เรื่องใหญ่ : ยารักษาโรคตับคั่งไขมัน (NASH)
เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐ อนุมัติยาเพื่อรักษาโรคตับคั่งไขมัน (Non-Alcoholic Steato Hepatitis : NASH) ซึ่งเป็น “เรื่องใหญ่”
เพราะเป็นครั้งแรกที่มียาเพื่อรักษาโรคนี้ บางทีก็เรียกโรคนี้ว่าโรคไขมันพอกตับ ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่ใช้เวลาพัฒนาตัวหลายปี โดยแบ่งเออกได้เป็น 4 ระยะ คือ
1.เริ่มต้นจากการสะสมไขมันเพียงอย่างเดียว ยังไม่เกิดอาการอักเสบ (ซึ่งผมเองเคยเริ่มเป็นตอนอายุ 56 ปี)
2.NASH เมื่อตับเริ่มเกิดการอักเสบ ค่าเอนไซม์ตับเริ่มสูงขึ้น
3.Liver Fibrosis การอักเสบรุนแรงและเรื้อรัง จนทำให้เกิดภาวะพังผืดของตับ
4.Cirrhosis รุนแรงมาก เนื่องจากเซลล์ตับถูกทำลายไปมาก จนเป็นโรคตับแข็ง
ประเด็นที่สำคัญของโรคนี้มีอยู่ 3 ประเด็นคือ
1.เรามักจะเข้าใจกันว่าการเป็นโรคตับแข็งนั้น เกิดจากการดื่มสุรามากเกินไป แต่ต่อมามีคนเริ่มเป็นโรคนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเริ่มเรียกว่า “non-alcoholic” คือไม่ได้เกิดจากการดื่มสุรา แต่เกิดจากการกินอาหารมากเกินไป
จนทำให้น้ำหนักตัวสูงเกินเกณฑ์ และมีไขมันเกินความต้องการของร่างกายอย่างมาก จนกระทั่งตับไม่สามารถจัดการกับไขมันส่วนเกินได้ ต่อมาจึงได้เปลี่ยนมาเรียกชื่อโรคนี้ว่า โรคตับเรื้อรังที่เกิดจากความผิดปกติของระบบเผาผลาญ หรือ MASLD
2.คนทั่วไปรู้จักโรคนี้น้อยกว่าโรคอื่นๆ ที่แพร่หลาย เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็งและโรคเบาหวาน แต่ปรากฏว่าโรคไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์นั้น เพิ่มขึ้นอย่างมากทั่วโลก
โดยมีผู้ใหญ่ที่มีอาการของโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้นจาก 25% ของประชากรในปี 2549 มาเป็น 38% ในปี 2562 สำหรับประเทศไทยนั้นมีการประเมินว่ามีสัดส่วนประมาณ 20% ของประชากรอายุมากกว่า 18 ปี ที่มีอาการของโรคนี้
3.ก่อนหน้าวันที่ 14 มี.ค.2567 ไม่ยารักษาโรคนี้ กล่าวคือ แนวทางของการรักษา คือการลดการกินอาหาร ลดน้ำหนักตัว และการออกกำลังกาย (ซึ่งก็ยังต้องทำควบคู่ไปกับการกินยาชนิดใหม่ ที่ผมจะเขียนถึงต่อไป)
หากไม่ทำ ก็มีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเป็นโรคร้ายแรงอื่นๆ ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด และแม้กระทั่งโรคมะเร็ง โดยที่ผู้ที่ป่วยเป็นโรคตับคั่งไขมันนั้น มักจะเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นหลัก
ยาชนิดใหม่ที่ว่านี้คือ Resmetirom (ชื่อสามัญทางยา) เป็นยาเม็ดขนาด 100 mg ที่ต้องกินทุกวัน โดยผ่านกระบวนการอนุมัติแบบเร่งรีบที่สหรัฐภายในเวลาเพียง 1 ปี (เพราะเป็นโรคที่ร้ายแรงและยังไม่มียารักษา)
โดยได้ทดลองกับคนป่วย 966 คน ได้ยาหลอก (placebo) และรักษาโดยวิธีปกติ 321 คน และกลุ่มอื่นๆ ได้ยา Resmetirom ในปริมาณแตกต่างกันไปในช่วงเวลา 24 สัปดาห์
ผลคือ สามารถรักษาอาการของโรคได้ (NASH Resolution)
- ในผู้ป่วย 25.9% ที่กินยาวันละ 80 mg
- ในผู้ป่วย 29.9% ที่กินยาวันละ 100 mg
- ในผู้ป่วย 9.7% ที่อาศัยการรักษาแบบดั้งเดิม
สำหรับอาการพังผืดของตับนั้น
- ผู้ป่วยที่กินยาวันละ 80 mg มีผู้ที่อาการดีขึ้น 24.2%
- ผู้ป่วยที่กินยาวันละ 100 mg มีที่อาการดีขึ้น 25.9%
- ผู้ป่วยที่กินยาหลอก มีอาการดีขึ้น 14.2%
เมื่อกิน Resmetirom เข้าไป ยาจะไปกระตุ้นการทำงานของฮอร์โมนไทรอยด์ที่ตับ ทำให้ตับลดการกักเก็บไขมัน ที่สหรัฐคาดว่ายาดังกล่าวจะถูกวางตลาดในเดือน เม.ย.นี้ โดยสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐอนุมัติให้นำไปใช้กับผู้ป่วยเป็นโรคตับคั่งไขมันที่อยู่ในขั้นที่ทำให้มีอาการอักเสบเรื้อรัง จนเกิดภาวะพังผืดของตับ
แต่ต้องกินยานี้ควบคู่ไปกับการบำบัดอื่นๆ คือ การปรับการกินอาหารให้ถูกต้องและการออกกำลังเป็นประจำ (จึงไม่ใช่ยาประเภท magic bullet ครับ)
แต่เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ในระยะหลังนี้ วิวัฒนาการและการคิดค้นแนวทางการรักษาโรคต่างๆ กำลังพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว ยา Resmetirom นี้ เข้าใจว่าจะมีคู่แข่งเร่งเปิดตัวมาอีกได้ใน 1-2 ปีข้างหน้า เช่น ยารักษาโรคเบาหวานและโรคอ้วน ของบริษัท Novo Nordisk และของบริษัท Eli Lilli ที่เรียกว่า GLP1 agonist (และยังมีการเติม GIP กับ glucagon เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ)
ก็กำลังถูกนำไปสำรวจข้อมูลดูว่า จะทำให้ไขมันที่ตับลดลงไปด้วยหรือไม่ เพราะการลดน้ำหนักตัวอย่างมาก (15-20%) นั้น ก็น่าจะทำให้ไขมันที่ตับลดลงไปได้อย่างมากด้วย
ในส่วนนี้บริษัท Eli Lilly รุดหน้าบริษัท Novo Nordisk ไป โดยการเก็บข้อมูลจากการทดลองยา Tirzepatide (ชื่อสามัญทางยา) (ที่ลดน้ำหนักตัวได้ 24% เมื่อใช้ยาไปเป็นเวลา 48 สัปดาห์) ในผู้ที่เป็นโรคอ้วนและโรคตับคั่งไขมัน พบว่า ช่วยลดอาการไขมันในตับ (MASH resolution without any worsening of fibrosis) ลงไปได้ 30% ของผู้ป่วยเป็นโรค MASH เทียบกับ 10% ของผู้ป่วยที่ได้ยาหลอกและรักษาโดยวิธีปกติ
แต่แน่นอนว่า จะเป็นการดีที่สุดหากจะมาดูแลตัวเองไม่ให้กินอาหารมากเกินไป จนน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นและหลีกเลี่ยงการปล่อยให้เอวใหญ่เกินกว่า 36 นิ้วสำหรับผู้ชาย และ 32 นิ้วสำหรับผู้หญิง
ตลอดจนออกกำลังกายเป็นประจำให้ได้สัปดาห์ละ 150-300 นาที ก็น่าจะเป็นการทำให้เราหลีกเลี่ยงการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคตับคั่งไขมันและโรคอื่นๆ ที่สืบเนื่องมาจากความบกพร่องของระบบเผาผลาญครับ
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร