สู้ฟันผุด้วยธรรมชาติ | กุสุมาวดี อุทิศพันธ์
แม้มาตรฐานเศรษฐกิจและสังคมในบ้านเราจะรุดหน้าไปไกล แต่โรคพื้นฐานอย่างโรคฟันผุ ยังคงคุกคามคนไทยและเด็กไทยจำนวนมาก
โรคฟันผุ คือโรคของฟันที่ถูกทำลายแร่ธาตุ และองค์ประกอบต่างๆ ภายในโครงสร้างฟันจากการสร้างกรดของแบคทีเรียในคราบจุลินทรีย์บนฟัน
ปัจจุบันโรคฟันผุยังคงเป็นปัญหาสุขภาพช่องปากที่พบมากทั้งในประเทศไทยและในระดับโลก
จากการสำรวจสุขภาพช่องปากครั้งล่าสุดปี 2560 พบว่าดัชนีโรคฟันผุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในประชากรไทยกลุ่มวัยทำงาน (35-44 ปี) สาเหตุจากปัจจัยเสี่ยง 2 กลุ่ม คือ ปัจจัยด้านชีวภาพ เช่น คราบจุลินทรีย์ และคุณสมบัติของน้ำลาย เป็นต้น
และปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น การชอบรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตระหว่างมื้อ สถานะทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อต่อการดูแลสุขภาพช่องปากที่ดี และความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพช่องปากที่ไม่ถูกต้อง เป็นต้น
งานวิจัยจำนวนมากยืนยันว่า การรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตโดยเฉพาะน้ำตาลบ่อยๆ (ความถี่น้อยกว่า 20-30 นาที/1 ครั้ง) จะทำให้คราบจุลินทรีย์มีสภาพเป็นกรดตลอดเวลา
ส่งเสริมให้เกิดการทำลายแร่ธาตุในฟันมากขึ้น และประกอบกับการมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นทำให้เกิดฟันผุได้ในที่สุด
วิธีป้องกันโรคฟันผุระดับพื้นฐาน คือการกำจัดคราบจุลินทรีย์ด้วยการแปรงฟันอย่างถูกวิธี และใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์
ซึ่งฟลูออไรด์ถือเป็นสารป้องกันฟันผุด้วยกลไกเร่งการคืนกลับแร่ธาตุสู่ฟันหลังจากการสูญเสียแร่ธาตุจากกรดของแบคทีเรียในคราบจุลินทรีย์
สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคฟันผุในระดับสูง เช่น มีภาวะน้ำลายน้อย น้ำลายแห้ง มีจำนวนแบคทีเรียในน้ำลายมากกว่าปกติ หรือผู้ที่ใส่อุปกรณ์จัดฟันชนิดติดแน่น จำเป็นต้องมีตัวช่วยในการลดความเสี่ยงต่อโรคฟันผุเป็นพิเศษ
จึงมีการพัฒนาสารธรรมชาติเพื่อใช้เสริมประสิทธิภาพของการป้องกันโรคฟันผุอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
สารธรรมชาติที่ใช้ทางการแพทย์หมายถึง สารสำคัญที่เกิดจากกระบวนการเมตาบอลิซึม (metabolism) ของสิ่งมีชีวิต (พืช หรือ สัตว์) ที่มีฤทธิ์ต้านจุลชีพ แมลง หรือวัชพืช เป็นต้น การจะได้มาซึ่งสารสำคัญนี้ต้องมีกระบวนการสกัดด้วยวิธีที่เหมาะสม
จึงเรียกสารสำคัญที่ผ่านกระบวนการสกัดว่า “สารสกัด” การนำสารสกัดไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพช่องปากนั้นจำเป็นต้องมีการทดลองหลัก 3 ขั้นตอนคือ
1) การทดลองระดับห้องปฏิบัติการเพื่อทราบ “effective dose” คือความเข้มข้นของสารสกัดที่มีผลลดจำนวนแบคทีเรียและคราบจุลินทรีย์ได้
