“ดนตรีบำบัด”ผู้ช่วยแพทย์ ฟื้นฟูจิตใจ-ดูแลผู้ป่วย

“ดนตรีบำบัด”ผู้ช่วยแพทย์  ฟื้นฟูจิตใจ-ดูแลผู้ป่วย

“ดนตรีบำบัด” พัฒนามาจากตำนานของกรีกที่มีความเชื่อว่า เสียงดนตรีช่วยไล่สิ่งไม่ดีที่ก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บออกจากตัวมนุษย์ได้ ปัจจุบัน ถูกนำมาดูแล ฟื้นฟูผู้ป่วยมากขึ้น ไม่ว่าจะทางกาย และทางจิตใจ

KEY

POINTS

  • “ดนตรีบำบัด” (Music Therapy) พัฒนามาจากตำนานของกรีกที่มีความเชื่อว่า เสียงดนตรีช่วยไล่สิ่งไม่ดีที่ก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บออกจากตัวมนุษย์ได้ ต่อมา ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ผู้ให้กำเนิดการพยาบาลสมัยใหม่ ได้มีการนำดนตรีมาใช้ในเชิงทางการแพทย์
  • ปัจจุบันมีการนำดนตรีบำบัด  มาใช้กับคนไข้มากขึ้น โดยเฉพาะการรักษาแบบองค์รวมทั้งทางกาย และทางด้านจิตใจ ของคนไข้ควบคู่กันไป
  • การบำบัดด้วยศาสตร์ “ดนตรีบำบัด” มีหลากหลายวิธีด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการฟังเพลงบรรเลง หรือเพลงร้อง  การพูดคุยเรื่องดนตรีด้านต่างๆ 

 

ปัจจุบันมีการนำดนตรีบำบัด (Music Therapy) มาใช้กับคนไข้มากขึ้น โดยเฉพาะการรักษาแบบองค์รวมทั้งทางกาย และทางด้านจิตใจและสุขภาพจิตของคนไข้ควบคู่ไปด้วย โดยกระบวนการรักษาด้วยดนตรีบำบัด แพทย์จะประเมินโรค ให้กับผู้ป่วยและแนะนำแนวทางการรักษาด้วยยา ควบคู่กับการใช้ดนตรีบำบัด โดยจะมีนักดนตรีบำบัด มาร่วมพูดคุยกับผู้ป่วยเพื่อประเมิน และวางแผนกิจกรรมดนตรีบำบัดโดยการฟัง/เล่นดนตรี, การร้องเพลง, การแต่งเพลง หรือเล่นเครื่องประกอบจังหวะต่างๆ

 

ว่ากันว่า “ดนตรีบำบัด” พัฒนามาจากตำนานของกรีกที่มีความเชื่อว่า เสียงดนตรีช่วยไล่สิ่งไม่ดีที่ก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บออกจากตัวมนุษย์ได้ ต่อมา ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale) ผู้ให้กำเนิดการพยาบาลสมัยใหม่ ได้มีการนำดนตรีมาใช้ในเชิงทางการแพทย์เพราะเชื่อว่าดนตรีสามารถช่วยฟื้นฟูอาการของผู้ป่วยจากโรคต่างๆ ได้ จากนั้นดนตรีก็ถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์อย่างแพร่หลาย

 

กระทั่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan) ได้เปิดหลักสูตรดนตรีบำบัดขึ้นเป็นที่แรก จากนั้นสถาบันอุดมศึกษาในประเทศต่างๆ ได้เปิดสอนหลักสูตรดังกล่าวรวมทั้งมีการวิจัยอย่างกว้างขวาง ในประเทศไทย มีการนำดนตรีบำบัดมาใช้ในทางการแพทย์ครั้งแรกที่โรงพยาบาลศรีธัญญา  

 

“ดนตรีบำบัด”ผู้ช่วยแพทย์  ฟื้นฟูจิตใจ-ดูแลผู้ป่วย     

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ขั้นตอนในการใช้ดนตรีบำบัด

“พริม- พริมา สิทธิอำนวย” นักดนตรีบำบัดประจำโรงพยาบาลวิมุต ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ”ว่าดนตรีบำบัด (Music Therapy) เป็นศาสตร์การบำบัดที่มุ่งเน้นดูแลสุขภาพด้วยเสียงดนตรี โดยนักดนตรีบำบัดวิชาชีพ ที่จบการศึกษาเฉพาะทางด้านดนตรีบำบัดในการให้บริการ ก่อนจะทำการบำบัด นักดนตรีบำบัด จะต้องทำการประเมินความเหมาะสมของการรับบำบัดและเป้าหมายการรับดนตรีบำบัด

