น่าเศร้า! เด็กไทยเตี้ย แคระแกร็น พัฒนาการล่าช้า ดันเกิด-เติบโตคุณภาพ
'การพัฒนาเด็ก' ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่ง แต่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกัน ปัจจุบันมีนโยบายและหลากหลายแนวทางในการยกระดับพัฒนาคุณภาพของเด็กไทย ให้มีสมรรถนะ ทักษะชีวิต ปรับตัวเท่าทันการเปลี่ยนแปลง มีสุขภาพที่ดี
Keypoint:
- เด็กในยุคปัจจุบันเติบโตในโลกที่มีแต่ความไม่แน่นอน ผันผวนจากการกระทำของมนุษย์เอง มีภาวะเตี้ยแคระแกร็น ผอมแห้ง หรือมีภาวะน้ำหนักเกิน และพัฒนาการสงสัยล่าช้า
- ลงทุนกับระบบการพัฒนาเด็กปฐมวัยมุ่งเป้าผลลัพธ์ให้เด็กทุกคนมีคุณภาพและความสามารถด้านสุขภาพ การเรียนรู้ การควบคุมพฤติกรรมตนเอง อยู่ร่วมกับผู้อื่นและธรรมชาติ
- 'พลเมืองอนาคต’ในสังคมการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องมีความสามารถ 4ด้าน เรียนรู้เท่าทันตั้งแต่ปฐมวัย
‘วันเด็กแห่งชาติ 2567’ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวให้โอวาส ‘เด็ก ๆ และเยาวชนทุกคนมีคุณค่าในตัวเอง'
เด็กคือ ผู้กำหนดอนาคตของประเทศชาติ ความปรารถนาสูงสุดของตนเอง อยากให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้ ความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อจะได้ใช้ความรู้ความสามารถนั้นให้เป็นประโยชน์ทั้งต่อการดำรงชีวิตในมิติทางเศรษฐกิจและมิติของการสร้างความสุขให้กับตัวเองและผู้อื่น
รัฐบาลมุ่งมั่นส่งเสริมให้เด็กทุกคนเข้าถึงระบบการศึกษา ตั้งเป้าหมาย Zero Dropout คือ จะไม่มีเด็กและเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษาในประเทศนี้ โดยรัฐบาลจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนนักเรียนรายบุคคลที่หลุดออกจากระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบ
รวมถึงจะส่งเสริมการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น เพิ่มทางเลือกให้ตรงตามความต้องการและวิถีชีวิตของผู้เรียน มุ่งเน้นการพัฒนาสมรรถนะ ทักษะอาชีพ และทักษะชีวิต เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาซ้ำซาก
ทว่าสิ่งที่รัฐบาลมุ่งมั่นส่งเสริมเป็นส่วนหนึ่งของการลดความเหลื่อมล้ำ การเข้าถึงการศึกษาแล้ว เรื่องของ ‘สุขภาพ’ ก็สำคัญไม่แพ้กัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เริ่มแล้ว! 'วันเด็ก 67' นายกฯ ย้ำเด็กไทยเป็นลูกที่ดี ศิษย์ที่ดี พลเมืองที่ดี
6 แนวทางลดปัญหา 'เด็กไทยเตี้ย แคระแกร็น พัฒนาการล่าช้า'
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงสถานการณ์ของเด็กไทยขณะนี้ว่า สถานการณ์ที่สำคัญที่เกิดขึ้นกับเด็กไทย และมิติการเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ พบว่า
- อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน ยังห่างจากเป้าหมายโภชนาการโลก
- เด็กกว่าร้อยละ 30 มีภาวะเตี้ยแคระแกร็น ผอมแห้ง หรือมีภาวะน้ำหนักเกิน
- เด็กอายุ 0-5 ปีกว่าร้อยละ 25 มีพัฒนาการสงสัยล่าช้า ขณะที่เด็กบางส่วนก็ถูกเร่งรัดพัฒนาการเกินวัย ทําให้ขาดแรงจูงใจในการเรียนรู้ระยะยาว
- มีเด็กกว่า 2 ล้านคนอยู่ในครัวเรือนไม่พร้อมหน้า
- เด็กอายุ 1-11 ปีกว่าครึ่งยังได้รับการเลี้ยงดูโดยการทําร้ายจิตใจหรือร่างกายจากผู้ปกครอง เนื่องจากพ่อแม่ขาดความรู้ความเข้าใจ/ ความพร้อมในการเลี้ยงดูบุตร/ เร่งรัดพัฒนาสมองลูกด้วยการให้เรียนพิเศษเพื่อสอบเข้าอนุบาล/ เลี้ยงดูอย่างตามใจ/หรือใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการเลี้ยงลูกมากเกินไป
รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวต่อว่าสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดลได้ดำเนินการขับเคลื่อน 6 เรื่องในการแก้ปัญหาดังกล่าว ดังนี้
1. หลักสูตรความรัก เพศศึกษา ความเป็นพ่อแม่ เชื่อมต่อครอบครัวข้ามรุ่น
2. เฉลิมฉลองการเกิด ทดแทนรายได้และ work from home เพื่อบรรลุ นมแม่ 6 เดือนแรก
3. ระบบการดูแลเด็กปฐมวัย 3 ปีแรก : กลุ่มการเล่นชุมชน เนอสเซอรี่ชุมชนและองค์กร
4. การดูแล ส่งเสริมการเรียนรู้เด็กมุ่งเป้า 'เด็กเติบโตสู่การเป็นพลเมืองอนาคต' พลเมืองเท่าทันสุขภาพกายจิต พลเมืองยืดหยุ่น เรียนรู้ตลอดชีวิต พลเมืองดูแลกันและกัน พลเมืองเชื่อมต่อสรรพสิ่งและธรรมชาติ
5. ร่วมสร้างเมือง สร้างพื้นที่ เพื่อเด็กและครอบครัว
6. คัดกรองเด็กในครอบครัวยากลำบาก ACE และ สนับสนุนอย่างมีเงื่อนไข 3000 บาทต่อเดือน
เด็กไทยเข้าไม่ถึงการบริการสังคม
“เด็กในยุคปัจจุบันเติบโตในโลกที่มีแต่ความไม่แน่นอน ผันผวนจากการกระทำของมนุษย์เอง การเรียนรู้และการแสดงพฤติกรรมสังคมของมนุษย์นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาวะสิ่งแวดล้อมโลกและความเป็นอยู่ของสรรพสิ่งมีชีวิตทุกชนิด การพัฒนาสมองความรู้คิดของมนุษย์ก่อให้เกิดการเรียนรู้สะสมต่อยอดความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการนำความรู้แสดงพฤติกรรมสังคมเพื่อจัดการปฏิสัมพันธ์ความเป็นอยู่ร่วมกันของมนุษย์ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางระบบสังคมของมนุษย์ ทั้งสองส่งนี้ผลทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อวิถีชีวิตมนุษย์” รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ มนุษย์บางกลุ่มมีอายุยืนยาวขึ้น บริโภคสิ่งอำนวยความสุขสบายมากขึ้นตามความก้าวหน้าของการผลิตทางอุตสาหกรรมและการตลาด แต่ในทางตรงกันข้ามอุตสาหกรรมการผลิตที่เกินความจำเป็น การค้าเสรีและการตลาดที่สร้างค่านิยมการบริโภคเพื่อตอบสนองต่อการผลิต ส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคที่เกินสมดุลทั้งภายในร่างกายมนุษย์และภายในระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ส่งผลกระทบให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อม มลพิษต่างๆทั้งทางดิน น้ำ และอากาศ เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาโลกร้อน ฝุ่น PM2.5 ภัยพิบัติต่างๆ และกลุ่มโรคอุบัติใหม่
รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า การเติบโตของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่มีการเอารัดเอาเปรียบ แข่งขัน ทำลายล้าง เฉกเช่นเดียวกับการล่าเหยื่อของสัตว์ใหญ่ต่อสัตว์เล็กซึ่งเกิดขึ้นโดยทั่ว ทั้งระหว่างกลุ่มคนในชุมชน ในสังคม และระหว่างประเทศ ก่อให้เกิดสภาวะชีวิตของมนุษย์ที่เหลื่อมล้ำแตกต่างในสภาพผู้ชนะที่ได้ใช้ทรัพยากรมากกว่าได้ผลรับผลประโยชน์มากกว่าและผู้แพ้ซึ่งเข้าไม่ถึงแม้แต่สิ่งที่เป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตเช่นอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยา
“เด็กจำนวนมากเกิดอยู่ในครอบครัวที่ยากจน เข้าไม่ถึงการบริการทางสังคม ส่งผลต่อโอกาสการพัฒนาตั้งแต่แรกเกิด การประกอบอาชีพที่ต้องแข่งขัน เอาตัวรอด ทำให้พ่อแม่กลายเป็นแรงงานที่ไม่สามารถเลี้ยงดูลูกได้อย่างใกล้ชิด บั่นทอนพันธะผูกพันภายในครอบครัวซึ่งเป็นความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์ขั้นพื้นฐาน เป็นเหตุให้เกิดความอ่อนแอของการสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ผลลัพธ์เชิงลบของการพัฒนาเหล่านี้ทำให้สังคมมนุษย์อนาคตมีความไม่แน่นอน ผันผวน และซับซ้อน เป็นความไม่ยั่งยืนของการพัฒนามวลมนุษชาติ” รศ.นพ.อดิศักดิ์
ลงทุนกับระบบพัฒนาเด็กปฐมวัยมุ่งเป้าผลลัพธ์
สำหรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นวาระที่ต้องการความร่วมมือและศรัทธาจากมวลมนุษยชาติทั่วโลก เป็นความท้าทายที่สำคัญของมนุษยชาติ การลงทุนกับระบบการพัฒนาเด็กปฐมวัยมุ่งเป้าผลลัพธ์ให้เด็กทุกคนมีคุณภาพและความสามารถในด้านสุขภาพ การเรียนรู้ การควบคุมพฤติกรรมตนเองในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นและธรรมชาติ เป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน มีความเป็นไปได้ที่เราจะสร้างมนุษยชาติพันธุ์ใหม่ที่มีความสนใจความรู้เห็นคุณค่าที่จะสนับสนุนชีวิตที่ยั่งยืนยิ่งขึ้นและรักษาธรรมชาติโดยการให้การดูแลสุขภาวะเด็กๆทุกคนในสังคมให้สมบูรณ์แบบองค์รวมอย่างเป็นธรรมตั้งแต่ในครรภ์มารดา และเชื่อมต่อเด็กๆเข้ากับคนและสิ่งแวดล้อมรอบตัว สร้างการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต
2 กลไก ที่จะสามารถสร้างความยืดหยุ่น ปรับตัวพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง และความเห็นอกเห็นใจกันได้นั้น มีดังนี้
- กลไกการหล่อหลอมวิถีชีวิตยั่งยืนสำหรับพลเมืองอนาคต
เป็นกลไกการพัฒนาศักยภาพพลเมืองอนาคตตามวิสัยทัศน์การพัฒนาที่ยั่งยืน เนื่องด้วยเหตุผลที่ว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นบรรทัดฐานที่สังคมทั่วโลกยอมรับ และพฤติกรรมมนุษย์เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด และเป็นศูนย์กลางของความรับผิดชอบในการบรรลุเป้าหมาย
- กลไกการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
เป็นกลไกการจัดระบบการดูแลสุขภาวะและส่งเสริมการเรียนรู้ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของชีวิตให้ทุกชีวิตได้รับการบริการความจำเป็นพื้นฐาน การปกป้องคุ้มครอง การศึกษาพัฒนาที่มีคุณภาพและเท่าเทียม ซึ่งในกลไกนี้จะทำให้กลุ่มเด็กปฐมวัยซึ่งเป็นวัยที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้ เข้าถึงผลพวงของการพัฒนาได้ในเวลาเดียวกับกลุ่มวัยอื่น
การอ้างอิงถึงความเปราะบางของกลุ่มวัยนี้ในด้านสิทธิและเรียกร้องให้ทุกคนต้องร่วมมือกันนำเด็กปฐมวัยทุกคนให้เข้าถึงบริการโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังมีเหตุผลของความเป็นธรรมเพียงพอที่สังคมโดยรวมจะยอมรับเป็นบรรทัดฐาน หากการปฏิบัติมีความพยายามในทุกพื้นที่ที่จะทำให้ได้จริงจะเป็นการจัดการภาวะเหลื่อมล้ำที่จุดเริ่มต้นของชีวิตอย่างน้อยใน 6-8ปีแรกของชีวิต จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการทำลายวัฏจักรความเหลื่อมล้ำที่วนเวียนรุ่นต่อรุ่นในสังคม
จินตภาพ ‘พลเมืองอนาคต’ในสังคมการพัฒนาที่ยั่งยืน
พลเมืองทุกคนจะต้องมีความสามารถที่ถูกพัฒนาขึ้นภายในตัวเองในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองเพื่อดำเนินชีวิตตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ความสามารถ 4 ด้านได้แก่
- ความสามารถดูแลสุขภาวะตนเอง มีความพร้อมทางด้านสุขภาวะทั้งกายและจิตใจ โดยได้รับการตอบสนองความจำเป็นพื้นฐานด้านสุขภาพ โภชนาการ สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย อารมณ์ และการศึกษา (SDG 1-4 6-7 11 13-15)
- ความสามารถเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิตเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก มีความสามารถในการเป็นผู้สร้างการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีให้มีความมั่งคั่งเพื่อความยั่งยืน (SDG 4 7-9 11) และเป็นผู้มีความยืดหยุ่น (resilience) และพร้อมรับผลลบที่คาดไม่ถึงอันเกิดจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ที่ไม่ยั่งยืนในปัจจุบัน (SDG12)
- มีพฤติกรรมมการบริโภคที่พอเพียง มีขีดจำกัดการตอบสนองความต้องการของตัวเองที่เป็นธรรมต่อคนในรุ่นต่อไป มีความสามารถในการควบคุมตนเองให้อยู่ร่วมกับสรรพสิ่งรอบตัว ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (SDG 12 16 17 และ SDG 7 13-15)
- มีพฤติกรรมมการบริโภคที่พอเพียง มีขีดจำกัดการตอบสนองความต้องการของตัวเองที่เป็นธรรมแก่เพื่อนร่วมโลก มีความสามารถในการควบคุมตนเองให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นที่มีความแตกต่างหลากหลาย เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ดูแลซึ่งกันและกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบ ไม่ทำลายล้างกัน รักความยุติธรรม และให้ความร่วมมือกันและกัน (SDG 12 16 17 และ SDG 1-5 10)
การสร้างพลเมืองที่มีความสามารถดูแลสุขภาวะตนเองและได้รับผลลัพธ์สุขภาพเชิงบวกต้องเริ่มที่การพัฒนาสุขภาวะและการเรียนรู้เท่าทันสุขภาวะตั้งแต่ปฐมวัย
พัฒนาที่ยั่งยืน ต้องเริ่มที่พัฒนาสุขภาวะเด็กปฐมวัย
รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวด้วยว่าการสร้างพลเมืองให้ได้รับผลลัพธ์สุขภาวะเชิงบวกจากการพัฒนาตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นต้องเริ่มที่การพัฒนาสุขภาวะเด็กปฐมวัย (early childhood well-being) ซึ่งจะนำไปสู่สุขภาวะตลอดชีวิต (life long well-being) เช่นเดียวกับการสร้างพลเมืองให้มีพฤติกรรมเป็นผู้นำหรือผู้สนับสนุนแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนจะต้องเริ่มที่ปฐมวัยเช่นกันเนื่องจากเป็นวัยของการสร้างโครงสร้างการทำงานของสมองนำไปสู่ความทรงจำระยะยาวและทัศนคติภายใน ในการกำหนดพฤติกรรมเมื่อเติบโตต่อไปเป็นผู้ใหญ่
“การสร้างการเรียนรู้ในช่วงปฐมวัยจึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในการหล่อหลอมพฤติกรรมการเป็นผู้สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน สังคมจึงต้องลงทุนกับการพัฒนา ‘ระบบการดูแลสุขภาวะและส่งเสริมการเรียนรู้ปฐมวัยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน’ ตั้งแต่วันนี้ โดยที่ระบบดังกล่าวต้องไม่ใช่การเตรียมพร้อมเด็กเพื่อการเรียนระดับประถมศึกษาเท่านั้น แต่เป็นระบบเพื่อพัฒนาและคุ้มครองเด็กแบบองค์รวม เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับการดูแลสุขภาพกาย จิตใจอารมณ์ ได้รับโภชนาการที่ดี มีความปลอดภัย ได้รับการส่งเสริมความสามารถในการเรียนรู้ตลอดชีวิต” รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ เด็กปฐมวัยเป็นวัยของของการสร้างโครงสร้างการทำงานของสมองนำไปสู่การหล่อหลอมพฤติกรรมเมื่อเติบโตต่อไปเป็นผู้ใหญ่ ดังนั้น การพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ ในวัยนี้เพื่อนำไปสู่ความทรงจำระยะยาว ทัศนคติ ในการกำหนดให้มีพฤติกรรมให้มีวิถีชีวิตในรูปแบบของการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ การเป็นผู้บริโภคที่พอเพียง ยั่งยืนใน เป็นผู้มีความยืดหยุ่น ปรับตัว พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง เป็นนวัตกร เรียนรู้ต่อเนื่องได้
