'เน็ตป๊าม้า' ติดอาวุธพ่อแม่ ปั้นเด็กไทย สู่ทรัพยากรคุณภาพ

'เน็ตป๊าม้า' ติดอาวุธพ่อแม่ ปั้นเด็กไทย สู่ทรัพยากรคุณภาพ

สสส.-ศิริราช สานพลังเดินหน้าโครงการเน็ตป๊าม้า ติดอาวุธผู้ปกครอง ปั้น 'เด็กไทย' เป็นทรัพยากรคุณภาพของประเทศ เลือก 41 ต้นแบบนำร่อง 21 จังหวัด ก่อนขยายผลต่อเนื่องเฟส 3

 

เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2567 ที่ รร.อัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สาขาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล จัดประชุมวิชาการเน็ตป๊าม้า ครั้งที่ 1 เพื่อถอดปัจจัยความสำเร็จในการจัดตั้งห้องเรียนเน็ตป๊าม้า

 

น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า สถานการณ์เด็กเกิดน้อยและด้อยคุณภาพเป็นประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพราะประเทศก้าวสู่สังคมสูงวัย จำเป็นต้องมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพในการสร้างผลิตภาพแก่ระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม จากการทำงานของ สสส. ในระดับพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ พบว่า ครอบครัวส่วนมากต้องการความรู้และทักษะเลี้ยงดูเด็กแต่ละช่วงวัยให้เหมาะกับโลกยุคใหม่ แต่ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึง

 

ในปี 2562 สสส. ร่วมกับสาขาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ดำเนินโครงการ “พัฒนาโปรแกรมสอนเทคนิคการปรับพฤติกรรมเด็กสำหรับผู้ปกครองผ่านระบบอินเตอร์เน็ต (NetPAMA)” ระบบเรียนรู้ด้วยตนเองของพ่อแม่ผ่านเว็บไซต์ www.netpama.com เปิดตัวไปเมื่อ ส.ค. 2564 มีผู้ปกครองสมัครและเข้าเรียนถึง 10,285 คน

 

\'เน็ตป๊าม้า\' ติดอาวุธพ่อแม่ ปั้นเด็กไทย สู่ทรัพยากรคุณภาพ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

ผลวิจัยติดตามระยะยาวพบว่าพ่อแม่นำความรู้และเทคนิคต่าง ๆ ไปปรับใช้เลี้ยงลูกอย่างได้ผลมากกว่าพ่อแม่กลุ่มควบคุม (ไม่ได้เข้าเรียน) อย่างไรก็ตาม การเข้าเรียนด้วยตัวเองผ่านระบบออนไลน์ยังทำได้ยากสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองกลุ่มที่มีรายได้น้อย ไม่สะดวกใช้อุปกรณ์ไอทีและอินเตอร์เน็ต ประกอบกับสถิติชี้ว่าเด็กไทยกว่า 70% อยู่ในครัวเรือนยากจน อยู่ในชุมชนตามภูมิภาคต่าง ๆ เป็นที่มาของการพัฒนาห้องเรียนเน็ตป๊าม้าในปี 2566 - 2567 รับสมัครผู้สนใจฝึกอบรมหลักสูตรเน็ตป๊าม้า และฝึกทักษะการจัดห้องเรียนเน็ตป๊าม้าระดับชุมชน

 

ตลอดปี 2566 มีผู้ผ่านการฝึกอบรม 281 คน และผ่านการคัดเลือกให้ทดลองเปิดห้องเรียนเน็ตป๊าม้าในชุมชน 41 คน 41 ห้องเรียน จาก 21 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งจะวิจัยวัดประสิทธิผลของกระบวนกร วิจัยติดตามกลุ่มผู้ปกครองที่ผ่านการอบรม วัดผลการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมของบุตรหลาน เสนอต่อสังคมต่อไป

 

"สสส. และสาขาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น มุ่งหวังให้เกิดนิเวศน์การเรียนรู้สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองและครู เพื่อการเลี้ยงดูเด็กเชิงบวก ที่มีแหล่งเรียนรู้ครบทั้งห้องเรียนออนไลน์ ห้องเรียนในชุมชน และการสื่อสารเผยแพร่ความรู้ที่น่าสนใจผ่านเพจ Netpama อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นตัวช่วยสำคัญของทุกครอบครัวให้สามารถเลี้ยงดูเด็กในโลกยุคใหม่ได้อย่างเหมาะสม” น.ส.ณัฐยา กล่าว

 

\'เน็ตป๊าม้า\' ติดอาวุธพ่อแม่ ปั้นเด็กไทย สู่ทรัพยากรคุณภาพ

 

 

พลาศิณี ศรีสองเมือง ครูพัฒนาชีวิต โรงเรียนเพลินพัฒนา หนึ่งในนกระบวนกร ที่ได้รับทุน ร่วมแชร์มุมมองว่า โรงเรียนเพลินพัฒนา เป็นโรงเรียนทางเลือกใน กทม. กลุ่มเป้าหมายในโครงการ คือ ผู้ปกครอง ของนักเรียน ชั้น ป.4-6 จำนวน 14 ครอบครัว ความท้าทาย คือ ทำอย่างไรให้ 14 คนอยู่กับเราตั้งแต่ต้นจนจบการอบรมทั้ง 7 ครั้ง เพราะทุกบทเป็นเนื้อหาสำคัญและไม่อยากให้พลาด

 

“ขณะที่ ผู้ปกครอง เป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จ และเป็นความท้าทาย เพราะบริบทของผู้ปกครอง ค่อนข้างมีการศึกษาสูงและมีองค์ความรู้ ปัจจัยดังกล่าวเป็นแรงขับเคลื่อนที่ทำให้ผู้เป็นกระบวนกรต้องพัฒนาตนเองแบบไม่สิ้นสุด เพื่อสามารถตอบคำถามของผู้ปกครองได้ ใช้กระบวนการเรียนรู้เพื่อให้เกิดการไหลเวียนอย่างทั่วถึง เป็นกันเอง ให้คุณค่าบรรยากาศที่ปลอดภัย และการจัดเตรียมสื่อ”

 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะจบห้องเรียนไปแล้ว แต่มองว่า หลักสูตรเน็ตป๊าม้าเป็นความรู้ที่น่าศึกษาตลอดเวลา เราฉวยอะไรได้อีกมากมายในหลักสูตร และหากใครที่อยากจะสร้างพื้นที่ขยายผลในหน่วยงานของตนเอง อาจจะตั้งหลักวางแผนการทำงานเพื่อประสิทธิที่ดีและยั่งยืนมากขึ้น ตั้งแต่กระบวนการก่อนเกิดห้องเรียน เตรียมตัว อ่านคู่มือ หนังสือ เข้าดูเว็บไซต์ ทบทวนเอกสารที่ผ่านการอบรมเพื่อให้ได้ประเด็นแม่นยำชัดเจน ทบทวนสื่อสไลด์ให้สอดคล้องกับผู้เรียน เป็นกระบวนการให้เกิดความยั่งยืนของผู้เรียนรู้

 

\'เน็ตป๊าม้า\' ติดอาวุธพ่อแม่ ปั้นเด็กไทย สู่ทรัพยากรคุณภาพ

 

ด้าน ศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล หัวหน้าโครงการพัฒนาและขยายห้องเรียนเน็ตป๊าม้า กล่าวว่า การดำเนินโครงการเน็ตป๊าม้าระยะแรก เป็นการพัฒนาการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ ให้ผู้ปกครองในพื้นที่ห่างไกล มีความเข้าใจ สามารถปรับพฤติกรรมเด็ก มีทักษะพื้นฐานในการสื่อสาร มีเทคนิคในการชื่นชม ให้รางวัล ลงโทษ ให้คะแนน อย่างไรก็ตาม หลังจบโครงการพบว่า ผู้ปกครองพื้นที่ห่างไกลแม้มีสมาร์ทโฟน แต่เป็นแบบสเป็คต่ำ ใช้อินเตอร์เน็ตแบบเติมเงิน ทำให้เรียนยังไม่จบ อินเตอร์เน็ตก็หมด การเรียนรู้ด้วยตัวเองจึงยังมีความเหลื่อมล้ำ

 

ในระยะที่ 2 จึงขยายผลทำเน็ตป๊าม้าเดลิเวอรี่ คัดเลือกและอบรมกระบวนกร นำสื่อที่เราสร้างไปทำงานร่วมกับผู้ปกครองในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาได้ให้ทุนไปทั้งหมด 41 คน ดำเนินการเปิดห้องเรียนเน็ตป๊าม้า 41 แห่ง ใน 21 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาค ระหว่างจัดกิจกรรมมีจิตแพทย์เด็ก รวมถึงทีมจากส่วนกลางคอยให้การช่วยเหลือ หลังจบโครงการ มีการวิจัยหาปัจจัยความสำเร็จ และเลือกต้นแบบที่โดดเด่น 3 ด้าน

1. ด้านทักษะ จัดการเก่ง มีลูกล่อลูกชน เอาผู้ปกครองอยู่

2. สามารถขยายผลจัดกิจกรรมในครั้งต่อไปได้

3. การทำงานเป็นทีม เพื่อเข้ารับรางวัล PAMA-FA Award

 

“การขยายผลระยะที่ 3 จะโฟกัสที่พื้นที่ต้นแบบ เจาะลึกไปยังนักพัฒนาชุมชน ที่ทำงานเป็นวิทยากรระดับอำเภอ ระดับจังหวัดอยู่แล้ว และอยู่ในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) คัดเลือกนักพัฒนาชุมชนที่มีความสนใจครอบครัว แก้ไขปัญหาเด็ก ๆ ให้เป็นจังหวัดนำร่อง ที่จะทำงานอบรมทั้งจังหวัด ไม่ใช่แค่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งของจังหวัดเท่านั้น ขณะนี้กำหนดจังหวัดดำเนินการไว้เบื้องต้นแล้ว ซึ่งจะเชื่อมกับโครงการ แฟมิลี่ไลน์ ที่ทำร่วมกับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในระยะที่ 3 ด้วย” ศ.นพ.ชาญวิทย์ กล่าว