รวมวิธี- ช่องทางตรวจคัดกรอง '3 มะเร็งร้ายยอดฮิต' คร่าหญิงไทย
'โรคมะเร็ง' นับเป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตคนไทยจำนวนมาก และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีร่างกายซับซ้อนเเละต้องดูเเลเอาใจใส่เป็นพิเศษ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนน เพศสัมพันธ์ เเละปัจจัยทางสิ่งเเวดล้อมเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งโดยไม่รู้ตัว
Keypoint:
- 'โรคมะเร็ง' เป็นโรคร้ายและสามารถเกิดได้กับทุกคน ดังนั้นจึงถูกบรรจุเข้าไปในวาระสำคัญของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คนไทยทุกคน ไม่ว่าจะใช้สิทธิบัตรทอง ข้าราชการ หรือสิทธิประกันสังคม สามารถตรวจคัดกรองและรักษาได้
- หญิงไทยสามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ได้ฟรี ในสถานพยาบาลใกล้บ้าน
- ความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง ไม่ใช่เป็นเรื่องของพันธุกรรมเท่านั้น แต่พฤติกรรมการปฎิบัติตัว อย่าง กินเนื้อสัตว์ประเภทปิ้งย่าง อาหารทอด อาหารไขมันสูง หรือรับประทานอาหารแปรรูปต่างๆ ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งทั้งสิ้น
ข้อมูลโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ระบุว่า แต่ละปีมีคนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งรายใหม่ถึงวันละ 381 คน หรือ 139,206 คนต่อปี และเสียชีวิตจากโรคมะเร็งวันละ 230 คน หรือ 84,073 คนต่อปี
โดย 5 อันดับแรกของมะเร็งที่พบบ่อยในชายไทย ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
ส่วน 5 อันดับแรกของมะเร็งที่พบบ่อยในหญิงไทย ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด และมะเร็งปากมดลูก
ดังนั้น การรู้จักกับโรคมะเร็งเหล่านี้และรู้ว่าจะป้องกันตัวเองจากโรคได้อย่างไรจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้อย่างมาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
รู้ได้อย่างไร....ว่าเป็น 'มะเร็งเต้านม' รู้ทันความเสี่ยง รักษาเร็ว
ไม่อยากเสี่ยง 'โรคมะเร็ง' ลดอาหารกลุ่มเสี่ยง ช่วยได้ 30-40 %
มะเร็งเต้านม อันดับหนึ่งหญิงไทยเสียชีวิต
ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ)พญ.อิ่มใจ ชิตาพนารักษ์ อาจารย์หน่วยรังสีรักษาเเละมะเร็งวิทยา ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหัวหน้าหน่วยทะเบียนมะเร็งโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กล่าวว่า โรคมะเร็งร้าย 3 โรคที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งปากมดลูก ซึ่งวิธีที่ดีที่สุด คือการการตรวจคัดกรอง (Screening for cancer) เป็นการตรวจโรคในระยะต้น สามารถรักษาโรคเหล่านี้ได้ ปัจจุบันการตรวจคัดกรองมีประสิทธิผลสูงทั้งโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปอด และมะเร็งปากมดลูก เป็นต้น
- มะเร็งเต้านม
มะเร็งที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในเต้านม โดยเฉพาะเซลล์ท่อน้ำนม โดยเซลล์จะเริ่มแบ่งตัวผิดปกติแล้วลุกลามไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียง จากนั้นหากปล่อยไว้ อาจแพร่กระจายไปยังเซลล์อื่น ๆ ในร่างกายได้ ผ่านทางเดินน้ำเหลือง อัตราการเกิดโรคของทั่วโลก พบว่าผู้หญิง 8 ราย จะพบโรคมะเร็ง 1 ราย อุบัติการณ์ของมะเร็งเต้านมในไทยคิดเป็น 37.8 ราย ต่อประชากรแสนราย ซึ่งในจำนวนนี้มีอัตราการเสียชีวิต 12.7 ราย ต่อประชากร 1 แสนราย
สาเหตุ
