กินตามลำดับอาหาร ช่วยลดเสี่ยงเบาหวานจริงหรือ?
จากข้อมูลผู้ใช้ X “Jones Salad” ร้านอาหารของคนกินผัก ได้โพสระบุว่า งานวิจัยเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้พบว่า แค่เรากินอาหารโดยเริ่มจาก (1) ผักหรือไฟเบอร์ก่อน (2) ตามด้วยโปรตีน และไขมัน (3) ค่อยจบด้วยแป้งและน้ำตาล
KEY
POINTS
- หัวใจสำคัญของการควบคุมเบาหวาน คือ การกินอาหารให้พอดีกับความต้องการของร่างกาย โดยไม่มากหรือน้อยจนเกินไป
-
อาหารที่ “ไม่ควร” รับประทาน ได้แก่ น้ำตาลทุกชนิด เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสม ผลิตภัณฑ์นมรสหวาน ผลไม้กวน ผลไม้แช่อิ่ม ผลไม้เชื่อม ผลไม้ตากแห้ง และอาหารที่ปรุงด้วยไขมันอิ่มตัว
-
การรับประทานอาหารของผู้ป่วยเบาหวาน สามารถทานผักก้าน ผักใบ ผักใบเขียวทุกชนิด ควรรับประทานทุกวัน และทุกมื้อให้หลากหลายชนิดในหนึ่งวัน
จากข้อมูลผู้ใช้ X “Jones Salad” ร้านอาหารของคนกินผัก ได้โพสระบุว่า งานวิจัยเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้พบว่า แค่เรากินอาหารโดยเริ่มจาก
(1) ผักหรือไฟเบอร์ก่อน
(2) ตามด้วยโปรตีน และไขมัน
(3) ค่อยจบด้วยแป้งและน้ำตาล
ถ้ากินตามลำดับนี้จะช่วยลดการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่เลือดได้ถึง 75% ลดเสี่ยงเบาหวาน ช่วยคุมน้ำหนักได้ด้วยนั้น มีผู้สนใจจำนวนมาก
“การรับประทานอาหาร การควบคุมการกิน” ย่อมช่วยลดความเสี่ยง คุมน้ำตาลให้แก่ผู้ที่เป็นเบาหวานได้ โดย “เบาหวาน” เป็นโรคเรื้อรังที่เกี่ยวข้องกับระบบเมตาบอลิซึมในร่างกาย ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ถึงแม้ว่าไม่สามารถรักษาให้หายขาด
แต่หากผู้ป่วยควบคุมอาหาร ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้เหมาะสม ก็จะสามารถควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ ทำให้โรคอยู่ในระยะสงบ ไม่แสดงอาการ เหมือนกับหายจากโรคแล้ว หรือเรียกว่า Remission หากผู้ป่วยดูแลระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีต่อเนื่องก็จะมีภาวะสงบนี้ได้ยาวนาน ช่วยให้แพทย์ลดหรืองดการใช้ยาเพื่อคุมระดับน้ำตาลได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
อุตสาหกรรมยาเติบโตสูง คนไทยป่วยเบาหวาน 5.2 ล้านคน
ผลสำรวจชี้ คนไทยชอบ 'หมูกระทะ' เน้นกินหมูสามชั้น 62.9% เสี่ยงสุขภาพย่ำแย่
กินอาหารให้พอดีกับร่างกาย ไม่มากหรือน้อยเกินไป
ผศ. นพ. ประสิทธิ์ ลีวัฒนภัทร อนุสาขาอายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม โรงพยาบาลพญาไท 3 เล่าถึงอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ภายในงาน “เปลี่ยนเบาหวาน ให้เป็นเบาหวิว” ในโครงการ SOOK Activity โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ไว้ว่า หัวใจสำคัญของการควบคุมเบาหวาน คือ การกินอาหารให้พอดีกับความต้องการของร่างกาย โดยไม่มากหรือน้อยจนเกินไป เพราะการกินที่มากเกินจะทำให้น้ำตาลขึ้นสูงหรือขึ้นเร็ว ในขณะเดียวกันหากกินน้อยไป อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำจนเป็นอันตรายได้
ผศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ความจริงแล้วหลักการกินอาหารสำหรับผู้ที่เป็นเบาหวาน ไม่ได้แตกต่างจากหลักการกิน เพื่อให้มีสุขภาพดีของคนทั่วไป เป็นการกินอาหารให้ครบหมู่ ถูกสัดส่วน ในปริมาณพอเหมาะ และมีความหลากหลาย
กินอาหารอย่างไร? ให้สามารถควบคุมน้ำตาลได้
โดยอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานแบ่งง่ายๆ เป็น 3 ประเภท ได้แก่
1.อาหารที่ “ไม่ควร” รับประทาน
- น้ำตาลทุกชนิด เช่น น้ำตาลอ้อย น้ำตาลปี๊บ น้ำตาลก้อน น้ำผึ้ง
- เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสม เช่น น้ำเก๊กฮวย น้ำลำไย ชาเขียว น้ำอัดลม ชา กาแฟปรุงสำเร็จ และขนมหวานต่างๆ เค้ก คุกกี้ โดนัท
- ผลิตภัณฑ์นม ได้แก่ นมข้นหวาน นมปรุงแต่งรสหวาน โยเกิร์ตปรุงแต่งรสชาติ นมเปรี้ยว
- ผลไม้กวน ผลไม้แช่อิ่ม ผลไม้เชื่อม ผลไม้ตากแห้ง เช่น กล้วยตาก ลูกเกด ลูกพลับ ลูกพรุน อินทผลัมตากแห้ง รวมถึงผลไม้ในน้ำเชื่อมบรรจุกระป๋อง
- อาหารที่ปรุงด้วยไขมันอิ่มตัว เช่น ไขมันสัตว์ ไส้กรอก หมูสามชั้น น้ำมันมะพร้าว แกงกะทิ ไขมันนม เนย ครีม
เนื่องจากอาหารเหล่านี้ มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งไม่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน เพราะจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นรวดเร็ว ซึ่งเป็นอันตรายจึงควรหลีกเลี่ยง
2.อาหารที่รับประทานได้ “ไม่จำกัดปริมาณ”
ผักก้าน ผักใบ ผักใบเขียวทุกชนิด ควรรับประทานทุกวัน และทุกมื้อให้หลากหลายชนิดในหนึ่งวัน อาหารเหล่านี้เป็นอาหารที่แคลอรี่ต่ำ และมีใยอาหารสูง ทำให้การดูดซึมน้ำตาลช้าลง อีกทั้งใยอาหารยังช่วยดูดซับน้ำตาล ไม่ให้เข้าสู่กระแสเลือดเร็วเกินไป ทำให้ร่างกายสามารถดึงน้ำตาลไปใช้ได้พอดี ได้แก่ ผักกาด คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง ตำลึง บวบ มะเขือ ฟัก แตงกวา น้ำเต้า ถั่วฝักยาว ถั่วงอก เป็นต้น จะรับประทานในรูปของผักสด หรือผักต้มก็ได้ แต่ไม่แนะนำในรูปของน้ำผักปั่น โดยเฉพาะน้ำผักปั่นแยกกาก ทำให้เราได้รับใยอาหารไม่ได้มากเท่าที่ควร
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกยังได้กำหนดให้บริโภคผักและผลไม้อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน หรือเทียบเท่ากับปริมาณ 4-6 ทัพพี แต่หากเป็นผักต้มสุกจะต้องเพิ่มเป็น 2 เท่า ขณะที่ สสส.ได้เผยผลวิจัยพบว่า การกินผักและผลไม้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจได้ร้อยละ 33 และโรคมะเร็งได้ร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับคนที่กินผักและผลไม้ต่ำกว่าเกณฑ์
3.อาหารที่รับประทานได้ แต่ต้อง "จำกัดปริมาณ”