 

โดยประเมินโรคประจำตัว ประวัติการรักษา การตอบสนองทางร่างกายและอารมณ์ การสื่อสาร ประสบการณ์ดนตรีไม่ว่าจะเป็น ความชอบทางดนตรีในการฟังหรือเล่น และการตอบสนองต่อดนตรี เพื่อออกแบบกิจกรรมดนตรีที่มีคุณลักษณะเฉพาะความต้องการของผู้เข้ารับบริการระหว่างการบำบัด ผู้รับบริการดนตรีบำบัดสามารถร่วมประสบการณ์ดนตรีที่มีความหลากหลายตามความเหมาะสมของการบำบัด หรือความชอบของผู้รับบริการได้         

 

“การประเมินและออกแบบกิจกรรมดนตรีที่มีคุณลักษณะเฉพาะตามเป้าหมายการรักษา ความต้องการ และความแตกต่างของแต่ละคน โดยใช้หลัก Patient and Family Center care หรือ ผู้ป่วยและครอบครัวเป็นศูนย์กลางของการดูแล ควบคู่ไปกับการทำงานประสานกันกับสหสาขาวิชาชีพ เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้รับบริการ”

 

“ดนตรีบำบัด”ผู้ช่วยแพทย์  ฟื้นฟูจิตใจ-ดูแลผู้ป่วย

หลากหลายรูปแบบดนตรีบำบัด

ทั้งนี้ ผู้ที่เข้ารับการบำบัด ไม่จำเป็นต้องเล่นดนตรี ไม่ต้องมีพื้นฐานดนตรี ไม่ต้องเล่นดนตรีเป็น ผู้รับบริการสามารถเป็นใครก็ได้ที่ชอบฟังเพลง ดนตรี หรือมีความสนใจในการบำบัดด้วยประสบการณ์ดนตรีในฐานะผู้ฟังหรือผู้เล่นก็ได้ เพราะการบำบัดด้วยศาสตร์ “ดนตรีบำบัด” มีหลากหลายวิธีด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น

 

การฟังเพลงบรรเลงหรือเพลงร้อง การพูดคุยเรื่องดนตรีด้านต่างๆ เช่นเป็นความชอบเพลง เรื่องเพลงในแต่ละช่วงอายุ หรือการสะท้อนความรู้สึกหรือความคิดจากเสียงเพลงหรือเนื้อเพลง การเปล่งเสียง และร้องเพลง การเล่นดนตรี กับเครื่องดนตรีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเคาะ หรือเครื่องทำนอง การแต่งเพลง การเคลื่อนไหวร่างกายกับเสียงเพลง ซึ่งหลังเสร็จการบำบัด นักดนตรีบำบัดประเมินประสิทธิภาพการบำบัดว่าช่วยตามเป้าหมายของผู้รับบริการหรือไม่

 

ใครสามารถรับบริการดนตรีบำบัด

“พริม” อธิบายว่า ทุกคนสามารถเข้าถึงประโยชน์บริการดนตรีบำบัดได้หมด โดยไม่จำกัดอายุ เพศ ระดับการศึกษา ระดับความสามารถ หรือแม้กระทั่งประสบการณ์ทางดนตรี เนื่องจากดนตรีเป็นสิ่งที่แฝงอยู่ในชีวิตตั้งแต่เกิด สำหรับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมและผู้สูงอายุการใช้เพลงที่คุ้นเคยจะช่วยให้ผู้ป่วยนึกถึงความทรงจำในอดีตและนำมาเป็นสื่อในการจัดเตรียมกิจกรรมต่างๆ เพื่อคงระดับความสามารถในด้านความจำ การเคลื่อนไหว และการสื่อสารของผู้ป่วย

 

ส่วนผู้ป่วยระยะท้าย เสียงเพลงมักมากับเรื่องราวบางอย่าง และเพลงบางเพลงผูกพันธ์กับชีวิต โดยเฉพาะในยามที่หนทางการรักษาเต็มไปด้วยข้อจำกัด และผลการรักษาอาจไม่ขาดหาย ตามที่เราต้องการ เสียงดนตรี เป็นอีกทางเลือกที่ช่วยเรียกคืนเรื่องราวที่ดีๆ บางอย่างในอดีต ทำให้เราสัมผัสถึงความสุขและความผ่อนคลายอีกครั้ง

 

“เพลงบางเพลงอาจเป็นตัวแทนของเราที่จะให้บุคคลที่ยังดำเนินชีวิตต่อได้ระลึกถึง คลายความเบื่อ ความเหงา ความโศกเศร้าหากจำเป็นต้องรักษาในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลานาน การได้ฟังเพลง เลือกเพลง หรือฝึกเล่นเครื่องดนตรีง่ายๆ ยังช่วยให้ปรับตัวเข้ากับการใช้ชีวิตในโรงพยาบาลได้อีกด้วย” 

 

ทั้งนี้ กิจกรรมดนตรีที่ใช้ในการดูแลสุขภาพจิต ไม่ใช่เพียงแค่การฟังเท่านั้น แต่รวมไปถึงการเล่นดนตรีอย่างอิสระ การแต่งเพลง เพื่อระบายความรู้สึก และการฝึกเล่นเครื่องดนตรีบางอย่างเพื่อสร้างคุณค่าในตนเอง อีกทั้งกิจกรรมดนตรี ยังส่งเสริมให้เด็กและผู้ที่มีความต้องการพิเศษได้รับประสบการณ์และใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่พร้อมได้รับความสนุกสนานไปด้วยในตัว 

 

“ดนตรีบำบัด”ผู้ช่วยแพทย์  ฟื้นฟูจิตใจ-ดูแลผู้ป่วย

 

กว่าจะมาเป็นนักดนตรีบำบัด

นอกจากทำงานที่ศูนย์สุขภาพใจแล้ว “พริม”ยังทำงานที่ ศูนย์อรุโณทัย ภายใต้สมาคมออทิสติกสามัคคีไทย และจัดการอบรมการเรียนรู้ภายใต้ Attune Music Therapy เพื่อจัดกิจกรรมสำหรับการดูแลสุขภาวะทางจิตใจ สำหรับบุคคลทั่วไปและองค์กรต่างๆ

 

เป็นนักบำบัดฟลอร์ไทม์พื้นฐาน (DIRFloortime) (ผ่านการรับรองจาก ICDL) สำหรับการส่งเสริมพัฒนาการ เช่นในกลุ่ม ออทิสติก หรือ สติปัญญา ดาวน์ซินโดรม โดยใช้ปฏิสัมพันธ์เชิงบวกที่ถูกต้องตามหลักของฟลอร์ไทม์ การเคารพซึ่งกันและกัน การมีส่วนร่วม และการเล่นอย่างสนุกสนาน เพื่อเสริมด้านพัฒนาการ

 

มีประสบการณ์ทำงานในกลุ่มประชากร เด็กทารก เด็กและผู้ใหญ่ที่มีความต้องการพิเศษ (เช่น ออทิสติก สติปัญญา เรียนรู้ และดาวน์ซินโดรม) กลุ่มสุขภาวะทางด้านจิตใจและอารมณ์ กลุ่มผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล กลุ่มผู้สูงอายุกับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม และผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง ชอบเรียนรู้และขวนขวายเพิ่มเติม ทางด้านดนตรีบำบัด, จิตบำบัด และการบำบัดด้านอื่นๆ และให้ความสำคัญกับการได้ทำสิ่งที่มองว่ามีคุณค่าโดยเฉพาะการทำงานด้านบำบัด 

 

“มีความสุขทุกครั้งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการรับฟังและช่วยบำบัด ใช้ดนตรีในการบำบัดผู้ที่มาใช้บริการที่ ศูนย์สุขภาพใจ ”

 

ดูแลสุขภาวะจิตใจแบบองค์รวม

“พญ.เพ็ญชาญา อติวรรณาพัฒน์” แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจิตเวช ศูนย์สุขภาพใจ กล่าวว่า ศูนย์สุขภาพใจ ให้บริการดูแลรักษาสุขภาวะด้านจิตใจอย่างเป็นองค์รวม โดยมองให้ครบทุกด้านของความเป็นมนุษย์ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ โดยทีมผู้ชำนาญการจากสหสาขาวิชาชีพ ทั้งจิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยา นักกิจกรรมบำบัด นักดนตรีบำบัด ที่จะคอยดูแลรักษาทุกปัญหาสุขภาพจิตใจของแต่ละช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นการปรึกษาสุขภาพจิตในวัยเด็ก วัยรุ่น วัยทำงานและปรึกษาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุ เราพร้อมดูแลให้ครบองค์รวม

