แชร์ทริก 4R วิธีรับมือ Toxic Behavior ในออฟฟิศ ฉบับหมอเอิ้น-พิยะดา

แชร์ทริก 4R วิธีรับมือ Toxic Behavior ในออฟฟิศ ฉบับหมอเอิ้น-พิยะดา

หมอเอิ้น-พิยะดา จิตแพทย์นักแต่งเพลง เผย วัยทำงานที่มีพฤติกรรม Toxic Behavior ไม่ได้เป็นแบบนี้โดยตัวตน แต่เกิดจากโหมดการเอาตัวรอดในบางครั้งบางคราว พร้อมแชร์ทริก 4R เพื่อรับมือความ Toxic ในที่ทำงาน

KEY

POINTS

  • หมอเอิ้น-พิยะดา จิตแพทย์นักแต่งเพลง เผยสถานการณ์ Toxic ในโลกการทำงานยุคปัจจุบันผ่านเวที CTC 2024 ว่า การที่คนๆ หนึ่งมีพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก ไม่ได้แปลว่าเขาเป็นคนที่ไม่น่ารัก แต่พฤติกรรมนั้นเกิดขึ้นเพราะเขาอยู่ในโหมดของการเอาตัวรอด หรือโหมดความเครียด 
  • Toxic Behaviors ที่พนักงานมักแสดงออกในที่ทำงาน เช่น มาสายผิดปกติ การนินทาคนอื่น ลาป่วยทั้งที่ไม่ป่วย ขึ้นเสียงและใส่อารมณ์กับคนอื่น อยากรู้อยากเห็นเรื่องคนอื่น เป็นต้น 
  • วิธีป้องกันไม่ให้เกิดบรรยากาศความเป็นพิษในที่ทำงาน ต้อง "รู้เขา-รู้เรา" รู้เขาคือ เมื่อเจอคนที่มีพฤติกรรมแบบนี้ ต้องแยกให้ออกระหว่างพฤติกรรมกับตัวตนของเขา อย่ารีบตัดสินเขา ขณะที่รู้เราคือ รู้เท่าทันอารมณ์และความคิดของตัวเองตามความเป็นจริง เรามีสิทธิ์โกรธ แต่ไม่มีสิทธิ์ที่จะเอาความโกรธนั้นไปลงกับคนอื่น

ทุกออฟฟิศต่างมีพี่คนนั้น น้องคนนี้ หรือหัวหน้าคนนั้น (ที่เราไม่อยากเข้าใกล้) อยู่เสมอ แต่ต้องทำงานด้วยกันอย่างเลี่ยงไม่ได้ ส่วนใหญ่คนเหล่านั้นมักจะถูกนิยามว่าเป็น Toxic People ในที่ทำงาน แต่รู้หรือไม่? พวกเขาอาจไม่ได้เป็นแบบนั้นมาตั้งแต่เกิด และสิ้งนี้ก็ไม่ใช่ตัวตนของพวกเขาเสมอไป แต่มีปัจจัยกระตุ้นให้แสดงพฤติกรรมไม่น่ารักเหล่านั้นออกมา

ชวนวัยทำงานทำความเข้าใจ "Toxic Behaviors" ให้มากขึ้นไปกับ "พญ.พิยะดา หาชัยภูมิ" หรือหมอเอิ้น จิตแพทย์นักแต่งเพลงอย่าง ทำไมต้องรักเธอ, เจ็บแต่จบ, มากกว่ารัก ฯลฯ ได้มาแชร์ทริก 4R สำหรับรับมือ Toxic People บนเวทีเสวนา Creative Talk Conference 2024 (CTC 2024) ที่เพิ่งผ่านไปไม่กี่วันก่อน

หมอเอิ้นเริ่มต้นอธิบายว่า คนที่เป็นพิษ ไม่เชิงว่าเป็น Toxic People เสมอไป หากมองในมุมจิตเวชศาสตร์จะเรียกว่า "Personality Disorder" หรือ "บุคลิกภาพที่ผิดปกติ" มากกว่า โดยลักษณะคือ มีพฤติกรรมผิดปกติมานานแล้ว แสดงพฤติกรรมนั้นทุกที่ทุกเวลา กลุ่มคนเหล่านี้สร้างความเดือดร้อนให้กับคนรอบข้าง ที่สําคัญที่สุด..พวกเขาไม่ได้ตระหนักรู้ว่า พฤติกรรมหรือนิสัยที่เขาทํานั้น ได้สร้างความเดือดร้อน แต่ทางกลับกัน พวกเขารู้สึกว่าคนรอบข้างต่างหากที่ทําให้เขาเป็นแบบนี้