2) การนำสารสกัดที่ effective dose ไปผสมกับส่วนประกอบต่างๆ เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพช่องปาก เช่น ยาสีฟันหรือน้ำยาบ้วนปาก ซึ่งในขั้นตอนนี้ต้องทดสอบให้มั่นใจว่า เมื่อผสมสารสกัดและส่วนประกอบอื่นๆ ในผลิตภัณฑ์แล้ว สารสกัดนั้นยังคงออกฤทธิ์ได้เช่นเดียวกับการทดลองขั้นตอนแรก
3) การนำผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดในขั้นตอนที่ 2 ไปทดลองระดับคลินิกเพื่อประเมินประสิทธิผลก่อนนำไปใช้จริงในคน
สารสกัดธรรมชาติในประเทศไทยที่มีรายงานวิจัยในระดับห้องปฏิบัติการ หรือระดับคลินิกเรื่องการต้านแบคทีเรีย และ/หรือคราบจุลินทรีย์ก่อโรคฟันผุ มีหลายชนิดเช่น กะเพรา กานพลู ชะเอมเทศ ทับทิม บัวบก มังคุด และ พรอพอลิส (กาวผึ้ง) เป็นต้น
ทั้งนี้ สารสกัดพรอพอลิสจากผึ้งหรือชันโรง (ผึ้งจิ๋ว) เป็นที่สนใจในการศึกษาค้นคว้าฤทธิ์ยับยั้งการเกิดคราบจุลินทรีย์ก่อโรคฟันผุ
งานวิจัยระดับนานาชาติระบุว่าสารสกัดพรอพอลิสจากชันโรง มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียก่อโรคฟันผุ ประกอบด้วยสารสำคัญในกลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavonoid) เป็นหลัก
สำหรับสารสกัดพรอพอลิสจากชันโรงในประเทศไทยนั้นพบสารกลุ่มอื่น (อยู่ในระหว่างการตรวจยืนยัน) ที่ไม่ใช่สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ แต่สารสกัดพรอพอลิสไทยก็มีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียและคราบจุลินทรีย์ก่อโรคฟันผุได้เช่นกัน
ต่อมามีแนวคิดการสังเคราะห์สารสำคัญที่พบในสารสกัดธรรมชาติเรียกว่า เปปไทด์ต้านจุลชีพ (antimicrobial peptide) เพื่อลดขั้นตอนการสกัดสารธรรมชาติแบบหยาบ (crude extraction) ที่ต้องใช้วัตถุดิบจำนวนมาก
จากการศึกษาเปปไทด์ต้านจุลชีพที่เกี่ยวกับโรคฟันผุพบว่า เปปไทด์ที่สังเคราะห์จากสารสำคัญในสารสกัดผลทับทิมมีฤทธิ์ต้านการยึดเกาะของแบคทีเรียก่อโรคฟันผุ โดยไม่เป็นพิษต่อเนื้อเยื่อในช่องปาก
จากความรู้ที่เกี่ยวข้องกับฤทธิ์ต้านแบคทีเรียและคราบจุลินทรีย์ก่อโรคฟันผุของสารสกัดพรอพอลิส และเปปไทด์ นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการพัฒนาสารสกัดธรรมชาติในประเทศ
ซึ่งสิ่งสำคัญคือ สารธรรมชาตินั้นต้องมีผลการวิจัยทั้งในระดับห้องปฏิบัติการและการทดลองทางคลินิกรับรอง ก่อนนำไปพัฒนาตามขั้นตอนที่ถูกต้องเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์เสริมประสิทธิภาพในการป้องกันโรคฟันผุสำหรับคนไทยได้
นี่เป็นข่าวดีที่คนไทยจะได้ใช้สารสกัดจากธรรมชาติมาต่อสู้กับฟันผุในยุคที่ผู้คนแสวงหาสิ่งดีๆ จากธรรมชาติมาทดแทนสารเคมี เพื่อจะได้ลดสถิติคนเป็นโรคฟันผุ ซึ่งเป็นสถิติที่เป็นตัวฟ้องระดับการพัฒนาขั้นพื้นฐานของคนไทยได้ดีที่สุด.