- ส่วนใหญ่เกิดจากฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนที่มีมากเกินไป
- ปัจจัยทางพันธุกรรม ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม การรับประทานอาหารประเภทไขมันสูง
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งเต้านมได้แก่
- อายุที่มากขึ้น
- มีประวัติโรคมะเร็งเต้านมในครอบครัว
- น้ำหนักตัวมาก หรือเคยมีประวัติตรวจพบก้อนที่เต้านมมาก่อน
อาการของโรคได้แก่
- มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง
- ขนาดหรือสีผิวของเต้านม
- มีของเหลวไหลออกจากหัวนม หรือคลำเป็นก้อนได้ที่เต้านมหรือรักแร้
เช็ก! ช่องทางตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม
การตรวจมะเร็งเต้านม
- สามารถตรวจมะเร็งเต้านมได้ด้วยตนเอง สามารถคลำตรวจด้วยตนเองทำได้ทุกเดือน เมื่อคลำแล้วพบก้อนที่ผิดปกติ แล้วไม่สบายใจ ไม่แน่ใจ ให้เข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
- การตรวจเต้านมโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เมื่อคลำแล้วพบก้อนที่ผิดปกติ แล้วไม่สบายใจ ไม่แนใจ
- การตรวจด้วยเครื่องถ่ายภาพรังสีเต้านม
จากรายงานทะเบียนมะเร็งระดับโรงพยาบาล ประเทศไทยส่วนมาก พบในระยะที่ 2 และระยะที่ 3 หากพบโรคตั้งแต่ระยะแรก โอกาสการรักษาที่จะหายขาดมากขึ้น
"ผู้หญิงไทยควรตรวจมะร็งเต้านมได้ด้วยตนเอง ซึ่งการศึกษาวิจัยได้ออกมาแล้ว ได้รับการตีพิมพ์ พบว่าการตรวจด้วยตนเอง สามารถพบก้อนมะเร็งที่เต้านมได้เร็วขึ้น หากพบก้อนที่มีขนาดเล็กกว่า 2 เซนติเมตร มีอัตราการรอดชีวิตที่ดีกว่าคนที่พบก้อนเนื้อที่มีขนาดใหญ่แล้ว และการตรวจภาพรังสีเต้านม เป็นการตรวจหาโรคมะเร็งเต้านมที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดอัตราการพบมะเร็งเต้านมในระยะลุกลาม และสามารถเพิ่มการรอดชีวิต"
ตรวจคัดกรองต้องเริ่มตั้งแต่อายุเท่าไหร่?
การตรวจคัดกรองควรเริ่มเมื่อประจำเดือนหมดไปแล้ว 7 – 10 วัน เพราะเป็นระยะที่เต้านมนิ่มแล้ว หากตรวจก่อนที่มีประจำเดือน หรือหมดประจำเดือนหมาดๆ จะตรวจเต้านมได้ยากและเจ็บ
- ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 20 ปี คลำเต้านมตัวเอง (BSE) ทุกเดือน ในช่วงอายุที่ไม่จำเป็นตรวจแมมโมแกรม
- ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 35 ปี คลำเต้านมตัวเอง (BSE) ทุกเดือน + ตรวจแมมโมแกรม ทุก 2 ปี
- ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปี คลำเต้านมตัวเอง (BSE) ทุกเดือน + ตรวจแมมโมแกรม ทุก 1 ปี
- ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปี คลำเต้านมตัวเอง (BSE) ทุกเดือน + ตรวจแมมโมแกรม ทุก 1-2 ปี
กลุ่มเสี่ยงตรวจคัดกรองทุกปี
- ญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งที่รังไข่ที่อายุน้อยกว่า 50 ปี
- ผู้ที่มีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม
- ผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยการฉายแสงบริเวณหน้าอก
- ผู้ที่มีประวัติชิ้นเนื้อเต้านมพบเซล์ผิดปกติ
- ผู้ที่ได้รับประทานฮอร์โมนเสริมทดแทนวัยหมดประจำเดือนเป็นประจำมากกว่า 5 ปี
ปี 2567 หญิงไทยรับสิทธิตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมฟรี
ทั้งนี้ ในปี 2567 นี้ เพื่อให้หญิงไทยที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงบริการตรวจยีน BRCA1/BRCA2 เพิ่มขึ้น สปสช. จึงได้ร่วมกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในการออกแบบประเมินคัดกรองสุขภาพเพื่อประเมินความเสี่ยงและการรับสิทธิตรวจคัดกรองยีน BRCA1/BRCA2 เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้กลุ่มเป้าหมายเห็นความสำคัญในการเข้ารับบริการตรวจคัดกรองนี้ พร้อมจัดระบบให้คำแนะนำและประสานส่งต่อโดยสายด่วน สปสช. 1330
สำหรับแบบประเมินคัดกรองสุขภาพเพื่อประเมินความเสี่ยงและการรับสิทธิตรวจคัดกรองยีน BRCA1/BRCA2 นี้ จะประกอบด้วยคำถามทั้งหมด 6 ข้อด้วยกัน ล้วนเป็นคำถามสำคัญที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสรุปว่าสามารถใช้บ่งชี้ถึงแนวโน้มความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งเต้านมได้ และจำเป็นทีผู้ทำแบบประเมินต้องเข้ารับบริการตรวจคัดกรองยีนฯ ซึ่งการทำแบบประเมินยังทำได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก เพียงตอบคำถามผ่านระบบของ Google Forms ซึ่งระบบจะทำการบันทึกคำตอบพร้อมส่งข้อมูลมายังระบบของ สปสช. เพื่อประเมินผล โดยแบบประเมินนี้จะพร้อมให้บริการตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
ในกรณีผลประเมินพบว่าเป็นไปตามเงื่อนไข มีความเสี่ยงต่อยีนกลายพันธุ์ ข้อมูลจะส่งต่อไปยังระบบของสายด่วน สปสช. 1330 เพื่อให้เจ้าหน้าที่สายด่วน สปสช. 1330 โทรไปยังผู้ทำแบบประเมินเพื่อให้บริการข้อมูลและคำแนะนำที่เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม และจะประสานส่งต่อเข้ารับบริการตรวจคัดกรองยีน BRCA1/BRCA2 ที่หน่วยบริการ หากผู้ทำแบบประเมินต้องการให้ดำเนินการ
เมื่อผู้ทำแบบประเมินเข้ารับบริการตรวจคัดกรองยีนฯ ตามที่นัดหมายกับหน่วยบริการแล้ว หากผลปรากฏว่าเป็นผู้ที่มีความเสี่ยง หรือพบยีน BRCA1/BRCA2 กลายพันธุ์ ที่อาจทำให้เกิดมะเร็งเต้านมได้ จะได้เข้าสู่กระบวนการรักษาตามสิทธิการรักษาพยาบาลที่มีต่อไป
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอย้ำว่าการทำแบบประเมินความเสี่ยงฯ นี้ ข้อมูลต่างๆ ของผู้ทำประเมินจะถูกเก็บเป็นความลับและรักษาความปลอดภัย และในกรณีที่สายด่วน สปสช. 1330 โทรกลับไปยังท่านเพื่อแจ้งข้อมูล จะเป็นการโทรเฉพาะผู้ตอบแบบประเมินที่ยินยอมให้ชื่อและเบอร์โทรเท่านั้น จะไม่มีการโทรสุ่มหรือโทรไปยังบุคคลอื่นๆ ที่ไม่ได้ให้ข้อมูลในแบบประเมินนี้ เพื่อความปลอดภัยทางข้อมูล
“มะเร็งเต้านมมีความเสี่ยงต่อยีนกลายพันธุ์และถ่ายทอดสู่ลูกหลานได้ เพื่อปกป้องคนที่เรารักและ สมาชิกในครอบครัวให้ห่างไกลจากโรคมะเร็งเต้านม สปสช. ขอเชิญชวนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและญาติสายตรง ร่วมทำแบบประเมินคัดกรองสุขภาพเพื่อประเมินความเสี่ยงและการรับสิทธิตรวจคัดกรองยีน BRCA1/BRCA2 ที่เป็นสิทธิประโยชน์บัตรทอง ไม่เสียค่าใช้จ่าย” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
'มะเร็งลำไส้ใหญ่' อีกหนึ่งมะเร็งร้ายทำลายชีวิตผู้หญิง
มะเร็งลำไส้ใหญ่ คือ มะเร็งส่วนที่เรียกว่า ลำไส้ใหญ่โคลอน และลำไส้ตรง ซึ่งอยู่เหนือต่อทวารหนัก พบว่าผู้หญิงไทยเป็นอันดับที่ 2 รองจากมะเร็งเต้านม อุบัติการณ์ของมะเร็งลำไส้ใหญ่คิดเป็น 15.2 ราย ต่อประชากร 1 แสนราย ซึ่งในจำนวนนี้มีอัตราการเสียชีวิต 8 ราย ต่อประชากร 1 แสนราย อย่างไรก็ตามมะเร็งลำไส้ใหญ่ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ชายเช่นกัน
สาเหตุของมะเร็งลำไส้ใหญ่
- พันธุกรรม บุคคลที่มีพ่อ แม่ พี่ น้อง ลูก ป่วยด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
- ผู้ที่มีความเจ็บป่วยเรื้อรังของลำไส้บางอย่าง จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงกว่าคนทั่วไป
- มีอาการท้องผูกเป็นประจำ
- รับประทานเนื้อสัตว์จำนวนมาก ผักและผลไม้น้อย ไม่ออกกำลังกาย
การตรวจคัดกรอง
- การตรวจหาความผิดปกติที่ลำไส้ได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก สามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งลำไส้ได้อย่างชัดเจน
วิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ (เริ่มต้นอายุ 50 ปี)
- ตรวจอุจจาระหาเลือดที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าปีละครั้ง
- การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ส่วนปลายร่วมกับการตรวจการตรวจสวนแป้งลำไส้ใหญ่ทุก 5 ปี
- การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ด้วยภาพเสมือนจริง ทุก 5 ปี ทั้งนี้ ควรทำในสถาบันที่มีเครื่องมือที่มีความละเอียด แพทย์ต้องมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งปัจจุบันสามารถตรวจพบเนื้องอกที่มีขนาดมากกว่า 9 มิลลิเมตรได้มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์
แนวทางการป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่
- รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง ผัก และผลไม้ รวมไปถึงอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันต่ำ
- รับการตรวจคัดกรอง
- ในผู้ที่ไม่มีอาการ และไม่มีในปัจจัยเสี่ยง ควรเริ่มต้นที่อายุ 50 ปี
- สำหรับผู้ที่มีประวัติมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว ควรเริ่มตรวจคัดกรองที่อายุ 40 ปี หรือที่อายุ 5 ปี ก่อนอายุของคนในครอบครัวที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
- ส่วนผู้ที่มีประวัติเป็นลำไส้อักเสบชนิด Crohn’s disease และ Ulcerative colitis หรือผู้ป่วย ที่มีติ่งเนื้องอกจำนวนมาก (Polyposis Coli) การตรวจอาจเริ่มในอายุที่เร็วขึ้น
วิธีการรักษา
- การรักษาในระยะต้น การรักษาหลักคือ การผ่าตัด
- เคมีบำบัด
- ฉายรังสี
สปสช.บริการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้และสำไส้ตรง
ในส่วนของ สปสช.นั้น มีบริการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง หากตรวจพบในระยะเริ่มแรกการรักษาก็จะได้ผลดี ในปี 2561 สปสช.บรรจุสิทธิประโยชน์บริการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ฯ สำหรับผู้ที่อายุ 50–70 ปี โดยวิธีตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ (FIT Test) จำนวน 1 ครั้ง ทุก 2 ปี หากผลตรวจผิดปกติจะได้รับการตรวจยืนยันด้วยการส่องกล้องและการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ
โดยปี 2566 ที่ผ่านมาได้ตั้งเป้าหมายบริการ 750,076 ราย บริการคัดกรองรอยโรคเสี่ยงมะเร็งและมะเร็งช่องปาก ด้วยคนไทยมีแนวโน้มเป็นมะเร็งในช่องปากเพิ่มมากขึ้น ผู้ป่วยที่ไปพบแพทย์ส่วนใหญ่อยู่ในภาวะลุกลาม บริการคัดกรองรอยโรคเสี่ยงมะเร็งและมะเร็งช่องปากจึงเป็นการค้นหาผู้ป่วย ช่วยลดผู้ป่วยรายใหม่ ทำให้เข้าถึงการรักษาในระยะเริ่มต้น
ขณะเดียวกันยังค่ารักษาในภาวะโรคลุกลามได้ บอร์ด สปสช. จึงบรรจุเป็นสิทธิประโยชน์บริการเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 เพื่อให้ผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ได้รับการตรวจคัดกรองปีละ 1 ครั้ง โดยปี 2566 มีเป้าหมายบริการ 59,010 ราย
รีบตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
'มะเร็งปากมดลูก' เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นในเซลล์ปากมดลูกซึ่งอยู่บริเวณช่วงล่างของมดลูกและเชื่อมต่อกับช่องคลอด อุบัติการณ์ของมะเร็งปากมดลูกคิดเป็น 16.4 ราย ต่อประชากร 1 แสนราย ซึ่งในจำนวนนี้มีอัตราการเสียชีวิต 7.4 ราย ต่อประชากร 1 แสนราย