แชร์ทริก 4R วิธีรับมือ Toxic Behavior ในออฟฟิศ ฉบับหมอเอิ้น-พิยะดา

บุคลิกภาพ และพฤติกรรมของ Personality Disorder แบ่งเป็น 3 กลุ่ม 

กลุ่ม A มีความผิดปกติในด้านความคิด
มีความคิดที่แปลก คิดว่าโลกนี้ไม่น่าไว้วางใจ ทุกคนไม่หวังดี เขาต้องทําอะไรบางอย่างเพื่อปกป้องตัวเอง เพราะฉะนั้นคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะหมกมุ่นอยู่กับตัวเอง ค่อนข้างแยกตัว เขาก็จะมีโลกส่วนตัวของตัวเองสูง ในขณะเดียวกันเวลาไปเจอสังคมเขาก็อยู่ไม่ได้ เขารู้สึกว่าเขาแปลกแยก เขาก็กลับมาหมกมุ่นกับตัวเอง และจะทําพฤติกรรมที่พิสูจน์ความเชื่อของเขาเอง

กลุ่ม B มีความผิดปกติในด้านอารมณ์
คนกลุ่มนี้ภายในใจจะว่างเปล่า ดราม่า มีปัญหาในเรื่องศีลธรรมจรรยาบรรณ เช่น ไปทําร้ายคนอื่น ทุบตีสัตว์เลี้ยง มีพฤติกรรมรุนแรง และเมื่อทำแล้วไม่รู้สึกว่าตัวเองผิด ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มอาชญากร กลุ่มมิจฉาชีพ หรือกลุ่มคนหิวแสงจากสื่อโซเชียลหรือคนรอบข้าง เขาจะไม่รู้ตัวและคิดว่าสิ่งนี้เป็นอาหารใจที่ฉันต้องได้ เมื่อได้รับความสนใจแล้วรู้สึกดี รู้สึกปลอดภัย 

กลุ่ม C มีความผิดปกติในด้านความกลัว
คนกลุ่มนี้จะเต็มไปด้วยความกลัวที่ท่วมท้น กลัวไปหมดทุกอย่าง กังวลง่าย บางคนกังวลจนกระทั่งเกิดอาการย้ำคิดย้ำทํา บุคลิกที่เห็นได้ชัดก็คือ Perfectionist คือ ผิดไม่ได้ พลาดไม่ได้ ก็เลยต้องทำย้ำๆ อยู่อย่างนั้น เพื่อให้ดีที่สุด

Personality Disorder ไม่ใช่ Toxic People เปรียบดั่งวลี "สันดรขุดได้ สันดานขุดยาก"

เพื่อให้ความเข้าใจและเห็นภาพบุคคลที่เป็น Personality Disorder และ Toxic People ได้ชัดเจนขึ้น หมอเอิ้นจึงยกประโยคหนึ่งว่า “สันดรขุดได้ สันดานขุดยาก” และเปรียบเทียบความแตกต่างให้เห็นคือ Personality Disorder เปรียบเหมือนสันดาน ขณะที่ Toxic People เปรียบได้กับสันดร

สำหรับ Personality Disorder เป็นพฤติกรรมความคิด อารมณ์ และความสัมพันธ์ที่ไม่ยั่งยืน ไม่ยืดหยุ่น เบี่ยงเบนจากบรรทัดฐาน เกิดเป็นความบกพร่องทางสังคม กระทบต่อคนรอบข้างระดับหนึ่ง โดยสาเหตุมาจาก พันธุกรรม, ประสบการณ์วัยเด็ก, ปัจจัยทางสังคม ส่งผลให้พวกเขาแสดงพฤติกรรมและบุคลิกภาพที่ผิดปกติออกมาสม่ำเสมอ ยืดหยุ่นไม่ได้ ยากที่จะเปลี่ยนแปลง 

แต่หากเป็น Toxic People จะเป็นบุคคลที่มีพฤติกรรมที่สร้างผลเสียต่อผู้อื่นได้มากกว่า มักทำให้ผู้อื่นรู้สึกอึดอัด เครียด หดหู่ สาเหตุมาจากประสบการณ์ในชีวิตที่เลวร้าย จึงเกิดการเอาตัวรอด แสดงออกในพฤติกรรมที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และบุคคล

หมอเอิ้นแนะนำว่าให้เปลี่ยนคําว่า Toxic People ให้เป็น Toxic Behaviors เนื่องจากการที่คนๆ หนึ่งมีพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก ก็ไม่ได้แปลว่าเขาเป็นคนที่ไม่น่ารัก บางครั้งคนที่เราคิดว่าเขา Toxic เขาอาจจะกําลังอยู่ในโหมดการเอาตัวรอด (survivor) หรือโหมดความเครียด หรือโหมดความผิดหวังของเขา ถ้าเราตระหนักในเรื่องนี้แล้ว เราจะพบว่าจริงๆ พวกเราทุกคนต่างมีความ Toxic ในตัวเอง

แชร์ทริก 4R วิธีรับมือ Toxic Behavior ในออฟฟิศ ฉบับหมอเอิ้น-พิยะดา

Toxic Behaviors ในที่ทำงาน มีรูปแบบไหนบ้าง และเกิดผลกระทบอย่างไร?

รูปแบบพฤติกรรมไม่ดีที่วัยทำงานบางคนมักแสดงออกในที่ทำงาน อย่างเช่น มาสาย การนินทาคนอื่น ลาป่วยทั้งที่ไม่ป่วย ขึ้นเสียงและใส่อารมณ์กับคนอื่น อยากรู้อยากเห็นเรื่องคนอื่น ฯลฯ ซึ่งหากมองพวกเขาแบบผิวเผินก็จะรู้สึกว่าคนกลุ่มนี้เป็นตัวปัญหา ไม่น่าคบ ไม่น่าเข้าใกล้

แต่ในความเป็นจริงแล้ว หมอเอิ้นบอกว่า อยากให้ทุกคนเข้าใจเบื้องหลังของพฤติกรรมเหล่านี้เหมือนกัน นี่เป็นสิ่งสำคัญ! เพราะจะช่วยให้เรามองทะลุพฤติกรรมของเขาและทำความเข้าใจเพื่อนมนุษย์ได้มากขึ้น เช่น พฤติกรรมแบบชอบบ่น นินทาว่าร้าย การรับมือกับพฤติกรรมนี้ คือ เราต้องไม่ใส่ใจ ไม่ใช่เอาคำเหล่านั้นมาตั้งข้อสงสัยกับตัวเอง อีกทั้งควรมองหาว่าเขาเป็นทุกข์อะไร ถึงทําพฤติกรรมแบบนี้ โดยหมอเอิ้นอธิบายเหตุผลเบื้องหลังพฤติกรรมที่ไม่น่ารักเหล่านั้น ได้แก่

- คนชอบบ่น: เบื้องหลังคือพวกเขากําลังเผชิญกับความผิดหวัง กำลังเผชิญความไม่ได้ดั่งใจ การบ่นเป็นการบรรเทาทุกข์ของเค้า

- คนนินทาว่าร้าย: เบื้องหลังคือพวกเขากำลังเผชิญความกลัว เช่น กลัวคนอื่นได้ดีกว่า 

- คนชอบควบคุม: ต้องการควบคุมทุกอย่างและทุกคนรอบตัว ต้องการให้ทุกคนทำตามความคิดของตัวเอง คนเหล่านี้ทุกข์จากความกลัวว่ามันจะไม่เป็นอย่างที่ตัวเองคิดไว้ กลัวที่จะผิดหวัง 

- คนชอบเรียกร้องความสนใจ: มักทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตัวเองเป็นจุดสนใจ ต้องการให้คนอื่นชื่นชม พูดมาก อาจขโมยเครดิตคนอื่น คนเหล่านี้มักทุกข์จากความรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง คิดว่าตัวเองไม่มีตัวตน หรือคิดว่าตนเองไม่เป็นที่ยอมรับ

- คนขาดความรับผิดชอบ: ไม่รับผิดชอบต่อคำพูดและการกระทำของตัวเอง เบื้องหลังของพวกเขาคือ ทุกข์จากการวิ่งหนี ไม่เชื่อมั่นว่าตัวเองจะสามารถรับผิดชอบได้ ไม่มีความมั่นใจ ไม่มีความเชื่อมั่น และที่สําคัญก็คือ หนีตัวเองไปตลอด แล้วเก็บสะสมไว้จนรู้สึกผิด

- ชอบเล่นละคร: มักสร้างสถานการณ์ดราม่า เล่นบทเป็นเหยื่อ เพื่อเรียกร้องความสนใจ

- อิจฉาริษยา: มักรู้สึกอิจฉาความสำเร็จ หรือสิ่งของของผู้อื่น

- มองโลกในแง่ร้าย: มักมองโลกในแง่ร้าย คิดแต่เรื่องแย่ๆ

- ไม่เคารพความรู้สึกผู้อื่น: มักพูดจาหรือทำสิ่งที่ทำร้ายจิตใจผู้อื่น ชอบนินทา มักพูดถึงข้อเสียของผู้อื่นลับหลัง

หมอเอิ้นกล่าวสรุปว่า พฤติกรรมที่ไม่น่ารัก หรือ Toxic Behaviors เป็นพฤติกรรมที่พวกเขาแสดงออกผิวเผินภายนอก แต่ว่ามีอิทธิพลทางใจกับเรา ความทุกข์มาปรากฏที่ใจเรา เพราะเราเอามาใส่ใจแล้วเราเชื่อว่าเขาเป็นอย่างนั้นโดยเนื้อแท้ ทั้งที่เราไม่ได้มองเข้าไปถึง meaning หรือที่มาของพฤติกรรมนั้นจริงๆ 

แชร์ทริก 4R วิธีรับมือ Toxic Behavior ในออฟฟิศ ฉบับหมอเอิ้น-พิยะดา

นอกจากนี้ หมอเอิ้นได้ยกงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่สำรวจเกี่ยวกับผลกระทบของพฤติกรรมเป็นพิษที่มีต่องานและองค์กร ซึ่งพบว่า Toxic Behaviors ส่งผลเสียต่อบรรยากาศการทำงาน จะทำให้พนักงานรู้สึกอึดอัด เครียด ไม่ปลอดภัย ส่งผลต่อขวัญกำลังใจและประสิทธิภาพการทำงาน

94% ของพนักงานรายงานว่า สภาพเวดล้อมการทำงานส่งผลต่อสุขภาพจิต (Mental Health America) ส่วนการสร้างความเสียหายต่อความสัมพันธ์นั้นพบว่า เกิดความขัดแย้ง แตกแยกในหมู่พนักงาน ส่งผลต่อการทำงานเป็นทีม

ทั้งนี้ ตามรายงานดังกล่าวระบุถึงผลกระทบของ Toxic People ที่มีต่อองค์กรไว้ดังนี้

  • สูญเสียพนักงาน เพราะพนักงานเก่งๆ อาจจะลาออก เพราะทนพฤติกรรม Toxic People ที่อยู่ในออฟฟิศไม่ได้ 
  • 61% ของพนักงานพบว่า พฤติกรรมเชิงลบจากเพื่อนร่วมงานส่งผลต่อสุขภาพจิต และความผาสุกในการทำงาน (Perk Box)
  • ภาพลักษณ์องค์กรเสียหาย ลูกค้าหรือคู่ค้าอาจมององค์กรในแง่ลบ ส่งผลต่อชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือ
  • สูญเสียเม็ดเงินในองค์กร เนื่องจากองค์กรต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสรรหาพนักงานใหม่ อบรมพนักงาน และจัดการกับปัญหาความขัดแย้ง

ขณะที่ผลสำรวจด้าน Toxic Behaviors ที่กระทบต่อการทำงานของตัวพนักงาน ได้แก่  

  • ลดประสิทธิภาพการทำงาน พนักงานรู้สึกเครียด วิตกกังวล ไม่สามารถจดจ่อกับงานได้
  • เกิดความผิดพลาด พนักงานอาจทำงานผิดพลาด เพราะความเครียด และไม่มีสมาธิจดจ่อ
  • เสียโอกาส องค์กรอาจเสียโอกาสทางธุรกิจ เพราะพนักงานไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
  • สร้างความเสียหายต่อสุขภาพ พนักงานที่ต้องเผชิญกับ Toxic Behaviors อาจมีปัญหาสุขภาพจิต เครียด วิตกกังวล นอนไม่หลับ
  • 25% ของผู้คนอยู่ในภาวะเครียดสูงจากงาน ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ

หมอเอิ้นกล่าวอีกว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่คนหนึ่งคน เจอคนที่มีพฤติกรรม Toxic เขามีความคิดที่จะลาออกถึง 50% ส่วนคนที่รู้สึกว่าตัวเองกําลังเผชิญกับสถานการณ์ Toxic ในที่ทำงาน (แม้ไม่ได้เจอระดับตัวบุคคล) ประสิทธิภาพในการทํางานของพวกเขาจะลดลง 30-40% 

