เช็ก!คุณมีภาวะซ่อนความเศร้าหรือไม่ ? วัยทำงาน รักษาซึมเศร้ามากสุด
แม้ว่าประเทศไทยจะมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา 2 ล้านคน แต่ผู้มีปัญหาทางสุขภาพจิตอาจมากถึง 10 ล้านคนทำให้สัดส่วนผู้มีปัญหาสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลก
KEY
POINTS
- การมีปัญหาสุขภาพจิตไม่ได้หมายถึง คนที่เป็นโรคจิต หรือป่วยจิตเวชอย่างเดียว หากมีปัญหาความเครียด ความสัมพันธ์ไม่ดี อกหัก เสพยาเสพติดแล้วมีอาการทางสุขภาพจิต สามารถมารักษาที่ BMHH ได้
- BMHH โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต เตรียมเปิดศูนย์โรคซึมเศร้าครบวงจร ในไตรมาส 3 นี้
- เช็กด่วน! เสี่ยงภาวะ Smiling depression หรือไม่?ร่าเริง ยิ้มแย้มแจ่มใส ใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ภายในจิตใจกลับรู้สึกเศร้าโศก หดหู่ ไร้ความสุข
แม้ว่าประเทศไทยจะมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา 2 ล้านคน แต่ผู้มีปัญหาทางสุขภาพจิตอาจมากถึง 10 ล้านคนทำให้สัดส่วนผู้มีปัญหาสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลก และจากรายงานการศึกษาความชุกของโรคจิตเวชและปัญหาสุขภาพจิต : การสำรวจระบาดวิทยาของผู้มีปัญหาสุขภาพจิตของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ปี 2556 พบว่า ผู้มีปัญหาจิตเวชมีจำนวนทั้งสิ้น 7 ล้านคน สูงกว่าผู้ที่ได้รับการรักษาค่อนข้างมาก
ขณะที่ข้อมูลจากการประเมินสุขภาพจิตตนเอง (Mental Health Check In) ของกรมสุขภาพจิต ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งมีผู้เข้ารับการประเมินกว่า 8.5 แสนคน พบว่า สัดส่วนผู้มีความเครียดสูงอยู่ที่ร้อยละ 4.5 เสี่ยงซึมเศร้าร้อยละ 5.8 เสี่ยงฆ่าตัวตายร้อยละ 3.2
สถานการณ์ดังกล่าวแย่ลงในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่มีผู้เข้ารับการประเมิน 7.5 แสนคน และพบผู้มีความเครียดสูงถึงร้อยละ 15.5 เสี่ยงซึมเศร้าร้อยละ 17.2 และเสี่ยงฆ่าตัวตายร้อยละ 10.6
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
"BMHH" รพ.เฉพาะทางดูแลสุขภาพจิตสุขภาพใจ
“สุขภาพจิต” กลายเป็นปัญหาที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การรักษาด้านสุขภาพจิตจึงจำเป็นต้องมีความเฉพาะเจาะจงแตกต่างจากสุขภาพกาย “Bangkok Mental Health Hospital หรือ โรงพยาบาล BMHH” หนึ่งในโรงพยาบาลเฉพาะทางที่ดูแลทางด้านสุขภาพจิตให้แก่คนไทยและชาวต่างชาติ
“โรงพยาบาล BMHH” โรงพยาบาลแห่งใหม่ภายในเครือโรงพยาบาลเวชธานี ที่เปิดให้บริการเมื่อเดือนส.ค.2566 ที่ผ่านมา ตั้งอยู่ย่านถนนติวานนท์ 39 และ 41 บนพื้นที่ 2 ไร่ เป็นอาคาร 8 ชั้น มีห้องพักผู้ป่วยในจำนวน 30 เตียง ให้บริการด้านสุขภาพจิตทั้งในด้านการส่งเสริม ป้องกัน การรักษา และฟื้นฟูสุขภาพจิต ทั้งแบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ โดยทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่มีประสบการณ์จากทั้งในและต่างประเทศ พร้อมด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ และความแข็งแกร่งของทีมแพทย์เฉพาะทางด้านจิตเวช
วานนี้ (4 มิ.ย.2567) พญ.ปวีณา ศรีมโนทิพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต BMHH พาเยี่ยมชม โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต BMHH Bangkok Mental Health Hospital ภายใต้การการออกแบบโรงพยาบาลที่ใส่ใจ เน้นความปลอดภัย สะดวกสบาย พร้อมให้ความรู้สึกอบอุ่น เพื่อส่งเสริมสมดุลสุขภาพจิตให้ดีขึ้น
พญ.ปวีณา กล่าวว่าการมีปัญหาสุขภาพจิตไม่ได้หมายถึง คนที่เป็นโรคจิต หรือป่วยจิตเวชอย่างเดียว ดังนั้น BMHH โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสุขภาพจิตสุขภาพใจที่ไม่ได้รักษาโรคเพียงอย่างเดียว แต่หากใครมีปัญหา หรือต้องการคำปรึกษา เช่น ผู้ป่วยติดยาเสพติด หรือ ผู้ที่มีปัญหาภาวะอกหัก มีภาวะความเครียด ต้องการแก้ปัญหาสามารถมาที่โรงพยาบาลได้
วัยทำงาน 30 ปีขึ้นไป รักษาโรคทางจิตมากสุด
ตลอดระยะเวลาการเปิดโรงพยาบาล “BMHH” มา 9 เดือน พบว่าผู้ป่วยด้านสุขภาพจิตเข้ารับการบริการเป็นจำนวนมาก โดยแบ่งเป็นสัดส่วนคนไทยร้อยละ 88 และชาวต่างชาติร้อยละ 12 ซึ่งจะเป็นกลุ่มคนช่วงวัยทำงานตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป เฉลี่ยอยู่ที่อายุ 32 ที่เข้ารับการรักษามากที่สุด โดยอันดับ 1 จะเป็นผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า รองลงมาได้แก่ วิตกกังวล ความเครียด และโรคแพนิค สะท้อนให้เห็นว่าขณะนี้ผู้ป่วยด้านสุขภาพจิตมีความเปราะบางทางจิตใจค่อนข้างสูง ดังนั้น โรงพยาบาล BMHH จึงมีการออกแบบ สภาพแวดล้อมภายในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นหนึ่งปัจจัยที่มีผลกระทบต่อผู้ป่วย ต้องสร้างบรรยากาศให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายและอบอุ่นเหมือนเป็นบ้าน
“หากเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลแล้วรู้สึกว่าไม่ใช่ ผู้ป่วยทางด้านสุขภาพจิต หรือจิตเวชก็จะไม่อยากมาอีกโรงพยาบาล ก่อนจะก่อสร้างโรงพยาบาลจึงต้องมีการวางแผนอย่างละเอียด ตั้งแต่การออกแบบ การเลือกใช้วัสดุ การใช้สี การเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ รวมถึงการออกแบบการให้บริการ โดยการออกแบบโรงพยาบาลด้านสุขภาพจิตจะมุ่งเน้นใน 2 ประเด็นหลัก เริ่มจากประเด็นแรกที่มีความสำคัญที่สุดคือ เรื่องความปลอดภัยของทั้งผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ เพราะผู้ป่วยบางกลุ่มโรคมีความเสี่ยงที่จะทำร้ายตัวเองและเจ้าหน้าที่ ส่วนประเด็นต่อมาเป็นเรื่องของการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้เข้ามารับการบริการ”พญ.ปวีณา กล่าว
เล็งเปิดศูนย์โรคซึมเศร้าครบวงจร
