สะดุ้งตื่นตอนตี 3 อาจไม่เกี่ยวกับเรื่องผี แต่มีปัญหาสุขภาพซ่อนอยู่ ?
บางคนอาจคุ้นเคยกับความเชื่อว่า “ตีสาม” เป็นช่วงเวลาที่ผีและปีศาจออกมายังโลกมนุษย์ แต่แท้จริงแล้วอาจมีเรื่องราวที่น่ากลัวกว่านั้น ก็คือ “ปัญหาการนอนหลับ” ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ
Key Points:
- ช่วง “ตีสาม” สำหรับหลายคนมีความเชื่อว่า เป็นเวลาที่ไม่ค่อยดีเท่าไรนัก เพราะมีโอกาสเจอ “ผี” ได้ง่าย โดยเฉพาะกับคนที่ “สะดุ้งตื่น” ขึ้นมาในตอนนั้นแล้วนอนหลับต่อไม่ได้
- แต่แท้จริงแล้วการตื่นกลางดึกนั้น ใน “ทางการแพทย์” ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่ากลัวเช่นกัน เพราะร่างกายกำลังแสดงให้เห็นว่า “มีปัญหาการนอน”
- ปัญหาสำคัญที่ทำให้บางคนสะดุ้งตื่นกลางดึกบ่อยๆ มาจาก “พฤติกรรม” ที่ทำเป็นประจำ เช่น นอนกลางวันมากเกินไป รับประทานอาหารเยอะเกินไปสำหรับมื้อเย็น เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเรื่อง “ความเครียด” เข้ามาเกี่ยวข้อง
ตีสาม อาจเป็นโมงยามที่ใครหลายคนเชื่อว่าเป็นช่วงเวลาที่เจอผีได้ง่าย จากคำบอกเล่าที่ได้ยินกันมาตั้งแต่โบราณว่า “ตีหนึ่งง่วงนอน ตีสองหมาหอน ตีสามผีออก…” (บางท้องถิ่นอาจใช้คำว่า ตีหนึ่งลมพัดแทน)
โดยเฉพาะในคนที่สะดุ้งตื่นขึ้นมาแล้วนอนต่อไม่หลับอาจเป็นลางร้าย หรือเป็นช่วงที่จะพบเจอกับพลังงานลี้ลับบางอย่างก็เป็นได้
ไม่ใช่แค่เป็นประโยคบอกเล่าที่ส่งต่อกันมาเท่านั้น แต่หลายครั้งเรามักได้ยินเรื่องเล่าจากคนรู้จักหรือในโลกออนไลน์ว่า เวลาตื่นมาตอนตีสาม มักจะเจอกับเรื่องประหลาด เช่น ได้กลิ่นหรือได้ยินเสียงแปลกๆ หนาวผิดปกติ มองเห็นภาพหลอน ไปจนถึงขยับร่างกายไม่ได้ ที่เรียกกันว่า “ผีอำ” ทำให้ยิ่งตอกย้ำความเชื่อที่ว่าตีสามอาจเป็นเวลาของ “ผี” มากขึ้นไปอีก
แต่ในทางการแพทย์ปัญหาดังกล่าวอาจเป็นผลมาจาก “พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน” หรือ “ปัญหาการนอน” ที่อาจส่งผลต่อ “ปัญหาสุขภาพจิต”
- “ตีสามผีออก” ความเชื่อที่บอกต่อกันมา ?
ตามความเชื่อของชาวตะวันออกรวมถึงประเทศไทย มีการเล่าขานกันมาจากรุ่นสู่รุ่น (ซึ่งก็ไม่มีระบุแน่ชัดว่าเริ่มขึ้นตอนไหน) ว่า หากตื่นขึ้นมาตอนตีสามระวังจะเจอผีหรือเรื่องราวชวนขนหัวลุกอื่นๆ และยังมีข้อห้ามที่เกี่ยวข้องกับช่วงเวลา “ตีสาม” ตามมาอีกมากมาย เช่น ห้ามเคาะประตูตอนตีสาม หรือหากได้ยินเสียงเรียกตอนตีสามก็ห้ามขานรับ เป็นต้น
นอกจากนี้ความเชื่อในเรื่องเวลาตีสามก็ถูกพูดถึงในโลกตะวันตกอีกด้วย นั่นก็คือเวลาดังกล่าวถือเป็น “ชั่วโมงปีศาจ” ช่วงเวลาที่เส้นแบ่งระหว่างคนเป็นกับคนตายลดน้อยลง ทำให้ปีศาจและวิญญาณต่างๆ มีอิสระในการเดินทางข้ามไปมิติอื่นได้ง่าย (กล่าวคือมิติของมนุษย์) หากใครตื่นขึ้นมาในช่วงนี้อาจหมายความว่ามีปีศาจมาเยี่ยมคุณ
จากความเชื่อเหล่านั้นทำให้หลายคนรู้สึกว่า การสะดุ้งตื่นช่วงตีสามไม่ใช่เรื่องดีเอาเสียเลย เพราะนอกจากจะกลัวผีแล้ว ยังนอนไม่พออีก ทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า ไม่สดชื่น และมีอาการนอนไม่หลับวนไปเรื่อยๆ แต่แท้จริงแล้วการสะดุ้งตื่นกลางดึกนั้นก็อาจจะเป็นเรื่องที่น่ากลัวจริงๆ หากมองในมุม “สุขภาพ”
- วงจรการนอนหลับ และพฤติกรรม ปัจจัยที่ทำให้ “สะดุ้งตื่นกลางดึก”
ก่อนที่หลายคนจะรู้สึกหวาดกลัวในเรื่องของสิ่งลี้ลับไปมากกว่านี้ แท้จริงแล้วมีข้อมูลทางการแพทย์ (healthline) อธิบายถึงปัญหาสะดุ้งตื่นกลางดึกและนอนหลับต่อได้ยาก หรือไม่หลับเลยไว้ว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวงจรการนอนหลับที่เปลี่ยนไป อายุที่เพิ่มขึ้น ความเครียด หรือสภาวะสุขภาพที่ซ่อนอยู่ มีรายละเอียดดังนี้