แชร์ทริก 4R วิธีรับมือ Toxic Behavior ในออฟฟิศ ฉบับหมอเอิ้น-พิยะดา

4R Framework วิธีรับมือ Toxic People แบบฉบับหมอเอิ้น พิยะดา

หมอเอิ้นบอกว่า ความทุกข์ที่เกิดที่ใจเรา ต้องแก้ที่ใจเราก่อน ถ้าทุกข์เกิดที่ใจเราแต่เราคิดจะไปแก้ที่ใจคนอื่น อันนี้จะทุกข์หนักยิ่งกว่าเดิม โดยหมอเอิ้นได้แนะนำวิธีรับมือความ Toxic ในที่ทำงานด้วยหลัก 4R ได้แก่ 

1. Recognize รู้เท่าทัน
เราจะต้องเปิดใจ สังเกต และระบุพฤติกรรมที่ Toxic ให้ได้ โดยการรับรู้เท่าทันเหตุการณ์ รับรู้อารมณ์และความคิดของตัวเองตามความเป็นจริง หายใจผ่อนคลาย และระลึกไว้เสมอว่า "เรามีสิทธิ์โกรธ แต่ไม่มีสิทธิ์ที่จะเอาความโกรธนั้นไปลงกับคนอื่น" แค่เรารับรู้ความรู้สึกของตัวเอง แล้วผ่อนมันลง แค่นี้หัวใจก็เบาลงแล้ว

อีกทั้งยังต้อง "รู้เขา" มองรูปแบบของพฤติกรรมแล้วแยกให้ออกระหว่างพฤติกรรมกับตัวตน รวมถึงรู้ผลกระทบของมัน ระวังการมองตัวเองเป็นเหยื่อ โดยหมอเอิ้นกล่าวว่า เราต้องเปิดใจว่าไม่มีใครนิสัยเหมือนกันไปหมด เรามีสิทธิ์ที่จะคิดหรือรู้สึกอะไรก็ได้ แต่ก็ต้องรับรู้ว่าคนอื่นก็มีสิทธิที่จะเป็นแบบของเขาเช่นกัน แล้วหาทางว่าจะเจอกันตรงกลางได้อย่างไร

2. Respond ตอบสนองอย่างเหมาะสม
ข้อนี้ต้องใช้เทคนิคการสื่อสารและตั้งขอบเขต โดยเราต้องมีสติในการตอบสนองอย่างเหมาะสม กล่าวคือ ต้องไม่เล่นเกมไปกับเขา ใครเป็นคนเริ่มเกมก่อน ไม่สําคัญเท่าใครเป็นคนจบเกมก่อน อีกทั้ง อย่าเสียเวลากับเรื่องไม่สำคัญ ถ้าเรายังใส่ใจเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ปล่อยให้มันมากวนใจเรา สิ่งนี้คือสัญญาณว่า ปัญหาไม่ใช่อยู่สถานการณ์ แต่ปัญหาอยู่ที่ตัวเราว่าอาจมีบางอย่างที่เราไม่มั่นใจในตัวเอง ต้องกลับมาดูแลความั่นใจ และคุณค่าของตัวเอง

ท่องไว้ว่า "เรื่องเล็กให้ช่างมัน เรื่องใหญ่ให้กล้าเผชิญ" เรียนรู้วิธีลดความขัดแย้งจากเรื่องใหญ่ที่ต้องเผชิญ เช่น ถ้าพูดอ้อมๆ ไม่ได้ พูดตรงๆ ก็ไม่ได้ ให้ลองเจรจาหาตรงกลางดู, มองให้เห็นความทุกข์ของอีกฝ่าย, ใช้คำถามอย่างเหมาะสม, ฟังให้ลึกซึ้ง, สื่อสารให้สร้างสรรค์, ขอความช่วยเหลือให้เหมาะสม

3. Refosuc เปลี่ยนโฟกัส
เปลี่ยนปัญหาเป็นปัญญา และมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่เรามี เราต้องฝึกการเปลี่ยนโฟกัสใหม่ให้ใจเบาลง เช่น เวลาเราเจอสถานการณ์ที่ไม่ถูกใจ เรามักจะอ้างว่า "สิ่งนี้คือปัญหา" แต่จริงๆ แล้วอาจจะไม่ใช่ปัญหา ดังนั้น เราจะต้องเปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญาด้วยเทคนิค เรียนรู้จากตัวอย่างที่ไม่ดี เราต้องคิดว่าโชคดีแล้วที่มีคนเสียสละตัวเองเป็นกระจกให้เราได้เรียนรู้ว่า พฤติกรรมแบบไหนที่เราจะไม่ทำ และคนแบบไหนที่เราจะไม่เป็น

ต่อมาคือการย้ายใจมาสนใจในสิ่งที่เป็นประโยชน์และควบคุมได้ อะไรที่เราคุมได้ เรามาใส่ใจในการกระทํา เพราะถ้าเราไม่ใส่ใจในการกระทํา สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เราจะคิดวนๆ คิดฟุ้งซ่าน พอฟุ้งซ่านก็เกิด เกิดอารมณ์ไม่ดี สิ่งที่สำคัญมากๆ คือ อย่าเป็นคนมีพฤติกรรมแย่เสียเอง ชีวิตมีขึ้นมีลงเป็นธรรมชาติ เผลอบ้างผิดบ้างไม่ใช่เรื่องแย่ การที่เราเลือกที่จะทำพฤติกรรมแย่โดยตั้งใจต่างหาก คือสิ่งที่ทำลายชีวิตของเราเอง

แชร์ทริก 4R วิธีรับมือ Toxic Behavior ในออฟฟิศ ฉบับหมอเอิ้น-พิยะดา

4. Recharge เติมพลัง
เป็นเทคนิคที่ช่วยดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจ คนเราล้วนต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่สูญเสียพลัง จึงจำเป็นต้องรู้แหล่งพลังใจและวิธีเติมกำลังใจให้ตนเอง ยกตัวอย่างเวลาที่เราเจอสถานการณ์ toxic หรือเจอคนที่มีพฤติกรรม toxic หมายความว่าเรากําลังเผชิญกับสิ่งที่เราจะต้องสูญเสียพลังงานชีวิต ดังนั้น เรามีความจําเป็นที่จะต้องกลับมาดูแลพลังงานชีวิตของเรา 

อย่างแรก ฝึกกําลังกาย ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าการกินดี นอนดี ออกกําลังกายดี ขับถ่ายดี เหล่านี้คือสิ่งเสริมสร้างกําลังกายที่ดี แต่ในความเป็นจริงคือ คนส่วนใหญ่งานเยอะ งานยุ่งไม่มีเวลา เครียดไม่อยากทําอะไร ยิ่งเครียดยิ่งไม่อยากทําอะไร ก็ยิ่งดูดพลังกายให้หายไป แต่ถ้าเราฝึกกําลังกายให้ดี สารเอ็นโดรฟิน (สารเคมีแห่งความสุข) ก็จะหลั่งมาทันที

อย่างที่สอง กําลังความคิด การที่เราให้ความคิดที่ดีๆ ใส่เข้าไปให้กับตัวเรา คิดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ และไม่ให้ความสําคัญกับความคิดที่ฟุ้งซ่าน และเพ้อฝัน นี่คือการให้กำลังความคิด

อย่างที่สาม กําลังใจ เรามักจะขอบคุณคนอื่นเป็นประจำ แต่สําคัญกว่านั้นคือ อย่าลืมขอบคุณตัวเอง เราควรขอบคุณตัวเองบ่อยๆ รวมถึงพูดที่ดีๆ กับตัวเองด้วย

สุดท้ายก็คือ พลังงานชีวิต ได้แก่ ความสบาย ความสงบ ถึงแม้จะไม่สุขมากมายแต่ก็ไม่จําเป็นต้องทุกข์ คุยกับใครแล้วสบายใจ ทําอะไรแล้วสบายใจไม่ต้องหาเหตุหาผล ให้พาตัวเองไปสัมผัสกับความสงบ เล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตทุกวัน วันละ 1-2 นาที ในทุกครั้งที่ทำได้ 

หมอเอิ้นกล่าวปิดท้ายว่า หลักแนวคิดทั้งสี่ข้อข้างต้นนี้ เป็นสิ่งที่อยากให้ทุกคนนำกลับไปเป็นภูมิคุ้มกันให้ตนเอง วันนี้เราจะโชคดีที่ไม่ได้เจอสถานการณ์ toxic แต่หากเราฝึกการมีกําลังกาย กําลังความคิด กําลังใจ และพลังชีวิตที่ดี เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเจอปัญหาเราจะเปลี่ยนเป็นปัญญาได้เสมอ