“TOY POD”ของเล่นมีพิษ ทำลายสุขภาพ เสี่ยง “นกเขาไม่ขัน”
องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก โดยในปี 2567 นี้ ประเทศไทยได้กำหนดประเด็นรณรงค์คือ “บุหรี่ไฟฟ้า หยุดโกหกได้แล้ว”
KEY
POINTS
-
บุหรี่ไฟฟ้าได้ออกผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ GEN 5 หรือ TOY POD โดยสร้างผลิตภัณฑ์ให้เลียนแบบหรือดูคล้ายสิ่งอื่นที่ดูแล้วน่ารัก ทำให้ดูไม่เป็นอันตราย สร้างแรงกระตุ้นต่อเยาวชน
-
ผู้ชายที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าวันละ 2 ครั้ง พบ 4.8% มีปัญหาเรื่องอวัยวะเพศไม่แข็งตัว นกเขาไม่ขัน โดยเฉพาะในผู้ชายอายุ 20-25 ปี
- มาตรการแก้ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า ควรบังคับใช้กฎหมายห้ามนำเข้า และห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มงวด สร้างความตระหนัก/รับรู้โทษ พิษภัยบุหรี่ไฟฟ้า สร้างภาคีเครือข่ายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า
องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก โดยในปี 2567 นี้ ประเทศไทยได้กำหนดประเด็นรณรงค์คือ “บุหรี่ไฟฟ้า หยุดโกหกได้แล้ว” เพื่อย้ำเตือนให้เยาวชน ผู้ปกครองและประชาชนทุกเพศ ทุกวัย ได้ตระหนักรู้เท่าทันอันตรายจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า
ซึ่งปัจจุบันมีการแพร่ระบาดรุนแรงมากขึ้นในกลุ่มวัยเรียน เยาวชน เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ ที่ดึงดูดความสนใจด้วยภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ที่เป็นตัวการ์ตูน และเพิ่มรสชาติให้หลากหลายเพื่อเย้ายวนให้ลิ้มลอง รวมถึงเพิ่มโอกาสในการเข้าถึง และการเสพติด ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดนักสูบหน้าใหม่จากผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ และบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
ขณะนี้บุหรี่ไฟฟ้าได้ออกผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ GEN 5 หรือ TOY POD โดยสร้างผลิตภัณฑ์ให้เลียนแบบหรือดูคล้ายสิ่งอื่นที่ดูแล้วน่ารัก เช่น เลียนแบบตุ๊กตา ของเล่น ขนม นมกล่อง ขวดน้ำอัดลม กล่องน้ำผลไม้ ไอศกรีมแท่ง โมเดล หรือเลียนแบบของสะสม ตัวการ์ตูนดังๆ มาผลิตเป็นเคสใส่บุหรี่ไฟฟ้า หากนำไปวางปนกับของเล่นแทบแยกไม่ออกเลยว่าอันไหนคือ บุหรี่ไฟฟ้า อันไหนคือ ของเล่นจริง
นอกจากสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่หน้าตาเหมือนตุ๊กตาหรือของเล่น ของสะสมแล้วนั้น เพื่อทำให้บุหรี่ไฟฟ้าดูไม่เป็นอันตราย สร้างแรงกระตุ้นต่อเยาวชน เพราะลักษณะเหมือนของเล่น เลือกกลิ่น และรสชาติได้หลากหลาย โดยไม่ตระหนักถึงพิษร้ายที่ซ่อนอยู่ในบุหรี่ไฟฟ้าที่ประกอบด้วย สารนิโคติน และสารพิษอื่นๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
นิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้า ก่อให้เกิดโรคมากมาย
“นพ.วันชาติ ศุภจัตุรัส” ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวเสริมว่า นิโคตินที่อยู่ในบุหรี่ไฟฟ้า นอกจากเป็นสารเสพติดแล้ว ยังเป็นสารเคมีที่สามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เกิดการระคายเคือง และร่างกายมีปฏิกิริยาต่อต้าน เกิดการอักเสบของเส้นเลือด และเกิดการอุดตัน ส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา ทั้งทางสมอง สติปัญญาบกพร่อง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคไต และอื่นๆ ได้ทุกอวัยวะ จึงขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันปกป้องประชาชน และลูกหลานไม่ให้ข้องแวะกับบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า และขอให้กระทรวงศึกษาธิการ พิจารณาบรรจุความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้าในหลักสูตรของนักเรียนทุกระดับชั้นต่อไป
"นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์" ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยนักสูบหน้าใหม่โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก และเยาวชนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งสาเหตุสำคัญหนึ่งมาจากปัญหาการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า ดังนั้นหากไม่มีมาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง อาจส่งผลให้อัตราการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในภาพรวมกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง
ที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 ที่ผ่านมา จึงมีมติเห็นชอบ 5 มาตรการในการป้องกัน ควบคุมการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ได้แก่
1.การพัฒนาและจัดการองค์ความรู้
2.การสร้างความตระหนัก/รับรู้โทษ พิษภัยบุหรี่ไฟฟ้าแก่เด็ก เยาวชน รวมถึงสาธารณชน
3.การเฝ้าระวัง และการบังคับใช้กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า
4.การพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสนุนมาตรการป้องกัน ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า
5.การยืนยันนโยบาย และมาตรการป้องกันและปราบปรามการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า
โดยมอบหมายให้หน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ และภาคประชาสังคม ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวทั้งในระดับส่วนกลางและระดับพื้นที่
สูญเสียฟันมากกว่าไม่สูบ 2 เท่า
ทพ.อดิเรก ศรีวัฒนาวงษา ผู้จัดการโครงการเครือข่ายทันตบุคลากรต้านภัยยาสูบ สนับสนุนโดย สสส. กล่าวว่า การศึกษาระยะยาวพบว่า ผู้สูบบุหรี่จะมีการสูญเสียฟันถึง 2 เท่าของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ และผู้ได้รับควันบุหรี่มือสองมีการสูญเสียฟันมากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ จากการสำรวจโดยทันตบุคลากร ปี 2566 พบเด็กในกรุงเทพฯ เคยสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าถึง 9% หรือพบทุก 1 ใน 10 คน สอดคล้องกับข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่พบอายุเฉลี่ยของผู้เริ่มสูบบุหรี่มีอายุน้อยลง มีเด็กอายุ 13-15 ปี ติดบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้าถึง 37 ล้านคนทั่วโลก และที่น่ากังวลคือ เด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มวัยที่มีอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงมากกว่าวัยอื่นๆ
ข้อมูลทางทันตแพทยศาสตร์ พบว่าไอระเหยจากบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลให้เสียสมดุลของจุลินทรีย์ในช่องปาก จุลินทรีย์ดีลดลง เพิ่มจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคในช่องปาก เพิ่มโรคปริทันต์ ส่งผลต่อการยึดติดของรากฟันเทียม การใส่ฟันปลอมถอดได้ และการจัดฟัน นอกจากนี้ ยังพบว่าเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคฟันผุ Streptococcus
mutans เพิ่มขึ้น พบความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่ไฟฟ้ากับการมีเลือดออกเวลาแปรงฟัน และพบรอยโรคในช่องปาก เช่น เพดานปากอักเสบ ลิ้นเป็นฝ้า และการอักเสบบริเวณมุมปาก
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า บุหรี่ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสุขภาพช่องปากและฟัน แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด 2-4 เท่า เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด 25 เท่า แต่ละปีมีประชากรโลกเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ประมาณ 8 ล้านคน
ซึ่งจากผลสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทย ปี 2565 (Global Youth Tobacco Survey : GYTS) พบเด็ก และเยาวชนไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มเป็น 17.6 % จากเดิมอยู่ที่ 3.3% ในปี 2558 เพิ่มขึ้น 5.3 เท่า ทั้งนี้ หากเด็กที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน เริ่มสูบบุหรี่จะมีแนวโน้มสูบบุหรี่ธรรมดาเพิ่มขึ้น 5 เท่า และมีแนวโน้มสูบบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดาเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า
เพิ่มเสี่ยง “นกเขาไม่ขัน”
ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ประธานเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาวะทางเพศ คลินิกวัยรุ่นชาย รพ.พระมงกุฎเกล้า เปิดเผยว่า อันตรายของ “บุหรี่ไฟฟ้า” ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ยังพบว่าทำให้เกิดปัญหาสมรรถภาพทางเพศลดลง หรือ “นกเขาไม่ขัน” รวมไปถึงปัญหาการอ่อนตัว และหลั่งไว ซึ่งจากการดูแลรักษาผู้ที่มีปัญหาดังกล่าวพบว่า จากเดิมประมาณ 30% ที่เคยพบปัญหาอ่อนตัวเมื่อมีกิจกรรมทางเพศ ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่มั่นใจจากการที่ปกติช่วยตัวเองบ่อย
แต่เมื่อสอบถามข้อมูลเชิงลึก พบว่ามีเรื่องของการสูบบุหรี่ไฟฟ้าร่วมด้วย สอดคล้องกับข้อมูลจากต่างประเทศที่มีการสำรวจผู้ชายที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าวันละ 2 ครั้ง จำนวน 13,000 คน พบ 4.8 % มีปัญหาเรื่องอวัยวะเพศไม่แข็งตัว โดยเฉพาะในผู้ชายอายุ 20-25 ปี สาเหตุหลักที่นกเขาไม่ขัน พบว่ามาจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า รวมไปถึงยังมีปัญหาเรื่องของการอ่อนตัว โดยระดับองศาของการแข็งตัว
ดังนั้น คนที่เป็นนกเขาไม่ขันอาจจะเป็นสัญญาณบอกเหตุว่า อาจจะเป็นโรคหัวใจภายใน 5 ปี ได้ถึง 80% เพราะถ้าไม่รักษาปัญหาจะเริ่มมาที่หัวใจ แต่หากรักษาภาวะนกเขาไม่ขันก็จะไปช่วยลดความเสี่ยง เพราะต้องไปลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ รับประทานอาหารอย่างดี ออกกำลังกาย ทำให้สมองกับหัวใจดีขึ้นเช่นกัน
“นอกจากนี้ สารนิโคตินจะไปกระตุ้นต่อมหมวกไตปล่อยอะดรีนาลีนและสารต่างๆ ทำให้เส้นเลือดหดตัวทั้งร่างกายรวมถึงที่อวัยวะเพศชาย ปลุกเร้าไม่ขึ้น ขาดสารตั้งต้นในการขยายหลอดเลือดที่น้องชาย เกิดความเครียดเป็นเวลานาน จนฮอร์โมนเพศชายลดลง และลูกอัณฑะฝ่อไม่สร้างฮอร์โมน ส่วนที่เชื่อกันว่าดื่มเหล้า สูบบุหรี่แล้วทำให้คึกคักในเรื่องทางเพศ อาจจะเป็นเพียงช่วงระยะแรกที่เพิ่มความต้องการทางเพศ เพราะฮอร์โมนเพศชายยังสูง แต่ถ้าสูบบุหรี่ไฟฟ้าไปหลายครั้งหรือระยะยาวก็จะเกิดภาวะน้องชายไม่แข็งตัวในที่สุด ดังนั้น หากคนสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีปัญหาเรื่องนกเขาไม่ขัน สามารถรักษาให้สมรรถภาพทางเพศดีขึ้นได้ แต่ต้องเลิกสูบบุหรี่ไฟฟ้า” ศ.นพ.สมเกียรติ กล่าว
ห้ามโฆษณาและขายออนไลน์
น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า จากผลสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทย ปี 2565 โดยกรมควบคุมโรค ร่วมกับ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา สำรวจนักเรียนอายุ 13-15 ปี จำนวน 6,752 คน ในโรงเรียน 87 แห่ง พบว่า
1.เด็กและเยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 3.3% ในปี 2558 เป็น 17.6% ในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้น 5.3 เท่า
2.กลยุทธ์ทางการตลาดของอุตสาหกรรมยาสูบ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มออนไลน์มุ่งเน้นไปที่เด็ก และเยาวชนมากขึ้น มีการพบเห็นโฆษณา และการส่งเสริมการขายทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นจาก 27% ในปี 2558 เป็น 48% ในปี 2565
3.นักเรียนมีทัศนคติที่ดีต่อบุหรี่ซอง/บุหรี่ไฟฟ้าที่มีรสชาติ โดย 31.1% เห็นด้วยว่าทำให้สูบง่ายกว่าบุหรี่ธรรมดา และ 36.5% เห็นด้วยว่าจะทำให้เด็ก และวัยรุ่นสนใจการสูบมากขึ้น
การขับเคลื่อนมาตรการเพื่อปกป้องเด็ก และเยาวชนจากพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้า คือ
1.คงมาตรการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า และควรลงนามในพิธีสารว่าด้วยการขจัดการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบผิดกฎหมายขององค์การอนามัยโลก เพื่อยกระดับการควบคุม และปราบปรามบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมาย
2.บังคับใช้กฎหมายห้ามนำเข้า และห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการดำเนินคดีจับปรับ การห้ามโฆษณาและจำหน่ายในแพลตฟอร์มออนไลน์
3.สร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนสื่อสารรณรงค์ เผยแพร่ข้อมูล/ข้อเท็จจริงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ รู้เท่าทันกลยุทธ์อุตสาหกรรมยาสูบ และเพิ่มภูมิคุ้มกันในการป้องกันการสูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชน
น.ส.ยศวดี ดิสสระ ผู้อำนวยการโครงการนักสื่อสารรุ่นใหม่ รู้เท่าทันภัยผลิตภัณฑ์ยาสูบ กล่าวว่า ปัจจุบัน มีเด็ก และเยาวชนเป็นนักสูบหน้าใหม่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้า จากการสำรวจนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาและระดับปริญญากว่า 2,000 คน พบว่า 1 ใน 3 หรือกว่า 30% เคยใช้บุหรี่ไฟฟ้าอย่างน้อย 1 ครั้ง นักศึกษาในมหาวิทยาลัยกว่า 60% มีอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้า
ขณะที่บริษัทบุหรี่มีกลยุทธ์การตลาดโดยพัฒนารูปแบบบุหรี่ไฟฟ้าให้เข้าถึงกลุ่มเด็ก และเยาวชนมากขึ้น ทั้งรูปแบบที่พกพาสะดวก ทันสมัย น้ำยาที่มีกลิ่น และรสชาติหลากหลาย การโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์หรือใช้ Influencer ในโซเชียลมีเดีย ทุกภาคส่วนจึงต้องร่วมกันขับเคลื่อนงานเพื่อป้องกันไม่ให้เด็ก และเยาวชนตกเป็นเหยื่อ
2 ศาสตร์ไทย - จีนเลิกสูบบุหรี่
นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย แนะนำ สมุนไพรหญ้าดอกขาว ซึ่งมีสาระสำคัญที่ทำให้ลิ้นชา หรือลิ้นฝาด ช่วยให้ความรู้สึกอยากสูบบุหรี่ลดลง ปัจจุบันหญ้าดอกขาวถูกบรรจุเป็นยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ รูปแบบชาชง ในส่วนวิธีใช้ ให้นำหญ้าดอกขาวแห้งปริมาณ 2 กรัม ต่อ น้ำร้อน 120 - 200 มิลลิลิตร แช่ไว้ 10 นาที ดื่มหลังอาหาร วันละ 3-4 ครั้ง ข้อควรระวังในการใช้คือ ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคหัวใจ และโรคไต เพราะหญ้าดอกขาวมีโพแทสเซียมสูง และอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยานี้ คือ อาการปากแห้ง คอแห้ง สำหรับสมุนไพรอีก 1 ชนิดที่นิยมนำมาใช้ในกรณี อยากบุหรี่คือ มะนาว โดยหั่นมะนาวทั้งเปลือกเป็นชิ้นๆ พอดีคำ นำมารับประทานเมื่อมีความรู้สึกอยากสูบบุหรี่ โดยสารสำคัญในมะนาว จะมีผลต่อต่อมรับรสทำให้การรับรสชาติของบุหรี่ผิดปกติไป จนทำให้ไม่รู้สึกอยากสูบบุหรี่
ศาสตร์การแพทย์แผนจีน ที่นิยมนำมาใช้บำบัดรักษาผู้ที่ติดบุหรี่คือ วิธีการ ฝังเข็ม จากการศึกษาวิจัยพบว่า การฝังเข็มทำให้มีการเพิ่มของสาร serotonin ใน hypothalamus ซึ่งทำให้เลิกบุหรี่ได้ง่ายขึ้น ทำให้ระดับการทำงานของสารเคมีในร่างกายเป็นปกติ ลดอาการถอนยา และช่วยลดความต้องการสูบบุหรี่ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสงบ และมีสุขภาพดีขึ้น นำไปสู่กระบวนการรักษาขับสารพิษ นอกจากนี้ยังมีการฝังเข็มหรือติดเมล็ดหวางปู้หลิวสิงที่ใบหู ซึ่งเป็นเทคนิคหนึ่งในการรักษา นอกจากการรักษาด้วยการฝังเข็มแล้ว ยังมีสมุนไพรจีนบางชนิดที่ช่วยลด ความอยากบุหรี่ได้ด้วย เช่น ติงเซียง (กานพลู) หวีซินเฉ่า (คาวทอง) และ หยางกานจวี๋ (คาโมมายด์) โดยนำมาชงดื่มเป็นชา ได้อีกด้วย