'เวชศาสตร์วิถีชีวิต' การแพทย์แนวใหม่ พิชิตโรคอ้วน ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรม

'เวชศาสตร์วิถีชีวิต' การแพทย์แนวใหม่ พิชิตโรคอ้วน ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรม

ปี 2568 คาดการณ์ว่า จะมีผู้คนกว่า 167 ล้านคนทั่วโลก มีสุขภาพที่ไม่ดีจากภาวะน้ำหนักเกิน หรือ อ้วน บ.โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา (ประเทศไทย) หนุน กรมอนามัย ร่วมลดความชุก ‘อ้วน’ ในประเทศ นำร่องเสริมทักษะแพทย์ ด้วย 'เวชศาสตร์วิถีชีวิต' การแพทย์แนวใหม่

KEY

POINTS

ปัจจุบันมีผู้คนทั่วโลกมากกว่า 1 พันล้านคน ที่มีภาวะอ้วน คาดการณ์ว่าภายในปี 2568 จะมีผู้คนกว่า 167 ล้านคนทั่วโลกจะมีสุขภาพที่ไม่ดี จากภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน

โรคอ้วน คือ ภาวะที่ร่างกายมีการสะสมของไขมันมากกว่าปกติ นำมาซึ่งสาเหตุของโรคเรื้อรังต่างๆ ซึ่งเป็นโรคไม่ติดต่อมี 2 ประเภท คือ อ้วนลงพุง และ อ้วนทั้งตัว

บ.โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา (ประเทศไทย) หนุน กรมอนามัย ร่วมลดความชุก ‘อ้วน’ ในประเทศ นำร่องเสริมทักษะแพทย์ ด้วย 'เวชศาสตร์วิถีชีวิต' การแพทย์แนวใหม่ เปลี่ยนพฤติกรรมพิชิตโรคอ้วน

จากข้อมูล องค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2565 พบว่า ปัจจุบันมีผู้คนทั่วโลกมากกว่า 1 พันล้านคน ที่มีภาวะอ้วน แบ่งเป็นผู้ใหญ่ 650 ล้านคน วัยรุ่น 340 ล้านคน และเด็ก 39 ล้านคน โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

และยังคาดการณ์ว่าภายในปี 2568 จะมีผู้คนกว่า 167 ล้านคนทั่วโลกจะมีสุขภาพที่ไม่ดีจากภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน ซึ่งหากประเทศไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ อาจส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจจากภาวะเหล่านี้ โดยคาดว่าจะเติบโตขึ้นเป็นร้อยละ 4.9 ของ GDP ในประเทศไทย

 

ขณะเดียวกัน หากลดความชุกของภาวะอ้วนลงร้อยละ 5 จากระดับที่คาดการณ์ไว้หรือคงไว้ที่ระดับปี 2562 จะทำให้ต้นทุนทางเศรษฐกิจลดลงเฉลี่ยร้อยละ 5.2 และร้อยละ 13.2 ต่อปี ระหว่างปี พ.ศ. 2563 – 2603 ตามลำดับ

 

\'เวชศาสตร์วิถีชีวิต\' การแพทย์แนวใหม่ พิชิตโรคอ้วน ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

แบบไหนเรียกว่า "โรคอ้วน"

โรคอ้วน คือ ภาวะที่ร่างกายมีการสะสมของไขมันมากกว่าปกติ นำมาซึ่งสาเหตุของโรคเรื้อรังต่างๆ ซึ่งเป็นโรคไม่ติดต่อมี 2 ประเภท คือ

อ้วนลงพุง

  • มีการสะสมของไขมันที่บริเวณช่องท้องและอวัยวะภายใน เช่น ตับ ไต ลำไส้ กระเพาะอาหารและอื่นๆ ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไขมันในเลือดสูง โดยรอบพุงที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 5 ซม. จะเพิ่มโอกาสเกิดโรคเบาหวาน 3-5 เท่า

 

โรคอ้วนทั้งตัว

  • มีไขมันทั้งร่างกายมากกว่าปกติโดยไขมันที่เพิ่มขึ้น มิได้จำกัดอยู่ที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งโดยเฉพาะ บางคนนอกจากเป็นโรคอ้วนทั้งตัวแล้วยังเป็นโรคอ้วนลงพุงร่วมด้วย จะมีโรคแทรกซ้อนทุกอย่าง และโรคที่เกิดจากน้ำหนักตัวมาก ได้แก่ โรคไขข้อ ปวดข้อ ข้อเสื่อม ปวดหลัง ระบบหายใจทำงานติดขัด

 

รู้ได้อย่างไร ว่าเสี่ยงอ้วน 

ข้อมูลสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข  ระบุว่า สามารถใช้ค่าดัชนีมวลกาย  (Body Mass Index หรือ BMI) เพื่อการวินิจฉัยโรคอ้วนทั้งตัว และวัดเส้นรอบเอวเพื่อการวินิจโรคอ้วนลงพุง เพราะ BMI คือค่าความหนาของร่างกาย ใช้เป็นมาตรฐานในการประเมินภาวะอ้วนผอมในผู้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป

 

ซึ่งคำนวณได้จาก การใช้น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมและหารด้วยส่วนสูงที่วัดเป็นเมตรยกกำลังสอง ซึ่งใช้ได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ดังสูตรต่อไปนี้ ดัชนีมวลกาย (BMI) = น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) / ส่วนสูง (เมตร)2 เช่น มีน้ำหนัก 50 กิโลกรัม สูง 1.50 เมตร = 50/(1.5×1.5) = 22.22 จะมีค่า BMI อยู่ที่ 22.22 นั่นเอง

 

\'เวชศาสตร์วิถีชีวิต\' การแพทย์แนวใหม่ พิชิตโรคอ้วน ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรม

 

 

วัดพุง ประเมินความอ้วน

นอกจากนี้ การวัดเส้นรอบเอว หรือเส้นรอบพุง (โดยทั่วไปจะวัดรอบเอว ตรงระดับสะดือพอดี) เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการก่อโรค ผู้ชายต้องมีเส้นรอบเอวน้อยกว่า 90 เซนติเมตร และผู้หญิงน้อยกว่า 80 เซนติเมตร ถ้าเส้นรอบเอวใหญ่เกินกว่าค่าดังกล่าวนี้แล้วก็จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ นั้นสูงขึ้น

 

โดยเกณฑ์มาตรฐานสากลที่ใช้วัดภาวะอ้วน คือ BMI: Body Mass Index ดังนี้ ค่า BMI ต่ำกว่า 18.5 ลงไป แสดงว่า มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ค่า BMI ตั้งแต่ 18.5-24.9 แสดงว่าอยู่ในเกณฑ์สุขภาพดีค่า BMI ตั้งแต่ 25-29.9 แสดงว่ามีน้ำหนักเกินค่า BMI ตั้งแต่ 30-38.9 แสดงว่าอยู่ในภาวะอ้วนที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพ ค่า BMI ตั้งแต่ 40 ขึ้นไป แสดงว่าอยู่ในภาวะอ้วนอย่างมากและเสี่ยงต่อการเผชิญปัญหาสุขภาพที่รุนแรง

 

"อ้วน"จากชีวิตประจำวัน

การใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้เกิด "โรคอ้วน" ได้ เพราะการกินอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ บริโภคหวาน มัน เค็มมากเกินไป ใช้ชีวิตไม่สมดุล ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ มีส่วนทำให้ น้ำหนักตัวเกินและส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งสิ้น  ส่วนที่คิดว่าโรคอ้วนมาจากพันธุกรรม

 

ในทางการแพทย์พบว่าอยู่ในกลุ่มคนส่วนน้อย สิ่งที่ดีที่สุด คือ กินผัก-ผลไม้ให้ได้วันละ 400 กรัม มีกิจกรรมทางกาย เช่น เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีให้ร่างกาย เพราะความอ้วนเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคปอดเรื้อรัง โรคเบาหวาน และโรคเรื้อรังอื่น ๆ เช่น ไตวาย เก๊าท์ ตับแข็งฯ หากสังคมสานพลังรักสุขภาพจะช่วยหยุดปัญหาเหล่านี้ได้

 

\'เวชศาสตร์วิถีชีวิต\' การแพทย์แนวใหม่ พิชิตโรคอ้วน ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรม

 

เสริมทักษะ ‘เวชศาสตร์วิถีชีวิต’ การแพทย์แนวใหม่

บริษัท โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา (ประเทศไทย) จำกัด สนับสนุนกรมอนามัย จัดโครงการนำร่องฝึกอบรมหลักสูตร ‘แนวทางการดูแลรักษาผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน สำหรับแพทย์’ หรือ HCP Obesity Curriculum เพื่อให้ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ให้มีความรู้ความเข้าใจ ทักษะการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการดูแลผู้ป่วย การป้องกันและรักษาที่ต่อเนื่องและยั่งยืน

 

โดย กรมอนามัยขับ เคลื่อนงานผ่าน ‘เวชศาสตร์วิถีชีวิต’ (หรือ Lifestyle Medicine) ซึ่งเป็นรูปแบบการบริการทางการแพทย์แนวใหม่ ที่เน้น การปรับเปลี่ยนปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมเพื่อสุขภาพดี ร่วมกับการผสมผสานและบูรณาการศาสตร์ทางการแพทย์ มาวางแผนเพื่อสนับสนุนให้ผู้ป่วยหรือผู้รับบริการสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใน 6 ด้าน ได้แก่

1) ด้านโภชนาการ

2) ด้านการออกกำลังกาย

3) ด้านการนอนหลับ

4) ด้านการจัดการความเครียดและจัดการด้านอารมณ์

5) ด้านการลดเลิกบุหรี่ สุรา

6) ด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

 

การฝึกอบรมหลักสูตร ‘แนวทางการดูแลรักษาผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน สำหรับแพทย์’ หรือ HCP Obesity Curriculum ในช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่จะช่วยส่งเสริมให้บุคลากรทางการแพทย์มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคอ้วนครบในทุกมิติ

 

ครอบคลุมตั้งแต่สาเหตุของการเกิดภาวะอ้วน ผลของภาวะอ้วนที่มีต่อสุขภาพอนามัย จิตใจ เศรษฐกิจสังคม แนวทางการรักษาภาวะอ้วน รวมถึงการดูแลผู้ป่วย และการป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยในการอบรมยังมีแพทย์เฉพาะทางและแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ ผศ.พญ.พัชญา บุญชยาอนันต์ ผศ.พญ.ดารุณีวัลย์ วโรดมวิจิตร และรศ.พญ.ประพิมพร ฉัตรานุกูลชัย ฯลฯ

 

ร่วมให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อหลักสูตร อาทิ โรคอ้วน กลไกและสมดุลของร่างกาย หลักการในการดูแลรักษาโรคอ้วน แนวทางปฏิบัติและข้อควรพิจารณา ในการดูแลรักษาโรคอ้วนและการนำไปใช้จริง รวมถึงทัศนคติมุมมองที่มีต่อโรคอ้วน จากผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน และที่สำคัญได้นำความรู้ไปปรับใช้ในงานเวชปฏิบัติและสามารถพัฒนาต่อยอดในการส่งเสริมสุขภาพของผู้ป่วยต่อไป เพื่อการมีสุขภาพชีวิตที่ดีขึ้น