วันอ้วนโลก World Obesity Day โรคอ้วนมหันตภัยร้ายทำลายร่างกาย

วันอ้วนโลก World Obesity Day โรคอ้วนมหันตภัยร้ายทำลายร่างกาย

วันที่ 4 มีนาคมของทุกปี เป็นวันอ้วนโลก (World Obesity Day) ตามรายงาน World Obesity Atlas 2022 ผู้คนประมาณ 5 ล้านคนทั่วโลกเสียชีวิตจากภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน

KEY

POINTS

  • ปี พ.ศ. 2566 ประเทศไทยมีผู้ใหญ่น้ำหนักเกินและอ้วนสูงถึง 48.35% และที่น่ากังวลคือเด็กและวัยรุ่นก็พบปัญหาโรคอ้วนและน้ำหนักเกินเช่นเดียวกับผู้ใหญ่
  • วิธีการวินิจฉัยโรคอ้วนที่ง่ายที่สุด คือ การวัดรอบเอว โดยรอบเอวผู้หญิงไม่ควรเกิน 32 นิ้ว ผู้ชายไม่ควรเกิน 36 นิ้ว หรือใช้การคำนวณค่าดัชนีมวลกาย
  • นอนหลับไม่ดี รับประทานอาหารไม่มีประโยชน์ ขาดการออกกำลังกาย ความเครียดสูง และพันธุกรรม สาเหตุโรคอ้วน

วันที่ 4 มีนาคมของทุกปี เป็นวันอ้วนโลก (World Obesity Day) ตามรายงาน World Obesity Atlas 2022 ผู้คนประมาณ 5 ล้านคนทั่วโลกเสียชีวิตจากภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน อีกทั้งโรคอ้วนยังเป็นสาเหตุที่นำไปสู่โรคอื่น ๆ มากมาย อาทิ โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดในสมองตีบหรือแตก โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคระบบกระดูกและข้อต่อ โรคนอนไม่หลับ โรคภูมิแพ้ กลุ่มโรคมะเร็ง เป็นต้น 

และโรคอ้วนอันตรายยิ่งขึ้น เมื่อองค์การอนามัยโลกแสดงให้เห็นว่า ‘โรคอ้วนเพิ่มโอกาสการเสียชีวิตและเจ็บป่วยรุนแรงจาก COVID-19 มากถึง 7 เท่า เมื่อเทียบกับคนสุขภาพแข็งแรง’  หมอจึงมาเล่าให้ฟังเพื่อให้ทุกคนได้เห็นถึงความน่ากลัวของโรคอ้วน เพราะหากเราเข้าใจถึงสาเหตุ เราจะสามารถป้องกันหรือแก้ไขโรคอ้วนได้ตรงจุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

'วันอ้วนโลก 2566' เข้าใจ 5 ข้อควรรู้ 'โรคอ้วน' ภัยร้ายที่ไม่ได้รับเชิญ

เริ่มต้นง่ายๆ รวมเคล็ดลับดูแลสุขภาพอย่างยั่งยืน

อัตราการเกิดโรคอ้วน

องค์การอนามัยโลก หรือ WHO รายงานว่า ในปี พ.ศ. 2559 ผู้ใหญ่จำนวน 39% หรือมากกว่า 1.9 พันล้านคน มีปัญหาน้ำหนักเกินและอ้วน ซึ่งในปีเดียวกัน 34.7% ของคนไทยประสบปัญหานี้

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขจากระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข รายงานตัวเลขที่น่าตกใจกว่า เมื่อปี พ.ศ. 2566 ประเทศไทยมีผู้ใหญ่น้ำหนักเกินและอ้วนสูงถึง 48.35% และที่น่ากังวลคือเด็กและวัยรุ่นก็พบปัญหาโรคอ้วนและน้ำหนักเกินเช่นเดียวกับผู้ใหญ่

วันอ้วนโลก World Obesity Day โรคอ้วนมหันตภัยร้ายทำลายร่างกาย

โดยความชุกในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี อยู่ที่ 8.98 % เด็กอายุ 6-14 ปี 13.68 % และวัยรุ่น 15-18 ปี 13.72 % ซึ่งเด็กที่มีปัญหาโรคอ้วนเมื่ออายุ 5 ปี มีโอกาสโตเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน 25% และหากเด็กอ้วนเมื่ออายุ 12 ปี มีโอกาสเติบโตเป็นผู้ใหญ่อ้วนได้สูงถึง 75%

โรคอ้วนคืออะไร

วิธีการวินิจฉัยโรคอ้วนที่ง่ายที่สุด คือ การวัดรอบเอว โดยรอบเอวผู้หญิงไม่ควรเกิน 32 นิ้ว ผู้ชายไม่ควรเกิน 36 นิ้ว หรือใช้การคำนวณค่าดัชนีมวลกาย (Body mass index; BMI) มาเป็นตัวบอกได้คร่าว ๆ โดยคำนวณได้จากน้ำหนัก (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง ซึ่งถ้าผลที่ได้ มีค่าอยู่ในช่วง 25 - 29.9 กิโลกรัม/เมตร2 จะถือว่ามีน้ำหนักตัวเกิน และถ้าค่าสูงกว่า 30 กิโลกรัม/เมตร2 จะถือว่ามีภาวะอ้วน

อย่างไรก็ตาม การใช้ดัชนีมวลกายเพียงอย่างเดียว อาจบอกผลคลาดเคลื่อนได้ เพราะบางคนกระดูกใหญ่ บางคนกล้ามใหญ่ บางคนกระดูกเล็ก บางคนบวมน้ำ วิธีมาตรฐานที่ดีที่สุด คือ การตรวจดูองค์ประกอบร่างกาย ด้วย DEXA scan หรือ Dual-Energy X-ray Absorptiometry ถ้าเป็นผู้ชายวัยกลางคนไขมันไม่ควรเกิน 28% ถ้าเป็นผู้หญิงวัยกลางคนไขมันไม่ควรเกิน 32%

มวลไขมันที่สะสม บริเวณในช่องท้อง (Visceral fat) ซึ่งทำให้เกิดภาวะ ‘อ้วนลงพุง’ นั้นอันตรายที่สุด เพราะนำไปสู่ความเสี่ยงต่อภาวะเมแทบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome) สาเหตุสำคัญของโรคหัวใจ เบาหวาน และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases; NCDs) อีกมากมาย

วันอ้วนโลก World Obesity Day โรคอ้วนมหันตภัยร้ายทำลายร่างกาย

สาเหตุการเกิดโรคอ้วน

มีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดโรคอ้วน การเข้าใจถึงสาเหตุ ช่วยให้เราป้องกันหรือแก้ไขโรคอ้วนได้ตรงจุด  

1. นอนหลับไม่ดี  เมื่อนอนหลับไม่เพียงพอและคุณภาพการนอนไม่ดี ส่งผลต่อฮอร์โมนที่ควบคุมความอิ่ม หรือที่เรียกว่า ฮอร์โมน เลปตินลดลง ตรงกันข้าม ฮอร์โมนเกรลิน (ฮอร์โมนกระตุ้นความหิว) และ ฮอร์โมนคอร์ติซอล (ฮอร์โมนความเครียด) เพิ่มสูงขึ้น กระตุ้นให้ผู้ที่นอนน้อยรู้สึกหิวมากขึ้น โดยผู้ที่นอนน้อยกว่า 4 ชั่วโมง มีแนวโน้มจะรับประทานอาหารในวันรุ่งขึ้นเพิ่มขึ้นประมาณ 300 กิโลแคลอรี่ต่อวัน ผู้ที่นอนน้อยกว่า 5 ชั่วโมง จะมีความเสี่ยงเป็นโรคอ้วนมากขึ้น 1.55 เท่า

2. รับประทานอาหารไม่มีประโยชน์  การรับประทานอาหารมากเกินความต้องการในหนึ่งวัน รับประทานอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง ขาด การรับประทานผักและผลไม้ มีส่วนทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มสูงขึ้น ในแต่ละวันเราไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชา หรือ 24 กรัม

ในปี พ.ศ. 2564 กรมอนามัยและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า คนไทยบริโภคน้ำตาลมากถึงวันละ 25 ช้อนชา เกินกว่าปริมาณแนะนำถึงกว่า 4 เท่า ซึ่งมาจากอาหารประเภท น้ำหวาน ขนมหวาน น้ำอัดลม ชานมไข่มุก นมเปรี้ยว กาแฟเย็น ชาเย็น เบเกอรี่และขนมต่าง ๆ เป็นต้น

รวมถึงไขมัน ที่อยู่ในอาหารประเภท ของทอด แกงกะทิ กาแฟเย็น ชีส ขนมอบเบเกอรี่ ครัวซองค์ อาหารฟาสต์ฟู้ด หรือเนื้อสัตว์แปรรูปอย่าง ไส้กรอก แหนม กุนเชียง หมูยอ ซึ่งเป็นอาหารไขมันสูง และหากรับประทานไขมันอิ่มตัว และ ไขมันทรานส์ มากเท่าไหร่ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้นเท่านั้น

3. ขาดการออกกำลังกายการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคอ้วน หลายคนทำงานที่ต้องนั่งโต๊ะตลอดวัน พึ่งพารถยนต์มากกว่าการเดินหรือขี่จักรยาน รวมถึงมักเลือกดูทีวี ท่องอินเทอร์เน็ต ในเวลาว่างแทนการออกกำลังกาย แต่ก็ต้องยอมรับว่าปัจจัยเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ทางเท้า พื้นที่ปลอดภัยสำหรับออกกำลังกาย หรืออุปกรณ์เพื่อส่งเสริมการออกกำลังกาย อาจจะยังมีไม่ทั่วถึง จึงทำให้คนไทยออกกำลังกายน้อยลง

วันอ้วนโลก World Obesity Day โรคอ้วนมหันตภัยร้ายทำลายร่างกาย

4. ความเครียดสูง ความเครียดเรื้อรัง กระตุ้นให้ต่อมหมวกไตสร้างฮอร์โมนคอร์ติซอลมากเกินไป ซึ่งกระทบถึงกระบวนการทำงานของเซลล์ ทำให้ร่างกายกักเก็บไขมันมากขึ้น และกระตุ้นความอยากอาหาร รู้สึกอยากกินมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารพลังงานสูง เช่น ของทอด น้ำหวาน ขนมหวาน อีกทั้งเมื่อรู้สึกเครียดหรือซึมเศร้า อาจทำให้รู้สึกไม่อยากออกกำลังกายอีกด้วย

5. พันธุกรรม ยีนหลายชนิดมีอิทธิพลต่อการเกิดโรคอ้วน เช่น ยีนที่ชื่อว่า MC4R, POMC, FTO เป็นต้น ส่งผลต่อการทำงานของฮอร์โมน การสร้างเซลล์ไขมันในร่างกาย จนถึงควบคุมความอยากอาหาร สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงทางพันธุกรรมสูงต่อโรคอ้วน การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตที่ดีต่อสุขภาพสามารถช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวได้

 ทั้งหมดที่หมอเล่าให้ฟังเป็นปัจจัยบางส่วนที่ก่อให้เกิดโรคอ้วน ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เกิดโรคอ้วน เช่น ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroidism) โรคถุงน้ำรังไข่ (PCOS) และการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาต้านซึมเศร้า ยาสเตียรอยด์ ยาคุมกำเนิด ซึ่งส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน

โรคอ้วนไม่เพียงส่งผลเสียต่อสุขภาพ แต่ทำให้คุณภาพชีวิตโดยรวมลดลง เพราะอาจทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมที่เคยชอบได้ หรือเกิดปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งตอนต่อไป หมอจะมาเล่าให้ฟังว่าเราจะแก้ไขปัญหาโรคอ้วนนี้กันได้อย่างไร เพื่อสร้างสังคม สุขภาพดี ชีวิตยืนยาว อย่างมีคุณภาพกันครับ

อ้างอิง :

1. World Health Organization. GHO | By category | Prevalence of overweight among adults, BMI ≥ 25, crude - Estimates by WHO Region [Internet]. apps.who.int. 2021 [cited 2022 Jan 28]. Available from: https://apps.who.int/gho/data/view.main.BMI25CREGv?lang=en

2. วิชัย เอกพลากร, (บก.). รายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2562 - 2563 [อินเทอร์เน็ต].พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์อักษรกราฟฟิคแอนด์ดีไซน์; 2564 [เข้าถึงเมื่อ 21 มกราคม 2565]. เข้าถึงได้จาก: https://www.hsri.or.th/media/printed-matter/detail/13443

3. ระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ (Health Data Center : HDC) [Internet]. กระทรวงสาธารณสุข; 2566 [เข้าถึงเมื่อ 11 มกราคม 2567]. เข้าถึงได้จาก: https://hdcservice.moph.go.th/hdc/reports/page.php?cat_id=46522b5bd1e06d24a5bd81917257a93c

4. Beccuti G, Pannain S. Sleep and obesity. Current Opinion in Clinical Nutrition and Metabolic Care. 2011;14(4):402.

5. Sinha R. Role of addiction and stress neurobiology on food intake and obesity. Biological psychology. 2018;131:5-13.

6. Contreras RE, Schriever SC, Pfluger PT. Physiological and Epigenetic Features of Yoyo Dieting and Weight Control. Front Genet. 2019;10:1015-.

7. กลุ่มงานวิจัยพฤติกรรมและปรากฏการณ์สังคม. บทวิเคราะห์: สถานการณ์กิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2565 และแนวทางส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ปี 2566 [อินเตอร์เน็ต]. 20 มีนาคม 2566 [เข้าถึงเมื่อ 15 พ.ย. 2566]. เข้าถึงได้จาก: https://tpak.or.th/th/article/647

8. Centers for Disease Control and Prevention. Genes and obesity [Internet]. 2013 [cited 2023 Nov 15]. Available from: https://www.cdc.gov/genomics/resources/diseases/obesity/obesedit.htm

9. Lobstein T, Brinsden H, Neveux M. World obesity atlas 2022. 2022