 

โดยให้การดูแล รักษาและให้คำปรึกษาโดยแพทย์ผู้ชำนาญการ ให้คำปรึกษา พร้อมการรักษาสุขภาพจิตใจโดยจิตแพทย์ด้านจิตเวช และจิตแพทย์ด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่นปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยา โดยเน้นการรักษาร่วมกันด้วยการใช้ยาและการรักษาโดยไม่ใช้ยา เช่น การทำจิตบำบัด การให้คำปรึกษา ครอบครัวและคู่สมรสบำบัด กิจกรรมบำบัด ดนตรีบำบัด ศิลปะบำบัด และ การจัดสิ่งแวดล้อม เป็นต้นให้คำปรึกษาโดยจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ที่ให้การดูแลรักษาครอบคลุมทุกช่วงวัย ตั้งแต่ เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ เป็นให้บริการปรึกษาเสริมสร้าง “ภูมิคุ้มกันทางจิตใจ”

 

“เพราะเราเชื่อว่าสุขภาพจิตใจ ก็ไม่ต่างจากสุขภาพร่างกาย ที่ไม่จำเป็นต้องรอให้เจ็บป่วยก่อนแล้วจึงค่อยดูแลรักษา” 

 

“ดนตรีบำบัด”ผู้ช่วยแพทย์  ฟื้นฟูจิตใจ-ดูแลผู้ป่วย

 

ดนตรีย่อเวลาฟื้นฟูสุขภาพ   

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ศาสตร์ของดนตรี ไม่ได้เพียงแค่ช่วยให้ผ่อนคลาย สนุกสาน แต่แท้จริงมีงานวิจัยรองรับมายาวนานว่า “ดนตรีมีความหมายต่อสุขภาพ การเรียนรู้ เยียวยาร่างกายและจิตใจ” โดยเกี่ยวข้องกับระดับสารเคมีในสมอง เมื่อได้ยินเสียงดนตรี เล่นดนตรี หรือมีบรรยากาศที่เกี่ยวข้องกับดนตรี รวมถึง ระดับภูมิคุ้มกันและการทำงานร่วมกันของหลายระบบในร่างกาย ดนตรีมีอิทธิพลสูงมาก ในเด็กส่งเสริมให้การเรียนรู้ที่ดีขึ้น เช่น การเรียนรู้เรื่องเครื่องดนตรีที่ใช้คีย์บอร์ดมีงานวิจัยรองรับว่าทำให้ Cognitive functions และ Executive Functions หรือ EF ดีขึ้น

 

นอกจากนี้ ดนตรียังมีผลต่อร่างกายตั้งแต่เรื่องของการทรงตัว เมื่อให้คนฝึกทรงตัวอย่างเดียวกับมีดนตรีด้วย ผลลัพธ์ไม่เท่ากัน การใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ มัดเล็ก ทั้งแง่การฟังแล้วเกิดปฏิกิริยา และการพยายามเล่นดนตรี เรื่องการได้ยินเรียนรู้จังหวะเกี่ยวข้องกับบางอย่างในสมองที่มีผลต่อความจำ สมาธิ  สามารถใช้ดนตรีพยุงความสามารถพาให้คงอยู่หรือดีขึ้นกว่าเดิม ในแง่ของสุขภาพจิต มีการใช้ดนตรีมาบำบัด คนไข้เศร้าให้ระบายออกมาเป็นการแต่งเมโลดี้และเนื้อเพลง ช่วยเยียวยาความซึมเศร้าได้ เป็นตัวช่วยที่ดีมาก และมีส่วนช่วยให้เกิดสัมพันธภาพที่ดี

 

“ดนตรีไม่ได้นำมาใช้เพียงแค่ส่งเสริมสุขภาพคนไข้ทั้งกายและใจ ยังนำมาใช้รักษาหรือเสริมการรักษา เช่น ผู้ป่วยบำบัดยาเสพติด ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ซึ่งดนตรีจะมาเป็นยาใจที่นำมาสู่ยากายได้อย่างดีย่อเวลาฟื้นฟูได้เกิน 50%” พญ.อัมพรกล่าว

 

“ดนตรีบำบัด”ผู้ช่วยแพทย์  ฟื้นฟูจิตใจ-ดูแลผู้ป่วย