4 ปี ยอดผู้เสียชีวิต ‘โรคหัวใจ’ พุ่งสูง หรือ ‘โควิด’ เป็นต้นเหตุ?

4 ปี ยอดผู้เสียชีวิต ‘โรคหัวใจ’ พุ่งสูง  หรือ ‘โควิด’ เป็นต้นเหตุ?

หลังเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 นักวิจัยพบว่ามีผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้นจำนวนมาก สันนิษฐานว่า หรือจริง ๆ แล้วโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพหัวใจของผู้คนอย่างเงียบ ๆ ?

จากการวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก ด้วยข้อมูลจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐ (ซีดีซี) พบว่า ตั้งแต่ปี 2563 ถึงปี 2565 มีชาวอเมริกันราว 250,000 คน ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าที่คาดไว้จากแนวโน้มในอดีต

ในปี 2566 อัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มสูงขึ้น 5% มากกว่าระดับก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 ขณะที่อัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคลิ่มเลือด โรคเบาหวาน และโรคไตวายเพิ่มขึ้น 15-28% นอกจากนี้ โควิดยังส่งผลกระทบต่ออาการป่วยอื่น ๆ จนถึงแก่ชีวิตด้วย เช่น โรคมะเร็ง และโรคอัลไซเมอร์

นักวิทยาศาสตร์ยังคงพยายามหาว่าทำไมโควิดจึงส่งผลกระทบหลายอย่างต่อสุขภาพ และยังไม่แน่ชัดว่ามีผู้เสียชีวิตด้วยภาวะแทรกซ้อนด้านหัวใจที่เกิดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกมากเท่าไร รวมถึงจำนวนผู้คนเสียชีวิตจากผลกระทบทางอ้อมอื่น ๆ เช่น การรักษาหยุดชะงัก โรคอ้วน และโรคความดันโลหิตสูง

โรคหัวใจค่าใช้จ่ายสูง

ตามข้อมูลรายงานคาดการณ์ของสมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกา (เอเอชเอ) คาดว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดมีต้นทุนการรักษาสูงถึง 1,100 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2578

โดยในปี 2563 มีชาวอเมริกันเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ 700,000 ราย ซึ่งมากกว่ายอดผู้เสียชีวิตในปีอื่น ๆ นับตั้งแต่ปี 2544 หลังจากนั้น 2 ปี ยอดผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจมีมากเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 703,000 ราย

โดนัลด์ ลอยด์-โจนส์ แพทย์โรคหัวใจและนักระบาดวิทยา จากมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์นในชิคาโก และอดีตนายกสมาคมโรคหัวใจ กล่าวว่า “โรคหัวใจทำให้ประเทศมีค่าใช้จ่ายสูงมาก เพราะการรักษาใช้เงินมากกว่าการป้องกันโรค”

นอกจากนี้ ยอดผู้เสียชีวิตดังกล่าวกระทบต่อความคืบหน้าในการพยายามลดโรคที่เป็นสาเหตุให้ผู้คนเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ด้วย อาทิโรคอ้วน และโรคความดันโลหิตสูง

ลอยด์-โจนส์ เผยว่า ขณะที่ความคืบหน้าดังกล่าวลดลงอัตราโรคอ้วนของสหรัฐจึงเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ชาวอเมริกันมีความอ่อนไหวต่อผลกระทบจากโรคโควิดมากขึ้นไปอีก

“โควิดเป็นไวรัสตัวฉกาจ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ชาวอเมริกันมีความอ่อนไหวมากที่สุดพอดี” ลอยด์ โจนส์ กล่าว

‘โควิด’ ตัวกระตุ้นโรคกำเริบ

อย่างไรก็ตาม โรคอ้วนไม่ใช้ต้นเหตุอ่อนไหวต่อโควิดจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพและถึงแก่ชีวิตเสมอไป เพราะประเทศที่มีประชากรน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วนน้อยที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่าง “ญี่ปุ่น” ยังมีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เกี่ยวข้องกับโควิดเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ซูซาน เฉิง แพทย์โรคหัวใจและผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านสาธารณสุข ของสถาบัน Smidt Heart ในลอสแองเจลิส เผยว่า การติดเชื้อโควิดในสหรัฐส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคที่เกี่ยวข้องกับการเผาผลาญผิดปกติเพิ่มขึ้น ตั้งแต่โรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน ไปจนถึงอาการใจสั่นที่เกิดจากโรคไข้กาฬหลังแอ่น ซึ่งโรคเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและคนที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง

ในช่วงโควิดระบาดรอบแรก พบว่า ภาวะหัวใจวาย ภาวะหลอดเลือดแข็ง และอาการทางโรคหัวใจและหลอดเลือดรุนแรงอื่น ๆ เป็นอาการทางคลินิกแรก ๆ ของการติดเชื้อโควิด-19 และเกิดขึ้นในคนรุ่นใหม่ด้วย

ตามข้อมูลของซีดีซี ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2563 ชาวอเมริกันเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 เกือบ 1.75 ล้านคน ขณะที่ผลการศึกษาหลายแห่งแสดงให้เห็นว่า ยอดผู้เสียชีวิตด้วยโรคโควิดที่แท้จริงนั้นสูงมาก และผลการศึกษาช่วงต้นเดือนนี้เพิ่งพบว่า ผู้เสียชีวิตตามธรรมชาติ (เช่น โรคชรา) 163,000 รายก่อนหน้านี้ จริง ๆ แล้วมีสาเหตุมาจากโรคโควิด-19

โรเบิร์ต แอนเดอร์สัน หัวหน้าฝ่ายการวิเคราะห์และเฝ้าระวังทางสถิติ จากศูนย์สถิติสุขภาพแห่งชาติของซีดีดี บอกว่า ช่วงการแพร่ระบาดโควิดแรก ๆ มีผู้เสียชีวิตกะทันหันอันเนื่องมาจากโรคหัวใจและหลอดเลือดต่างๆแต่ความจริงแล้ว การเสียชีวิตของพวกเขาเกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 ซึ่งในการชันสูตรศพช่วงนั้นแพทย์ไม่ทราบจริง ๆ ว่าตรวจพบโรคอะไรแน่ชัด

หัวใจแพ้โควิด?

สำนักข่าวบลูมเบิร์กได้ยกตัวอย่างกรณีการเสียชีวิตของแพทริเซีย คาเบลโล ดาวด์ผู้จัดการธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ในซิลิคอนวัลเลย์วัย 57 ปี ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2563 เกือบสามสัปดาห์ก่อนสหรัฐประกาศการแพร่ระบาดโควิด-19

หลายวันก่อนเสียชีวิต ดาวด์มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัด แต่ไม่มีสาเหตุอะไรที่อธิบายถึงการเสียชีวิตกะทันหันของเธอได้ หลังจากนั้น 10 สัปดาห์ ผลชันสูตรระบุว่า ดาวด์ เป็นหนึ่งในผู้ป่วยโควิด และเธอเสียชีวิตเนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบทำให้เกิดภาวะเลือดออกจนถึงแก่ชีวิต

ด้านซูซาน พาร์สัน แพทย์ชันสูตรของดาวด์ พบว่า หัวใจดาวน์มีความเสียหาย ซึ่งความเสียหายนั้นมักพบว่าเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบชนิดรุนแรง แต่ดาวด์ไม่ได้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือด

เมื่อส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ พาร์สันพบเซลล์ภูมิคุ้มกันรอบเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ บ่งบอกการซ่อมแซมกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่เกิดขึ้นหลังจากติดเชื้อ พาร์สันจึงฉุกคิดได้ถึงรายงานการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิดในจีนที่บางคนมีอาการป่วยเฉียบพลันที่หัวใจ จึงส่งตัวอย่างเนื้อเยื่อให้ซีดีซีในแอตแลนตาตรวจสอบ หลังจากนั้นราวสองเดือนพาร์สันทราบผลว่า ทางเดินหายใจ ปอด ลำไส้ และหัวใจของดาวด์มีร่องรอยของไวรัส SARS-CoV-2

หลังจากนั้นนักวิทยาศาสตร์พบว่า ไวรัสสามารถแพร่เชื้อไปยังเนื้อเยื่อหัวใจบางชนิดได้โดยตรง รวมถึงหลอดเลือดหัวใจด้วยนอกจากนี้ โควิดยังกระตุ้นให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นอันตรายต่อระดับคอเรสเตอรอล โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องรักษาในโรงพยาบาล และปัจจัยหล่านี้ได้เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคหัวใจวาย และโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น แม้ยังพิสูจน์ได้ยากว่าโควิดเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคก็ตาม

คาเรน คัตเตอร์ หัวหน้าคณะศึกษาการเสียชีวิตที่ได้รับผลกระทบจากโควิด จาก Actuaries Institute ในซิดนีย์ บอกว่า “มีอีกหลายสาเหตุที่ทำให้ผู้คนเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจในช่วงการแพร่ระบาดโควิดในออสเตรเลียและประเทศอื่น ๆ แต่ยังยากมากที่จะพิสูจน์ว่าสาเหตุใดกันแน่ที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต”

อ้างอิง: Bloomberg