"การกอด สัมผัสบำบัด" ลดความเจ็บปวด เครียด ซึมเศร้า
หลายครั้งที่เราได้เห็นกิจกรรม “Free Hug” หรือ “กอดฟรี” แล้วเรารู้สึกดี และมักจะเดินเข้าไปร่วมกิจกรรม เพราะ “การกอด การสัมผัส” ช่วยบำบัด รักษาโรคได้ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะโรคทางจิตใจ
KEY
POINTS
- การสัมผัส-โอบกอดด้วยความรัก รวมถึงการนวด จะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย โดยเฉพาะการหลั่งฮอร์โมนบางชนิดที่ทำให้เกิดความสุข
- โรคทางจิตใจ ไม่ว่าจะซึมเศร้า ความเจ็บปวด ความเครียด สามารถแก้ได้ด้วย “การกอด การสัมผัส” เพราะการสัมผัส การกอดส่งผลต่อสุขภาพจิตให้ดีขึ้นได้
- มนุษย์เราต้องการ 4 กอดต่อวันเพื่อความอยู่รอด เราต้องการ 8 กอดต่อวันสำหรับการบำรุงรักษา เราต้องการการกอด 12 ครั้งต่อวันเพื่อการเติบโต
หลายครั้งที่เราได้เห็นกิจกรรม “Free Hug” หรือ “กอดฟรี” แล้วเรารู้สึกดี และมักจะเดินเข้าไปร่วมกิจกรรม เพราะ “การกอด การสัมผัส” ช่วยบำบัด รักษาโรคได้ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะโรคทางจิตใจ
“การกอด การสัมผัส” ถือเป็นการบำบัดอย่างหนึ่งที่ทุกคนสามารถแบ่งปันให้แก่กันและกันได้ ยิ่งในภาวะที่รู้สึกเหงา ท้อแท้ เจ็บปวด รู้สึกไม่ดี ซึมเศร้า “พลังของการกอด การสัมผัส” จะช่วยทำให้รู้สึกดีขึ้น ลดความเจ็บปวด เครียด ซึมเศร้า
“การสัมผัส” ซึ่งรวมถึงการสัมผัสตัว การจับมือ จูบ การโอบกอด ดูเหมือนเป็นเพียงการแสดงออกของความรัก ความเป็นมิตร และความสัมพันธ์ที่ดี แต่การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ พบว่า การสัมผัสส่งผลไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดความสุข แต่ยังทำให้สุขภาพดี ซึ่งอาจทำให้มีชีวิตยืนยาวในที่สุด (Field, 2011)
การสัมผัสเป็นกิจกรรมที่สามารถสื่อสารอารมณ์ไปยังผู้ที่ถูกสัมผัสได้ การทดลองที่ออกแบบให้อาสาสมัครได้รับการสัมผัส โดยมองไม่เห็นผู้ที่มาสัมผัสและการสัมผัสนั้น แล้วให้อาสาสมัครทายอารมณ์ของอีกฝ่ายหนึ่ง พบว่า กลุ่มคนที่เข้าทำการทดลองมากกว่าครึ่งหนึ่งสามารถทายอารมณ์ของอีกฝ่ายหนึ่งได้อย่างถูกต้อง (Hertenstein et al., 2006 & 2009) การสัมผัสจึงเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกไปยังผู้ถูกสัมผัส
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
"การกอด การสัมผัส" ด้วยความรักมอบกำลังใจและความสุข
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการและนักคิด ได้อธิบายสุขภาพจากการสัมผัส โอบกอด ผ่านเว็บไซต์ DRDANCANDO เมื่อพิจารณาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น การสัมผัส-โอบกอดด้วยความรัก รวมถึงการนวด จะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย โดยเฉพาะการหลั่งฮอร์โมนบางชนิดที่ทำให้เกิดความสุข อาทิ
- โดปามีน ที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีความเป็นอยู่ที่ดี (Jakubiak & Feeney, 2017)
- ออกซิโทซิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความรัก ทำให้เกิดความรักและความผูกพัน ลดความกลัว และเพิ่มความรู้สึกปลอดภัย ลดความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจ (Holt-Lunstad et al., 2008; Light et al., 2005)
- เซโรโทนิน ที่ทำให้อารมณ์ผ่อนคลาย ไม่เครียด ไม่ซึมเศร้า และกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Hernandez-Reif et al., 2004)
การทดลองเชิงปฏิบัติการซึ่งแบ่งคู่สมรสออกเป็น 2 กลุ่ม
- คู่สมรสกลุ่มแรกให้จับมือกัน 10 นาที ระหว่างชมภาพยนตร์รักโรแมนติกและกอดกัน 20 วินาที
- ส่วนคู่สมรสกลุ่มที่สองให้นั่งกันอยู่เงียบ ๆ ไม่ได้สัมผัสตัวกันในเวลาเท่ากัน หลังจากนั้นจึงมอบหมายให้คู่สมรสทำกิจกรรมที่มีความเครียด
ผลการทดลองพบว่า คู่สมรสกลุ่มแรกมีการตอบสนองต่อความเครียดน้อยกว่ากลุ่มที่สอง (Grewen et al., 2003)
ลดความเจ็บปวด ความเครียด ซึมเศร้าด้วยการสัมผัส
ทั้งนี้ “การกอด” เป็นการแสดงความรักซึ่งเป็นภาษากายของมนุษย์ทั่วโลก สื่อถึงการทักทาย ยินดี และบอกลา แต่ถ้าอธิบายการกอดด้วยภาษาวิทยาศาสตร์แล้ว การกอดคือยารักษาหลายๆ โรคที่แทบไม่น่าเชื่อ
อีกทั้ง การกอดที่ได้ผลสำหรับการบำบัดโรคนั้น ระบุว่าต้องกอดกันเป็นเวลานาน 20 วินาทีขึ้นไป เพื่อให้ฮอร์โมนออกซิโทซิน (oxytocin) ในร่างกายถูกปลดปล่อยพลังบวกออกมาที่ช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันและลดความเครียด
ฉะนั้น ความสำคัญของ “การกอด การสัมผัส” ต่อสุขภาพจิต โดยเฉพาะความเครียดส่งผลต่อพฤติกรรมทางสังคม
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดได้ทำการทดสอบเด็กในโครงการที่มีการดูแลเด็กที่ดีกว่าโดยมีผู้ดูแล 1 คนต่อเด็ก 4 คน เปรียบเทียบกับเด็กในกลุ่มควบคุมที่ได้รับการดูแลในสถาบันที่มีผู้ดูแลเด็ก 1 คนต่อเด็ก 20 คน ผลการวิจัยพบว่า เด็กที่ได้รับการดูแลใกล้ชิดมีระดับความเครียดต่ำกว่า (วัดสารคอร์ติซอลในน้ำลาย) เด็กที่ได้รับการดูแลไม่ดี (Carlson & Earls, 1997)
ด้วยเหตุนี้ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขของไทย จึงส่งเสริมให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวถึง 6 เดือน เพราะนอกจากจะได้รับสารอาหารที่ดีแล้ว ความใกล้ชิด การกอดและสัมผัสกัน จะทำให้เกิดสายใยความรักผูกพัน และทำให้เด็กมีความฉลาดทางสติปัญญาและอารมณ์ (IQ & EQ)
การบำบัดด้วยการนวดและสัมผัสให้แก่ผู้ที่เป็นมะเร็ง พบว่าช่วยลดการเจ็บปวด ความหดหู่ และความวิตกกังวลได้ในระยะสั้น (Kutner et al., 2008) ส่วนผลในระยะยาว ประกอบด้วย การลดภาวะซึมเศร้าและความโกรธ เพิ่มฮอร์โมนความสุข และภูมิคุ้มกันของร่างกาย (Hernandez-Reif et al., 2004)
