อย่ามองข้ามโรคความดันโลหิต ป่วย14ล้านคนรักษาหายแค่10%

อย่ามองข้ามโรคความดันโลหิต  ป่วย14ล้านคนรักษาหายแค่10%

คนไทยป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นโดย 20 ปีที่ผ่านมามีคนไทยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงประมาณ 10 ล้าน และปัจจุบันมีผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นเป็น 14 ล้านคน แสดงให้เห็นว่าอัตราผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

KEY

POINTS

  • ด้วยลักษณะสังคมที่เปลี่ยนไปจากเดิมมาสู่สังคมเมืองที่ส่งผลให้เกิดความเครียดสูงขึ้น การรับประทานอาหารที่มีรสชาติเค็ม มีภาวะอ้วนมากขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มประชาชนเป็นโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มมากขึ้น
  • โรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการทำให้ผู้ที่ป่วยอีก 50 %ไม่ได้เข้ารับการรักษา และผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษามีเพียงครึ่งหนึ่งที่สามารถควบคุมค่าความดันได้ตามเป้า
  • ประชาชนทุกคนควรทราบระดับความดันโลหิตของตนเอง ด้วยการตรวจคัดกรอง หรือตรวจวัดความดันด้วยตนเองด้วยใช้เครื่องวัดความดันโลหิต และเมื่อทราบค่าความดันโลหิตสูงเมื่อใดควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

โดยปี 2566 มีผู้ป่วยจากโรคความดันโลหิตสูงรายใหม่ จำนวน 507,104 คน ซึ่งมีปัจจัยทั้งภาวะความเครียดสูงจากการทำงาน การดำเนินชีวิต เป็นภัยเงียบที่ส่งผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม 

ข้อน่ากังวลวันนี้คือประชาชนขาดความตระหนักถึงความสำคัญของการวัดความดันโลหิตด้วยตนเองเป็นประจำ ทำให้ผู้ป่วยบางรายไม่รู้ตัวว่าป่วย ปัจจุบันค่าความดันโลหิตปกติจะไม่เกิน 140 / 90 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งจากผลสำรวจผู้ป่วยที่กล่าวมาข้างต้นจำนวน 13 ล้านคนจะมีผู้ที่รู้ตัวว่าป่วยเพียง 50 %จากผลสำรวจเท่านั้น และเนื่องจากโรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการทำให้ผู้ที่ป่วยอีก 50 %ไม่ได้เข้ารับการรักษา และผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษามีเพียงครึ่งหนึ่งที่สามารถควบคุมค่าความดันได้ตามเป้า 

 รศ.พญ. วีรนุช รอบสันติสุข  หัวหน้าสาขาวิชาความดันโลหิตสูง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและกรรมการสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาผลสำรวจผู้ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงในประเทศไทย ช่วงปี 2547 และ 2552 จะอยู่ที่ 21% ด้วยลักษณะสังคมที่เปลี่ยนไปจากเดิมมาสู่สังคมเมืองที่ส่งผลให้เกิดความเครียดสูงขึ้น การรับประทานอาหารที่มีรสชาติเค็ม ประชาชนมีภาวะอ้วนมากขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มประชาชนเป็นโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มมากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เช็กความดัน อาการแบบไหนถึงเป็น'โรคความดันโลหิตสูง'

ความดันโลหิตสูง รับมือได้ แค่รู้ (หัว) ใจให้ดีพอ

ไม่แสดงอาการ-50%ไม่ได้รักษา

โดยช่วงปี 2557 เพิ่มขึ้นเป็น 25%และปี 2563 เพิ่มขึ้นเป็น 25.4 % ถึงแม้ตัวเลขสถิติผู้ป่วยฯ จะเพิ่มขึ้นไม่มากแต่เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรไทยทั้งหมด ที่เพิ่มขึ้น 1 %เท่ากับประชากรป่วยเป็นโรคความดันโลหิตเพิ่มขึ้นประมาณ 100,000 คน ซึ่งถือว่ามากเมื่อเปรียบเทียบกับ 20 ปีที่ผ่านมามีคนไทยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงประมาณ 10 ล้าน และปัจจุบันมีผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นเป็น 14 ล้านคน แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นทุกปี

โรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการทำให้ผู้ที่ป่วยอีก 50 %ไม่ได้เข้ารับการรักษา และผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษามีเพียงครึ่งหนึ่งที่สามารถควบคุมค่าความดันได้ตามเป้า ซึ่งปัจจุบันค่าความดันโลหิตปกติจะไม่เกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท และหากวิเคราะห์ผลกระทบของการมีผู้ป่วยความดันโลหิตสูงในประเทศไทยจำนวนมาก ในแง่สังคมและเศรษฐกิจ หากละเลยจะทำให้ประเทศไทยมีผู้ป่วยความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจอย่างแน่นอน

อย่ามองข้ามโรคความดันโลหิต  ป่วย14ล้านคนรักษาหายแค่10%

เนื่องจากการรักษาโรคความดันโลหิตสูงแพทย์จะทำการนัดผู้ป่วยทุก 4-6 เดือนเพื่อรักษาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ป่วยต้องลางานไปพบแพทย์ซึ่งอาจทำให้ธุรกิจหยุดชะงักและประชาชนมีค่าใช้จ่ายในระหว่างการรักษาทั้งค่ายา ค่าเดินทาง และอื่นๆ เกิดภาวะเครียดจากการอาการป่วย เป็นต้น

 "ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ ในมุมมองของผู้ป่วยที่ยังไม่แสดงอาการจึงเข้าใจว่าสบายดีจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพบแพทย์และทานยา เนื่องจากกังวลว่าการทานยา โดยไม่มีความจำเป็นจะเกิดผลข้างเคียงและมีผลต่อสุขภาพในระยะยาว ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด และถึงแม้ว่าโรคความดันโลหิตสูงจะเป็นโรคที่รักษาได้แต่ไม่หายขาด มีเพียง 5-10 %เท่านั้นที่รักษาหายขาด"

ปล่อยทิ้งไว้ ส่งผลเสียต่อสุขภาพ และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

แต่หากปล่อยทิ้งไว้จะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว ทำให้เกิดหลอดเลือดตีบเป็น สาเหตุให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบ หรือโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต มีผลต่อหลอดเลือดหัวใจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและภาวะหัวใจวายเป็นหลักและส่งผลให้เกิดภาวะไตวาย สุดท้ายเมื่ออวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายเสียหมดผู้ป่วยจะเสียชีวิต หรือในกรณีผู้ป่วยอยู่ในระยะที่เกิดภาวะแทรกซ้อนการรักษาจะยากขึ้น และต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชากรลดลง ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจ

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณะสุขและสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2550-2562 ระบุว่าอัตราการเสียชีวิตของคนไทยที่เกิดจากภาวะไตวาย โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง หรือภาวะเลือดออกในสมอง มีจำนวนเพิ่มขึ้น  บางสาเหตุเพิ่มขึ้นถึง 100% สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่าสาเหตุการเสียชีวิตจากโรคความดันโลหิตสูงและภาวะเลือดออกในสมองจากประมาณ 30 รายเพิ่มขึ้นเป็น 50 ราย ต่อประชาชน 100,000 ราย ถือเป็นการเพิ่มขึ้นที่สูง ทำให้ภาพรวมเกี่ยวกับสถานการณ์โรคความดันโลหิตสูงในประเทศไทยไม่ดีนัก

อย่ามองข้ามโรคความดันโลหิต  ป่วย14ล้านคนรักษาหายแค่10%

ระดับความดันที่ควรไปพบแพทย์

 "ผลสำรวจที่มีอัตราผู้ป่วยเพิ่มขึ้นและเป็นไปในทิศทางที่ไม่ดี  สมาคมฯ จึงได้ขยายองค์ความรู้ให้กับแพทย์ด้านอื่นทั้งแพทย์ทั่วไป แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว หรือแพทย์ด้านอื่นที่ดูแลผู้ป่วยนอก โดยให้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคและเครื่องมือเทคโนโลยีในการตรวจวัดความดันโลหิตแบบใหม่ๆ และทันสมัย ให้ความรู้เกี่ยวกับยาชนิดใหม่ที่รวมตัวยาหลายชนิดไว้ใน 1 เม็ด ปัจจุบันมียาที่สามารถรวมยา 2-3 ชนิดไว้ในเม็ดเดียว การใช้ยาลักษณะนี้จะทำให้ผู้ป่วยรับประทานยาง่ายขึ้น การยอมรับการรักษาทานยาและการลืมทานยาน้อยลง"

นอกจากนี้ยังจัดทำเฟซบุ๊คเพจ “เพราะความดันต้องใส่ใจ #BecauseIsayso” เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงทำให้สามารถศึกษาเพิ่มเติมด้วยตนเอง จัดกิจกรรมเสวนาให้ความรู้แก่ประชาชน และเวทีแลกเปลี่ยนความรู้จากผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูงในแง่มุมต่างๆ วันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันความดันโลหิตสูงโลก

“หลักการสำคัญ คือ ประชาชนทุกคนควรทราบระดับความดันโลหิตของตนเองและทราบว่าเมื่อใดควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา หากผลการวัดพบว่าความดันโลหิตมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มม. ปรอทถือว่ามีความดันโลหิตสูง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการประเมินและติดตามรับการรักษาอย่างเหมาะสม”รศ.พญ.วีรนุช  กล่าว   

ในยุคปัจจุบันสถานพยาบาลมีการปรับกระบวนการให้ง่ายและเร็วขึ้น เช่น ในรายที่ความเสี่ยงต่ำและอาการคงที่แล้วแพทย์อาจพิจารณาให้พยาบาลและเภสัชกร โทรสอบถามข้อมูลให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วย หากไม่มีปัญหาใดๆ จะจัดส่งยาให้ทางไปรษณีย์ หรือผู้ป่วยเข้ารับยาภายหลังที่โรงพยาบาลได้ ซึ่งทางโรงพยาบาลศิริราชได้ เริ่มดำเนินการเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดการเดินทางทำให้คนไข้ได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น ได้รับบริการที่เร็วขึ้น ทำให้การยอมรับการรักษาของคนไข้ดีขึ้น

อย่ามองข้ามโรคความดันโลหิต  ป่วย14ล้านคนรักษาหายแค่10%

วัดความดันดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง

เดือนพฤษภาคมของทุกปีเป็นเดือนแห่งการวัดความดันโลหิต (May Measurement Month : MMM) ซึ่งเป็นแคมเปญตรวจคัดกรองความดันโลหิตระดับโลกที่ดำเนินการโดย International Society of Hypertension เพื่อเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูงด้วยการช่วยให้ผู้คนได้รับการวัดความดันโลหิตฟรี ซึ่งออมรอนได้บริจาคเครื่องวัดความดันโลหิตให้กับสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทยอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เพื่อรณรงค์และช่วยให้คนไทยเข้าถึงการตรวจวัดความดันที่ถูกต้อง แม่นยำและอยากเน้นให้คนไทยได้ #วัดความดันทุกวันเพื่อรู้ทันโรคร้าย รวมทั้งเก็บข้อมูลผลการสำรวจนำมาวางแผนการดูแลสุขภาพของคนไทย

ยูซุเกะ กาโตะ   กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออมรอน เฮลธแคร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังคิดว่าโรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง แต่ในยุคปัจจุบันจากวิถีการดำเนินชีวิต การทำงานที่เร่งรีบ ความเครียดที่มากขึ้นส่งผลให้คนไทยเป็นโรคความดันโลหิตสูงมากขึ้น และมีแนวโน้มของกลุ่มเสี่ยงมีอายุที่ลดลงกว่าที่ผ่านมา

การตรวจความดันโลหิตด้วยตัวเองเป็นประจำ ช่วยให้ทราบถึงระดับความดันโลหิตและแจ้งเตือนสัญญาณอันตรายได้เร็ว อีกทั้งการตรวจวัดความดันโลหิตด้วยตัวเอง ช่วยให้ติดตามผลการรักษาและประสิทธิภาพของยา ช่วยให้แพทย์ผู้รักษาสามารถปรับยาและวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม ดังนั้นคนไทยควรวัดความดันโลหิตสม่ำเสมอ หากวัด 3 ครั้งมีค่าเฉลี่ยมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ความดันโลหิตสูงแนะนำให้เข้ารับการรักษา

อย่ามองข้ามโรคความดันโลหิต  ป่วย14ล้านคนรักษาหายแค่10%