ตอบคำถามเรื่องสุขภาพ : Stronger, Healthier and Live Longer| ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ตอบคำถามเรื่องสุขภาพ : Stronger, Healthier and Live Longer| ศุภวุฒิ สายเชื้อ

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปพูดคุยกับลูกค้าของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ในงาน Year Ahead 2024 และได้นำเสนอแนวทางในการดูแลสุขภาพให้ Stronger, Healthier and Live Longer

จากการพูดคุยได้มีการตั้งคำถามตามมาประมาณ 20 คำถาม ซึ่งผมได้ตอบไปและขอนำมาลงในบทความนี้เพื่อประโยชน์ในการดูแลสุขภาพของท่านผู้อ่านทุกท่านครับ

คำถามกลุ่มแรก เป็นคำถามในภาพกว้าง เช่น trend สุขภาพด้านไหน ที่คิดว่าจะเป็น trend ในอนาคต การทำตัวอย่างไร 3 ข้อ ที่สำคัญที่สุด เพื่อนำไปสู่สุขภาพที่ดี การแบ่งเวลาให้กับงาน สุขภาพและสังคมที่สมดุล

และทำไมหลายคนกินบุพเฟต์เยอะ แต่ไม่อ้วน ทั้งๆ ที่ไม่ได้ออกกำลังกาย ตลอดจน การสอบถามผมว่า กิจวัตรประจำวันของผมนั้นใน 24 ชม.ทำอะไรบ้าง ให้เห็นภาพการใช้ชีวิตที่เรียกว่า Stronger, Healthier

กิจวัตรประจำวันที่ผมนำไปปฏิบัติในช่วง 11 ปีที่ผ่านมา ทำให้ผมสุขภาพดีขึ้นมากกว่า 15 ปีก่อนหน้าอย่างมาก สรุปได้ดังนี้ครับ

1.เข้านอนตอน 21.00 น. ห้องนอนมืด ไม่เปิดทีวี ไม่มี tablet ไม่เล่น line นอนให้หลับ หากไม่หลับก็นั่งสมาธิก่อนประมาณ 15-20 นาที

2.ตื่นนอนตอน 5.15 น. อาบน้ำแต่งตัว หากเป็นวันเสาร์ ออกไปวิ่งประมาณ 7-8 กิโลเมตร (วิ่งช้าๆ ใช้เวลาเกิน 1 ชั่วโมงก็ไม่ว่ากัน) หากเป็นวันธรรมดา ก็อาจเดิน 30 นาที ก่อนไปทำงาน หรือทำการออกกำลังกายอื่นๆ เช่น planking และยกน้ำหนัก

3.ทำงานส่วนใหญ่เป็นการประชุมแบบ online พยายามกลับให้ถึงบ้านประมาณ 17.00 น. แล้วออกไปวิ่งหรือเดินประมาณ 1 ชั่วโมง เกือบทุกวัน จันทร์-ศุกร์ โดยรวมให้ได้วิ่งประมาณ 30 กิโลเมตร์ต่อสัปดาห์ (เพิ่มจากเดิม 20 กิโลเมตรต่อสัปดาห์)

โดยงานวิจัยส่วนใหญ่สรุปได้ว่า การวิ่งประมาณสัปดาห์ละ 30-40 กิโลเมตร จะให้ประโยชน์มากที่สุด ในการลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตจากทุกๆ สาเหตุ (all-cause mortality)

4.ตอนเย็นจะไม่กินอาหารเย็น โดยจะกินอาหารวันละไม่เกิน 2 มื้อ เพราะร่างกายผู้สูงอายุแบบผม อัตราการเผาผลาญลดลง ต้องการใช้พลังงานเพียง 1,400 แคลอรี่ต่อวัน

หากออกกำลังกายคือวิ่ง 1 ชั่วโมงและทำกิจกรรมอื่นๆ ก็จะใช้พลังงานอีกประมาณ 1,000 แคลอรี่ หากกินอาหาร 3 มื้อ น่าจะได้แคลอรี่เกิน 2,500

5.ก่อนนอน จะทำสิ่งที่ชอบ คือกลับไปฝึกเล่นกีตาร์ Acoustic เหมือนสมัยที่เป็นนักเรียน และฝึกร้องเพลง เป็นการใช้สมองฝึกฝน ให้ร้องเพลงไม่เพี้ยน (มากนัก) อาการหูตึงนั้น งานวิจัยพบว่าเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคสมองเสื่อม 8.2%

ดังนั้นการทำตัว 3 ข้อที่สำคัญที่สุด คือการกินอาหารให้จำกัด (และต้องไม่สูบบุหรี่) การออกกำลังกายให้เพียงพอ (ผมตั้งกฎเหล็กเอาไว้ว่า ต้องใช้เวลาออกกำลังกาย มากกว่าใช้เวลากินอาหารทุกๆ วัน)

และการนอนหลับให้เพียงพอทุกคืน กล่าวคือนอนอย่างน้อย 6-7 ชั่วโมงต่อคืน และหลับลึกให้ได้ประมาณ 1 ชั่วโมงทุกคืน

สำหรับการแบ่งเวลาให้กับงาน สุขภาพ และสังคมนั้น ผมต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องของการ trade-off ที่น่าจะปรับเปลี่ยนตามอายุและสภาวการณ์ เช่น คนที่อายุยังน้อย (30-40 ปี) ต้องการก้าวหน้าทางการงาน และเลี้ยงครอบครัว ก็จะต้องทำงานมาก

แต่มีเวลาดูแลตัวเองและออกกำลังกายน้อย แต่ก็ยังจะต้องแบ่งเวลา ให้ได้ออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง (ลองยึดโยงว่าหากมีเวลากิน ก็ต้องมีเวลาออกกำลังกายเท่ากัน)

ส่วนกิจกรรมสังคมนั้น ผมให้ความสำคัญลำดับท้ายๆ มานานแล้ว โดยเฉพาะการหลีกเลี่ยงการนอนดึกและกินอาหารตอนดึก เพราะเชื่อว่า ผลงานตอนทำงานตามเวลาปกติ น่าจะเพียงพอที่จะทำมาหากินเลี้ยงครอบครัวได้ 

เมื่อแก่ตัวลง งานสังคมยิ่งลดน้อยลง และความจำเป็นในการดูแลสุขภาพของตัวเองอย่างจริงจังจะเพิ่มขึ้น ตอนที่เราอายุเกิน 50 ปี จะรู้ตัวว่า สุขภาพถดถอยลงอย่างเห็นได้ชัด และเริ่มมีข่าวว่า เพื่อนบางคนเจ็บหนักหรือเสียชีวิตอย่างไม่คาดฝัน

ตรงนี้เป็นสิ่งเตือนใจว่า ต้องให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ ไม่ใช่การรอรักษาโรค ส่วนกรณีที่บางคนกินเท่าไหร่ ก็ไม่อ้วนนั้น ผมเกรงว่า ต้องขอดูผลตรวจร่างกายว่าสุขภาพดีจริงหรือไม่

เพราะคนที่ผอมและไม่ออกกำลังกาย ก็มีความเสี่ยงอย่างมากที่ร่างกายจะอ่อนแอ และมีปัญหาที่ซ่อนตัวอยู่ เช่น ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ความดันสูง และสูญเสียมวลกระดูก เป็นต้น

ส่วน trend สุขภาพนั้น ในความเห็นของผมนั้น น่าจะมีอยู่ 4 เรื่องหลักดังนี้

1.รัฐบาลจะต้องมีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เพราะประชากรที่แก่ตัวของไทยนั้น เงินออมและรายได้มีไม่พอ ต้องพึ่งพารัฐเพิ่มขึ้นอย่างมาก

2.จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 12 ล้านคน มาเป็น 20 ล้านคน ใน 20 ปีข้างหน้า ทำให้ความต้องการด้านสุขภาพผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่คนจะนึกถึงอาหาร

แต่เรื่อง การให้บริการผู้สูงอายุ ที่พักพิง และอุปกรณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้อง จะขยายตัวอย่างมาก เช่น ในญี่ปุ่นนั้น ศูนย์สุขภาพในชุมชน เพิ่มขึ้นมากมายและอุปกรณ์สำคัญคือ สระว่ายน้ำที่ทำให้ผู้สูงอายุออกกำลังกายอย่างปลอดภัย เป็นต้น

3.ความต้องการ เนอร์สซิ่งโฮมหรือบ้านพักผู้สูงอายุ การให้การช่วยเหลือในกิจวัตรประจำวันแก่ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยหลังผ่าตัด ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้ดูแลคนสูงอายุที่ติดบ้าน/ติดเตียง จะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

4.วิทยาการด้านยาจะมุ่งเน้นไปสู่การรักษาในรูปแบบของ Gene therapy มากขึ้น ซึ่งมีความสลับซับซ้อนแต่จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก

ตอบคำถามเรื่องสุขภาพ : Stronger, Healthier and Live Longer| ศุภวุฒิ สายเชื้อ

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร

กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร