กับดักความเหลื่อมล้ำ การศึกษาถอยหลัง ปลด ‘เด็กไทย’ มองโลกกว้างจริงหรือ?

กับดักความเหลื่อมล้ำ การศึกษาถอยหลัง ปลด ‘เด็กไทย’ มองโลกกว้างจริงหรือ?

วันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม เป็นวันที่เหล่าเด็กน้อยต่างรอคอย เพราะเป็นวันของพวกเขา ‘วันเด็กแห่งชาติ’ ซึ่งตรงกับวันที่ 13 มกราคม 2567  ‘นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี’ ได้มอบคำขวัญวันเด็ก  ‘มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย’

Keypoint:

  • ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาทวีความรุนแรงมากขึ้น ขณะเดียวกันระบบการศึกษาไทย แม้จะมีการปฎิรูปหลายต่อหลายครั้ง แต่ล่าสุดผลคะแนนPISA ของเด็กไทยกลับตกต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี 
  • วันเด็กปีนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มอบคำขวัญให้เด็กไทย 'มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย’ ซึ่งการจะทำให้เป็นไปตามคำขวัญดังกล่าวคงต้องก้าวพ้นความเหลื่อมล้ำ และยกระดับการศึกษาไทยใหม่อีกรอบ
  • 10 เหตุผลคุณภาพการศึกษาไทยลดลง ซึ่งการเปลี่ยนหลักสูตรเป็นยาขนานแรกที่จะต้องเร่งให้เกิดขึ้น เพราะว่าต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร 

“เด็ก ๆ ทุกคนมีความสำคัญต่ออนาคตของชาติ เด็กยังเป็นเหมือนความสุข ความสดใสของประเทศชาติ และเด็กคู่ควรกับการมีความสุข จึงออกแบบให้รอยยิ้มบนใบหน้าของเด็ก เป็นจุดเด่นของโลโก้ชิ้นนี้ เพื่อหวังให้เด็ก ๆ ทุกคน พบเจอแต่ความสุข และมีรอยยิ้มตลอดวันเด็ก ตลอดปี และตลอดไป"

แนวคิดโลโก้วันเด็กแห่งชาติ เป็นผลงานชื่อ ‘รอยยิ้มพิมพ์ใจ’ ของน.ส.วิกาวี รัตตมณี จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งชนะเลิศการประกวดเมื่อปี 2566 

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะนำไปใช้เป็นสัญลักษณ์ในการประชาสัมพันธ์งานวันเด็กแห่งชาติ ซึ่งในปีนี้ ได้จัดงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2567 ‘เรียนดี มีความสุข’ พร้อม ‘จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน’ ภายในงานจะมีการจัดบูธกิจกรรมและการแสดงที่สนุกสนานมากมาย พร้อมแจกของขวัญเด็ก ๆ กว่า 100,000 ชิ้น ฟรีตลอดงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

อัพคะแนน PISA อาศัย 5 ปัจจัย ระบุ เด็กไทยเก่ง แต่ไม่คุ้นข้อสอบ

ผลสอบ PISA ล่าสุด เด็กไทยคะแนนต่ำลงทุกทักษะ ส่วนเด็กสิงคโปร์คว้าอันดับ 1

 

ค้นหาทางออกเพิ่มคะแนน PISA หลังตกต่ำสุดในรอบ20 ปี

เมื่อเอ่ยถึงงาน 'วันเด็ก' นอกจากกิจกรรมความสุข สนุกสนานที่เหล่าพ่อแม่จะพาเด็กน้อย น้องๆ เข้าร่วมงาน สัมผัสบรรยากาศ และรับของขวัญมากมายแล้ว คงต้องย้อนกลับไปดูเรื่องของระบบการศึกษาไทย ที่มีการปฎิรูปมานับครั้งไม่ถ้วน และการจะพัฒนาเด็กไทยให้ได้ตรงตามคำขวัญวันเด็ก 'มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย' คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ 

ยิ่งดูจากผลการสอบวัดระดับทักษะด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ หรือ PISA ประจำปี 2566 ของเด็กอายุ 15 ปีทั่วโลก มีคะแนนเฉลี่ยลดลง โดยเฉพาะประเทศไทยที่คะแนนต่ำสุดในรอบ 20 ปี

แถมยังพบอีกว่าทักษะด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ คะแนนของเด็กไทยลดลงไปกว่า 30 คะแนน ส่วนคะแนนด้านการอ่านลดลงไปกว่า 60 คะแนน ส่งผลให้หลายฝ่ายให้ความสนใจ และตั้งคำถามว่าเหตุใด ? การศึกษาไทยยิ่งปฎิรูป-ปรับหลักสูตร-วิธีการเรียนการสอน ยิ่งถอยหลังลงเรื่อยๆ และผลถึงออกมาเช่นนั้น

กับดักความเหลื่อมล้ำ การศึกษาถอยหลัง ปลด ‘เด็กไทย’ มองโลกกว้างจริงหรือ?

ขณะที่ความเหลื่อมล้ำในแต่ละพื้นที่ยังคงทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่เด็กไทยไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ต้องสามารถเข้าถึงการศึกษาอย่างมีคุณภาพได้  

ด้วยปัญหาที่เกิดขึ้น ‘พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.)ได้หารือกับหน่วยงานในสังกัด รวมถึง สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว

ศธ.ได้แต่งตั้งคณะทำงานร่วมกันดูแลแก้ไขในเรื่องดังกล่าว โดยมีปลัด ศธ. เป็นประธานคณะทำงาน เพื่อหาทิศทางแก้ปัญหา พัฒนาความคิดความอ่านด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ รวมถึงภาษาอังกฤษ และพัฒนาการเรียนรู้เรื่องการจัดการคิดวิเคราะห์ในอนาคต 

กับดักความเหลื่อมล้ำ การศึกษาถอยหลัง ปลด ‘เด็กไทย’ มองโลกกว้างจริงหรือ?

 

10 เหตุผลคุณภาพการศึกษาไทยลดลง

 

จากผลการประเมินของประเทศไทย ตั้งแต่ PISA 2000 – 2022 พบว่าคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์และการอ่านมีแนวโน้มลดลง ส่วนด้านวิทยาศาสตร์ถือว่าไม่เปลี่ยนแปลงทางสถิติ แต่หากมองในภาพรวมของผลการประเมินสะท้อนให้เห็นว่าระบบการศึกษาทั่วโลกมีคะแนนเฉลี่ยลดลงเมื่อเทียบกับ PISA 2018 ซึ่งเป็นผลกระทบจากที่ทุกประเทศต้องเผชิญกับความท้าทายของการจัดการเรียนรู้ในช่วงวิกฤตการณ์โควิด 19

ขณะที่ KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร เผย 10 เหตุผลคุณภาพการศึกษาไทยลดลง รากฐานของปัญหา มีดังนี้ 

1.การศึกษาไทยเน้นปริมาณ

งบประมาณด้านการศึกษาของไทยไม่ใช่ปัญหา โดยมีงบอุดหนุนต่อนักเรียน 1 คนที่ระดับประมาณ 20% ของรายได้เฉลี่ยประเทศ ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงประเทศพัฒนาแล้ว แต่มักเป็นการใช้จ่ายไปกับสิ่งที่ไม่ได้ใช้งานจริง เช่น อุปกรณ์ช่วยการสอนที่ครูอาจไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ หรือการเพิ่มเวลาเรียนให้กับเด็กโดยไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพการสอนควบคู่กัน

2.การจัดสรรงบประมาณที่ไม่ตรงจุด

ขาดการวิจัยและพัฒนาและการปรับปรุงคุณภาพบุคลากร วิธีการจัดสรรงบประมาณในปัจจุบันอาจซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ คือ จัดสรรงบประมาณตามจำนวนหัว โดยนำงบทั้งหมดหารด้วยจำนวนนักเรียน แล้วให้งบแก่โรงเรียนตามจำนวนนักเรียนทั้งหมด ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กเสียเปรียบและได้รับเงินอุดหนุนไม่เพียงพอ

3.ครูมีจำนวนไม่เพียงพอ

ครูไทยขาดแคลนกว่า 30,000 คนในโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะการจัดสรรครูที่ขาดประสิทธิภาพ โดยการกำหนดจำนวนครูตามขนาดโรงเรียนทำให้ครูในโรงเรียนเล็กมีภาระหนักเกินความจำเป็น ครู 1 คนต้องรับภาระสอนนักเรียนมากกว่า 1 ห้องเรียนและอาจเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนครูที่รุนแรงและทำให้คุณภาพโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลตกต่ำลงเรื่อยๆ

4.ความเหลื่อมล้ำยังสูง

โรงเรียนต่างจังหวัดคุณภาพต่ำ พบว่าคะแนน ONET กรุงเทพฯ สูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศประมาณ 23% ในหมวดคณิตศาสตร์ และ 40% ในหมวดภาษาอังกฤษ โรงเรียนใหญ่ในเมืองคุณภาพสูงกว่ามาก ในขณะที่ผลคะแนน PISA ชี้ว่ามีนักเรียนจำนวนมากในไทยที่ไม่ผ่านการทดสอบตามเกณฑ์ สะท้อนว่านักเรียนสัดส่วนใหญ่ในไทยยังมีคุณภาพที่ต่ำกว่าเกณฑ์และเด็กเก่งส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเมือง

5.คุณภาพครูไม่พร้อม

จากตัวเลขการสำรวจความเพียงพอของบุคลากรในรายงานของ PISA ไทยขาดแคลนบุคลากรที่ผ่านมาตรฐานทั้งในกลุ่มวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษา โดยจากผลสำรวจมีสัดส่วนผู้อำนวยการโรงเรียนมากเกิน 40% ที่ตอบคำถามว่าขาดแคลนครูที่ได้มาตรฐาน

งานศึกษาของ OECD ยังชี้ให้เห็นว่าคุณภาพครูไทยเป็นปัญหามาจากวิธีการคัดเลือก หลักสูตร และการประเมินผลของครูไทยที่ยังไม่ได้มาตรฐานเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ส่งผลให้ครูไทยอาจขาดความเข้าใจหลักสูตรและสอนตามเป้าหมายของหลักสูตรได้ไม่เต็มที่

กับดักความเหลื่อมล้ำ การศึกษาถอยหลัง ปลด ‘เด็กไทย’ มองโลกกว้างจริงหรือ?

6.เงินเดือนครูไม่พอ แรงจูงใจไม่ตรงเป้า

 ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศเริ่มต้นจากการกำหนดให้เงินเดือนครูอยู่ในระดับที่แข่งขันได้กับวิชาชีพอื่น ในกรณีของไทยเงินเดือนครูยังไม่สามารถดึงดูดผู้มีศักยภาพระดับสูงที่สุดมาทำสายอาชีพนี้ได้มากนักแม้ว่ารายได้ครูจะอยู่ในระดับที่ดีเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศแล้วก็ตาม

ปัญหาที่สำคัญกว่านั้น คือปัญหาด้านแรงจูงใจ เนื่องจากในการพิจารณาขึ้นเงินเดือน น้ำหนักกว่า 70% คือจริยธรรมและผลการปฏิบัติงานมากกว่าทักษะการสอน ทำให้ครูไทยใช้เวลาส่วนใหญ่เพื่องานนอกห้องเรียน เช่น การอบรมจากหน่วยงานต่าง ๆ หรือการทำรายงานเพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะ มากกว่าการพัฒนาคุณภาพการสอน

7.ครูไทยชีวิตแย่ เป็นหนี้สูง

 หนี้ของครูเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.5 ล้านบาท เทียบกับหนี้ครัวเรือนเฉลี่ยที่ 5 แสนล้านบาทเท่านั้น สะท้อนว่าคุณภาพชีวิตครูไทยค่อนข้างอยู่ภายใต้ข้อจำกัดอย่างน้อยในทางการเงิน เมื่อครูอยู่ภายใต้ภาระหรือข้อกังวลของปัญหาในชีวิตส่วนตัวก็อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพการสอนในห้องเรียน

8.ปัญหาของการประเมินผลการศึกษา

แบบทดสอบที่ใช้วัดมาตรฐานการศึกษาของไทยมีข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวางเรื่องคุณภาพของแบบทดสอบในหลายประเด็น

  • ข้อสอบ ONET ไม่ส่งเสริมให้เกิดการคิดวิเคราะห์ถูกตั้งคำถามว่าหลายข้อไม่มีคำตอบที่ถูกต้องชัดเจน
  • ข้อสอบวัดความถนัดเฉพาะ เช่น PAT ที่ใช้สำหรับการเข้ามหาวิทยาลัยมีปัญหาในเรื่องความยาก การไม่ยึดโยงกับหลักสูตร และมาตรฐานที่ไม่เท่ากันในข้อสอบแต่ละปี ทำให้การสอบวิชาคณิตศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ยไม่ถึง 50 คะแนนจาก 300 คะแนน ผลักให้นักเรียนต้องหาความรู้เพิ่มเติมจากโรงเรียนกวดวิชาซึ่งซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาในไทย

9.โครงสร้างหลักสูตรและการจัดสรรเวลาเรียน

หลักสูตรของไทยเน้นการให้เด็กเรียนเยอะแต่บังคับการศึกษาในกลุ่มวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์น้อย มีลักษณะเน้นสอนเนื้อหาให้ครบถ้วนเป็นหลัก เน้นการประเมินผลจากส่วนกลาง และขาดการสอนทักษะใหม่ ๆ เช่น ความรู้ทางการเงิน ทักษะความรู้ด้านดิจิทัล และการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการเรียนรู้ เป็นต้น ปัญหาที่เกิดขึ้นยังส่งผลไปถึงการสอนที่ต้องการให้ครบตามเนื้อหาที่เยอะ ทำให้มีการเน้นการท่องจำไม่กระตุ้นให้เห็นความสำคัญและเกิดการคิดวิเคราะห์

10.การศึกษาแบบเก่า ผลิตคนไม่ตรงทักษะที่ต้องการ

โครงสร้างการศึกษาไทยยังเผชิญกับปัญหาผลิตคนไม่ตรงกับความต้องการของตลาดในหลายมิติ

  • ระดับการศึกษา : คนจบปริญญาตรีทำงานที่ใช้ทักษะต่ำกว่าความสามารถมากถึงประมาณ 34%
  • อุตสาหกรรม : แรงงานในกลุ่มสุขภาพ ผู้เชี่ยวชาญ กฎหมาย ขาดแคลน ในขณะที่ภาคเกษตร ค้าปลีก มีมากเกินไป ซึ่งคนไทยมีความนิยมเรียนสาขาสังคมศาสตร์มากกว่าวิทยาศาสตร์ ทำให้ในปัจจุบันคนจบการศึกษาในกลุ่มบริหารธุรกิจมีจำนวนเกินกว่าความต้องการไปถึงประมาณ 35% ของแรงงานจบใหม่

กับดักความเหลื่อมล้ำ การศึกษาถอยหลัง ปลด ‘เด็กไทย’ มองโลกกว้างจริงหรือ?

TDRI เสนอ  3 ระยะในการปรับปรุงระบบการศึกษา

นายพงศ์ทัศ วนิชานันท์ นักวิจัยอาวุโส ทีมนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า สาเหตุหลักของปัญหาที่ทำให้ผลการประเมินPISA ของไทยลดลงต่อเนื่องนั้น มาจากการระบบศึกษาของไทยที่อ่อนแอ แม้ครั้งนี้จะมีส่วนจากการปิดโรงเรียนจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็เกิดขึ้นทั่วโลก และเมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศ ผลการเรียนของไทยตกต่ำลงมากกว่า ดังนั้นปัญหาหลักจึงอยู่ที่ระบบการศึกษาที่ไม่เข้มแข็งนั่นเอง

นายพงศ์ทัศ  กล่าวต่อว่าไทยควรยกเครื่องการศึกษาใหม่ ปรับใหญ่ทั้งระบบ ทั้งหลักสูตร การใช้ทรัพยากร และการผลิตครู โดยแบ่งได้เป็น 3 ระยะคือ

  • ข้อเสนอระยะสั้น (ภายใน 1 ปี) คือการลดภาระงานอื่นของครู เพื่อให้ครูสอนได้อย่างเต็มที่ โดยกระทรวงควรที่จะทบทวนโครงการต่างๆ อีกครั้ง
  • ข้อเสนอระยะกลาง (ภายใน 3 ปี) คือ ระบบการศึกษาไทยจะต้องยกเครื่องหลักสูตรและออกแบบระบบให้พร้อม เพื่อรองรับหลักสูตรใหม่ๆ ที่อิงกับสมรรถนะมากยิ่งขึ้น พร้อมส่งเสริมการวิเคราะห์ การประเมิน และความคิดสร้างสรรค์
  • ข้อเสนอระยะยาว (ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง) คือ การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการศึกษา อาจเริ่มจากข้อเสนอของธนาคารโลกที่สนับสนุนให้ ‘บริหารควบรวมและพัฒนาเครือข่าย’ พร้อมทั้งสร้างแรงจูงใจให้ครูไปอยู่ในโรงเรียนขนาดเล็กที่ห่างไกล รวมถึงเพิ่มงบประมาณที่ได้จากการบริหารจัดการอย่างประหยัดและรัดกุมมาเพิ่มให้กับโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล

กับดักความเหลื่อมล้ำ การศึกษาถอยหลัง ปลด ‘เด็กไทย’ มองโลกกว้างจริงหรือ?

ปรับหลักสูตรการศึกษาต้องอาศัยความมุ่งมั่นทางการเมือง

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่าตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ไทยมีรัฐมนตรีศึกษาธิการน่าจะเกิน 20 คน แต่ละคนอยู่กันวาระสั้นๆ อาจไม่สามารถผลักดันการปฏิรูปได้ คาดว่าต่อไปการเมืองไทยน่าจะมีเสถียรภาพมากพอสมควร ปัจจัยที่ต้องคิดตามมาคือ รัฐมนตรีมีความเชี่ยวชาญหรือมีความสนใจหรือไม่ ความเชี่ยวชาญอาจคาดหวังได้ยาก เนื่องจากนักการเมืองในฐานะที่เข้ามาถือเป็นผู้กำหนดนโยบายหรือผู้บริหาร

ดร.สมเกียรติ กล่าวอีกด้วยว่า การปรับหลักสูตรจะต้องอาศัยความมุ่งมั่นทางการเมือง และเห็นว่าประเทศไทยจะไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้ เด็กไทยจะไม่สามารถอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยความท้าทาย ถ้ายังเรียนรู้อย่างท่องจำหรือเรียนรู้แล้วไม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนหลักสูตรจึงเป็นยาขนานแรกที่จะต้องเร่งให้เกิดขึ้น เพราะว่าต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร 

"ระบบการศึกษาไทยอ่อนแอมานานแล้ว และผลประเมิน PISA ชี้ให้เห็นมาโดยตลอด 20 ปีว่าการศึกษาไทยมีปัญหาระดับรากฐาน ซึ่งหากไม่มีการแก้ไขครั้งใหญ่ประเทศไทยจะไม่สามารถก้าวเดินเป็นประเทศพัฒนาได้ และคนไทยจะไม่มีทักษะพอที่จะใช้ชีวิตอยู่ในศตวรรษที่21 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีทั้งความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายในโลก  ดังนั้นหากไม่มีการแก้ไขจะทำให้ไทยยิ่งตกขบวนในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงในโลกมากขึ้นไปเรื่อยๆ"

กับดักความเหลื่อมล้ำ การศึกษาถอยหลัง ปลด ‘เด็กไทย’ มองโลกกว้างจริงหรือ?

คนไทยเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 4.3 ล้านคน 

ความเหลื่อมล้ำในประเทศนับวันจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น ช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยกว้างมากขึ้น คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาวิเคราะห์ ออกมาระบุว่า กลุ่มเป้าหมายของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 4.3 ล้านคน คือตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยแรงงานช่วงต้น

  • กลุ่มแรก  เด็กเล็กในครอบครัวที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ อายุ 0-2 ขวบ อยู่ในครอบครัวที่มีรายได้น้อยที่สุด 40% แรกของประเทศ ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง เพราะในช่วงเด็กแรกเกิด ทุกคนที่เพิ่งมีลูกใช้เงินเยอะ คนที่รายได้น้อยก็จะลำบากในการช่วยให้โภชนาการของลูกสมบูรณ์ หรือพาลูกไปเรียนได้ทันเวลา
  • กลุ่มสอง กลุ่มวัยเรียน เช่น เด็กอนุบาล เด็กไทยจำนวนมากยังไม่ได้เรียนอนุบาลประมาณ 2 แสนกว่าคน คิดเป็น 10% มีเด็กไทยประมาณ 1 ใน 10 ที่ควรจะได้เรียนอนุบาลแล้วยังไม่เข้าเรียน เหตุผลส่วนใหญ่คือพ่อแม่ที่มีรายได้น้อยต้องไปทำงานตามที่มีโอกาสในการทำงาน บางทีกะเตงลูกไปด้วย เขาเลยไม่มีโอกาสที่จะเอาลูกเข้าโรงเรียนได้ทันเวลานัด ส่วนใหญ่พวกนี้ตั้งใจ อยากให้ลูกเข้าเรียน แต่ว่ารอ ป.1 แล้วกัน ส่วนเด็กที่เข้าอนุบาลไปแล้วประมาณ 6 แสนคนก็อยู่ในครอบครัวที่ยากจน
  • กลุ่มสาม สำคัญมาก และเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด คือ กลุ่มที่อยู่ในการศึกษาภาคบังคับ ช่วงอายุ 6-14 ปี  หรือ ป.1-ม.3 จริงๆ ประเทศไทยก็ค่อนข้างก้าวหน้า เพราะเหลืออยู่ 3% เท่านั้นที่ยังไม่ได้เรียน หรือเข้าไปแล้วหลุดออกมาจากการศึกษาภาคบังคับ กลุ่มนี้ใกล้ถึงฝั่งแล้ว มีประมาณ 2 แสนคนจาก 7 ล้านคน

กับดักความเหลื่อมล้ำ การศึกษาถอยหลัง ปลด ‘เด็กไทย’ มองโลกกว้างจริงหรือ?

เรียนรู้การศึกษาในอุดมคติแต่ละประเทศในเวลาที่เหมาะสม

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า กสศ.พยายามช่วยคนทุกกลุ่มอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นเด็กยากจน ด้อยโอกาส เด็กพิการที่อยู่ในระบบการศึกษาประมาณ 1.8 ล้านคน กันไม่ให้เขาหลุดออกมาเพิ่มเติมอีก คือ 3% ต้องแก้ไขรีบเอากลับเข้าระบบด้วย ซึ่งการป้องกันใช้งบประมาณน้อยกว่า ใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า

ฉะนั้น ถ้าทำตรงนี้ได้ดี ตัวเลข 3% จะไม่เพิ่มอีก และก็จะกลายเป็น 0 % ได้ในเวลาอีกไม่นานนัก ทีนี้พอเลยวัยที่เป็นการศึกษาภาคบังคับ เราไปบังคับเขาไม่ได้ ไม่ได้มีกฎหมายกำกับว่าต้องเรียนต่อ แต่ถ้าเรียนก็จะมีนโยบายของรัฐบาลเช่น เรียนฟรี 15 ปี ส่วนที่เข้าไปเรียนต่อในระดับ ม.ปลาย หรือ ปวช. ประมาณ 15% ก็เป็นเยาวชนที่มีรายได้น้อย ซึ่งเขาอาจจะเรียนไม่จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือสุดท้ายก็จะไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย อีกกลุ่มที่เหลือก็จะเป็นวัยแรงงานที่ต้องการการพัฒนาทักษะ

"ระบบการศึกษาในแต่ละประเทศล้วนมีข้อดีข้อเสียเหมือนกันหมด หลายๆ คนชอบพูดถึงสิงคโปร์ว่าเป็นระบบการศึกษาในอุดมคติ แต่เขามีขนาดประชากรเท่ากับหนึ่งเมืองของเราเท่านั้น ฟินแลนด์ก็เหมือนกัน คนนิดเดียว แล้วคนแทบจะเหมือนกันหมด ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจสังคมเหมือนกันมาก เพราะฉะนั้นเขาก็ไปถึงอุดมคติตรงนั้น"

แต่ในขณะเดียวกันเขามีโจทย์ที่แตกต่างกัน ระบบการศึกษาบางระบบ perform ดีมากในการจัดอันดับ แต่อัตราการฆ่าตัวตายของเด็กก็สูง อัตราความเครียดของเด็กก็สูง ใช่ไหมครับ คือถึงเขาจะมีอันดับที่ดีในโลกแต่ก็มีปัญหาที่แลกมาหลายๆ อย่างเช่นกัน เพราะฉะนั้นถ้าถามถึงการศึกษาในอุดมคติ อาจจะไม่มีประเทศไหนที่ดีทุกๆ ด้าน แต่เราเรียนรู้จากเขาได้ว่าเอาบางส่วนของเขามา แล้วเอามาปรับให้ตรงกับประเทศไทย

 เวลาพูดถึงการศึกษาในอุดมคติ อย่าไปดูตอนนี้ ต้องย้อนไปดูเมื่อ 30-40 ปีก่อนตอนที่เขาปฏิรูปตัวเองว่าเขาทำยังไง ประเทศไทยไม่สามารถเรียนรู้แค่ในปัจจุบันของเขา แต่ต้องเรียนรู้ว่าสิงคโปร์ เกาหลีใต้ เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ก่อนหน้านี้ทำยังไง ต้องเรียนรู้ในจังหวะเวลาที่เหมาะสม

กับดักความเหลื่อมล้ำ การศึกษาถอยหลัง ปลด ‘เด็กไทย’ มองโลกกว้างจริงหรือ?