ความเครียด
สำหรับปัญหาแรกๆ ของการสะดุ้งตื่นช่วงตีสามก็คือ “ความเครียด” ที่มาจากความวิตกกังวล ทั้งในเรื่องของการทำงาน ความสัมพันธ์ สุขภาพ การเงิน หรืออะไรก็ตามที่พบเจอในชีวิตประจำวันที่สะสมมาเป็นเวลานานและไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งในช่วงที่สะดุ้งตื่นขึ้นมานั้นอาจมีอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้นอนหลับต่อได้ยาก
อายุที่เพิ่มขึ้น
อีกหนึ่งสาเหตุที่ส่งผลต่อการนอนก็คือเมื่ออายุมากขึ้น วงจรการนอนหลับก็จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นผลข้างเคียงจากยาที่ใช้เพื่อรักษาโรคประจำตัว หรือมีเรื่องอื่นๆ มากระทบด้วย เช่น ตื่นมาเข้าห้องน้ำ หรือความไม่สบายตัว ส่งผลให้ยิ่งอายุมากขึ้นก็อาจทำให้นอนได้น้อยลงกว่าคนที่อายุน้อยกว่า
ภาวะนอนไม่หลับ (Insomnia)
หากคุณมีปัญหาในการนอนหลับต่อหลังตื่นมาช่วงกลางดึกเป็นประจำ เป็นไปได้ว่าอาจเข้าข่าย “ภาวะนอนไม่หลับ” ซึ่งเป็นปัญหาที่คนทั่วโลกพบเจอในปัจจุบัน โดยจากการศึกษาพบว่า ร้อยละ 10-20 ของประชากรทั่วไปมีปัญหานอนไม่หลับ
พฤติกรรมส่วนตัว
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยสำคัญที่กระทบกับการนอนมากที่สุดส่วนหนึ่งก็คือ “พฤติกรรม” ที่ทำอยู่เป็นประจำ ทำให้วงจรการนอนเริ่มเปลี่ยนไป ได้แก่
1. ใช้คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือก่อนนอน
2. ดื่มแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีนก่อนนอน
3. รับประทานอาหารใกล้เวลาเข้านอนมากเกินไป
4. รับประทานอาหารรสเผ็ดเป็นมื้อเย็น
5. สูบบุหรี่
6. สภาพแวดล้อมในห้องนอนไม่เหมาะสม เช่น สว่างเกินไป
7. นอนกลางวันมากเกินไป
8. ออกกำลังกายไม่เพียงพอ
- “นอนไม่หลับ” ให้ลองปรับพฤติกรรมดูก่อน
จากเหตุผลที่กล่าวไปข้างต้น ดูเหมือนแท้จริงแล้วการสะดุ้งตื่นตอน “ตีสาม” ค่อนข้างจะห่างไกลจาก “เรื่องผี” มากพอสมควร แต่กลับกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากพฤติกรรม และความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย
วิธีการแก้ปัญหาเบื้องต้นก็คือ “ปรับปรุงพฤติกรรม” เริ่มจากเข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลา ไม่รับประทานอาหารเยอะหรือเผ็ดเกินไปในมื้อเย็น พยายามไม่นอนกลางวันมากเกินไป แต่ถ้าหากง่วงนอนจริงๆ ให้งีบประมาณ 10-15 นาที ก็ช่วยให้สดชื่นขึ้นได้ แต่ถ้านอนนานกว่านั้นจะทำให้อ่อนเพลียและปวดหัวแทน
ทั้งนี้หากปรับปรุงพฤติกรรมแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาทางออก เพราะถ้าปล่อยไว้นานเกินไปจนเรื้อรังนอกจากจะทำให้สุขภาพกายแย่ลงแล้ว “สุขภาพจิต” ก็จะแย่ลงตามไปด้วย และเมื่อพักผ่อนไม่เพียงพอก็อาจผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันอีกด้วย เช่น ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
ท้ายที่สุดนี้แม้ว่าการสะดุ้งตื่นตอน “ตีสาม” จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากปัญหาด้านสุขภาพเป็นหลัก และเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ แต่ความเชื่อเรื่อง “ผีออก” หรือ “ชั่วโมงปีศาจ” ก็เป็นสิ่งที่หายคนเชื่อกันมานานหลายปี เพราะฉะนั้นก็ควร “ฟังหู ไว้หู”
อ้างอิงข้อมูล : healthline และ Times of India