พญ.ปวีณา กล่าวต่อไปว่า ด้วยปัญหาโรคซึมเศร้าที่ส่งผลกระทบต่อทั้งการทำงาน การใช้ชีวิตครอบครัว และสังคม อีกทั้งมีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มคนช่วงอายุ 20 กว่าปีขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เริ่มต้นชีวิตการทำงาน การสร้างครอบครัว และกลุ่มดังกล่าวเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนของประเทศ ทำให้ปัจจุบันทั่วโลกมีการสร้างแคมเปญต่างๆ มาช่วยป้องกันโรคซึมเศร้า เพราะโรคดังกล่าว หากรู้เร็ว รักษาเร็ว ก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ เช่นเดียวกัน ผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า เมื่อรักษาหายแล้วสามารถกลับมาเป็นได้อีก
“BMHH เล็งเห็นความสำคัญในการดูแลรักษา ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เพราะผู้ป่วยโรคนี้หากไม่ได้รับการรักษา สามารถฆ่าตัวตายได้ ดังนั้น ทางโรงพยาบาล BMHH ได้เตรียมพร้อมเปิดศูนย์โรคซึมเศร้าครบวงจร โดยเน้นการรักษาพยาบาลอย่างครบวงจร ตั้งแต่สงสัยว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า รับการตรวจประเมิน การรักษา รวมถึงการติดตามอาการหากหายแล้ว ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการในไตรมาส 3 นี้” พญ.ปวีณา กล่าว
เน้นธรรมชาติ ลบภาพรพ.ทางจิต
พญ.ปวีณา กล่าวอีกว่าโรงพยาบาลตกแต่งภายภายใต้แนวคิด Therapeutic Biophilic Design เน้นความเป็นธรรมชาติให้มากที่สุด เพราะสัญชาตญาณของมนุษย์จะผูกพันและรู้สึกสบายเมื่ออยู่กับธรรมชาติ จึงนำเรื่อง Nature based Design มาประยุกต์ใช้ เช่น ตัวตึกเลือกเป็นอิฐที่แม้จะดูมีความแข็งแรงแต่ในขณะเดียวกันไม่ได้รู้สึกว่าแข็งกร้าว ดูมีความอบอุ่นให้ความรู้สึกเป็นบ้าน เพื่อให้คนที่เดินเข้ามาไม่ต้องกังวลเหมือนมาคุยกับเพื่อนหรือมาพักผ่อน แม้แต่ที่จอดรถก็เน้นสีธรรมชาติ และสิ่งสำคัญต้องสว่าง เพราะผู้ป่วยสุขภาพจิตจะไม่ชอบความมืดสลัว และจะหลีกเลี่ยงการใช้สีดำ รวมถึงสีที่ดูแล้วทำให้เกิดความรู้สึกหม่นหมอง
“ปัจจุบันคนไทยเปิดกว้างมากขึ้น และภาพจำเกี่ยวกับโรงพยาบาลจิตเวชก็เปลี่ยนไปจากเดิม รู้ว่าการปรึกษาจิตแพทย์เป็นทางออกหนึ่งในชีวิต ซึ่งวิธีการวางแผนดูแลผู้ป่วยสุขภาพจิตจะมีความแตกต่างจากสุขภาพกาย เพราะมีเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก และยังมีมิติอื่น ๆ ในตัวโรคเองด้วย โรงพยาบาล BMHH ดีไซน์ทุกอย่างได้ตามที่อยากทำและควรทำสำหรับผู้ป่วยสุขภาพจิต การรักษาเฉพาะทาง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับสิ่งที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุด”พญ.ปวีณา กล่าว
รู้จัก ภาวะ Smiling depression
“ณชารินทร์ พิภพทรรศนีย์ จิตแพทย์โรงพยาบาลBMHH- Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า Smiling depression หรือคนที่ซึมเศร้า ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเขาแสดงออกภายนอกว่าร่าเริง ยิ้มแย้มแจ่มใส หรือใช้ชีวิตได้ตามปกติไม่ได้ ทั้งที่ภายในจิตใจกลับรู้สึกเศร้าโศก หดหู่ ไร้ความสุข สิ้นหวัง คล้ายกับโรคซึมเศร้าทั่วไป แต่สามารถเก็บซ่อนความรู้สึกไว้ได้อย่างแนบเนียน ซึ่งจะพบได้บ่อยในผู้ที่รู้สึกว่าตัวเองต้องแสดงออกให้คนอื่นเห็นแต่ด้านที่ดีของตัวเองเท่านั้น กลัวว่าคนรอบข้างจะมองว่าตัวเองอ่อนแอหรือเป็นภาระ
สาเหตุของภาวะ Smiling depression
- เกิดได้ในกลุ่มที่ยึดติดกับความสมบูรณ์แบบ หรือ Perfectionist เมื่อประสบปัญหา คนกลุ่มนี้จึงเลือกที่จะแสดงออกว่ามีความเข้มแข็งมากกว่า
- ไม่ต้องการรู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระของผู้อื่น ไม่ต้องการให้ผู้อื่นต้องเป็นห่วงตัวเอง และบางครั้งยังต้องรับฟังปัญหาของผู้อื่นอีกด้วย
- มีความรับผิดชอบสูง ทั้งในหน้าที่การงาน ครอบครัว หรือกับสังคมรอบตัว จึงเลือกที่จะไม่แสดงออกความรู้สึกของตนเอง ที่จะกระทบผู้คนรอบข้าง
สัญญาณเตือนภาวะซ่อนความเศร้า
สัญญาณภาวะ Smiling depression มีดังนี้
1.ยิ้ม แต่สายตาดูไม่สดใส
2.ดำเนินชีวิตได้ปกติแต่ข้างในรู้สึกเศร้า
3.เป็นที่ปรึกษาได้ทุกเรื่อง ทุกคนคอยเข้าหาแต่ไม่ค่อยพูดเรื่องของตัวเอง
4.ไม่อยากให้ตัวเองเป็นภาระ
5.ไม่อยากรู้สึกว่าตัวเองไม่สมบูรณ์แบบ หรือรู้สึกอ่อนแอ
6.คาดหวังให้คนอื่นมีความสุขส่วนตัวเองเก็บความรู้สึกไว้ นอนไม่หลับ หรือนอนมากเกินไป
7.รู้สึกตัวเองไร้ค่า สิ้นหวัง รู้สึกผิด หรือแม้กระทั่งมีความคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่
8. ไม่อยากทำอะไร อ่อนเพลีย หรือรู้สึกไม่สนใจ เพลิดเพลินกับกิจกรรมที่เคยชอบทำ
ทั้งนี้ การรักษาภาวะ Smiling depression ประกอบไปด้วยการใช้ยาต้านซึมเศร้าและการบำบัดทางจิต สามารถทำได้การใช้ยาต้านเศร้า จะออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึมกลับของสารสื่อประสาทบางชนิดในสมอง เช่น สารเซโรโทนิน และสารนอร์เอพิเนฟริน ยาต้านซึมเศร้ามักใช้ร่วมกับการให้คำปรึกษาและบำบัดทางจิต ระยะเวลาในการรักษาอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ
ดูแลตัวเองเมื่อเป็น Smiling Depression
การบำบัดอาการทางจิตเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ โดยนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์จะเป็นผู้ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจสาเหตุของอาการซึมเศร้า และเรียนรู้วิธีรับมือกับความรู้สึกของตัวเอง เช่น การบำบัดแบบจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) ช่วยผู้ป่วยสำรวจความคิดและความรู้สึกที่ซ่อนเร้น เป็นต้น ช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่น และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง
สำหรับการดูแลตัวเองเมื่อเป็น Smiling Depression ควรยอมรับความรู้สึกของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องฝืนยิ้มตลอดเวลา อนุญาตให้ตัวเองรู้สึกเศร้า โกรธ หรือรู้สึกอะไรก็ได้, สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง พูดคุยกับคนที่ไว้ใจได้ ระบายความรู้สึกของตัวเอง ดูแลสุขภาพกายและใจให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