อาหารประเภทข้าว แป้ง เช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง เผือก มัน ฯลฯ อาหารเหล่านี้มีคาร์โบไฮเดรตน้อยกว่าน้ำตาล และมีโปรตีน วิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหารที่จำเป็นแก่ร่างกาย โดยอาหารจำพวกแป้งจะถูกย่อยเปลี่ยนให้เป็นน้ำตาล และเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของร่างกาย ผู้เป็นโรคเบาหวานจึงไม่ควรงดหรือจำกัดจนเกินไป ควรได้รับให้เหมาะสมกับแรงงานและกิจกรรมที่ทำ การจำกัดข้าวหรือแป้งมากเกินไปกลับเป็นผลเสีย เพราะระดับน้ำตาลในเลือดอาจต่ำ เกิดอาการหิว ส่งผลให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้
ผลไม้ ผลไม้แต่ละชนิดจะมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตแตกต่างกัน ซึ่งคาร์โบไฮเดรตในผลไม้อยู่ในรูปแบบของน้ำตาล โดยผลไม้บางชนิดมีน้ำตาลมาก เช่น ทุเรียนมีน้ำตาลประมาณ 30 – 35% ส้มมีน้ำตาลประมาณ 10% และมะขามหวาน มีน้ำตาลมากถึง 75 – 80% ซึ่งผลไม้ยิ่งหวานมาก ก็จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากขึ้นด้วย จึงควรหลีกเลี่ยงผลไม้หวานจัด เช่น ลำไย ทุเรียน มะม่วงสุก องุ่น เป็นต้น
ถึงแม้ว่าผลไม้จะมีน้ำตาล แต่ก็ยังมีวิตามิน แร่ธาตุ และใยอาหาร ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจึงไม่ควรงด แต่ควรกินตามปริมาณที่กำหนด โดยแนะนำว่าสามารถกินได้วันละ 2-3 มื้อ ในปริมาณ 7-8 ชิ้น คำ/มื้อ
การจะควบคุมโรคเบาหวานให้อยู่หมัด จำเป็นต้องลดทั้งหวาน มัน เค็ม และเพิ่มผัก รวมถึงออกกำลังกายสม่ำเสมอ ดูแลทั้งหมดนี้ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เป็นสิ่งสำคัญที่จะดูแลสุขภาพของเราได้อย่างยั่งยืน
ปรับพฤติกรรมควบคุมระดับน้ำตาล
วิธีควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดนั้นมีหลายวิธี แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ได้แก่
- รับประทานอาหารมื้อเล็กๆ ทุกๆ 3-4 ชม. ระหว่างวัน เพื่อป้องกันการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ
- เลี่ยงการกินมื้อใดมื้อหนึ่งมากเกินไปจะนำไปสู่ภาวะน้ำตาลสูง
- ดูแลน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ (ค่า BMI 18.5 – 22.9 kg/m2 สำหรับคนเอเชีย และ 18.5 – 24.9 kg/m2 สำหรับคนชาติอื่นๆ ที่ไม่ใช่เอเชีย) ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดภาวะเซลล์ดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin Resistance) ทำให้น้ำตาลที่ลอยในกระแสเลือดถูกอินซูลินพาเข้าสู่เซลล์เพื่อนำไปเผาผลาญให้เกิดพลังงาน ดังนั้นผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนจึงแนะนำให้ลดน้ำหนัก 5% ของน้ำหนักตัว
- การปรับเปลี่ยนแบบแผนการรับประทานอาหารสามารถช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและช่วยควบคุมน้ำหนักตัวได้ ประกอบไปด้วย
- จำกัดปริมาณอาหารคาร์โบไฮเดรต ได้แก่ ข้าว แป้ง ขนมปัง สปาเก็ตตี้ วุ้นเส้น ข้าวโพด เผือก มัน ผลไม้ และเครื่องดื่มต่างๆ ควรได้รับปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละมื้อ
- เลือกคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เป็นคาร์โบไฮเดรตที่อุดมด้วยใยอาหาร เช่น ข้าวแป้งไม่ขัดสี ธัญพืช และผักต่าง ๆ แต่ผักบางชนิดมีคาร์โบไฮเดรตอยู่มาก เช่น ฟักทอง ไม่ควรรับประทานมากเกินไป
- ผลไม้ต่อวันต้องไม่มากเกินไป เพราะผลไม้เป็นอาหารที่มีน้ำตาล เรียกว่า Fructose มีอยู่ในผลไม้ทุกชนิด ไม่ว่าจะรสเปรี้ยวหรือรสหวาน แนะนำให้จำกัดการรับประทาน 3 – 4 ส่วนต่อวัน หรือ 1 ส่วนต่อมื้อ ตัวอย่าง 1 ส่วนบริโภค ได้แก่ แอปเปิ้ล 1 ลูก, กล้วยหนึ่งลูก, เมลอน 6 ชิ้นพอดีคำ
- เลี่ยงดื่มน้ำผลไม้ทุกชนิด เนื่องจากไม่มีใยอาหารและมีน้ำตาลค่อนข้างสูง ใยอาหารในผลไม้สามารถขัดขวางการดูดซึมน้ำตาลบางส่วนได้ ผู้ป่วยบางคนอาจเคยได้รับข้อมูลว่า ควรเลือกกินผลไม้ที่ไม่หวาน ดัชนีน้ำตาลต่ำ (Glycemic Index) แต่ที่จริงแล้วสิ่งสำคัญกว่าคือ การควบคุมปริมาณให้เหมาะสม เพราะหากกินผลไม้รสจืดในปริมาณมากก็สามารถทำให้น้ำตาลเพิ่มขึ้นสูงได้อยู่ดี
- เลี่ยงการรับประทานขนมหวาน จะสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้มาก เนื่องจากน้ำตาลทรายที่ใส่ในขนมหวานสามารถถูกดูดซึมได้เร็ว ดังนั้นระดับน้ำตาลในเลือดจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
- เลี่ยงเครื่องดื่มน้ำตาลสูง เช่น น้ำอัดลม ชา กาแฟ นมเปรี้ยวและนมรสต่าง ๆ น้ำสมุนไพร เป็นต้น เพื่อเป็นการจำกัดปริมาณแคลอรีที่รับประทาน หรือ เพื่อเป็นการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ควรเปลี่ยนมาเป็นการใช้น้ำตาลเทียม (non-nutritive sweeteners) เช่น aspartame, saccharin, sucralose หรือหญ้าหวานแทนน้ำตาลทรายขาว หรือ น้ำตาลทรายแดง โดยสามารถอ่านรายละเอียดฉลากโภชนาการทุกครั้งก่อนเลือกซื้อ
- จำกัดปริมาณแอลกอฮอล์ ไม่เกิน 1 Drink ในผู้หญิง และ 2 Drink ในผู้ชาย เนื่องจากแอลกอฮอล์สามารถทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงได้เช่นกัน และไม่ควรดื่มตอนท้องว่าง เพราะจะทำให้น้ำตาลต่ำได้
ในการปรับพฤติกรรมสุขภาพรวมทั้งการรับประทานอาหารไม่มีสูตรใดหรือวิธีใดที่เหมาะสมกับคนทุกคน (No One – Size – Fits – All) ดังนั้นจึงแนะนำให้ผู้ป่วยทุกคนพบกับนักกำหนดอาหาร เพื่อประเมินความรู้ ความเข้าใจ และภาวะโภชนาการ จะได้หาแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมร่วมกัน พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน
อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน คือ อาหารทั่วไปไม่แตกต่างจากอาหารที่รับประทานจากปกติ แต่เป็นอาหารที่ไม่หวานจัด โดยต้องคำนึงถึงปริมาณและชนิดของแป้งและไขมันเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด รวมถึงการรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
นอกจากนี้ควรรับประทานอาหารในปริมาณใกล้เคียงกันในแต่ละวัน โดยเฉพาะปริมาณ คาร์โบไฮเดรตโดยรวม ไม่ต้องงดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง ถ้าต้องการลดน้ำหนัก ให้ลดปริมาณอาหารได้ แต่ไม่ควรงดอาหาร เพราะจะหิวและรับประทานมื้อถัดไปมาก ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นๆ ลงๆ หากต้องการลดน้ำหนัก ให้ปรึกษาแพทย์ที่ดูแลท่านก่อนเพราะอาจจะต้องปรับยาเบาหวานร่วมด้วย
อาหารของคนเป็นเบาหวาน แบ่งเป็น
1. อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ น้ำหวาน น้ำอัดลม น้ำผลไม้ น้ำผึ้ง ขนมไทย เบเกอรี่ ผลไม้กระป๋อง ผลไม้ดอง หรือผลไม้หวานจัดอื่นๆ
2. อาหารที่รับประทานได้แต่จำกัดปริมาณ ได้แก่
- คาร์โบไฮเดรต ได้แก่ ข้าวแป้ง น้ำตาล เผือก มัน ควรรับประทาน 6-11 ส่วนต่อวัน โดยคาร์โบไฮเดรต 1 ส่วนให้พลังงาน 80 กิโลแคลอรี่ เท่ากับปริมาณอาหารดังนี้
ข้าวสวย |
1 |
ทัพพีเล็ก (5 ช้อนโต๊ะ) |
ข้าวต้ม |
¾ |
ถ้วยตวง (2 ทัพพี) |
โจ๊ก |
1 |
ถ้วยตวง |
ข้าวเหนียวนึ่ง |
3 |
ก้อนเล็ก (3 ช้อนโต๊ะ) |
บะหมี่ |
½ |
ก้อน |
เส้นก๋วยเตี๋ยวอื่นๆ และวุ้นเส้น |
1 |
ทัพพี |
ซีเรียลแบบไม่มีน้ำตาล |
1 |
ทัพพี |
ถั่วแดง |
1/3 |
ถ้วยตวง |
ถั่วเขียว, ถั่วดำ |
½ |
ถ้วยตวง |
ข้าวโพดต้ม |
½ |
ฝัก |
มันฝรั่งบด, มันเทศ, เผือก |
1 |
ทัพพี |
มันฝรั่งต้ม |
½ |
หัว |
ฟักทอง |
1 |
ถ้วยตวง |
มันแกว |
4 |
ทัพพี |
ขนมปัง |
1 |
แผ่น (4 x 4 นิ้ว) |
ขนมปังกรอบแผ่น |
3 |
แผ่น |
ข้าวโพดคั่วไม่ใส่เนย |
3 |
ถ้วยตวง |
ควรเลือกรับประทานข้าวซ้อมมือหรือขนมปัง ที่ทำจากแห้งที่ไม่ขัดสี เพื่อให้ร่างกายได้รับเส้นใยอาหารมากขึ้น สารให้ความหวานอื่นๆ ที่ทดแทนน้ำตาลทราย ได้แก่ สารให้ความหวานชนิด sugar alcohols (polyols) ได้แก่ ซอร์บิทอล ปมนนิทอล ไซลิทอล ให้พลังงาน 2 กิโลแคลอรี่/กรัม มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดน้อยกว่าซูโครสหรือกลูโคส และสารให้ความหวานที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ ให้พลังงานน้อยมากได้แก่ แอสปาแตม ซูคาโลส ผู้เป็นเบาหวานควรทานในปริมาณที่จำกัด
- ผลไม้ รับประทานได้ 3-4 ส่วนต่อวัน โดยผลไม้ 1 ส่วน ให้พลังงาน 60 กิโลแคลอรี่ เท่ากับปริมาณผลไม้ดังนี้
กล้วยน้ำว้า, กล้วยไข่ |
1 |
ผล |
กล้วยหอม |
1 |
ผล |
ขนุน |
2 |
ชิ้น |
เงาะ |
6 |
ผล |
ชมพู่ |
3 |
ผล |
ฝรั่ง |
1 |
ผลกลาง |
แตงโม |
10 |
ชิ้นพอคำ |
แคนตาลูป |
10 |
ชิ้นพอคำ |
มะพร้าวอ่อน |
½ |
ถ้วยตวง |
มะม่วงดิบ |
½ |
ผลใหญ่ |
มะขามหวาน |
2 |
ฝัก |
มะละกอสุก |
8 |
ชิ้นพอคำ |
มังคุด |
4 |
ผล |
ลองกอง, ลางสาด |
8 |
ผล |
ลำไย |
½ |
ถ้วยตวง |
ลิ้นจี่ |
6 |
ผลกลาง |
ส้มเขียวหวาน |
1 |
ผลกลาง |
สัปปะรด |
6 |
ชิ้นพอคำ |
สตรอเบอร์รี่ |
13 |
ผลเล็ก |
สาลี่ |
1 |
ผลเล็ก |
ส้มโอ |
2 |
กลีบ |
แอปเปิ้ล |
1 |
ผล |
องุ่น |
17 |
ผลเล็ก |
น้ำผลไม้มีเส้นใยน้อย หากอยู่ในขณะลดน้ำหนักไม่ควรดื่ม ควรรับประทานผลไม้สดดีกว่า และควรหลีกเลี่ยงผลไม้เชื่อม ผลไม้กวน ผลไม้บรรจุกระป๋อง เครื่องจิ้มพริก-น้ำตาล-เกลือ น้ำปลาหวาน
เนื้อสัตว์ รับประทานวันละ 6-12 ช้อนโต๊ะ แบ่งเป็น
- เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน 1 ส่วนมี 35 กิโลแคลอรี่ เช่น ปลา 1 ตัวเล็ก หรือเนื้อปลา 2 ช้อนโต๊ะ เนื้อปู 2 ช้อนโต๊ะ กุ้ง 4-6 ตัว หอยลาย/หอยแครง 10 ตัว ปลาหมึก 1 ตัว (ขนาด 5 นิ้ว) ลูกชิ้น 5-6 ลูก ไข่ขาว 2 ฟอง เป็นต้น
- เนื้อแดง 1 ส่วน มี 55 กิโลแคลอรี่ เช่น เนื้อสเต๊ก 2 ช้อนโต๊ะ แฮม 1 ชิ้น เนื้อไก่ 2 ช้อนโต๊ะ ปลาทูน่ากระป๋อง 4 ช้อนโต๊ะ ปลาแซลมอน 2 ช้อนโต๊ะ เป็นต้น
- เนื้อสัตว์ไขมันปานกลาง 1 ส่วน มี 75 กิโลแคลอรี่ เช่น เนื้อบดติดมัน 2 ช้อนโต๊ะ ไก่มีหนัง 2 ช้อนโต๊ะ เนื้อปลาทอด 2 ช้อนโต๊ะ ไข่ทั้งฟอง 1 ฟอง นมถั่วเหลือง 1 ถ้วยตวง เต้าหู้แข็ง ½ แผ่น
- เนื้อสัตว์ไขมันสูง 1 ส่วน มี 100 กิโลแคลอรี่ เช่น ซี่โครงหมูบด กุนเชียง 2 ช้อนโต๊ะ ไส้กรอกหมู 1 แท่งยาว เบคอน 3 ชิ้น ไส้กรอกอีสาน 1 แท่ง
ปริมาณพลังงานข้างต้นเป็นเนื้อสัตว์ที่สุกแล้ว แนะนำเนื้อสัตว์ เช่น ปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดหนัง ไม่ติดมัน ไข่ขาว รับประทานได้ไม่จำกัด เต้าหู้ โปรตีนเกษตร ควรหลีกเลี่ยง เนยและเนยแข็ง เนื้อสัตว์ติดหนังติดมัน เนื้อสัตว์ทอด/ชุบแป้งทอด เครื่องในสัตว์ ไข่แดง ไส้กรอก เบคอน กุนเชียง
- นม รับประทานวันละ 1-2 แก้วต่อวัน
นมไร้ไขมัน |
1 กล่อง |
90 กิโลแคลอรี่ |
นมพร่องไขมันเนย |
1 กล่อง |
120 กิโลแคลอรี่ |
นมไขมันปกติ |
1 กล่อง |
150 กิโลแคลอรี่ |
ควรเลือกรับประทานนมพร่องไขมันเนย หรือนมขาดไขมัน โยเกิร์ตพร่องมันเนยรสธรรมชาติ นมถั่วเหลืองเสริมแคลเซียม ไม่ใส่น้ำตาล หลีกเลี่ยงนมเต็มไขมัน นมหวาน นมปรุงแต่งรสหวาน โยเกิร์ตผสมผลไม้ นมเปรี้ยว นมข้นหวาน
หมวดไขมัน 1 ส่วน ให้พลังงาน 45 กิโลแคลอรี่ เช่น
น้ำมัน |
1 |
ช้อนชา |
เนยเทียม |
1 |
ช้อนชา |
มายองเนส |
1 |
ช้อนชา |
น้ำสลัดข้น |
1 |
ช้อนชา |
น้ำสลัดใส |
1 |
ช้อนโต๊ะ |
งา |
1 |
ช้อนโต๊ะ |
เมล็ดดอกทานตะวัน |
1 |
ช้อนโต๊ะ |
ถั่วลิสง |
20 |
เมล็ด |
กะทิ |
1 |
ช้อนโต๊ะ |
วิปครีม |
2 |
ช้อนโต๊ะ |
แอลกอฮอล์ ผู้เป็นเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดได้ดี สามารถดื่มแอลกอฮอล์ได้ในปริมาณจำกัด และควรดื่มพร้อมมื้ออาหาร โดยแอลกอฮอล์ 1 มิลลิลิตร ให้พลังงาน 7 กิโลแคลอรี่ จึงไม่ควรดื่มเกินปริมาณที่แนะนำตามเพศ เช่น
ประเภท |
เพศชาย |
เพศหญิง |
เบียร์ |
650 มล. |
340 มล. |
ไวน์ |
250 มล. |
120 มล. |
วิสกี้ |
85 มล. |
40 มล. |
3. อาหารที่รับประทานได้ไม่จำกัดปริมาณ ได้แก่ ผักสด ควรรับประทาน 4-6 ส่วนต่อวัน โดยผัก 1 ส่วน ให้พลังงาน 25 กิโลแคลอรี่ เช่น ผักกาดขาว ผักบุ้ง ตำลึง ผักกาดหอม ผักสลัดแก้ว แตงกวา ไชเท้า เป็นต้น แต่ผักบางชนิดมีแป้งมากและให้พลังงานสูง 1 ถ้วยตวง ให้พลังงานเท่ากับคาร์โบไฮเดรต 1 ส่วน หรือ 80 กิโลแคลอรี่ เช่น ข้าวโพด เมล็ดถั่วลันเตา ฟักทอง เผือก มัน เป็นต้น
อ้างอิง: โรงพยาบาลกรุงเทพ ,โรงพยาบาลพญาไท ,สสส.