สร้างการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีให้มีความมั่งคั่งเพื่อความยั่งยืน เป็นผู้ดูแลสิ่งแวดล้อม และเป็นผู้ดูแลผู้อื่นและเป็นผู้สร้างสังคมสงบสุข ยุติธรรม ดูแลซึ่งกันและกัน เป็นผู้ที่สามารถทำงานกับผู้อื่นได้ ร่วมมือกับผู้อื่นได้ เพื่อสร้างสังคมโลกร่วมกัน และต้องเป็นผู้ดูแลเด็กรุ่นถัดไป การจัดการเรียนรู้เด็กปฐมวัยเพื่อให้เติบโตเป็นผู้มีจิตวิญญาณและมีความสามารถในการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนดังกล่าวรวมเรียกว่า (education for sustainable development: ESD)
“การสร้างพลเมืองที่มีพฤติกรรมมการบริโภคที่พอเพียง มีขีดจำกัดการตอบสนองความต้องการของตัวเองที่เป็นธรรมต่อเพื่อนร่วมโลกในปัจจุบันและคนในรุ่นต่อไป มีความสามารถในการควบคุมตนเองให้อยู่ร่วมกับสรรพสิ่งรอบตัว ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ต้องสร้างทัศนคติความสุขจากการได้รับและการให้แบบแบ่งปัน เอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือซึ่งกันและกันตั้งแต่ปฐมวัย” รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าว
ระบบบริการดูแลสุขภาวะ ส่งเสริมการเรียนรู้ปฐมวัย
'ระบบการดูแลและส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนง เป็นกลไกการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นฐานรากของการพัฒนามนุษย์ ความพยายามที่สังคมจะร่วมกันทุ่มเทดำเนินการดูแลคุ้มครองและส่งเสริมการพัฒนาเด็กทุกคนไม่ให้เหลื่อมล้ำตั้งแต่ระดับปฐมวัยจะนำไปสู่การทำลายวัฏจักรของความไม่เท่าเทียมของสังคมในปัจจุบันสู่วัฏจักรแห่งสังคมคุณธรรมในอนาคต ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ระบบบริการ 'การดูแลสุขภาวะและส่งเสริมการเรียนรู้ปฐมวัย' อย่างมีคุณภาพเป็นธรรมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังต้องเริ่มตั้งแต่แรกเกิดและสามารถจัดในรูปแบบต่าง ๆหลากหลายทั้งที่เป็นทางการและ ไม่เป็นทางการ
การวางระบบบริการ 'การดูแลสุขภาวะและส่งเสริมการเรียนรู้ปฐมวัย' อย่างมีคุณภาพนี้ต้องเริ่มตั้งแต่แรกเกิดและสามารถจัดในรูปแบบต่าง ๆหลากหลายทั้งที่เป็นทางการและ ไม่เป็นทางการเช่น การจัดบริการดังกล่าวผ่านการเรียนรู้ของผู้ปกครอง (ห้องเรียนพ่อแม่) การบริการอนามัยแม่และเด็ก การจัดบริการโดยใช้บ้านและชุมชนเป็นฐาน เช่นการจัดบริการในรูปแบบเนอสเซอรี่ ศูนย์พัฒนาปฐมวัย และโรงเรียนอนุบาล เป็นต้น
"สถานการณ์ปัจจุบันของระบบการดูแลเด็กปฐมวัยในหลายประเทศยังแยกส่วนระหว่างการดูแลสุขภาพเด็กก่อนวัยเรียน และการจัดการศึกษาให้กับเด็กก่อนวัยเรียน (preschool education) แท้จริงแล้วเด็กวัยนี้ต้องการดูแลอย่างบูรณาการ ดังนั้นผู้ทำหน้าที่ดูแลเด็กปฐมวัยทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย พี่เลี้ยงเด็ก ครูปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กหรือโรงเรียนอนุบาล หรืออื่นๆที่ทำหน้าที่ดูแลเด็กปฐมวัยในช่วงเวลาหนึ่งของวันทดแทนมารดา จึงต้องให้การดูแลสุขภาวะ โภชนาการ ความปลอดภัย การตอบสนองอารมณ์ ให้ความรักความอบอุ่น และการส่งเสริมพัฒนาการ การเรียนรู้" รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย