รองโฆษกรัฐบาล เผยรัฐบาลเร่งสร้างทันตแพทย์ รพสต.ดูแลช่องปากผู้สูงอายุ
“เกณิกา”เผย กระทรวงสาธารณสุข ไม่ละเลยสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ มุ่งสร้างทันตแพทย์ประจำ รพ.สต.ช่วย ปชช.เข้าถึงการรักษาใกล้บ้าน ไม่ต้องเดินทางไกล
21 ก.พ. 67 น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน และกระทรวงสาธารณสุข เล็งเห็นความสำคัญในการแก้ปัญหาสุขภาพช่องปากและฟันในกลุ่มผู้สูงอายุที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพองค์รวมและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ เพราะสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดูแล เพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพอนามัยที่แข็งแรง และลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรงมะเร็งในช่องปาก
น.ส.เกณิกา กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขจึงได้จัดแผนพัฒนาการจัดบริการ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทันตกรรมในผู้สูงอายุ ทั้งกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ แบบไร้รอย
โดยการเปิดบริการใกล้บ้าน ยกระดับ primary care เพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทันตกรรมของผู้สูงอายุ ในหน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น รพ.สต. 9,079 แห่ง มีทันตาภิบาลให้บริการประจํา 4,220 แห่ง และรพ.สต.อีก 4,859 แห่ง มีการจัดตารางวันเวลา ให้ทันตแพทย์ ทันตาภิบาล ลงตรวจให้บริการทุกสัปดาห์ รวมถึง รพ.สป.สธ. 903 แห่ง ได้เปิดบริการทันตกรรมนอกเวลา 604 แห่ง เฉลี่ย 30 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งได้มีการพัฒนาหน่วยบริการแบบรัฐร่วมเอกชน
“กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ละเลยหรือไม่เอาใจใส่ เรามีความตั้งใจที่จะดูแลผู้สูงอายุ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้เปิดให้มีการอบรมทันตแพทย์ เพื่อให้มีความเชี่ยวชาญเรื่องช่องปากในผู้สูงอายุผู้สูงวัย จำนวน 936 ซึ่งขณะนี้ก็กระจายไปอยู่ที่ทุกโรงพยาบาลของอำเภอ ทั่วประเทศ ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 66-66 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 72 พรรษา กระทรวงสาธารณสุขมีเป้าหมายที่จะช่วยดูแลผู้สูงอายุในเรื่องฟันเทียม เป้าหมายอยู่ที่ 72,000 คน ตอนนี้ทำไปได้ 78,081 คน และรากฟันเทียม เป้าหมายอยู่ที่ 7,200 คน ตอตนนี้ทำได้ 2,438 คน”น.ส.เกณิกา กล่าว
น.ส.เกณิกา กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าหมายให้มีแผนกบริการทันตกรรมในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล หรือ รพ.สต. ครบทุกแห่ง เพื่อให้ผู้สูงอายุในต่างจังหวัดและพื้นที่ห่างไกลได้รับความสะดวก และไม่ต้องเดินทางไปรับบริการถึงโรงพยาบาลประจำอำเภอ หรือจังหวัด ถึงแม้ว่าจำนวนทันตแพทย์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เมื่อนำไปเทียบกับจำนวนโรงพยาบาล อาจจะยังไม่เพียงพอ แต่ก็ได้แก้ไขปัญหาโดยการให้ทันตแพทย์หมุนเวียนไปให้บริการกับประชาชน ตาม รพ.สต. ให้ครบทุกแห่ง พร้อมกับจัดทำระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูลการรักษาพยาบาลให้อยู่ในระบบเดียวกัน และได้จัดทำระบบบริการทางการแพทย์แบบทางไกล
เพื่อให้การรักษาพยาบาลทันต่อสถานการณ์ รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และการรักษาพยาบาลเบื้องต้นให้กับอาสาสมัครสาธารณสุขควบคู่กันไปด้วย