'เที่ยวงานวันเด็ก'อย่างไร? ให้ปลอดฝุ่น แนะ5 วิธีป้องกัน PM2.5
เผยค่าฝุ่นเกินมาตรฐานต่อเนื่อง แนะผู้ปกครองพาลูก 'เที่ยวงานวันเด็ก' ควรเช็กค่าฝุ่น หากอยู่ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ระดับสีส้ม และสีแดง อาจต้องปรับเปลี่ยนกิจกรรม ให้ทำกิจกรรมในห้อง หรือในอาคารที่มีระบบปิด พร้อมย้ำสวมหน้ากาก ต้องคอยสังเกตอาการ
Keypoint:
- ฝุ่นPM2.5 ค่าเกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มเด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว
- วันเด็กปี2567 ชวนพ่อแม่พาลูกเที่ยววันเด็ก ฉบับปลอดฝุ่นPM 2.5 เช็กค่าฝุ่น PM2.5 ก่อนออกจากบ้าน หากสีส้ม สีแดง เปลี่ยนกิจกรรมให้อยู่ในพื้นที่ปิด สวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่น
- 5 วิธีป้องกันฝุ่น PM 2.5 เช็กค่าฝุ่น สวมใส่หน้ากากทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน เลี่ยงกิจกรรมกลางเเจ้งและเฝ้าระวังสุขภาพ ปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด สร้างห้องปลอดฝุ่น ลดกิจกรรมก่อฝุ่น
กระทรวงสาธารณสุข โดยกองสาธารณสุขฉุกเฉิน ได้ติดตาม คุณภาพอากาศ เพื่อบริหารจัดการ ฝุ่น PM 2.5 โดยข้อมูลเมื่อเวลา 07.00 น. วันนี้ (10 มกราคม 2567)พบว่า ภาพรวมประเทศ คุณภาพอากาศอยู่ในระดับดี ถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยมี 34 จังหวัด ที่ค่าเฉลี่ย PM 2.5 ในรอบ 24 ชั่วโมง เกินมาตรฐาน 37.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ในจำนวนนี้ มี 16 จังหวัด ที่เกินมาตรฐานติดต่อกันมากกว่า 3 วัน ได้แก่
- นนทบุรี
- กรุงเทพฯ
- สมุทรสาคร
- สมุทรปราการ
- นครปฐม
- สมุทรสงคราม
- ราชบุรี
- กาญจนบุรี
- ปทุมธานี
- อ่างทอง
- พระนครศรีอยุธยา
- สุพรรณบุรี
- สุโขทัย
- อุทัยธานี
- ชัยนาท
- สิงห์บุรี
อีก 10 จังหวัด สถานการณ์เกินค่ามาตรฐานติดต่อกัน 3 วัน ได้แก่ ลำปาง ลำพูน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร ลพบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และหนองคาย
โดยขณะนี้มีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขแล้ว 4 จังหวัด คือ พิษณุโลก นนทบุรี สมุทรสาคร และสมุทรปราการ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีพื้นที่ใดที่ค่าเฉลี่ย PM 2.5 ในรอบ 24 ชั่วโมง เกินมาตรฐานในระดับสีแดง หรือ 75 มคก./ลบ.ม.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ส่องผลกระทบ ‘PM 2.5’ ต่อเด็กเล็ก หลัง ‘สภา กทม.’ ตัดงบโรงเรียนปลอดฝุ่น
ค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน คาดแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าวการจัดการภาวะฉุกเฉิน ‘การป้องกัน PM 2.5 และห้องปลอดฝุ่น และปฏิบัติการทีม SEhRT จากไฟไหม้โรงงานกระดาษ จ.ปทุมธานี’ ว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 มีแนวโน้มเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งจากการเฝ้าระวังสถานการณ์ ในวันที่ 10 มกราคม 2567 เวลา 11.00 น. ค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ระหว่าง 10.7- 79.0 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร พบว่าเกินค่ามาตรฐาน อยู่ในช่วงสีส้ม 47 จังหวัด ทั้งในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก กทม.และปริมณฑล
อยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพหรือสีแดง 3 พื้นที่ ได้แก่ ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ต.ย่านซื่อ อ.เมืองอ่างทอง จ.อ่างทอง และเขตบึงกุ่ม กทม.
"คาดการณ์ว่า PM2.5 มีแนวโน้มค่าเกินมาตรฐานไปจนถึงวันที่ 12 มกราคม 2567 เนื่องจากอัตราการระบายอากาศต่ำ อากาศปิด และพบว่ามีกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งการเผาทางการเกษตร การจราจร ทำให้PM 2.5 ในทุกพื้นที่สะสมเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มเด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว ซึ่งการป้องกันสุขภาพให้แก่ประชาชน มีหลายๆ แนวทาง ซึ่งหนึ่งในแนวทางที่สธ. โดยกรมอนามัย ดำเนินการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง คือ ห้องปลอดฝุ่น เพื่อลดโอกาสการสัมผัสฝุ่นละอองภายในอาคารในช่วงภาวะที่เกิดฝุ่นละอองสูงในบรรยากาศ"นพ.อรรถพล กล่าว
วันเด็กปีนี้ แนะผู้ปกครองพาลูกเที่ยวปลอดฝุ่นPM2.5
นพ.อรรถพล กล่าวว่า สุดสัปดาห์นี้ ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรม ‘วันเด็ก’ และเป็นช่วงที่สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานอยู่ เด็กถือเป็น กลุ่มเสี่ยง เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของเด็ก การเจริญเติบโตของปอดยังไม่เต็ม และอัตราการหายใจของเด็กสูงกว่าผู้ใหญ่ ทำให้มีโอกาสสูดเอาฝุ่นละอองสู่ร่างกายได้
"กรณีที่ผู้ปกครองอยากจะพาเด็กไปเที่ยงงานวันเด็ก แนะนำให้ผู้ปกครองตรวจเช็กค่าฝุ่นว่าอยู่ระดับสีใด หากอยู่ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ระดับสีส้ม และสีแดง อาจต้องปรับเปลี่ยนกิจกรรม ให้ทำกิจกรรมในห้อง หรือในอาคารที่มีระบบปิด เพื่อลดการสัมผัสกับฝุ่น และระหว่างการเดินทาง ต้องให้เด็กสามารถป้องกันตนเองได้ โดยการสวมใส่หน้ากากให้ได้มาตรฐาน สะอาด มีความปกติของหน้ากาก และเลือกหน้ากากให้เหมาะสมกับกิจกรรมของเด็ก ใบหน้าของเด็ก สวมใส่ให้มีความกระชับ" นพ.อรรถพล กล่าว
ส่วนเด็กที่สวมหน้ากากออกไปเล่นในที่ต่างๆ พ่อแม่ผู้ปกครอง คอยสังเกตอาการว่า มีอาการหายใจลำบาก เหนื่อยง่าย หรือมีภาวะผิดปกติ ควรรีบถอดหน้ากาก และพาไปในอาคารปิด ไปพบแพทย์ เพื่อให้เด็กได้ร่วมกิจกรรมวันเด็กได้อย่างปลอดภัย
5 ข้อป้องกัน ฝุ่น PM2.5
- ใช้หน้ากากป้องกันฝุ่นทุกครั้ง เช่น หน้ากาก N95
- เช็กค่าฝุ่นจากเเอปพลิเคชัน Air4Thai หรือ Life Dee ก่อนออกจากบ้าน
- เลี่ยงกิจกรรมกลางเเจ้งและเฝ้าระวังสุขภาพโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง (เด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้มีโรคประจำตัว)
- ปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด หมั่นทำความสะอาดบ้านหรืออยู่ในห้องปลอดฝุ่น
- ลดกิจกรรมก่อฝุ่น เช่น การจุดธูป การปิ้งย่าง การเผา การสูบบุหรี่ การใช้รถส่วนตัว รวมถึงเช็กสภาพรถเป็นประจำ
สร้างห้องปลอดฝุ่น ลดปริมาณฝุ่นในบ้านและอาคาร
รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวอีกว่าการมีห้องปลอดฝุ่นช่วยลดสัมผัสฝุ่นละอองได้ โดยปกติแล้วในห้องปลอดฝุ่นช่วยลดปริมาณฝุ่นได้ 30- 70 % ขึ้นอยู่กับการควบคุมว่าไม่ให้ฝุ่นเข้าไปในส่วนของบริเวณบ้าน รูปแบบที่ 1 ลดปริมาณฝุ่นได้ถึง 32.7% รูปแบบที่ 2 ลดปริมาณฝุ่นได้ถึง 63.9 % รูปแบบที่3 ลดปริมาณฝุ่นได้ 70.2% เป็นการดำเนินการที่สามารถทำได้ในพื้นที่บ้าน หรือพื้นที่ของแต่ละครอบครัว
‘ห้องปลอดฝุ่น’ ได้มีการกำหนดไว้ 3 รูปแบบ ดังนั้น
- รูปแบบที่ 1 ปิดประตู-หน้าต่าง
- รูปแบบที่ 2 ระบบเครื่องฟอกอากาศ
- รูปแบบที่ 3 ระบบความดันอากาศ พร้อมระบบฟอกอากาศ
ทั้งนี้ประชาชนสามารถนำแนวทางดังกล่าวไปปฎิบัติได้ ดังนี้
- การเลือกและเตรียมห้องปลอดฝุ่น
- เลือกห้องที่ห่างจากแหล่งกำเนิดของฝุ่น
- เลือกห้องที่ประตูหรือหน้าต่างมีช่องว่างน้อยที่สุด
- นำอุปกรณ์ที่เป็นแหล่งสะสมฝุ่นออกจากห้อง และงดกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่น
- ทำความสะอาด
"สธ.ได้จัดทำห้องปลอดฝุ่น ในโรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์ผู้สูงอายุ และอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าใช้บริการช่วงที่มีฝุ่นสูงได้ ปัจจุบัน มีห้องปลอดฝุ่น 3,000 ห้อง ประชาชนสามารถค้นหาและเรียนรู้วิธีทำห้องปลอดฝุ่นได้" รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
4 ขั้นตอนช่วยเหลือผู้ประสบภัยไฟไหม้โรงงานกระดาษ
นพ.อรรถพล กล่าวต่อไปว่า สำหรับกรณีไฟไหม้โรงงานกระดาษ จ.ปทุมธานี นั้น ขณะนี้กรมอนามัย สธ. ได้มีการส่งทีม SEhRT เข้าไปทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคสาธารณสุขในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น สาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่ให้ได้รับการช่วยเหลือ พร้อมสนับสนุนหน้ากากให้แก่ประชาชน ซึ่งปัจจุบันสามารถควบคุมเพลิงไหม้ได้แล้ว แต่มีควันไฟจำนวนมาก ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนใกล้เคียง โดยการดำเนินการ มีดังต่อไปนี้
1.การสำรวจกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง ประเมินความเสี่ยงสุขภาพ และแจ้งหน่วยงานสธ.เพื่อส่งต่อการดูแลสุขภาพ
2.การสำรวจและประเมินจัดการด้านสุขาภิบาล สุขอนามัยและอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะศูนย์อพยพในพื้นที่ที่กำหนด เป็นการตรวจสอบปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหาร น้ำอุปโภคบริโภค คุณภาพอากาศ ความพร้อม ความสะอาดของห้องน้ำ และการจัดการขยะ
3.การสื่อสารการสร้างความรับรู้ ให้คำแนะนำในการป้องกันดูแลสุขภาพ ป้องกันตนเองออกจากควันพิษ เช่น หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน ปิดประตู หน้าต่าง สังเกตตัวเองในเรื่องอาคาร
4.สนับสนุน หน้ากากN95 เพื่อให้ประชาชนป้องกันตนเองจากควันพิษ และฝุ่นละออง PM2.5 ทั้งนี้ กรมอนามัย ขอให้ประชาชนในพื้นที่ดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัว รวมถึงป้องกันความเสี่ยงต่างๆ
"กลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง ขอให้หลีกเลี่ยงในพื้นที่ที่มีควันพิษ หรือฝุ่น พร้อมทั้งสังเกตอาการตนเองและครอบครัว หากพบอาการผิดปกติ เช่น อาการคันบริเวณผิวหนัง ไอ หายใจลำบาก แน่นเจ็บหน้าอก หัวใจเต้นแรง คลื่นไส้ เหนื่อยง่าย หรือเริ่มมีอาการปวดศีรษะ ให้แจ้งสาธารณสุขและพบแพทย์ทันที ต่อมาหากเหตุการณ์กลับเข้าสู่บ้าน ควรเปิดประตู หน้าต่าง ระบายอากาศ และทำความสะอาดเช็ดถูบ้านอาคาร เพื่อลดการปนเปื้อนของเขม่า ฝุ่นละออง ไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย" รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว