คนไทยน้ำหนักเกินและอ้วน 48.35% ลดน้ำหนัก-ภาวะอ้วน ป้องกันโรค

คนไทยน้ำหนักเกินและอ้วน 48.35% ลดน้ำหนัก-ภาวะอ้วน ป้องกันโรค

'BDMS Wellness Clinic' อีกหนึ่งบริการดูแลสุขภาพที่มุ่งเน้นการดูแลป้องกัน และเสริมสร้างสภาวะสุขภาพ เพื่อให้ทุกคนมีชีวิตยืนยาวอย่างมีคุณภาพ

KEY

POINTS

  • การมีสุขภาพที่ดี ถือเป็นสิ่งที่มีค่า เพราะนั่นหมายถึงมีแรง มีพลังในการทำตามสิ่งต่าง ๆ ที่ตนต้องการ คาดหวัง การดูแลด้านภูมิคุ้มกัน และการจัดการโรคอ้วน จึงได้รับความสนใจค่อนข้างมาก
  • “BDMS Wellness Clinic” มุ่งเน้นการดูแลน้ำหนักแบบองค์รวม มากกว่า การควบคุมอาหาร และการออกกำลังกายแบบเดิมๆอาจไม่ใช่ทางออก
  • 4 แนวทางจัดการน้ำหนักอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องเลือกรับประทานอาหาร ควบคุมความอยาก การเผาผลาญ และการออกแบบกำลังกายที่เหมาะกับร่างกาย

ข้อมูลปี 2563 จากสหพันธ์โรคอ้วน (World Obesity Federation) ผู้คนราว 1 พันล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 7 คน กำลังเผชิญกับปัญหาโรคอ้วน สอดคล้องกับรายงาน World Health Statistics 2023 ขององค์การอนามัยโลก รายงานว่า มีผู้ใหญ่ 1.9 พันล้านคน หรือคิดเป็น 39% มีปัญหาน้ำหนักเกินและอ้วน สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่าปี พ.ศ. 2566 คนไทยมีปัญหาน้ำหนักเกินและอ้วน 48.35%

ทั้งนี้ อีกกลุ่มวัยที่ไม่ควรละเลย คือ กลุ่มวัยเด็ก เพราะภาวะสุขภาพในวัยเด็กส่งผลต่อภาวะสุขภาพและคุณภาพชีวิตได้เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ตัวอย่างการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Nutrition ในปี พ.ศ. 2566 คาดว่า เด็กและวัยรุ่นที่มีภาวะอ้วนมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วนถึง 5 เท่า เมื่อเทียบกันกับเด็กที่ไม่อ้วน

โดยเด็กที่มีภาวะอ้วนตั้งแต่ในวัยเรียนนั้น 55% จะพัฒนาไปเป็นวัยรุ่นที่อ้วน และวัยรุ่นที่อ้วนมีโอกาสที่จะพัฒนาไปเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วนถึง 80% และมีโอกาสถึง 70 % ที่จะเป็นโรคอ้วน ตั้งแต่อายุ 30 ปี เลยทีเดียว โดยจำนวนเด็กที่มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนเพิ่มขึ้นอย่างมาก องค์การอนามัยโลก แสดงตัวเลขความชุกในเด็กที่มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน อายุระหว่าง 5-19 ปี จากเดิมที่มีเพียง 4% ในปี พ.ศ. 2518 เป็น 18% หรือกว่า 340 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2559

สำหรับประเทศไทย รายงานจากระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ในการติดตามเฝ้าระวังภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนในเด็ก เมื่อปี พ.ศ. 2566 เปิดเผยว่า ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี มีความชุกของภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนอยู่ที่ 8.98% ในเด็กอายุระหว่าง 6-14 ปี อยู่ที่ 13.68% และในเด็กที่มีอายุ 15-18 ปี อยู่ที่ 13.72%

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เช็กก่อนเสี่ยง อ้วนแค่ไหน ถึงเข้าเกณฑ์ ‘โรคอ้วน’ น้ำหนักเกิน

วันอ้วนโลก World Obesity Day โรคอ้วนมหันตภัยร้ายทำลายร่างกาย

ดูแลน้ำหนักแบบองค์รวม

วานนี้ (5 มี.ค.2567) BDMS Wellness Clinic(บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก) ได้เปิดให้เยี่ยมชมสถานที่เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคอ้วน เนื่องในวันอ้วนโลก (World Obesity Day)ประจำปี2567 โดยมี 

“พญ.จิรา ถาวรประดิษฐ์” ผู้อำนวยการคลินิกรอยัลไลฟ์ เวลเนส กรุงเทพ กล่าว การทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่แท้จริงของโรคอ้วนและผลกระทบต่อประชากรไทยมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนากลยุทธ์การป้องกันและการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งบีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก มุ่งเน้นการดูแลน้ำหนักแบบองค์รวม มากกว่า การควบคุมอาหาร

คนไทยน้ำหนักเกินและอ้วน 48.35% ลดน้ำหนัก-ภาวะอ้วน ป้องกันโรค

การออกกำลังกายแบบเดิมๆที่มักจะไม่ประสบผลสำเร็จในการสร้างผลลัพธ์ที่ยั่งยืน ส่งผลให้เกิด “โยโย่เอฟเฟ็กต์” ที่น่าหงุดหงิดจากการลดและเพิ่มน้ำหนัก อย่างไรก็ตาม โปรแกรมของคลินิกได้รับการออกแบบมาเพื่อทำลายวงจรนี้โดยมุ่งเน้นไปที่ตัวบุคคลแบบโดยรวม

“แนวทางของเราจะมีความครอบคลุม ผสมผสานตั้งแต่การวิจัยทางพันธุกรรม การวิเคราะห์ไมโครไบโอมในลำไส้ และการตรวจสุขภาพจิต เพื่อวางแผนควบคุมน้ำหนักแบบส่วนบุคคล โดยเราจะพิจารณาจากความอยากอาหารและอัตราการเผาผลาญของแต่ละบุคคล”

‘สุขภาพจิต’รากฐานวิถีชีวิตที่ยั่งยืน

“พญ.พิชชาพร ธนาพงศธร” ผู้ช่วยผู้อำนวยการ บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลีนิค และผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ อธิบาย เมื่อพิจารณาถึงองค์ประกอบทางพันธุกรรมและไลฟ์สไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ของผู้รับบริการแต่ละราย เราจึงสามารถสร้างกลยุทธ์การจัดการน้ำหนักส่วนบุคคลที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นส่วนตัวได้

"สุขภาพจิตถือเป็นองค์ประกอบที่เราควรให้ความสำคัญ ในยามที่เราต้องการที่จะควบคุมน้ำหนักให้มีประสิทธิภาพ แต่หลายคนอาจจะมองข้ามสิ่งเหล่านี้ไป ทั้งนี้ การมีสุขภาพจิตที่ดีถือเป็นรากฐานในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตที่ยั่งยืนและมีคุณภาพ และการทำความเข้าใจเกี่ยวกับจิตวิทยาเบื้องหลังพฤติกรรมการกินและการออกกำลังกาย ถือเป็นกุญแจสำคัญในการปลดล็อกเส้นทางการจัดการน้ำหนักที่ประสบความสำเร็จ” พญ.พิชชาพร กล่าวเสริม

คนไทยน้ำหนักเกินและอ้วน 48.35% ลดน้ำหนัก-ภาวะอ้วน ป้องกันโรค

อีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญของคลินิกควบคุมน้ำหนักที่บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก คือ การทำงานร่วมกันระหว่างทีมทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและทีมเทรนเนอร์ส่วนบุคคล โดยจะใช้ผลการตรวจเลือด ความอยากอาหาร และอัตราการเผาผลาญที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล พร้อมด้วยการทำ DEXA Scan ที่เป็นมาตรฐานและมีความแม่นยำสูงในการวัดองค์ประกอบของร่างกายรวมทั้งระดับไขมัน

การใช้วิธีการที่ครอบคลุมนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยสร้างแผนการออกกำลังกายส่วนบุคคลที่ตอบสนองทั้งความต้องการของร่างกายและเป้าหมายของผู้รับบริการ ไม่ว่าผู้รับบริการต้องการสร้างกล้ามเนื้อเพื่อให้ได้สัดส่วนที่ดีขึ้นหรือต้องการลดน้ำหนักแบบยั่งยืน ทางคลินิกสามารถปรับแต่งแผนการออกกำลังกายให้ตรงตามความต้องการส่วนบุคคลได้

4 แนวทางจัดการน้ำหนัก

“เป้าหมายสูงสุดของเราคือการมอบความรู้และแนะนำเครื่องมือที่จำเป็นให้กับผู้รับบริการแต่ละบุคคล เพื่อใช้เป็นแนวทางรักษาน้ำหนักตัวให้แข็งแรงอย่างยั่งยืนและมีคุณภาพชีวิตที่ดี” ดร. ปีเตอร์ ปทุมมารนันทน์ ผู้อำนวยการคลินิกสร้างเสริมและฟื้นฟูระบบกล้ามเนื้อและกระดูก กล่าว

โดยองค์ประกอบหลักสี่ประการในการควบคุมน้ำหนัก มีดังนี้

1.การเลือกรับประทานอาหาร ไม่ใช่แค่การทานน้อยลงแต่ทานให้ถูกต้องด้วย นักโภชนาการที่คลินิกได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้รับบริการเพื่อพัฒนาแผนการรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และปรับให้เหมาะกับความต้องการและความชอบด้านอาหารของแต่ละบุคคล

2.การควบคุมความอยากอาหาร จะส่งผลต่อการบริโภคและการเลือกรับประทานอาหาร ทั้งนี้ การประเมินที่ครอบคลุมของทางคลินิกจะช่วยทำให้เราเข้าใจถึงปัจจัยการกระตุ้นและรูปแบบความอยากอาหารของผู้รับบริการแต่ละรายได้

