อายุยืน (ตอน 1) กับภาวะ metabolic syndrome | ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ข้อมูลอายุคาดเฉลี่ยตอนเกิด (life expectancy at birth) ที่สหรัฐในปี 2443 นั้น ปรากฏว่าเท่ากับ 46.3 ปีสำหรับผู้ชาย และ 48.3 ปีสำหรับผู้หญิง และเมื่อเวลาผ่านมา 123 ปี (2566)
อายุคาดเฉลี่ยตอนเกิด เพิ่มขึ้นมาเป็น 74.12 ปีสำหรับผู้ชาย และ 79.78 ปีสำหรับผู้หญิง ซึ่งต่ำกว่าตอนปี 2562 ที่ 76.04 ปี และ 80.94 ปีสำหรับผู้ชายและผู้หญิงตามลำดับ
กล่าวคือ อายุคาดเฉลี่ยลดลงประมาณ 2 ปีสำหรับผู้ชาย และ 1 ปีสำหรับผู้หญิง ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่าช่วงดังกล่าวที่อายุคาดเฉลี่ยลดลงนั้นเป็นช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ชาวอเมริกันเสียชีวิตประมาณ 1.15 ล้านคน
“อายุคาดเฉลี่ยตอนเกิด” เป็นการประเมินว่า คนที่เกิดวันนี้จะมีอายุยืนทั้งสิ้นกี่ปีในอนาคตข้างหน้า ซึ่งเห็นได้ว่า ข้อมูลในอดีต 123 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอายุคาดเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวนั้น
ส่วนสำคัญน่าจะเป็นผลมาจากความสามารถของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านสาธารณสุข ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการช่วยชีวิตคนจากการติดเชื้อโรคอย่างมีนัยสำคัญ
ผมขอยกตัวอย่างดังนี้ สมมติว่าโลกนี้มีคนอยู่ทั้งหมด 3 คน และมี 1 คนอายุยืนยาว จึงแก่ตายตอนอายุ 75 ปี อีกคนหนึ่งติดเชื้อเป็นวัณโรคและเสียชีวิตตอนอายุ 40 ปี ส่วนอีกคนหนึ่งก็เสียชีวิตเพราะเป็นโรคอาหารเป็นพิษตอนอายุ 35 ปี (สมัยก่อนโรคทั้งสองเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต)
ในกรณีดังกล่าวหากคำนวณอายุคาดเฉลี่ยของประชากร ก็จะได้ตัวเลขเท่ากับ (75+40+35)/3 = 50 ปี กล่าวคือ ณ ปัจจุบัน การที่ระบบสาธารณสุขสามารถรักษาโรคติดเชื้อได้ดีเยี่ยม เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อายุคาดเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงประมาณ 150 ปีที่ผ่านมา
มาวันนี้ คนส่วนใหญ่ประมาณ 70% จะเสียชีวิตเพราะเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ 4 โรคหลักคือ โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคสมองเสื่อม และโรคเบาหวาน
ดังนั้น ปัจจัยหลักของการมีอายุยืน จึงเป็นเรื่องของการตอบคำถามว่าจะทำอย่างไรร่างกายจึงจะแข็งแรงและไม่เป็นโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อดังกล่าว
บทความนี้และบทความต่อๆ ไป จะพยายามตอบคำถามหลักดังกล่าว คือทำอย่างไรให้ร่างกายแข็งแรงและอายุยืน แต่คนที่ใจร้อน และอยากได้คำตอบวันนี้ เดี๋ยวนี้อย่างสั้นๆ ผมก็จะขอ “ฟันธง” ว่าจะต้องหลีกเลี่ยงภาวะที่เรียกว่า metabolic syndrome
metabolic syndrome ได้แก่ ภาวะที่เกิดจากระบบการเผาผลาญของร่างกายที่ผิดปกติ ทำให้เกิดปัญหาเรื่องความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันสูง
การดูแลสุขภาพให้ปลอดจากการเป็น metabolic syndrome นั้นคือการควบคุม
1.ความดันโลหิตให้ไม่เกิน 130/85
2.ไตรกลีเซอร์ไรด์ไม่เกิน 150 mg/dl
3.ไขมันเอชดีแอล (ไขมันดี) มากกว่า 40 mg/dl สำหรับผู้ชาย และมากกว่า 50 mg/dl สำหรับผู้หญิง
4.น้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ ซึ่งผมเห็นว่าตัวชี้วัดดีที่สุดคือควบคุมให้รอบเอวน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของความสูง เช่น สูง 5 ฟุต 6 นิ้ว รอบเอวควรจะประมาณ 32 นิ้ว เป็นต้น
5.น้ำตาลในเลือดไม่เกิน 100 mg/dl
บางคนอาจต้องการทราบว่าจะต้องดำเนินชีวิตอย่างไร จึงจะทำให้ร่างกายอยู่ในเกณฑ์ดังกล่าว ตรงนี้ผมจะขอตอบแบบนี้ครับ
ขอเริ่มต้นที่ข้อมูลที่มีอยู่เกี่ยวกับคนไทย (แหล่งที่มาคือองค์การอนามัยโลก) คืออายุคาดเฉลี่ยตอนอายุ 60 ปี (แปลว่ารอดชีวิตมาถึง 60 ปีแล้ว) เท่ากับ 22 ปีสำหรับผู้ชาย และ 25 ปีสำหรับผู้หญิง
แปลว่าผู้ชายจะเสียชีวิตตอนอายุ 82 ปี และผู้หญิงตอนอายุ 85 ปี ตัวเลขนี้จะสูงกว่าอายุคาดเฉลี่ยของคนไทยตอนเกิด ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 74.5 ปีสำหรับผู้ชาย และ 83 ปีสำหรับผู้หญิง
ในปี 2561 มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดทำงานวิจัยขนาดใหญ่ที่ผมได้เคยกล่าวถึงมาแล้วหลายครั้ง ที่เปรียบเทียบคนที่ดำเนินชีวิตที่ดีต่อสุขภาพ (healthy lifestyle) 5 ประการ กับคนที่ไม่ได้ดำเนินชีวิตตามแนวทางดังกล่าว
พบว่าคนที่ดำเนินชีวิตที่ดีต่อสุขภาพทั้ง 5 ประการนั้นจะอายุยืนถึง 87.6 ปีสำหรับผู้ชาย และ 93.1 ปีสำหรับผู้หญิง
กล่าวคือหากเปรียบเทียบกับข้อมูลของคนไทยที่กล่าวถึงข้างต้น (ที่อายุยืน 82 ปีสำหรับผู้ชาย และ 85 ปีสำหรับผู้หญิง) ก็อาจเปรียบเทียบได้ว่า การดำเนินชีวิตที่เป็นมิตรต่อสุขภาพนั้น น่าจะสามารถทำให้อายุยืนขึ้นไปได้อีกประมาณ 5.6 ปีสำหรับผู้ชาย และ 8.1 ปีสำหรับผู้หญิง
แนวปฏิบัติ 5 ข้อคือ
1.ห้ามสูบบุหรี่
2.จำกัดการดื่มสุราไม่เกิน 1 แก้วต่อวันสำหรับผู้หญิง และ 2 แก้วต่อวันสำหรับผู้ชาย
3.การออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีทุกวัน
4.การกินอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และ
5.การควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ (BMI 18.5-24.9)
ข้อควรปฏิบัติ 5 ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่ยังมีคำถามตามมาได้อีก 2-3 คำถาม เช่น รายละเอียดเกี่ยวกับการกินอาหาร การนอนหลับให้เพียงพอทุกคืน และการออกกำลังกายที่เหมาะสม
และข้อสังเกตอีกข้อหนึ่งคือ การดำเนินชีวิตที่เป็นมิตรต่อสุขภาพดังกล่าว ก็ยังทำให้อายุยืนได้ไม่ถึง 100 ปี
แม้ว่าปัจจุบันบนโลกนี้องค์การสหประชาชาติประเมินว่า น่าจะมีคนที่อายุเกิน 100 ปีอยู่ที่ประมาณ 593,000 คน โดยในจำนวนนี้เป็นชาวอเมริกันประมาณ 89,740 คน และคนไทยประมาณ 9,000 คน ที่น่าสนใจคือสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ในปี 2593 จะมีคนที่อายุเกิน 100 ปี เพิ่มขึ้นมาเป็น 3.68 ล้านคน
อะไรทำให้บางคนอายุยืนเกิน 100 ปี… ผมจะพยายามหาคำตอบในตอนต่อไปครับ.
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร