เช็ก“โรคฮิตวัยทำงาน” รพ.วิมุต เปิด 4 คลินิกเฉพาะทางดูแลสุขภาพ
จากสถานการณ์แรงงานในไตรมาส 1 ปี 2567 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ระบุว่าประชากรวัยแรงงาน (อายุ 15 ปีขึ้น)มีจำนวน 59.1 ล้านคน เป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 40.2 ล้านคน หรือ 68% ของประชากรวัยแรงงาน
KEY
POINTS
- ผลการสำรวจจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ว่าความชุกของโรคปวดศีรษะมีมากถึง 40 % และกลุ่มคนวัยทำงานอายุ 20 – 40 ปี พบว่าเป็นโรคท้องผูกถึง 57% และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
- "คนวัยทำงาน" ไม่ควรทำงานหนักจนละเลยสัญญาณเตือนของร่างกาย หากมีอาการใจสั่น อ่อนเพลีย หายใจติดขัด และแน่นหน้าอก ควรรีบพบแพทย์ อาจเสี่ยงภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต หลีกเลี่ยงความเครียด รับประทานอาหารให้ตรงเวลา ออกกำลังกาย ตรวจร่างกาย จัดการอารมณ์ นอนหลับให้เพียงพอ เพียงเท่านี้ก็สามารถช่วยคนวัยทำงานมีสุขภาพที่ดีได้
ผลสำรวจของสถาบันวิจัยจีเอฟเค พบว่าคนไทยมีชั่วโมงการทำงานสูงถึงสัปดาห์ละ 50.9 ชั่วโมง ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่สัปดาห์ละ 40-44 ชั่วโมง โดยตัวเลขชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานเกินค่าเฉลี่ยของคนไทยสะท้อนถึงความเสี่ยงในการล้มป่วยของด้วย"โรคฮิตวัยทำงาน"หลายโรค ที่ล้วนมีปัจจัยจากไลฟ์สไตล์ที่ไม่สมดุล การพักผ่อนน้อย การออกกำลังกายไม่เพียงพอ การรับประทานอาหารไม่เหมาะสม ความเครียด ฝุ่นและมลภาวะ รวมถึงการนั่งจ้องหน้าจอเป็นเวลานานติดต่อกัน
ขณะที่ผลการสำรวจจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ว่าความชุกของโรคปวดศีรษะมีมากถึง 40 %ประชากรโลกราว 7 พันล้านคน มีคนปวดศีรษะถึง 3.1 พันล้านคน นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่า กลุ่มคนวัยทำงานอายุ 20 – 40 ปี พบว่าเป็นโรคท้องผูกถึง 57% และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
ภัยเงียบจากการทำงานหนักจนไม่มีเวลาพักผ่อน นำมาซึ่งโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะที่ 15 – 46% ของผู้ป่วยไม่มีอาการปรากฏ และยังพบว่า วัยทำงานเสี่ยง“ไซนัสอักเสบ”มากสุด เพราะมีพฤติกรรมบางอย่างที่กระตุ้นให้เกิดการบวมของเยื่อบุโพรงจมูก เช่น การอยู่ในที่อากาศเย็นหรือแห้งเป็นเวลานาน ๆ การเปลี่ยนอุณหภูมิฉับพลัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
โรคยอดฮิตของ "ผู้บริหาร" ที่ต้องเฝ้าระวังทั้งสุขภาพกาย-สุขภาพจิต
คนทั่วโลกปวดศีรษะมีมากถึง40%
วันนี้ (18 มิ.ย.) โรงพยาบาลวิมุต เปิดตัว คลินิกปวดศีรษะ, คลินิกกรดไหลย้อนและท้องผูก, คลินิกหัวใจเต้นผิดจังหวะ และคลินิกโรคจมูกและไซนัส เพิ่มศักยภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยตั้งแต่ป้องกัน-รักษา-ฟื้นฟู โดยเฉพาะในประชากรวัยทำงานไม่มีเวลาดูแลสุขภาพ ละเลยสัญญาณที่ร่างกายแสดงออกมา บ่อยครั้งกว่าจะรู้ตัวก็ป่วยหนัก
“คนวัยทำงานจำเป็นต้องได้รับการดูแลสุขภาพอย่างดี เพราะนั่นไม่ใช่เพียงเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่หมายถึงกำลังสำคัญในการดูแลครอบครัว สังคม และประเทศ"นพ.สมบูรณ์ ทศบวร” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวิมุต กล่าว
ทั้งนี้ผลสำรวจองค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ว่าความชุกของโรคปวดศีรษะมีมากถึง 40 % ประชากรโลกราว 7 พันล้านคน มีคนปวดศีรษะถึง 3.1 พันล้านคน โดยในจำนวนดังกล่าวจะพบผู้ป่วยที่เป็นโรคโมเกรนประมาณ 1 พันล้านคน และ 15% ของผู้ปวดศีรษะรายงานว่าเป็นการปวดศีรษะรุนแรงที่มีสาเหตุจากการอักเสบติดเชื้อ เนื้องอกในสมอง หรือมีเลือดออกในสมอง ซึ่งสามารถนำไปสู่การเสียชีวิตหรือพิการได้หากไม่รีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย เพราะหากพบโรคเร็วก็สามารถรักษาหายได้
“นพ.กฤตวิทย์ รุ่งแจ้ง” อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการด้านสมองและระบบประสาท กล่าวว่า โรคปวดศีรษะที่มีภาวะแทรกซ้อน ไม่ได้เกิดเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มคนวัยทำงานก็มีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน เพราะสาเหตุส่วนใหญ่ของการปวดหัวจะมาจากความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ แต่ยังมีปัจจัยกระตุ้นอีกมากมายที่ทำให้ปวดศีรษะ
ดังนั้น คนวัยทำงาน ไม่ควรทำงานหนักจนละเลยสัญญาณเตือนของร่างกาย หากมีอาการปวดหัวเรื้อรังหรือปวดแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ปวดมากผิดปกติ ควรไปพบแพทย์ทันที รวมถึงหากมีอาการร่วม อาทิ ชา แขนขาอ่อนแรง คลื่นไส้ ภาพเบลอ หน้าเบี้ยว หมดสติ ควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุด และที่สำคัญไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง
“กรดไหลย้อน-ท้องผูก”อันตราย
ขณะที่ “โรคกรดไหลย้อน” โรคที่พบบ่อยในกลุ่มวัยทำงาน “นพ.กุลเทพ รัตนโกวิท” อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบทางเดินอาหาร กล่าวว่าสาเหตุมาจากไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่เร่งรีบทำให้กินอาหารไม่เป็นเวลา เคี้ยวไม่ละเอียด ความเครียดสะสม การกินของมันของทอด น้ำอัดลม รวมถึงแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่
ปัจจุบันผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ กลุ่มคนวัยทำงานอายุ 20 – 40 ปี พบว่าเป็นโรคท้องผูกถึง 57% และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัจจัยเรื่องการรับประทานอาหาร ดื่มน้ำน้อย , การผ่าตัด อุบัติเหตุ หรือความเจ็บป่วยอื่นๆ รวมถึงภาวะเครียดก็ส่งผลต่อการขับถ่ายด้วย สิ่งที่น่ากังวลคือคนส่วนใหญ่มักคิดว่าเป็นเรื่องปกติและปล่อยทิ้งไว้จนอาการเรื้อรังและส่งผลต่อการใช้ชีวิต ทั้งที่จริงๆ แล้วทั้งสองโรคนี้สามารถดีขึ้นได้ด้วยความตั้งใจของผู้ป่วยในการหันมาปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์
“หัวใจเต้นผิดจังหวะ”15-46%ไม่แสดงอาการ
“นพ.ศรัณย์พงศ์ ภิบาลญาติ”อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการโรคหัวใจ กล่าวว่า โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นภัยเงียบจากความเครียดจากการหักโหมทำงานจนเครียด พักผ่อนน้อย บวกกับการกินอาหารที่มีไขมันสูง-รสจัด ไม่ได้ออกกำลังกาย จึงทำให้ปัจจุบันคนเป็นโรคหัวใจได้ง่ายขึ้น โดยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นภาวะที่หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะตามธรรมชาติ จนส่งผลให้การบีบกล้ามเนื้อหัวใจ 2 ห้องบนไม่สัมพันธ์กัน โดยโรคนี้ถือเป็นภัยเงียบ เพราะ 15 – 46% ของผู้ป่วยไม่มีอาการปรากฏ
สัญญาณเตือนที่พบบ่อย ได้แก่ อาการใจสั่น อ่อนเพลีย หายใจติดขัด และแน่นหน้าอก หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและแนวทางการรักษา วิธีรักษาหัวใจให้แข็งแรง คือการหลีกเลี่ยงความเครียด และควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีนและโอเมก้า 3 รวมถึงผัก-ผลไม้ และธัญพืช ลดอาหารไขมันสูง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ แอลกอฮอล์ และการบริโภคคาเฟอีนในปริมาณที่สูงเกินไป
วัยทำงานเสี่ยง“ไซนัสอักเสบ”มากสุด
“ผศ.พญ.กวินญรัตน์ จิตรอรุณฑ์” แพทย์เฉพาะทางสาขา นาสิกวิทยาและภูมิแพ้ กล่าวว่า โรคไซนัสอักเสบ แบบเป็น ๆ หาย ๆ เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา โรคภูมิแพ้ มลภาวะทางอากาศ และความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน มีทั้งไซนัสอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรัง ซึ่งในกลุ่มคนวัยทำงาน เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ เพราะมีพฤติกรรมบางอย่างที่กระตุ้นให้เกิดการบวมของเยื่อบุโพรงจมูก เช่น การอยู่ในที่อากาศเย็นหรือแห้งเป็นเวลานาน ๆ การเปลี่ยนอุณหภูมิฉับพลัน เป็นต้น
รวมทั้ง การพักผ่อนน้อย ขาดการออกกำลังกาย และ ฝุ่น PM 2.5 เยอะ ๆ ที่จะทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจอ่อนแอ อักเสบง่าย และกระตุ้นปฏิกิริยาภูมิแพ้ให้รุนแรงขึ้นด้วย เพิ่มโอกาสในการป่วยเป็นไซนัสอักเสบมากขึ้นไปอีก ฉะนั้นหากมีอาการปวดบริเวณใบหน้า ได้กลิ่นผิดปกติจากภายในจมูก น้ำมูกลงคอและน้ำมูกเขียวร่วมด้วย ควรมาพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจรักษาอย่างถูกต้อง
ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตเกิด 4 โรคฮิตในคนวัยทำงาน
- ความเครียด
- พักผ่อนไม่เพียงพอ
- รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา เคี้ยวไม่ละเอียด
- การกินของมันของทอด น้ำอัดลม
- ดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่
- ไม่ออกกำลังกาย
- ฝุ่น PM 2.5
4 วิธีดูแลสุขภาพที่ดีด้วยตนเอง
1.อาหาร
- รับประทานอาหารดีมีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่
- ลดอาหารไขมันสูง น้ำตาลสูง และอาหารรสจัด
2. อารมณ์
- หาวิธีจัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม
- เมื่อมีอาการเหนื่อยล้าและหมดแรงให้หาเวลาพักจากสิ่งที่ทำอยู่
- ฝึกการหายใจลึก ๆ เพื่อผ่อนคลาย 2-3 นาที
3. ออกกำลังกาย
- การนั่งอยู่ท่าเดิมเป็นเวลานาน ๆ เสี่ยงหลายโรคอันตราย
- ควรลุกขึ้นยืนและเดินไปรอบ ๆ พื้นที่ทำงานทุก 30 นาที
- หาเวลาไปออกกำลังกายก่อนหรือหลังเลิกงาน
4. นอนหลับให้เพียงพอ
- การนอนหลับคือการรีชาร์จร่างกายและสมองอย่างดีที่สุด