3. การเผาผลาญ เป็นกระบวนการของการเปลี่ยนพลังงานในร่างกาย สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมน้ำหนัก ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างทางพันธุกรรมที่นำไปสู่ความแตกต่างในประสิทธิภาพการเผาผลาญของแต่ละบุคคล

4. การออกกำลังกายที่ได้รับการออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายและวัตถุประสงค์ในการจัดการน้ำหนักเฉพาะของผู้รับบริการ ไม่ว่าเป้าหมายคือการสร้างกล้ามเนื้อหรือลดไขมัน แผนการออกกำลังกายส่วนบุคคลจะได้รับการออกแบบมาให้มีความสนุกสนาน ยั่งยืน และมีประสิทธิภาพ

คนไทยน้ำหนักเกินและอ้วน 48.35% ลดน้ำหนัก-ภาวะอ้วน ป้องกันโรค

โรคอ้วนเสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

ผู้ป่วยโรคอ้วนมีการสะสมของไขมันตามส่วนต่าง ๆ หนึ่งในภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea; OSA) เมื่อดัชนีมวลกาย (Body Mass Index; BMI) เพิ่มขึ้น 6 kg/m2 ความเสี่ยงการหยุดหายใจขณะหลับจะเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า

เพราะขนาดตัวที่ใหญ่ขึ้นทำให้ช่องลำคอแคบลง นำไปสู่การนอนหลับไม่ลึก (Sleep Fragmentation), ตื่นกลางคืนบ่อย (Nocturnal Awakenings), และภาวะง่วงในเวลากลางวัน (Daytime Sleepiness) แม้ว่าจะไม่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ แต่ผู้ที่อ้วนมาก (Severe Obesity) จะมีคุณภาพการนอนและระยะเวลาการนอนหลับแย่ลง และมีการกรนมากกว่าคนน้ำหนักปกติ มากถึง 47%

ความอ้วนยังสัมพันธ์กับภาวะอื่น ๆ เช่น โรคลำไส้แปรปรวน, โรคกระเพาะอาหาร, โรคภูมิแพ้ และอาการปวดข้อ ที่ทำให้คุณภาพการนอนหลับลดลง อีกทั้งไขมันช่องท้องยังเป็นสาเหตุของการหลั่งสารอักเสบ เช่น IL-1, IL-6 และ TNF-alpha ซึ่งไปรบกวนวงจรของการนอน ทำให้คุณภาพการนอนลดลง

คนไทยน้ำหนักเกินและอ้วน 48.35% ลดน้ำหนัก-ภาวะอ้วน ป้องกันโรค

เฝ้าระวังโรคอ้วนในผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักไม่ค่อยใส่ใจหรือคำนึงถึงรูปร่างของตนเอง จึงมักปล่อยปละละเลย และมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารในแบบที่เคยชิน ตลอดจนไม่รู้จักการดูแลโภชนาการให้ตัวเอง รวมถึงการไม่ออกกำลังกาย ทำให้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักเผชิญกับปัญหาโรคอ้วน ส่งผลกระทบให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ตามมา

ยิ่งในปัจจุบันมีเทคโนโลยีมากมายที่คอยช่วยอำนวยความสะดวกแก่มนุษย์จนทำให้เกิดการปลูกฝังพฤติกรรมรักความสะดวกสบาย เกิดพฤติกรรมการนั่ง กิน นอน มีการบริโภคที่มากจนเกินความต้องการ ไม่มีการออกกำลังกาย อันส่งผลให้เกิดกลุ่มอาการอ้วนลงพุง (Metabolic syndrome) ตามมา

ทั้งนี้ ในผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เช่น มีความผิดปกติของระบบประสาทสัมผัส การมองเห็น การได้ยิน การรับรส และการบดเคี้ยวอาหารและการกลืน เป็นต้น ทางจิตใจ เศรษฐกิจและสังคม เช่น ฐานะยากจน สูญเสียรายได้หรืออาชีพ การถูกทอดทิ้ง ทำให้ไม่สามารถจัดหาอาหารมาบริโภคให้เพียงพอต่อความต้องการได้ และการมีโรคประจำตัว สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อภาวะโภชนาการของผู้สูงอายุ ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะทุพโภชนาการได้ง่าย

ผลกระทบของภาวะทุพโภชนาการในผู้สูงอายุ เช่น เกิดภาวะขาดสารอาหารในผู้สูงอายุ มีความอยากอาหารลดลง เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ง่วงซึม ไข้สูง มีอาการอาเจียนที่ไม่สามารถควบคุมได้ และถ้าเกิดบาดแผลจะหายช้ากว่าปกติ มีจ้ำเลือดขึ้นตามตัวง่าย การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันบกพร่องและเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่างๆ เป็นต้น