นอกจากนี้ การสัมผัส-โอบกอดยังเป็นตัวช่วยทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น การสัมผัสทำให้เกิดการเห็นคุณค่าในตนเองและเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น เนื่องจากการสัมผัสจะช่วยกระตุ้นคอร์เทกซ์ (Orbitofrontal Cortex) ที่อยู่ด้านหน้าของสมอง ซึ่งเป็นศูนย์รวมของสมองที่เกี่ยวกับความเห็นอกเห็นใจ (Rolls, 2000)
การสัมผัสยังช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างครอบครัว คนรัก และเพื่อน เนื่องจากการสัมผัสทำให้เกิดการสร้างฮอร์โมนออกซิโทซินที่ช่วยทำให้เกิดความไว้วางใจกัน (Kosfeld et al., 2005) ทั้งนี้การศึกษาในสัตว์ตระกูลลิง พบว่า การสัมผัสเป็นกลไกส่งเสริมให้เกิดการตอบแทนซึ่งกันและกัน ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น (Jablonski, 2021)
กอดกันให้ได้ 8 ครั้ง ส่งพลังบวกไปรักษาโรคต่างๆ
โดยนักจิตบำบัด Virginia Satir กล่าวว่า “มนุษย์เราต้องการ 4 กอดต่อวันเพื่อความอยู่รอด เราต้องการ 8 กอดต่อวันสำหรับการบำรุงรักษา เราต้องการการกอด 12 ครั้งต่อวันเพื่อการเติบโต”
ทางการแพทย์จึงแนะนำให้ใช้การกอดมาช่วยบำบัดรักษาโรคต่างๆ ได้ โดยรวมแล้วในแต่ละวันเราควรจะกอดกันให้ได้ 8 ครั้ง เพื่อส่งพลังบวกไปรักษาโรคต่างๆ ดังนี้
1. การกอดลดอาการซึมเศร้า
เมื่อเรากอดกัน ร่างกายจะหลั่ง “เซโรโทนิน” Serotonin หรือ “ฮอร์โมนรู้สึกดี" เมื่อเซโรโทนินไหลเวียนไปตามร่างกาย คุณจะรู้สึกผ่อนคลายและเกิดความมั่นใจมากขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งพายาแก้ซึมเศร้าหลายตัว
2. การกอดช่วยลดความเครียด
นักวิจัยบางคนเชื่อว่าการกอดและการสัมผัสระหว่างบุคคลอื่นๆ สามารถเพิ่มฮอร์โมนออกซิโทซิน oxytocin เพียงแค่กอดกันทุกวัน ทำให้สมองของเราสามารถผลิตสารเคมีเพื่อการผ่อนคลาย ที่ช่วยให้เรารู้สึกปลอดภัยมากขึ้นและไม่ถูกคุกคามตลอดทั้งวัน
3. การกอดยังช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรง
สำหรับคนที่ป่วยง่าย เพราะระบบภูมิคุ้มกันเริ่มเข้าสู่สภาวะทำงานหนักเกินไป ทุกครั้งเมื่อรู้สึกเครียดจะมีผลทำให้เราอ่อนแอต่อการเจ็บป่วยได้มากขึ้น การศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่าคนที่ถูกกอดและรู้สึกว่าได้รับความรักและอบอุ่น ส่งผลให้อาการเจ็บป่วยที่รุนแรงบรรเทาลง
4. การกอดเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ใหญ่
การสัมผัสทางกายและการกอด สามารถต่อสู้กับความรู้สึกเหงาที่เกิดขึ้นเมื่อคนเราอายุมากขึ้น ที่บ้านพักคนชราแห่งหนึ่งในนิวยอร์กได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับโครงการที่เรียกว่า "Embraceable You" คือการส่งเสริมให้เกิดการการสัมผัสทางกายและการกอด เพื่อให้สามารถต่อสู้กับความรู้สึกเหงาที่เกิดขึ้นเมื่อคนเราอายุมากขึ้น ผลสรุปพบว่าคนชราที่สัมผัสหรือกอดวันละ3 ครั้งขึ้นไป มีพลังงานมากขึ้น ความรู้สึกหดหู่น้อยลง ช่วยให้มีสมาธิและนอนหลับพักผ่อนได้ดีกว่าคนที่กอดน้อยกว่า