เป็นมะเร็งไม่กี่ชนิดที่สามารถป้องกันได้ โดย
- การฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก ป้องกันชั้นเริ่มแรกที่ปากมดลูกไม่ให้ติดเชื้อ HPV ได้
- การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกป้องกันชั้นที่สอง มองหารอยโรค เพื่อทำการรักษาอย่างทันท่วงที
อาการแสดง
- มักไม่มีอาการในช่วงแรก จะมีอาการก็ต่อเมื่อเข้าสู่ระยะรุนแรงมากขึ้น อาจมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือจากการตรวจภายใน
- บางรายอาจจะมีภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดที่ไม่ใช่รอบเดือน มีเลือดออกหลังจากเข้าสู่วัยทองแล้ว
- มีภาวะตกขาวมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ
- มีอาการปวดท้องน้อย
สาเหตุหลัก
คือการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) คือ ไวรัสฮิวแมนแพพพิลโลมา (Human papillomavirus)
- หากผู้หญิงติดเชื้อ HPV จะเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิด การเปลี่ยนแปลงที่เซลล์ปากมดลูก ทำให้เกิดโรคต่างๆ เช่น หูดหงอนไก่ มะเร็งปากมดลูก ฯลฯ
- โดยมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี มีเพศสัมพันธ์หลายคน สูบบุหรี่ มีลูกมาก และผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง
ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกสามารถทำอย่างไร? ได้บ้าง
แป๊บสเมียร์ (Pap Smear หรือ Pap Test)
- เป็นการเก็บเซลล์ปากมดลูกมาป้ายบนสไลด์
- ความแม่นยำในการตรวจขึ้นอยู่กับความชำนาญผู้อ่านสไลด์
ลิควิดเบส (Liquid Base)
- เป็นการเก็บเซลล์บริเวณปากมดลูกมาเก็บไว้ในน้ำยา เพื่อรักษาเซลล์ และกำจัดสิ่งปนเปื้อนพวกมูก หรือพวกเม็ดเลือดแดง
HPV DNA Test
- เป็นเทคนิคทางด้านชีวโมเลกุล ที่จะตรวจหาตัวเชื้อ HPV ได้โดยตรง
- ทำให้สามารถตรวจหา ระยะของโรคก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็ง
- วิธีการตรวจเหมือนตรวจภายใน คือเก็บเซลล์บริเวณตัวอย่างที่ปากมดลูกช่องคลอดด้านใน ส่งตรวจเหมือนวิธีการตรวจด้วยน้ำยา
"หญิงไทยทุกคนอายุ 30 ปี ขึ้นไป สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกฟรี โดยใช้เพียงบัตรประชาชนใบเดียว หรือสามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองที่โรงพยาบาลใกล้บ้านหรือตามสิทธิ์การรักษาตนเอง หรือสามารถโทรสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วน 1330 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง"
ทั้งนี้ เมื่อหากตรวจพบว่ามีเชื้อแล้ว ในส่วนขั้นตอนการเข้ารับรักษา จริงๆแล้วสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช. ) มีสิทธิประโยชน์สำหรับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม เราเน้นว่าเมื่อตรวจเจอแล้วต้องทำให้ครบวงจร ซึ่งหากอยู่ในระยะต้นไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆเลย แต่ถ้าเป็นมากกว่านระยะต้นสิทธิบัตรทองไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว และสิทธิประโยชน์อื่นๆก็ครอบคลุมด้วยเช่นกัน
การคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย)
- อายุน้อยกว่า 25 ปี ไม่แนะนำให้ตรวจคัดกรอง
- (ยกเว้นในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ติดเชื้อ HIV มีคู่นอนหลายคน เป็นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์)
- เมื่อ 25-65 ปี : เริ่มตรวจคัดกรองที่อายุ 25 ปี (เมื่อมีเพศสัมพันธ์)
- เริ่มตรวจคัดกรองที่อายุ 30 ปี (เมื่อยังไม่มีเพศสัมพันธ์)ด้วยวิธีต่อไปนี้ HPV DNA testing/Co-testing ทุก 5 ปี หรือ Cytology อย่างเดียว ทุก 2 ปี
อย่างไรก็ตาม สปสช.ได้เปิดบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่ตรวจพบมากในหญิงไทย สาเหตุเกิดจากเชื้อเอชพีวี แต่รักษาให้หายได้หากตรวจพบระยะเริ่มแรก โดยบริการนี้ครอบคลุมดูแลผู้ที่อายุ 30-59 ปี หรืออายุ 15-29 ปี ที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย หรือมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหลายคน เป็นต้น
โดยสามารถเข้ารับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ด้วยวิธีแปปสเมียร์ (Pap Smear) หรือ ตรวจคัดกรองด้วยวิธี (VIA) หรือ ด้วยวิธี HPV DNA Test ซึ่งเป็นวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่มีประสิทธิภาพและมีความแม่นยำสูง โดยมีสิทธิรับบริการตรวจคัดกรอง 1 ครั้ง ทุก 5 ปี และปีงบประมาณ 2566 สปสช. มีเป้าหมายบริการจำนวน 1,262,691 ราย นอกจากนี้ สปสช. ยังมีสิทธิประโยชน์บริการวัคซีนเอชพีวี ให้กับเด็กนักเรียนหญิง ชั้น ป.5 เพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูก
ปรับพฤติกรรม ลดสาเหตุที่ทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็ง
ปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งกว่าร้อยละ 90 เป็นสาเหตุจากปัจจัยภายนอก ไม่ใช่เรื่องพันธุกรรมในครอบครัวอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ ปัจจัยภายนอกที่ว่านั้นคือพฤติกรรมการปฎิบัติตัวให้สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง มีดังนี้
พฤติกรรมการกินเนื้อสัตว์ประเภทปิ้งย่าง อาหารทอด อาหารไขมันสูง หรือรับประทานอาหารแปรรูปต่างๆ
- การสูบบุหรี่
- การดื่มสุรา
- ความเครียด
- การได้รับรังสี
- ติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย พยาธิ
- ความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน
- ความอ้วน
- ไม่ออกกำลังกาย
- ไม่ทานผัก-ผลไม้สด
พฤติกรรมที่ควรทำ และควรเลี่ยงห่างไกลมะเร็ง
- งดสูบบุหรี่และอยู่ใกล้ผู้ที่สูบบุหรี่ รวมถึงหลีกเลี่ยงการดื่มสุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- รับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการและรับประทานอาหารอย่างสมดุล โดยรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลือกรับประทานผักผลไม้ที่หลากหลาย เน้นการรับประทานอาหารประเภทธัญพืชและอาหารที่มีเส้นใยมากขึ้น ลดการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง
- อย่ารับประทานอาหารที่หมดอายุหรือมีเชื้อรา
- ลด หรืองดเว้นการรับประทานอาหารจำพวกปิ้ง ย่าง และหมักดอง
- หลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดหรืออยู่ในที่มีแสงแดดจัดเป็นเวลานาน ๆ หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องหาอุปกรณ์เพื่อช่วยป้องกันร่างกายหรือผิวหนังจากแสงแดด และควรทาครีมกันแดดทั้งผิวหน้าและผิวกาย
- ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ
- ดื่มน้ำสะอาดในปริมาณที่เพียงพอ
- หลีกเลี่ยงสิ่งต่างๆที่ทำให้เกิดความเครียด
- ตรวจร่างกายประจำปีเป็นประจำทุกปี
- หากสงสัยว่าตัวเองมีอาการปกติซึ่งเป็นอาการของโรคมะเร็งควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยทันที
อ้างอิง:คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , สปสช. ,โรงพยาบาลเปาโล , โรงพยาบาลกรุงเทพ