กล้วยแขก มันทอด เป็นต้น
- อาหารที่มีกะทิ เช่น แกงกะทิต่างๆ ขนม แกงบวดต่างๆ ข้าวเหนียวมูน เป็นต้น
ลดไขมันในเลือดด้วยตัวเอง
ไขมันในเลือดสูงเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งอาหาร สุรา และจากโรคหรือภาวะบางอย่าง การลดไขมันในเลือดจึงเริ่มต้นด้วยการปรับพฤติกรรม และลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจเพิ่มคอเลสเตอรอล LDL และ ไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือด ซึ่งสามารถทำได้ด้วย 5 วิธีนี้
1. ปรับเมนูอาหาร
- จำกัดปริมาณหรือลดการรับประทานไขมันอิ่มตัว ไขมันอิ่มตัวพบมากในเนื้อสัตว์ประเภทเนื้อแดง เนื้อสัตว์แปรรูป และผลิตภัณฑ์จากนม ยกตัวอย่างเช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อติดมัน ไส้กรอก แฮม นม เนย ชีส เป็นต้น
- เลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของไขมันทรานส์ ไขมันทรานส์ส่วนใหญ่มาจากน้ำมันพืชที่เติมไฮโดรเจนเพื่อให้น้ำมันคงตัวและเก็บได้นานมากขึ้น พบบ่อยใน ครีมเทียม มาการีน และมักเป็นส่วนผสมของอาหารจำพวก คุกกี้ เค้ก พาย โดนัท
- เพิ่มโอเมก้า 3 (Omega3) โอเมก้า 3 เป็นกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน มีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพหัวใจ ความดันโลหิต และหลอดเลือด ซึ่งจะช่วยเพิ่มไขมันดี HDL, ลดไขมันเลว LDL และช่วยลดไตรกลีเซอไรด์
- อาหารที่อุดมโอเมก้า 3 เช่น ปลาแซลมอน ปลาทู ปลาช่อน ปลาดุก ปลาน้ำดอกไม้ ปลาอินทรีย์ ปลากะพง ปลานิล ถั่ววอลนัท เมล็ดแฟลกซ์
- เพิ่มใยอาหารชนิดละลายน้ำ (Soluble fiber) ไฟเบอร์หรือใยอาหาร (Fiber) มี 2 ชนิดหลัก ๆ คือ ชนิดที่ไม่ละลายในน้ำ (insoluble fiber) กับชนิดที่ละลายในน้ำ (soluble fiber) ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายทั้งคู่ ชนิดไม่ละลายในน้ำจะมีประโยชน์ต่อระบบขับถ่าย ในขณะที่ชนิดละลายในน้ำจะช่วยลดการดูดซึมน้ำตาลและลดคอเลสเตอรอลในเลือด ซึ่งแหล่งของใยอาหารชนิดไม่ละลายน้ำ ได้แก่ ผักใบเขียว ผักกาดขาว ผักโขม ผลไม้ เช่น ฝรั่ง ลูกพรุน ข้าวกล้อง ถั่ว เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง เป็นต้น
- แหล่งของใยอาหารชนิดที่ละลายในน้ำ พบได้ในอาหาร เช่น ถั่วแดง กะหล่ำดาว แอปเปิล ลูกแพร์ งาดำ ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ ข้าวกล้อง ข้าวโพด ลูกเดือย เมล็ดทานตะวัน ถั่วดำ เป็นต้น
- เพิ่มการรับประทานอาหารประเภทโปรตีนให้เพียงพอ โปรตีนมีส่วนช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย และช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ควรเน้นรับประทานโปรตีนไขมันต่ำจากอาหารธรรมชาติ เช่น เนื้อปลา เนื้อไก่ไม่ติดหนัง ไข่ขาว เต้าหู้ เป็นต้น การได้รับโปรตีนที่เพียงพอควบคู่กับการออกกำลังกายจะช่วยสร้างและเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ในระยะยาวจะช่วยเพิ่มการเผาผลาญพลังงานและไขมันของร่างกายได้
การปรับเพิ่มหรือลดอาหารนั้นควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับสภาพร่างกาย โรคหรือภาวะแทรกซ้อน และวิถีชีวิตประจำวันเฉพาะบุคคล
2. หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ
การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยเพิ่มการเผาผลาญพลังงาน และมีส่วนช่วยกระตุ้นการสร้างไลโปโปรตีนความหนาแน่นมาก หรือไขมันดี (HDL) ซึ่งทำหน้าที่ขนส่งไขมันออกจากเซลล์และกลับสู่ตับเพื่อทำการย่อยสลายและกำจัดออกจากร่างกาย การเพิ่มไขมันดีจะช่วยลดโอกาสการเกิดไขมันสะสม (Plaque) ภายในหลอดเลือดได้ และการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพนั้นควรทำอย่างน้อยวันละ 30 นาที ทำเป็นเวลา 5 วันต่อสัปดาห์ หรือ 150 นาที ต่อ 1 สัปดาห์ สามารถเริ่มต้นง่าย ๆ ตั้งแต่การวิ่งเหยาะหรือเดินเร็ว ไปจนถึงการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอและการเล่นกีฬา
3. เลิกบุหรี่
การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลชนิด LDL เพิ่มขึ้น และทำให้เลือดไหลเวียนได้ยากขึ้นจากผลกระทบของคาร์บอนมอนอกไซด์ที่ไปจับกับออกซิเจนในเลือด ทำให้เลือดหนืดขึ้น เกิดลิ่มเลือดได้ง่ายขึ้น สำหรับคนที่ต้องการลดไขมันในเลือด การงดสูบบุหรี่จะช่วยลดการกระตุ้นไขมันเลว LDL เพิ่มสุขภาพเลือดและหลอดเลือด
4. จำกัดปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไตรกลีเซออไรด์เพิ่มขึ้น และในกระบวนการกำจัดแอลกอฮอล์ออกร่างกายทำให้ร่างกายลดการเผาผลาญไขมันลดลง ผู้ที่ต้องการลดไขมันในเลือดจึงควรงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือจำกัดปริมาณเพียง 1 ดริ้งต่อวัน สำหรับผู้หญิง และ 2 ดริ้งต่อวัน สำหรับผู้ชาย (1 ดริ้ง หมายถึง เบียร์ 1 กระป๋อง ปริมาณ 350 มิลลิลิตร, ไวน์ 1 แก้ว ปริมาณ 150 มิลลิลิตร, เหล้า 1 ช็อต ปริมาณ 45 มิลลิลิตร)
5. ฝึกจัดการความเครียด
เมื่อเกิดความเครียดร่างกายจะผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) มารับมือกับความเครียด ซึ่งในผู้ที่มีความเครียดสะสมเรื้อรังอาจส่งผลกระทบให้ร่างกายผลิตคอเลสเตอรอลชนิด LDL เพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้การได้รับผลตรวจว่ามีภาวะไขมันในเลือดสูง แล้วต้องอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและอาหาร อาจเกิดความเครียดจนไม่สามารถปรับวิถีชีวิตได้ตามคำแนะนำของแพทย์
การจัดการความเครียดจึงเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้การลดไขมันในเลือดประสบความสำเร็จได้ดีขึ้น ซึ่งสามารถทำได้จาก การผ่อนคลายจิตใจด้วยการทำกิจกรรมที่ชอบ ดูหนัง ฟังเพลง ปลูกต้นไม้ ทำอาหาร ทำงานศิลปะ ออกกำลังกาย หรือหากมีความเครียดสะสมมาก ๆ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาควบคู่กับการปรับพฤติกรรมลดไขมันในเลือดร่วมด้วย
อ้างอิง:โรงพยาบาลกรุงเทพ ,โรงพยาบาลสมิติเวช ,โรงพยาบาลนครธน