5. การกอดทำให้หลับสบาย
การกอดที่มีปฏิสัมพันธ์กับการนอนหลับสบายคงพิสูจน์ได้จากการได้กอดคู่รัก ในขณะนอนหลับที่ถ่ายทอดความอบอุ่นให้กันและกัน ทำให้หลับสบายได้ตลอดทั้งคืน แต่ถ้าตอบทางวิทยาศาสตร์นั่นก็คือ ขณะที่กอดกันร่างกายจะปล่อยสารเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารชีวเคมีชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้น มีคุณสมบัติต่อระบบประสาท ทำให้สงบและร่างกายสามารถเข้าสู่การนอนหลับพักผ่อนได้มากขึ้น
6. การกอดสามารถทำให้มีสติและสมาธิ
ท่านอาจารย์ Thich Nhat Hanh พระอาจารย์แห่งนิกายเซน ได้ทำการทดลองการทำสมาธิด้วยการกอด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาใช้เพิ่มการรับรู้และการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าการกอดจะเพิ่มความสุขและการทำสมาธิแบบง่ายๆ ในการรวมสติกับฮอร์โมนออกซิโทซินที่มีประสิทธิภาพ
7. การกอดสามารถลดความกลัวได้
มีการศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างความกลัวและความภาคภูมิใจในตนเอง โดยเชื่อมโยงระหว่างการสัมผัสของมนุษย์ด้วยการกอด พบว่าผู้เข้าร่วมทดลองมีแนวโน้มเรื่องความวิตกกังวลน้อยลงต่อการเสียชีวิตเมื่อถูกสัมผัสเบาๆ หรือกอด
8. การกอดอาจทำให้ความดันโลหิตลดลง
มหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนาได้ทำการศึกษากับผู้หญิง 59 คน และพบผลลัพธ์ที่น่าสนใจว่า ผู้หญิงที่ได้กอดกับคู่รักนาน 20 วินาที จะมีความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจลดลงในระหว่างการทดสอบ
Dolores Krieger R.N. Ph.D. ผู้เชี่ยวชาญในสาขาการบำบัดด้วยการสัมผัสแห่ง New York University กล่าวว่า บุคคลที่ได้รับการกอด หรือกอดผู้อื่น จะทำให้เกิดการกระตุ้นการทำงานของฮีโมโกลบิน ทำให้การลำเลียงของออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ ให้ทำงานได้อย่างทั่วถึง ทำให้เกิดความสดชื่นและมีชีวิตชีวาได้ และเวอร์จิเนีย ซาเทียร์ นักบำบัดจิตวิทยาครอบครัวกล่าวว่า คนเราต้องการการกอดวันละ 4 ครั้ง เพื่อการดำรงชีวิต คนเราต้องการการกอดวันละ 8 ครั้ง เพื่อการดำเนินชีวิต และคนเราต้องการกอดวันละ 12 ครั้ง เพื่อการเจริญเติบโต และกอด สัมผัสเพื่อสุขภาพ ลดอาการเจ็บป่วยต่างๆ ที่เกิดขึ้นนำมาซึ่งความเครียดและความกังวลในผู้ป่วย และความเครียดเองก็สามารถนำไปสู่ปัจจัยเสี่ยงของโรคสารพัด เพราะทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายลดน้อยลง
ในขณะเดียวกันก็ทำให้ความดันในเลือดสูงขึ้น การกอด จะช่วยให้ระบบภูมิต้านทานในร่างกายทำงานได้ดีขึ้นได้ สุขภาพจะดีขึ้น ช่วยรักษาภาวะซึมเศร้า ลดความตึงเครียด ทำให้มีชีวิตชีวา เป็นยาที่วิเศษที่ไม่มีผลข้างเคียง แต่ต้องเป็นกอดที่ออกมาจากใจ ทำด้วยความรักและเมตตาจริงๆ จึงจะเป็นความอ่อนโยน ที่เป็นธรรมชาติ ไม่มีพิษภัย
อ้างอิง:bangkokbanksme ,กรมอนามัย , drdancando